×

เมื่อรัฐแจกบัตรคนจน แล้ว ‘ความจน’ วัดกันที่อะไร?

15.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • รัฐบาลจะเริ่มแจกบัตรคนจนให้กับผู้ผ่านเกณฑ์ 11.43 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่จบการศึกษาสูงถึงระดับด็อกเตอร์
  • ตัวชี้วัดความยากจนมีหลายรูปแบบ เกณฑ์ของบัตรคนจนคือวัดกันที่ ‘รายได้’ ขณะที่เกณฑ์ความยากจนวัดกันที่ ‘รายจ่าย’

     กระทรวงการคลังสรุปยอดผู้ได้รับสิทธิโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 14.17 ล้านคน ปรากฏว่าผ่านเกณฑ์ 11.43 ล้านคน และจะเริ่มทยอยแจกบัตรคนจน 21 กันยายน 2560 พร้อมกันทั่วประเทศ

     ส่วนมีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ 2.74 ล้านคน เปิดโอกาสให้ขออุทธรณ์ตรวจสอบคุณสมบัติใหม่ที่หน่วยที่ลงทะเบียนและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายในวันที่ 29 กันยายน คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนประกาศผลการอุทธรณ์ในวันที่ 24 ตุลาคม ซึ่งผู้ผ่านเกณฑ์จะไม่ได้รับสวัสดิการย้อนหลัง

     นอกจากข้อกังขาในตัวนโยบายว่าแก้ปัญหาถูกทางหรือไม่นั้น ปรากฏว่าในจำนวนผู้ลงทะเบียนคนจนมีผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาเอก หรือ ด็อกเตอร์ มาลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์กว่า 500 คน คนจบปริญญาโทมาลงทะเบียนด้วยกว่า 5,800 คน โดยกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้น 100 คน มีด็อกเตอร์จริงและตรงตามเงื่อนไข 5 คน ส่วนอีก 95 คน เป็นผู้ที่ไม่ได้จบด็อกเตอร์จริง

     เหตุใด คนมีการศึกษาระดับปริญญาเอกและโท จึงกลายเป็น ‘คนจน’ ไปเสียได้?

 

เปิดเกณฑ์วัด ‘ความจน’ ตามนโยบายรัฐบาล คสช.

     ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เห็นชอบอนุมัติโครงการประชารัฐสวัสดิการ การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) โดยผู้ที่จะขอรับสิทธิ์ได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้คือ

  • เป็นผู้ว่างงาน หรือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี
  • ต้องไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือมีได้แต่จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 1 แสนบาท
  • ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือ มีได้แต่ต้องไม่ใหญ่โต คือ ถ้ามีบ้านพร้อมที่ดิน หรือ ทาวน์เฮาส์ ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา ส่วนห้องชุด (คอนโด) ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

     ส่วนเกษตรกรที่มีที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

     การจะเข้าข่าย ‘คนจน’ เพื่อขอรับสิทธิ์ตามนโยบายนี้ ต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ขาดไปแม้เพียงข้อเดียวก็ถือว่า ‘ไม่จน’ และจะไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการนี้

     ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรถ้าจะมีด็อกเตอร์ ได้รับสิทธิ์เป็นคนจนกับเขาด้วย เพราะหากมีรายได้ทั้งปีไม่เกินแสนบาท มีทรัพย์สินทางการเงินรวมแล้วไม่เกินแสนบาท และมีบ้าน ทาวน์เฮาส์ หรือ คอนโด ไม่ใหญ่โตเกินหลักเกณฑ์ที่กำหนด ก็มีสิทธิเป็น ‘คนจน’ อย่างภาคภูมิ

     เพราะรัฐวัดความจนที่รายได้ และทรัพย์สินที่มี

 

ย้อนประวัติศาสตร์ความจน

     คนจน และ ความจน ก็คงมีมายาวนาน แต่กฎหมายเกี่ยวกับคนจน ซึ่งพยายามกำหนดนิยาม ‘ความจน’ ให้ชัดเจน ที่นิยมอ้างอิงถึงคือ กฎหมายคนจน ยุคพระนางเจ้าอลิซาเบธแห่งอังกฤษ (Elizabethan Poor Law) เมื่อปี ค.ศ. 1598 หรือ พ.ศ. 2141

     กฎหมายนี้จำแนกคนจนออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ คนจนประเภทพอจะช่วยเหลือตัวเองได้ ก็ให้สมาชิกดูแลรับผิดชอบ ส่วนอีกประเภทคือพวกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น คนป่วย คนพิการ คนแก่ ฯลฯ ก็ให้รัฐสงเคราะห์ดูแล

     เมื่ออังกฤษเข้าสู่ยุคพัฒนาอุตสาหกรรมเต็มตัวก็ได้มีการปรับปรุงกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อวางหลักเกณฑ์ว่าคนจนกลุ่มใดควรได้รับการสงเคราะห์ และจะสงเคราะห์แบบใด

     โดยความพยายามสร้างมาตรวัดความจนทำกันจริงจังอีกครั้งในปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508 Mollies Orchansky ที่วัดความจนจากภาวะโภชนาการ คำนวณว่า ถ้าคนเราจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องกินอาหารวันละเท่าไหร่? แล้วปริมาณเท่านั้นคิดเป็นเงินเท่าใด?

     รายได้เพื่อการบริโภคให้ดำรงชีวิตอยู่ได้จึงถูกกำหนดให้เป็นฐานการคำนวณ ‘เส้นความยากจน’ หรือ Poverty Line

     ปัจจุบันความจนมีหลายนิยามความหมาย และวัดจากหลายปัจจัย อาทิ วัดจากปัจจัย 4 หากใครขาดปัจจัย 4 ก็ถือเป็นคนจน หรือ อาจวัดจากมาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) เช่น ถ้าสังคมนั้นเป็นเมืองหนาว มาตรฐานขั้นต่ำคือทุกคนควรมีเสื้อกันหนาว ใครไม่มีคือผู้ที่เข้าไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำ แต่ปัจจุบันด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ มาตรฐานการครองชีพ มีนิยามที่ไม่แน่นอน และเกิดการถกเถียงได้ง่าย เช่น การมีโทรทัศน์ ถือเป็นมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำของคนในสังคมหรือไม่ ถ้าใช่ หมายความว่า คนไม่มีโทรทัศน์ คือ คนจน ส่วนคนที่แค่มีโทรทัศน์ ก็ไม่จนแล้ว?

 

 

ใครจน-ใครไม่จน เป็นคำถามที่ตอบไม่ง่าย

     เกณฑ์วัดความจนที่นิยมใช้กันแพร่หลายทุกวันนี้ คือ ‘เส้นความยากจน’ หรือ Poverty Line ซึ่งอย่างที่บอกไปว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508 ซึ่งนิยามของ ‘เส้นความยากจน’ ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความแตกต่างของแต่ละสังคม เพราะค่าครองชีพของแต่ละสังคมไม่เท่ากัน เส้นความยากจนของแต่ละประเทศจึงไม่เท่ากัน

     รศ. ดร. ชวินทร์  ลีนะบรรจง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิยาม เส้นความยากจน ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับใช้วัดภาวะความยากจน โดยคำนวณจากต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของปัจเจกบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้า บริการจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

     ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ใช้รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นเครื่องชี้วัดความจนเช่นกัน

     โดยเส้นความยากจนเฉลี่ยของประเทศไทย ตามที่ สศช.  คำนวณล่าสุด ปี 2559 คือ คนที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกินเดือนละ 2,667 บาท หรือ ตกวันละ 89 บาท

     แน่นอนว่า แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีค่าครองชีพไม่เท่ากัน ดังนั้นหากเจาะลึกลงไปดูเส้นความยากจนของแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เท่ากัน โดยกรุงเทพฯ มีค่าครองชีพสูงที่สุด เส้นความยากจนของคนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ คือ คนที่มีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกินเดือนละ 3,147 บาท หรือวันละ 105 บาท

     จากการสำรวจล่าสุดของ สศช. พบว่าทั่วประเทศมีคนที่มีรายจ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ พูดง่ายๆ ทั้งประเทศมีคนที่สามารถใช้เงินได้ไม่เกินวันละ 89 บาท อยู่ทั้งสิ้น 5,810 คน

     เมื่อเปรียบเทียบตัวชี้วัดความจนระหว่างนโยบายรัฐบัตรคนจน กับ เส้นความยากจนของ สศช. ผลลัพธ์ของบัตรคนจน คือ 11.43 ล้านคน (ไม่นับคนที่อาจยื่นอุทธรณ์ผ่านภายหลัง) ขณะที่ผลลัพธ์ตามนิยามเส้นความยากจนของ สศช. คือ 5,810 คน

     เมื่อถามว่าใครจน เชื่อว่าส่วนใหญ่คงยกมือเพราะเชื่อว่าตัวเองจน แต่ถ้าจะถามหา ‘คนจน’ แบบจริงจัง ก็เป็นคำถามที่ตอบไม่ง่าย แต่ที่น่าจะยากกว่านั้นคือ ‘การหาวิธีช่วยให้คนหลุดพ้นจากความจน’ ซึ่งน่าจะซับซ้อนกว่าการแจกเงินใส่บัตรให้ใช้เดือนละสองสามร้อยบาท

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย: คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สศช.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising