×

คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์: The Prime Minister-Maker

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2023
  • LOADING...
พจมาน ดามาพงศ์

‘พจมาน’ ในบ้านสี่เสาเทเวศร์

 

เวลา 10.30 น. ของเช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2549 หรือให้หลังเพียง 37 วัน หลังการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 รถเมอร์เซเดส-เบนซ์ สีบรอนซ์เงิน เลขทะเบียน ศฎ 919 ติดฟิล์มกรองแสงสีดำทึบรอบคัน ขับโดย ‘พล.อ. อู้ด เบื้องบน’ อดีต ทส.ป๋าเปรม บรรจุผู้โดยสารอีกสองคนในรถคือ ‘คุณหญิงพจมาน ชินวัตร’ (นามสกุลขณะนั้น) และ ‘บรรณพจน์ ดามาพงศ์’ เลี้ยวเข้าสู่บ้านสี่เสาเทเวศร์

 

คุณหญิงพจมานในชุดผ้าไหมสีเหลืองทอง ก้าวลงจากรถ และเดินเข้าสู่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อพบ ‘พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์’ ประมุขของบ้านสี่เสาเทเวศร์ ประธานองคมนตรี 2 รัชกาล และรัฐบุรุษ ศูนย์กลางของวงอำนาจเวลานั้น ทั้งเป็นคนเดียวกับที่ ‘ทักษิณ’ เคยกล่าวถึงว่าเป็น ‘ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ’

 

วันถัดมา พล.อ. อู้ด เลือกเปิดเผยถึงฉากและบทสนทนาบางตอนในบ้านหลังนั้นว่า ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองและการยึดอำนาจใดๆ เป็นการเข้าพบ “ในลักษณะเยี่ยมคารวะผู้ใหญ่ และพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันธรรมดา

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

“ในช่วงหนึ่งของการสนทนา พล.อ. เปรมได้ถามคุณหญิงพจมานถึงความเป็นอยู่ของ พ.ต.ท. ทักษิณว่าสบายดีหรือไม่ คุณหญิงพจมานบอกว่า สบายดี วันๆ พ.ต.ท. ทักษิณก็ไปออกรอบตีกอล์ฟ ออกกำลังกายที่ลอนดอน และคุณหญิงพจมานยังพูดอีกว่า เข้าใจสภาพดีว่าสักวันหนึ่งตัวเองก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งภริยานายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว

 

“พล.อ. เปรมได้กล่าวกับคุณหญิงพจมานด้วยว่า สภาพที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งของผู้นำ ถึงอย่างไรสักวันหนึ่งก็ต้องเกิดขึ้น ขอให้เข้มแข็งและอดทน คุณหญิงพจมานบอกกับ พล.อ. เปรมว่าได้เตรียมใจมาตั้งนานแล้ว” (หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2549)

 

รายงานข่าวบางชิ้นในเวลานั้นฉายภาพบทสนทนาในบ้านสี่เสาเทเวศร์ต่างจากที่ พล.อ. อู้ดให้ปากคำไว้ 

 

“แหล่งข่าวใน คมช. เปิดเผยว่า คุณหญิงพจมานพยายามพูดคุยกับ พล.อ. เปรม เพื่อขออนุญาตให้ พ.ต.ท. ทักษิณกลับมาเมืองไทย และกราบขอโทษกับทุกเรื่องที่ผ่านมาว่า ไม่มีเจตนาให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้

 

โดยคุณหญิงพจมานเล่าให้ฟังว่า การที่ พ.ต.ท. ทักษิณพักอยู่ที่ต่างประเทศ ได้มีเวลาทบทวนตัวเอง และการทำงานที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีทั้งคนรักและคนไม่รัก ก็ควบคู่กันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่ง พล.อ. เปรมบอกว่าไม่มีหน้าที่จะอนุญาตให้ใครกลับได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไปคุยกับ พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. และ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี” (หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2549)

 

15 นาทีในบ้านหลังนั้นเป็นเวลาแสนสั้น ทว่าได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างสำคัญต่อวงการเมืองไทยในเวลานั้น

 

เพราะเป็นฉากการเข้าพบศูนย์กลางของวงอำนาจในสถานการณ์ที่คณะรัฐประหารสั่งห้ามทักษิณกลับเข้าสู่ประเทศ ทั้งมีแนวโน้มว่าจะโดนไล่ล้าง ยึดทรัพย์และดำเนินคดีอาญาจากผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในหลายคดี

 

บทสนทนาและผลจากการสนทนาในบ้านหลังนั้นยังคงเป็นปริศนาถึงทุกวันนี้ เช่นเดียวกับบทบาทหลังฉากการเมืองของคุณหญิงพจมานตลอด 17 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย จนถึงพรรคไทยรักษาชาติ 

 

พจมาน ดามาพงศ์

ภาพ: Thierry Falise / Gamma-Rapho via Getty Images

 

ความเป็นพจมาน

 

ในหนังสือ ‘ตาดูดาว เท้าติดดิน’ ซึ่งตีพิมพ์ในต้นทศวรรษ 2540 ทักษิณเล่าถึง ‘ความเป็นพจมาน’ ไว้อย่างน่าสนใจ ทั้ง ‘ความละเอียดลออ-เมตตา-เด็ดขาด-รอบรู้-ระมัดระวัง’ 

 

“ผมทำงานสไตล์แมคโครหรือเน้นภาพกว้าง คุณอ้อก็ใช้ความละเอียดลออของเธอมากวาดเก็บไมโครหรือส่วนย่อยเสียจนเรียบร้อย อุดรูโหว่ไม่ให้มีอะไรขาดตกบกพร่องหรือรั่วไหล ถ้าผมทำโครงสร้างไว้เสร็จ เธอก็มาบริหารโครงสร้างนั้นจนสำเร็จได้อย่างสบาย ด้วยบุคลิกผู้นำของเธอที่ทั้งเมตตา เลี้ยงคนและเด็ดขาดในตัวเอง 

 

“ผมบริหารแบบพุ่งไปข้างหน้า เคลื่อนไวโดยใช้วิสัยทัศน์ เธอก็จะคอยกระตุกหลังรั้งไว้บ้าง ไม่ให้เครื่องมันแรงจนเกินยั้งเวลาปะทะโค้ง ซึ่งเธอเอาผมอยู่ เพราะเธอมีเหตุผล มีความรอบรู้และระมัดระวัง คุณอ้อจะดับเบิลเช็กข้อมูลทุกอย่างให้ผมได้ดี  เนื่องจากเธอมีเครือข่าย เพื่อนฝูง มีคนที่เคยเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อกันกว้างขวางมาก

 

“ผมยอมรับเลยว่า ผมทำอะไรต้องได้รับการสนับสนุนจากภรรยา ทำการค้าภรรยาก็ช่วยสร้าง ทำการเมืองภรรยาก็ต้องเสริม

 

“ผมยกย่องภรรยาเสมอว่า ถ้าไม่มีผู้หญิงชื่อพจมานคนนี้มาเคียงข้าง ความเจริญก้าวหน้าใดๆ ในทุกด้านของผมคงไม่ถึงครึ่งทางของวันนี้ หรืออาจไม่ถึง 1 ใน 4 ด้วยซ้ำไป”

 

พจมาน ดามาพงศ์

 

มธุรสพจมาน-ลีดเดอร์ชิปพจมาน

 

หนังสือ ‘โลกนี้คือละคร’ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เขียนโดย ‘วิษณุ เครืองาม’ เนติบริกรในรัฐบาลทักษิณ เล่าถึง ‘ความเป็นพจมาน’ ไว้อย่างลึกซึ้ง

 

ในวันที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีมือกฎหมาย พจมานออกโรงโน้มน้าววิษณุด้วยตัวเอง เป็นที่มาให้ต้องอำลาตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี คนที่ 17 ก้าวขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี 

 

“ถ้าอยู่ไป ไม่สบายใจอะไรให้มาบอกอ้อ” 

 

วิษณุเรียกวิธีการสนทนาของคุณหญิงพจมานว่าเป็น ‘มธุรสพจมาน’ ที่ฟังแล้ว “เกิดความเกรงใจมากกว่านายกฯ เสียอีก”

 

และ “ถ้าคุณทักษิณได้ความนุ่มนวลอย่างนี้มาสักครึ่ง บางทีลงท้ายจะไม่เป็นอย่างนี้” 

 

อีกหนหนึ่ง เมื่อวิษณุไปนำเรียนคุณหญิงพจมานว่าจะขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในปี 2549 วิษณุเขียนบรรยายทิ้งท้ายถึงคุณหญิงพจมานไว้ว่า 

 

“คุณหญิงพจมานเป็นคนมีเหตุผลและเข้าใจปัญหาดีมาก อย่างไม่น่าเชื่อ 

 

“ต้องยอมรับว่าผู้หญิงคนนี้มีความเฉลียวฉลาดและกล้าหาญเด็ดเดี่ยวยิ่งนัก ในการสนทนาท่านจะมีแต่คำถามว่าเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น โดยไม่เคยแนะนำหรือให้คำตอบ คนฟังจึงสบายใจที่จะเล่าและไม่รู้สึกว่าถูกชี้นำ แต่บทจะต้องตัดสินใจในทางเลือกทั้งหลายแล้ว ผมว่าคุณหญิงทำได้ดีกว่านายกฯ ทักษิณ

 

“…แต่ยามใดที่ต้องแสดงความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ซึ่งเราเป็นคนไม่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเพราะเกรงใจ แต่ท่านไม่เกรงใจ แสดงเปรี้ยงเลยว่าเป็นอย่างนี้ วันนั้นท่านพูดกลางวงประชุมว่า ‘ไม่ต้องอ้อมค้อม พูดกันตรงๆ ดีกว่า คุณจะเอาอย่างไรแน่’ ไอ้คำพูดอย่างนี้ ตั้งแต่ผมเกิดมาผมยังไม่เคยพูด ผมเองตกใจ อกสั่นขวัญแขวนไปเลย แต่นี่คือลีดเดอร์ชิปนะ” (หนังสือ ‘ในคืนยะเยือก 7 ขุนพลทักษิณ ใต้ปฏิบัติการ ลับ ลวง พราง’ โดยสำนักพิมพ์มติชน)

 

“คุณหญิงรับภาระแทนผมไว้เยอะ”

 

คำตอบของทักษิณในปี 2565 อาจเป็นภาพสะท้อน ‘ภาระ-ภารกิจหลังฉากการเมือง’ ของคุณหญิงพจมานนับตั้งแต่ปี 2549 ได้อยู่ไม่น้อย

 

เมื่อถามทักษิณว่า “เวลาคุณยืนมองกระจกอยู่ คุณกำลังเห็นใคร”

 

เขาตอบชัดเจนว่า “เห็นคุณหญิง เพราะผมสงสารคุณหญิง ผมตัดสินใจอยากกลับเมืองไทย เพราะว่าคุณหญิงรับภาระแทนผมไว้เยอะ สงสารเขา ถ้ากลับไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่าง ได้กลับไปอยู่กับครอบครัวแล้ว มันก็จบทุกอย่าง” (หนังสือ Thaksin Shinawatra Theory and Thought)

 

พจมาน ดามาพงศ์

 

The Prime Minister-Maker

 

เมื่อ ‘พจนีย์ ณ ป้อมเพชร’ มารดาของคุณหญิงพจมานถึงแก่กรรม ถนนหลายสายในวงอำนาจ-วงการเมือง-วงธุรกิจ ต่างมุ่งหน้าสู่ศาลา 10 วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่อร่วมไว้อาลัย 

 

ทั้งได้รับพวงมาลาประทานจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในการสวดพระอภิธรรม สร้างความปลาบปลื้มในน้ำพระทัยต่อครอบครัว

 

หนึ่งในผู้นำของวงอำนาจที่ส่งพวงหรีดร่วมไว้อาลัยคือ ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และหนึ่งในฉากที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุดคือภาพ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ศิษย์เก่าพรรคไทยรักไทย คุกเข่าพูดคุยกับคุณหญิงพจมานในคืนแรกของการสวดพระอภิธรรม รวมถึงร่วมงานในคืนสุดท้าย 

 

ฉากคุกเข่าอันนอบน้อมเช่นนี้ เป็นภาพอันคุ้นชินที่เกิดขึ้นตลอด 5 คืนของการสวดพระอภิธรรม สะท้อนถึง ‘ภาระ’ ที่เธอรับต่อจากผู้เป็นสามี สะท้อนทั้งบารมีและความเกื้อกูลที่คุณหญิงพจมานมีต่อเครือข่ายทางการเมือง นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 จนถึงเวลานี้ นับรวมเกือบสามทศวรรษ 

 

‘ความเป็นพจมาน’ เช่นนี้เองจึงเป็นลมใต้ปีกที่หนุนนำให้พรรคการเมืองในเครือชินวัตรคว้าชัยในการเลือกตั้งทุกครั้งไปนับตั้งแต่ปี 2544 รวมทั้งสร้างนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน โดย 3 ใน 4 คือสมาชิกตระกูลชินวัตร 

 

เมื่อหวนคิดถึงจังหวะก้าวเข้าสู่บ้านสี่เสาเทเวศร์ในเช้าวันนั้น ถือเป็นหนึ่งในจังหวะก้าวที่คิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้วเสมอของ ‘คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์’ สมกับที่เธอเป็น The Prime Minister-Maker มาแล้วถึง 4 คน พร้อมส่งลูกสาว ‘อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร’ ก้าวขึ้นอันดับ 1 ในทุกโพลที่คนไทยอยากเห็นเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปี 2566

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising