หลังจากที่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งเครื่อง ‘โครงการเหมืองแร่โพแทช’ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
ผ่านมาหลายปี รัฐบาลหลายสมัย โครงการนี้ยังคงเป็นหนึ่งความหวังในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแร่โพแทชของอาเซียน แก้ปัญหาวังวนปุ๋ยแพง รวมไปถึงการต่อยอดไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ภูมิภาค ก็ยังไม่ถึงฝั่ง
โครงการล่าช้าและยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เอกชนบางรายที่กระโดดเข้าสู่น่านน้ำนี้บ้างก็ขาดสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ บ้างก็อยู่ระหว่างระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงการ
หากย้อนดูโครงการเหมืองแร่โพแทชในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกจริงๆ คงต้องย้อนไป 40 กว่าปีที่แล้ว ในวันที่ 11 มิถุนายน 2523 เมื่อครั้งคณะรัฐมนตรีให้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเชิญชวนบริษัทเอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่งปี 2527 ลงนามสัญญากับเอกชน ‘ไทยอะกริโก โปแตช’ โดยกลุ่มทุน ‘อิตาเลียนไทย’
จวบจนปัจจุบันมีผู้ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชในไทยรวมทั้งสิ้น 3 ราย มีการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ในหลายๆ มิติต่อเนื่องก็ยังไม่สามารถดำเนินงานได้
รู้จักทุนใหญ่ 3 เหมือง ปี 2567 เดินหน้าไปถึงไหน
- บริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งมีกลุ่ม ‘อิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้ประทานบัตรเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ระยะเวลา 25 ปี มูลค่าลงทุน 36,000 ล้านบาท
ปัจจุบันได้สำรวจแล้วจำนวน 4 แปลง ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ มีแผนการผลิต 2 ล้านตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 33.67 ล้านตัน (ความก้าวหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่)
ล่าสุดบริษัทฯ ได้รายงานว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ (Project Finance) ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติ ทางบริษัทฯ ก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี
- บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT เดิมชื่อบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) พื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ สัมปทานทั้งหมด 9,707 ไร่ ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 – 5 กุมภาพันธ์ 2583 ประทานบัตรมีอายุ 25 ปี มูลค่าการลงทุน 63,800 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 1.1 ล้านตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 17.33 ล้านตัน (ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างขอปรับโครงสร้างหนี้และหาผู้ร่วมทุน)
- บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ 9,005 ไร่ ประทานบัตรอายุ 25 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2558 – 6 กรกฎาคม 2583 กำลังการผลิต 1 แสนตันต่อปี ปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 2.15 ล้านตัน มูลค่าการลงทุน 3,000 ล้านบาท (ความก้าวหน้าอยู่ระหว่างขอปรับรูปแบบทำเหมืองขุดเจาะแนวดิ่ง)
อ้างอิง: กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 11 มีนาคม 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อีกนานไหม กว่าไทยจะมีเหมืองลิเธียม? เจาะเบื้องลึกอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
- เปิดชื่อแบรนด์รถยนต์ EV จีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เริ่มเดินสายพานปี 2567-2568 กำลังผลิตเท่าไร ตั้งอยู่ที่ไหนบ้าง
ข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรของไทยทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน
ลดพึ่งพานำเข้าปุ๋ยพ่วงต่อยอดผลิตแบตเตอรี่ EV
คาดการณ์ว่าหากไทยมีเหมืองแร่โพแทชจะสามารถสกัดโพแทสเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งแร่โพแทชสามารถนำไปสกัดให้ได้เป็นโพแทสเซียมในการผลิตปุ๋ยเคมี โดยธาตุโพแทสเซียมเป็นธาตุอาหารสำคัญสำหรับพืชผลทางการเกษตร
นอกจากช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ จากปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชประมาณปีละ 8 แสนตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ได้
โดยแร่โพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) และโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำขั้วไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ได้ ผลิตเป็นแบตเตอรี่ชนิดโพแทสเซียมไอออนและโซเดียมไอออน ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับโลหะลิเธียม สามารถผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) ป้อนโรงงานแบตเตอรี่ EV ได้อีกด้วย
ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจต่อประเทศและประชาชนมี 2 ส่วน
ภาครัฐจะได้ ‘ค่าภาคหลวงแร่’ ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 คน
ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการก็จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่างๆ อีก 6 กองทุน ได้แก่
- กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง
- กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ
- กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน
- กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
- กองทุนสวัสดิการชุมชน
- กองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร
รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร
ภาพ: Annick Vanderschelden Photography / Getty Images
นอกจากนี้หากดำเนินการสำเร็จ บริษัทจะจัดสรรจำหน่ายปุ๋ยสูตร 0-0-60 ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่
MA’ADEN Manara Minerals ทุนซาอุแง้มร่วมทุน
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่าหากผู้รับสัมปทานทั้ง 3 รายในจังหวัดชัยภูมิ, อุดรธานี และนครราชสีมา ที่ได้สัมปทานไปยังไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งหาผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการแทน
พิมพ์ภัทราย้ำว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดในการสนับสนุนการทำเหมืองแร่โพแทชคือการช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้ได้ใช้ปุ๋ยราคาถูก ปุ๋ยที่ผลิตในประเทศ เพราะไทยมีแร่โพแทชซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตปุ๋ยแต่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ซึ่งจากการไปเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ย้ำว่านักลงทุนพร้อมจะขยายความร่วมมือกับรัฐบาลไทย โดย MA’ADEN Manara Minerals นักลงทุนซาอุดีอาระเบียก็กำลังสนใจมาร่วมทุนอีกด้วย
ย้ำให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ว่าด้วยเรื่องของการสร้างเหมือง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งที่ผ่านมามีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ที่กังวลต่อผลกระทบทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ
ในส่วนนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และอุตสาหกรรมจังหวัดมีคณะกรรมการในพื้นที่ร่วมกำกับดูแลการทำเหมืองของบริษัท เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
ส่วนภาคเอกชนเองก็มีปัญหาแตกต่างกันทั้งในเชิงเทคนิคการก่อสร้างและเงินทุน ทำให้โครงการยังไม่คืบหน้ามากนัก ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg อ้างว่าบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กำลังพิจารณาขายหุ้น 90% ในบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกำลังหามองหาเงินทุนประมาณ 500 ล้านดอลลาร์
กระทั่งบริษัทออกมาชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกและเจรจาผู้ร่วมทุนที่จะเข้ามาลงทุนบางส่วน
หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าเอกชนทั้ง 3 รายจะมีแผนดำเนินการต่อไปอย่างไร และจะสามารถดำเนินงานภายใน 3 ปีตามที่นายกรัฐมนตรีเร่งรัดสั่งการได้หรือไม่
ภาพ: Opla / Getty Images
เปิด 10 ประเทศผู้ผลิตแร่โพแทชมากที่สุดในโลก
THE STANDARD WEALTH สำรวจข้อมูลการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตแร่โพแทชทั่วโลกจะสูงถึง 40 ล้านตัน ต่อปี โดย 10 ประเทศที่มีการผลิตแร่โพแทช (By Production) มากที่สุดในโลก ได้แก่
- แคนาดา: กำลังการผลิต 16 ล้านตัน
แคนาดาเป็นผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการผลิตแร่โพแทชเพิ่มขึ้นทุกปี 1.8 แสนตัน มีบริษัทโพแทชที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการในปี 2561 ระหว่าง Potash Corporation of Saskatchewan และ Agrium ถือเป็นยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรระดับโลกที่มีมูลค่าถึง 38,000 ล้านดอลลาร์
- จีน: กำลังการผลิต 6 ล้านตัน
การผลิตแร่โพแทชของจีนยังคงทรงตัวตั้งแต่ในปี 2565 แต่สำหรับจีน โพแทชมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ซึ่งความต้องการภายในประเทศของจีนนั้นสูงกว่าปริมาณแร่โพแทชที่ผลิตเองในประเทศ ทำให้ประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชด้วย
- รัสเซีย: กำลังการผลิต 5 ล้านตัน
รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแร่โพแทชของโลกเช่นกัน ด้วยสัดส่วน 20% ของอุปทานแร่โพแทชทั่วโลก ก่อนเกิดสงครามกับยูเครน รัสเซียมีเหมืองแร่ 5 แห่ง และโรงงานแปรรูปสินแร่อีก 7 แห่ง
แต่เมื่อไม่นานมานี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดโควตาการนำเข้าแร่โพแทชจากรัสเซีย ท่ามกลางการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีการจำกัดการนำเข้าแร่โพแทชจากรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออกปุ๋ยไปยังประเทศที่ถือว่าไม่เป็นพันธมิตร แต่ยังคงส่งออกไปยังจีน อินเดีย รวมทั้งบางประเทศในแอฟริกาและอเมริกาใต้ ทำให้การส่งออกลดลงประมาณ 30%
- เบลารุส: กำลังการผลิต 3 ล้านตัน
การผลิตแร่โพแทชในเบลารุสลดลงเกือบร้อยละ 61 จากปี 2564 เหลือเพียง 3 ล้านตันในปี 2565 ก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ด้วยทรัพยากรเหมืองในประเทศที่มีอยู่ 6 แห่ง และโรงงานแปรรูปสินแร่ 4 แห่ง เบลารุสจึงเป็นประเทศที่มีทรัพยากรโพแทชเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
- เยอรมนี: กำลังการผลิต 2.8 ล้านตัน
การผลิตในเยอรมนีก็ลดลงอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านตัน แต่ด้วยกิจการเหมืองภายใน 6 แห่ง ทำให้เยอรมนียังคงแข็งแกร่ง
- อิสราเอล: กำลังการผลิต 2.5 ล้านตัน
อิสราเอลเป็นที่ตั้งของบริษัท Israel Chemicals ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ นอกเหนือจากแร่โพแทชแล้ว บริษัทยังผลิตโบรมีนถึง 1 ใน 3 ของโลก แม้เจอวิกฤตสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจทำให้หยุดชะงักไปบ้าง
- จอร์แดน: กำลังการผลิต 1.7 ล้านตัน
จอร์แดนมีบริษัท Arab Potash เป็นผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตแร่โพแทชเพียงรายเดียวในภูมิภาคอาหรับ ทำให้จอร์แดนกลายเป็นซัพพลายเออร์แร่โพแทชรายสำคัญในอินเดียและเอเชีย โดยอิสราเอลและจอร์แดนนำแร่โพแทชมาจากทะเลสาบเดดซี
- ชิลี: กำลังการผลิต 850,000 ตัน
การผลิตแร่โพแทชของชิลีทรงตัวในปีที่แล้ว โดยหนึ่งในผู้ผลิตแร่โพแทชรายใหญ่ที่สุดในประเทศคือ SQM นั้นก็เป็นผู้ผลิตลิเธียมชั้นนำของโลกเช่นกัน
- สปป.ลาว: กำลังการผลิต 600,000 ตัน
สปป.ลาวมีปริมาณสำรองแร่โพแทช 75 ล้านตัน โดย Asia-Potash International Investment เป็นหนึ่งในผู้ผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแร่โพแทชของประเทศอีกด้วย
- สเปน: กำลังการผลิต 450,000 ตัน
ช่วงปี 2565 ปริมาณการผลิตแร่โพแทชของสเปนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 85,000 ตัน ส่งผลให้สเปนก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 10 ของโลก โดยมีบริษัท Geoalcali เป็นเหมืองหลักในประเทศ
อ้างอิง:
- https://investingnews.com/daily/resource-investing/agriculture-investing/potash-investing/top-potash-countries-by-production/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-02-22/thai-potash-mine-owner-itd-said-to-weigh-500-million-stake-sale?embedded-checkout=true
- https://weblink.set.or.th/dat/news/202402/0438NWS230220241323300720T.pdf
- https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2565/P_406664_19.pdf
- https://www.kknews.in.th/content/7180/