×

ดราม่าบัตรคนจนในมือคนไม่จน แต่ปัญหาคนจนตัวจริงไม่ได้รับสิทธิ์ และถูกมองข้าม

31.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปัญหาที่พูดถึงกันมากของ ‘บัตรคนจน’ คือมีคนไม่จนจริงมารับสิทธิ์ แต่สิ่งที่คนมองข้ามคือ คนจนตัวจริงที่ไม่ได้รับสิทธิ์
  • การแจกเงินให้คนจน จากสถิติในต่างประเทศพบว่ามีการนำเงินไปใช้ผิดประเภทเพียง 1-2%

     โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนที่ภาครัฐทยอยแจกจ่ายและเริ่มมีการใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลรวม 7 จังหวัด เริ่มแจกและใช้งานจริง 17 ต.ค.

     เพียงเดือนแรกของโครงการก็พบปัญหาหลายประการ ทั้งเรื่องเครื่องรับบัตร EDC ไม่พร้อม ร้านธงฟ้าไม่เพียงพอ และปัญหาทุจริตนำบัตรคนจนไปแลกเงินสด รวมทั้งเสียงวิจารณ์ว่าโครงการนี้เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่

     อันที่จริงโครงการนี้ส่อแววมีปัญหามาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการ โดยเฉพาะแนวคิดลงทะเบียนคนจนเพื่อขอรับสิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผลปรากฏว่ามีผู้มีการศึกษาระดับด็อกเตอร์มาลงทะเบียนด้วย

     แนวคิดเปิดให้คนจนมาลงทะเบียน ผลลัพธ์ที่ได้คือคนที่มาลงทะเบียนอาจไม่จน ส่วนคนจนอาจไม่ได้มาลงทะเบียน

     ล่าสุดกับกรณีนายแบบหนุ่มโชว์ภาพใช้ชีวิตกินหรูอยู่สบายลงในโซเชียลมีเดีย พร้อมบัตรคนจนของรัฐเป็นหนึ่งในแอ็กเซสซอรีประจำตัว

     ปรากฏการณ์นี้สะท้อนช่องโหว่มโหฬารของนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างชัดเจน

การเปิดให้ลงทะเบียนคนจนสามารถทำได้ แต่อย่าลืมว่ามันจะมีช่องโหว่ 2 แบบ คือแบบที่คนไม่จนมาลงทะเบียน และคนจนตัวจริงไม่ได้มา

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

คำถามคือกระบวนการที่ดีในการตามหาคนจนและการตอบโจทย์ความต้องการคนจนควรมีแนวทางอย่างไร ?

     ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ช่วยอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นและเสนอแนะเพื่อปรับนโยบายช่วยเหลือคนจน

เรื่องแจกเงินนี่คนชนชั้นกลางไทยไม่ชอบ จะมีคำถามว่าทำไมให้เงินเขาไป ซึ่งเป็นความระแวงคนอื่นว่าเดี๋ยวงอมืองอเท้าไม่ยอมทำงาน เดี๋ยวเอาเงินซื้อบุหรี่ กินเหล้า แต่ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ คือยังไงให้เป็นเงินก็ดีกว่าให้เป็นของ

กระบวนการตามหาคนจน ควรทำอย่างไร ?

     ทฤษฎีที่อยากให้ดึงมาใช้คือ ‘ข้อมูลการใช้จ่าย’ อาจเรียกได้ว่าเป็น big data ทุกวันนี้เขายังไม่ได้เอาตรงนั้นมา ตอนนี้ดูแค่มีหนี้เท่าไหร่ มีทรัพย์สินเท่าไหร่ ตามที่พอจะหาข้อมูลเจอ แต่ที่แม่นยำมากคือข้อมูลการใช้จ่าย

     ถ้ารู้ว่าใน 11 หรือ 14 ล้านคน มีพฤติกรรมการใช้จ่ายตามปกติอย่างไรบ้าง ปกติเข้าห้างไปกินฟู้ดคอร์ตจ่ายครั้งละ 300 บาทหรือเปล่า หรือไปภัตตาคารหรู ถ้าพฤติกรรมแบบนี้พอจะอนุมานได้ว่าเขาไม่ใช่คนจน ถ้ามีข้อมูลประเภทนี้เข้ามาจะคัดกรองคนได้อีกเยอะ

     ตัวอย่างต่างประเทศที่เคยใช้คือการไปติดต่อกับบริษัทบัตรเครดิต คือแค่รู้ว่าเขามีบัตรเครดิตก็เพ่งเล็งได้แล้วว่าไม่จนจริง แล้วยิ่งถ้าดูจากพฤติกรรมการใช้จ่ายบัตรเครดิต เช่น ไปซื้อเปียโน แบบนี้ก็ตัดออกได้เลย

     ผมเคยไปแอฟริกาใต้เขาใช้วิธีนี้ เขาก็ตัดคนไม่จนออกไปได้เยอะ แต่ว่าตรงนี้ต้องมีความร่วมมือ รัฐบาลอาจต้องออกกฎหมายใหม่ด้วยซ้ำเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล เช่น เรื่องบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตของธนาคาร ว่าแต่ละคนจ่ายเรื่องอะไร มันอยู่ในวิสัยที่ทำได้ คือเทคโนโลยีทำได้ แต่จะมีขั้นตอนกฎหมายต่างๆ ถ้าทำได้จะช่วยแยกคนจนและไม่จนออกจากกันได้ค่อนข้างดี แต่ว่าปัญหาที่คนจนจริงๆ ไม่มาลงทะเบียนนี่ต้องแก้อีกแบบหนึ่ง

     สำหรับไทยก็มีกรณีนโยบายไฟฟ้า รถเมล์ร้อนฟรี ภาษาวิชาการเรียก self-targeting คือดูพฤติกรรมของคน แล้วนำข้อมูลไปคำนวณว่าเขาเป็นคนจนหรือไม่ คือถ้าคุณใช้ไฟน้อย ก็น่าจะเป็นคนจน อันนี้มันดีกว่าการจดทะเบียนคนจนตรงที่ว่าเอาพฤติกรรมการใช้มาเป็นตัววัด แต่ก็มีรั่วไหลบ้างคือ คนที่มีคอนโด บ้านหลังที่สอง ก็จะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีไป

     หรือถ้าขึ้นรถเมล์ร้อนแบบในสมัยก่อน หรือรถไฟชั้น 3 ถามว่าถ้าคุณเป็นคนรวยคุณจะยอมเบียดขึ้นรถเมล์ร้อนไหม ในแง่นี้ตัวสินค้าหรือบริการมันช่วยสกรีนคนจนได้ คนรวยไม่มาแย่ง เทียบกับการจดทะเบียนคนจน มีถึงขั้นด็อกเตอร์มาลงทะเบียน ดังนั้นทั้งใช้ไฟ ขึ้นรถเมล์ รถไฟ แบบนี้เป็น self-targeting ซึ่งด้วยไอเดียมันดีกว่าลงทะเบียนคนจน

คนให้ความช่วยเหลือมักทำว่ารู้ดีกว่า ทำเหมือนว่าเป็นพ่อกับแม่แล้วมองคนจนเหมือนลูก เหมือนเด็กที่ไม่รู้เรื่อง จะต้องคิดแทน และคิดแล้วว่าต้องเป็นสินค้านู่นนี่ เช่นเรื่องให้ขึ้นรถโดยสารฟรี นี่ก็เป็นเรื่องคิดแทน ทั้งที่ไม่ใช่ว่าคนจนทุกคนต้องใช้รถโดยสาร

 

ปัญหาสำคัญกว่าคนไม่จนมารับสิทธิ์ คือ ‘คนจนจริงๆ ไม่ได้รับสิทธิ์’ หรือไม่

     ย้อนมาการออกแบบคอนเซปต์ว่าการลงทะเบียนคนจน โดยใช้วิธีให้เขามารายงานว่าเขาเป็นคนจน ซึ่งเคยทำมาแล้วในสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีปัญหามาแล้วในตอนนั้น คือคนที่ไม่จนมาประกาศตัวว่าเป็นคนจน ซึ่งมีแน่นอน ง่ายๆ ว่ามีคนลงทะเบียน 14 ล้านคนที่บอกว่าตัวเองเป็นคนจน

     แต่ตัวเลขทางการของสภาพัฒน์มีคนจนประมาณ 8% ของประชากร คิดเป็นประมาณ 4-5 ล้านคน

     ต่อให้เราขยับเส้นความยากจนให้สูงขึ้น เช่น มากกว่าตัวเลขสภาพัฒน์สองเท่า จำนวนคนจนก็จะอยู่ประมาณ 8 ล้านคน ก็ยังต่ำกว่า 14 ล้านคน แต่รัฐบาลก็บอกว่าเขาพยายามสกรีนออก บอกเหลือ 11 ล้าน แต่ 11 ล้านก็ยังสูงกว่า 8 ล้าน ดังนั้นคนที่ไม่จนจริงมาจดทะเบียนนั้นยังคงมีอยู่และมีเยอะด้วย

     ที่สำคัญคือคนจนจำนวน 4-5 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน เราไม่รู้เลยว่ามาครบไหม ซึ่งก็อาจจะมาไม่ครบ เพราะคนจนเขาหาเช้ากินค่ำ ถ้าต้องมานั่งหาข้อมูล กรอกโน่นนี่ บางทีคนจนก็กลัวการกรอกนะ ก็อาจไม่มากัน

     ดังนั้นถ้าคุณยึดฐานข้อมูลนี้เป็นเรื่องตายตัว แล้วคนจนที่ไม่ได้มาล่ะ ซึ่งคนที่ไม่มามักจะเป็นคนจนตัวจริง คือจนสุดๆ คนกลุ่มนี้ถูกละเลยทันที

     การเปิดให้ลงทะเบียนคนจนสามารถทำได้ แต่อย่าลืมว่ามันจะมีช่องโหว่ 2 แบบ คือแบบที่คนไม่จนมาลงทะเบียน และคนจนตัวจริงไม่ได้มา

     สิ่งที่ควรต้องคิดต่อคือ ควรทำอย่างไรกับคนจนที่ไม่ได้มาลงทะเบียน รัฐต้องมีกระบวนการอื่นตามตัวเขา แต่เราไม่มีการพูดถึงตรงนี้เลย

สิ่งที่อยากฝากถึงภาครัฐคืออย่าหยุดปรับปรุง อย่าคิดว่ามาตรการคัดกรองคนจนที่ทำมาทั้งหมดดีพอแล้ว เพราะมันชัดเจนว่ายังดีไม่พอ

ตามหาคนจน เพื่อนำเงินไปแจก ถูกต้องหรือไม่ ?

     เรื่องแจกเงินนี่คนชนชั้นกลางไทยไม่ชอบ จะมีคำถามว่าทำไมให้เงินเขาไป ซึ่งเป็นความระแวงคนอื่นว่าเดี๋ยวงอมืองอเท้าไม่ยอมทำงาน เดี๋ยวเอาเงินซื้อบุหรี่ กินเหล้า แต่ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ คือยังไงให้เป็นเงินก็ดีกว่าให้เป็นของ

     ซึ่งประสบการณ์จากที่ต่างๆ ที่ให้เป็นเงินกับคนจน สัดส่วนคนที่ไปใช้เงินผิดประเภท ซื้ออบายมุขต่างๆ เพียง 1-2 % ถือว่าน้อยมาก

     อีกอย่างคือคนให้ความช่วยเหลือมักทำว่ารู้ดีกว่า ทำเหมือนว่าเป็นพ่อกับแม่แล้วมองคนจนเหมือนลูก เหมือนเด็กที่ไม่รู้เรื่อง จะต้องคิดแทน และคิดแล้วว่าต้องเป็นสินค้านู่นนี่ เช่นเรื่องให้ขึ้นรถโดยสารฟรี นี่ก็เป็นเรื่องคิดแทน ทั้งที่ไม่ใช่ว่าคนจนทุกคนต้องใช้รถโดยสาร

     ไปดูในชุมชนแออัด เขาจะชอบทำมาหากินใกล้บ้าน เขาไม่ได้ชอบเดินทาง การทำตัวเป็นพ่อแม่รู้ดี แต่รู้ไม่จริง ประโยชน์ที่จะได้ก็ไม่ได้

     แนวคิดจำกัดการใช้บัตรเฉพาะร้านค้าธงฟ้า ก็มาจากไอเดียไม่ยอมให้เงิน ก็ต้องไปแลกเป็นของ พอเป็นของก็ต้องเพิ่มเงื่อนไขจำกัดแค่บางร้าน และต้องมีเครื่องอ่านบัตรโดยใช้กับทุกร้านทั่วประเทศไม่ได้ เพราะมันต้องลงทุนสูง จึงมีแค่ธงฟ้า

 

     ดังนั้นต้องกลับไปตั้งต้น คือตามตัวคนจนให้เจอและให้เป็นเงินไป เป้าหมายคือเพื่อให้เขาผ่านช่วงชีวิตที่มันลำบากไปได้

     สิ่งที่อยากฝากถึงภาครัฐคืออย่าหยุดปรับปรุง อย่าคิดว่ามาตรการคัดกรองคนจนที่ทำมาทั้งหมดดีพอแล้ว เพราะมันชัดเจนว่ายังดีไม่พอ อยากให้ร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสาธารณสุข ในเรื่องการให้ อสม. ช่วยเรื่องปรับปรุงฐานข้อมูล ส่วนเรื่องรั่วไหลไปคนไม่จน ไม่น่าซีเรียสเท่าไม่ถึงคนจนจริง แต่ก็ควรสกรีน

     ส่วนตัวมองว่าบัตรคนจนเป็นขั้นตอนของการเก็บข้อมูล แต่ข้อมูลที่ว่านี้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นำเรื่อง big data เข้ามา และมีกฎหมายเพื่อดึงข้อมูลต่างๆเข้ามา ข้อมูลมันจะดีขึ้นเพื่อนำไปใช้เรื่องอื่นๆ

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X