×

เลิกความเชื่อ ‘คนจน’ ต้องสงเคราะห์ มุมมองชีวิตเปลี่ยนเมื่อรู้สึกว่าเรา ‘จน’

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ทบทวนความจนตามมโนภาพของเราใหม่ เพราะหน้าตาของความจนเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของสังคม
  • ความจนไม่ได้วัดกันที่รายได้อย่างเดียว เพราะเสรีภาพและสิทธิพื้นฐานก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกัน
  • สังคมไทยเปลี่ยนไป หน้าตาของความจนก็เปลี่ยนตาม แต่ปัญหาคือคนไทยยังไม่เข้าใจ และมองคนจนด้วยสายตาแบบเดิม

     คุณเป็นคนจนหรือเปล่า? เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่พอจะหาคำตอบกันจริงจังหลายคนคงตอบได้ไม่เต็มปากนัก ความจนเป็นปัญหาที่มีมานานในทุกสังคม และบริบทหรือความหมายของ ‘ความจน’ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

 

  • จนแค่ไหนถึงเรียกว่าจน?
  • ความจนคืออะไร?
  • คนจน คือใครบ้าง?
  • ทำไมถึงจน?

 

     คำถามเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการทบทวนอย่างจริงจัง การใช้นิยามคำตอบเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือมโนภาพในความคิดเรามาตอบอาจทำให้ ‘คนจน’ ในหัวของเราหน้าตาผิดเพี้ยนไปจาก ‘คนจน’ ในบริบทสังคมปัจจุบัน

     และถือเป็นโอกาสที่ดีที่คำถามข้างต้นได้รับการทบทวนอีกครั้งโดยสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดโครงการสัมมนาวิชาการ ‘คนจนในบริบทที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน’

     เราไม่จำเป็นต้องจนถึงจะรู้จักความจนดีพอ เพราะการศึกษา เฝ้าสังเกต และพูดคุยอย่างใกล้ชิด ก็ช่วยให้เราเข้าใกล้หน้าตาของความจนได้ใกล้เคียงและชัดเจนมากขึ้น

 

หน้าตาความจนของคนในสังคมไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

     ผศ.ดร. สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า ความจนไม่เคยเปลี่ยนเลยในสังคมไทย หลักคิดคนจนในสังคมไทยคือไม่เป็นที่ต้องการ ควรถูกทำให้หมดไป เช่นเดียวกับแนวคิดที่มองว่าคนจนเป็นผู้ควรได้รับความสงเคราะห์ ช่วยเหลือแบบการให้บุญสุนทาน การมีชีวิตที่ดีขึ้นของคนจนขึ้นอยู่กับผู้ปกครองจะเมตตาสงสารเพียงใด

     สามชาย บอกว่า ประเด็นที่อยากพูดคือ มุมมองหรือความเชื่อเกี่ยวกับความยากจนในสังคมไทย ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบในปัจจุบัน

     ความหมายของความจนก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เรามีความแตกต่างเหลื่อมล้ำไม่มากนัก ความยากจนสมัยก่อนมีแค่ในเวลาที่เกิดภัยพิบัติ ภาวะโรคระบาด ภาวะขาดแคลนอาหาร คนที่ได้รับชะตากรรมเหล่านี้คือคนยากจนในอดีตซึ่งหน้าที่ของผู้ปกครองคือการเยียวยาสงเคราะห์

 

นิยามความจนของคนไทยในยุคแรก

     ในอดีตความยากจนคือเรื่องเวรกรรม ความเชื่อว่าทำบาปไว้เยอะจึงได้รับการลงโทษ คนที่มีบุญบารมีเหนือกว่าก็มีหน้าที่สงเคราะห์ แนวความคิดและการปฏิบัติเช่นนี้มีมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ในอดีตเวลาเราพูดถึงความทุกข์ยากในสังคมไทยจะเป็นเรื่องของเวรกรรม ไม่ใช่เรื่องของการไม่มีงานทำ หรือความจนในเชิงโครงสร้าง หรือความไม่ขยันหมั่นเพียร

 

นิยามความจนของคนไทยหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม

     ยุคอุตสาหกรรมวิธีคิดที่ว่าคนต้องปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ คนทุกคนเมื่อมีศักยภาพแข็งแรงเท่านั้นจึงจะอยู่รอด วิธีคิดแบบนี้ทำให้เรามองคนจนว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ปรับตัวไม่ได้

     ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมต้องการคนที่แข็งแรงทำงานเพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจ คนจนจึงถูกมองว่าเป็นพวกที่ปรับตัวไม่ได้และถูกกำจัดไปให้หมดจากธรรมชาติ มุมมองการช่วยเหลือก็ไม่ต่างจากเดิม คือ ต้องช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

     เห็นได้จากงานกระแสหลักที่โด่งดังมากในปี 1950 ที่มองว่า คนยากจน จมปลักอยู่กับวัฒนธรรมความยากจน ไม่เคยลืมตามาดูโลก ไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจการมีส่วนร่วม มีสังคมอยู่กับคนจนด้วยกัน ทำให้วนเวียนอยู่ในภาวะความจน

     มุมมองแบบนี้ชนชั้นนำไทยยังใช้มองคนจนอยู่ ซึ่งเป็นมุมมองเมื่อ 67 ปีที่แล้ว และทุกวันนี้ไม่มีใครมองแบบนี้อีกแล้ว เพราะพบว่าคนยากจนปัจจุบันตื่นตัวกับการเมือง สนใจเรียกร้องต้องการไขว่คว้าหาโอกาสและความก้าวหน้าในชีวิต

 

ความจนเกิดจากความผิดพลาดในการทำงานของรัฐ

     หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ธนาคารโลก (World Bank) พยายามให้มิติความเติบโตทางเศรษฐกิจและความยากจนไปในทิศทางเดียวกัน ก็คือการวัดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้

     พอถึงยุคแนวคิดเสรีนิยมใหม่ รัฐพยายามแปรรูปให้เอกชน เงินที่ช่วยเหลือคนจนถูกตัดให้ลดลง และเกิดแนวคิดให้ประชาชนพึ่งตัวเอง การพึ่งพารัฐคือการเพิ่มภาระให้รัฐ

     วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ทำให้ประเทศต่างๆ ตัดงบช่วยคนจนเอง คือรัฐจะไม่ช่วย แต่คนจนต้องช่วยตัวเอง

     มุมมองแบบนี้ก็ติดมาถึงคนไทย ยกตัวอย่างเช่น ให้หลุดพ้นความยากจนด้วยความพอเพียง ลดการช่วยเหลือจากโครงการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันรัฐไทยไม่เคยมองว่าความจนเกิดจากความล้มเหลวในการดำเนินงานของรัฐ ทางแก้ไขที่ควรจะเป็นคือนับรวมคนจนเข้ามาเป็นภาระรับผิดชอบของรัฐ สร้างความเท่าเทียม สร้างการปกป้องทางสังคม ไม่ให้คนที่ได้รับผลกระทบจากแนวทางการพัฒนาของรัฐตกไปสู่ความจน

     เพราะความจนมันถูกกระทำโดยรัฐ ต้องปกป้องไม่ให้โครงการรัฐเข้าไปกระทำให้ชีวิตเขายากกว่าเดิม

     แต่สิ่งที่รัฐทำตอนนี้ตรงข้ามหมดเลย

 

ความยากจนในมุมมองของเสรีภาพ

     ดร. ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยเปิดมิติใหม่ของความจน โดยไม่ใช้รายได้มาเป็นเป็นปัจจัยชี้ขาดความยากจนเพียงอย่างเดียว

     โดยยกนิยามของนักเศรษฐศาสตร์ อมาร์ตยา เซน (Amartya Sen) ว่า การแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่แค่การเพิ่มรายได้ แต่คือการสร้างชีวิตที่ดี

     คำถามคือแล้วชีวิตที่ดีคืออะไร? คำตอบคือชีวิตที่ดี คือการมีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตไปในทางที่ตนเองให้คุณค่า

     ความยากจนจากมุมมองของเสรีภาพ คือ การปราศจากโอกาส ซึ่งหมายรวมถึงการขาดแคลนรายได้ และการขาดแคลนการเข้าถึงบริการของรัฐ

     นอกจากนี้ความจนยังหมายถึง การปราศจากการมีส่วนร่วม คือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง และไม่สามารถร่วมตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญกับตนเองได้

     ถ้าเรามองสังคมไทยกันจริงๆ สิ่งสำคัญของคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ไม่ได้เชื่อมโยงอยู่กับความมีไม่พออีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับชีวิตที่ดีที่ขาดหายไป และความเหลื่อมล้ำ

     ความใฝ่ฝันหลักของชาวนา ไม่ใช่การอยู่รอด แต่คือการอยากเป็นชนชั้นกลาง ทุกวันนี้ชาวนาไทยไม่ได้ทำนาแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการ คือ จ้างทำนา ดังนั้น ชาวนาไทยต้องการได้รับการยอมรับในฐานะผู้ประกอบการเช่นเดียวกับ SME ของชนชั้นกลาง

 

ความรู้สึกว่าตัวเองจน ส่งผลกระทบกว่าที่คิด

     ดร. ธร เปรียบเทียบนโยบายรัฐ 2 ด้าน คือ บัตรคนจน กับบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค

     บัตรคนจนคือการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง ขณะที่บัตร 30 บาท คือ สวัสดิการแบบถ้วนหน้า

     ความต่างของสองตัวนี้เป็นประเด็นที่ควรพูดถึงอย่างมาก การได้รับการช่วยเหลือคือคุณต้องจน กับ คุณเป็นใครก็ได้ก็จะได้รับความช่วยเหลือเช่นกัน มีความแตกต่างกันมาก

     ดร. ธร ชี้ตัวอย่างที่น่าสนใจว่า การอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมันกระทบต่อการใช้ชีวิต และมุมมองต่อโลกอย่างไร

     ตัวอย่างในหนังสือ The Broken Ladder ของ Keith Payne ชี้ให้เห็นว่า คุณอาจจะไม่จน แต่ความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจน ก็นำไปสู่ผลกระทบในชีวิตได้เช่นกัน

     ผู้เขียนอธิบายตัวอย่างที่น่าสนใจไว้ในหนังสือว่า ในสมัยเขาเป็นเด็กมีฐานะยากจนซึ่งได้สิทธิ์อาหารฟรีจากโรงเรียน โดยทุกวันต้องไปต่อคิวรับอาหารฟรี แต่มีวันหนึ่งที่แคชเชียร์เปลี่ยนคน แล้วคิดเงินค่าอาหารจากเขา วันนั้นเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้คนอื่นรวมถึงตัวเขาเองรู้ว่าเขาคือ ‘คนจน’ นับแต่วันนั้นมามุมมองสิ่งรอบตัวของเขาเปลี่ยนไป สายตาที่มองเพื่อนในโรงเรียนที่มีฐานะดีกว่าก็เปลี่ยนไป ความรู้สึกว่าตนเองจะไม่ได้มีโอกาสในชีวิตที่ดีเหมือนเพื่อนของเขาก็เริ่มปรากฏขึ้น

     นี่คือตัวอย่างของความรู้สึกจนซึ่งส่งผลต่อมุมมองของโลกและการใช้ชีวิต จึงไม่น่าแปลกใจที่คนจนมักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย การไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันเพราะจน ทำให้คนจนยินดีที่จะเสี่ยงเพื่อให้ชีวิตของตนดีขึ้น เพราะไหนๆ ก็ไม่มีอนาคตที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว

     ดังนั้น การช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงกับแบบถ้วนหน้า จึงเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความรู้สึกของความจน

 

สังคมไทยเปลี่ยน หน้าตาความจนก็เปลี่ยนไป

     ศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นว่า นอกจากเส้นความยากจนแล้วยังมีมิติความจนในเชิงโครงสร้าง คนจนในโครงสร้างการผลิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ค่าจ้างแรงงาน

     คนจน ปัจจุบันถูกตีความให้กว้างไปกว่า เกษตรกร แรงงาน หรือสมัชชาคนจนในอดีต เส้นความยากจนปัจจุบันอยู่ที่ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งพอหรือไม่พออาจจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้

     แต่ข้อสังเกตคือ ประเทศไทยเรามีคนเกือบจน คือ คนที่มีรายได้มากกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20% ซึ่งตัวเลขปี 2558 ประมาณ 5.6 ล้านคน ซึ่งถ้าเอาคนเกือบจนรวมกับคนจน จำนวนจะมากกว่า 10% ของจำนวนประชากร

     ทุกวันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไปจากสังคมชาวนามาสู่สังคมผู้ประกอบการ เพราะสังคมการทำนา ทุกวันนี้คือการจ้างงานทำนา การผลิตแบบผู้ประกอบการ ทำให้เกิดสังคมคนเกือบจน ทำให้สถิติคนเกือบจนเพิ่มขึ้น

     ขณะเดียวกันสังคมเมืองก็ซับซ้อนมากขึ้น ความรู้เรื่องสลัมของเราหยุดนิ่ง ทุกวันนี้สลัมขยายตัวไปสู่หมู่บ้านจัดสรรระดับล่าง สิ่งเหล่านี้สังคมไทยขาดความรู้ความเข้าใจ และเมื่อไม่เข้าใจก็จะจัดวางตำแหน่งคนจนอย่างผิดที่ผิดทาง

     คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนรู้ว่าสังคมไทยเปลี่ยนแล้ว ไม่มีสังคมชาวนาลงแขกเกี่ยวข้าวแบบอดีต แต่คือสังคมผู้ประกอบการที่ต้องการการยอมรับ การอุดหนุนส่งเสริมไม่ต่างจาก SME ของชนชั้นกลางในเมือง

     หน้าตาของความจน เปลี่ยนรูปแปลงร่างไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคม ความจน และคนจน จึงไม่ได้มีนิยามที่อยู่นิ่งตามมโนภาพแบบเดิม ตัวชี้วัดความจนก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่รายได้เพียงปัจจัยเดียว

     การทบทวนและทำความรู้จักหน้าตาของความจน อาจทำให้เราแก้ปัญหาความจนได้ถูกที่ถูกทางขึ้น

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising