รัฐมนตรีคลังเผย ครม. มีมติเลื่อนขึ้นภาษีน้ำตาลระยะ 3 ออกไปอีก 6 เดือน เหตุกังวลว่าหากปรับขึ้นภาษีตามกำหนดเวลาเดิมอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ประกอบการอาจดำเนินการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น
วันนี้ (20 กันยายน) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูต่างประเทศมอง ธปท. กำลังเดิมพันดอกเบี้ยกับ เงินเฟ้อ ชี้นโยบายการเงินไทยมองโลกในแง่ดีเกินไป
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุอีกว่า กรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมปรับสูตร ลดปริมาณน้ำตาล เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด โดยกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได ได้แก่ ระยะที่ 1 ในวันที่ 16 กันยายน 2560 – 30 กันยายน 2562, ระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2564 และระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2566
โดยต่อมาได้ขยายเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีระยะที่ 3 ออกไป 1 ปี จากวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2565
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หากปรับขึ้นภาษีตามกำหนดเวลาเดิมอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ประกอบการอาจดำเนินการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพสามิตจึงเสนอขยายเวลาการขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 มีนาคม 2566
ขณะที่ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความหวานตามปริมาณน้ำตาลตามที่กำหนดไว้นั้น นอกจากจะเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ ยังถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตที่มุ่งหวังจะเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสังคม และสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนและประเทศชาติสืบไป