วันเด็กมักทำให้นึกถึงคำพูดที่ว่า “ของเล่นทั้งหมดนั้นแท้ที่จริงแล้วสะท้อนให้เห็นจักรวาลขนาดเล็กที่เป็นโลกของผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นคำพูดของโรลอง บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ในหนังสือสุดคลาสสิกของเขาชื่อ มายาคติ (หรือ Mythologies ซึ่งมีแปลเป็นภาษาไทยบางบท) ที่พยายามชี้ให้เห็นเรื่องบางเรื่องในสังคมที่เรารู้สึกว่าเป็นปกตินั้น แท้จริงแล้วมันกลับเป็นภาพลวงหรือมีบางสิ่งบางอย่างแฝงอยู่
บาร์ตส์ชี้ให้เห็นว่า เด็กจะเรียนรู้บทบาททางเพศและอาชีพในอนาคตของเขาผ่านของเล่น เช่น เด็กผู้หญิงเรียนรู้การเป็นแม่บ้านแม่เรือนผ่านการเล่นตุ๊กตาเด็ก ผ้าอ้อมเด็ก และขวดนม หรือชุดเครื่องครัวเด็กเล่นที่ใช้เล่นในวัยเด็ก แน่นอนในทางตรงข้ามเด็กผู้ชายก็เรียนรู้บทบาทตัวเองผ่านการเล่นบทเป็นพ่อบ้าน (สิ่งที่บาร์ตส์พูดทำให้นึกถึงตัวของผู้เขียนตอนเด็กๆ ที่ชอบเล่นกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งข้างบ้าน เธอมักจะมีชุดเครื่องครัวครบชุด และผมต้องสวมบทบาทเป็นพ่อบ้าน บางครั้งเธอก็สั่งให้ทำกับข้าวเล่นกับเธอ ก็เลยทำให้นึกถึงตัวเองตอนนี้ว่าทำไมสนุกกับการทำกับข้าว)
ด้วยของเล่นที่มีส่วนต่อการกำหนดบทบาททางเพศ (Gender Role) หรือเพศสภาพ (Gender) ทำให้พ่อแม่บางคนรู้สึกแปลกๆ หรือไม่พอใจที่ลูกชายจะเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงไม่ควรเล่นรถยนต์หรือหุ่นยนต์มากเท่าไร (สังเกตได้จากการล้อเลียนของผู้ใหญ่ต่อเด็กชายที่เล่นตุ๊กตานานๆ)
ดังนั้น การซื้อของเล่นให้เด็กจึงไม่ใช่เรื่องแค่ให้ของเล่นเพื่อให้เด็กเล่นแล้วสนุก หากแต่มันแฝงไปด้วยเรื่องของวัฒนธรรม สังคม การเมือง และรหัสทางเพศที่แนบไปพร้อมกัน
ของเล่น กรงขังเพศของเด็ก
ในอดีตเมื่อกำหนดให้เด็กผู้ชายต้องเล่นรถถังหรืออาวุธ ส่วนเด็กผู้หญิงเล่นตุ๊กตาได้อย่างเดียวจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก แต่สาเหตุที่ทำให้เด็กต้องเล่นของเล่นอย่างนั้นอย่างนี้ตามเพศทางกายภาพของเขาก็เป็นผลมาจากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ไม่ว่าจะมาจากพ่อแม่ ครอบครัว สื่อ และโรงเรียน ที่มีส่วนต่อการสร้างหรือก่อรูปต้นแบบของเพศสภาพ (Gender Stereotypes) ต่อเด็ก และยังทำหน้าที่สร้างลักษณะเฉพาะของพฤติกรรมทางเพศ บ่มเพาะปมความเป็นชาย ปมความเป็นหญิงให้เกิดขึ้นกับเด็กอย่างมาก
สาเหตุที่มีการเลือกของเล่นข้างต้นให้เด็กแบบนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อว่า เด็กผู้ชายเป็นพวกที่มีนิสัยชอบการแข่งขัน ก้าวร้าว และชอบเครื่องยนต์กลไก ก็เลยทำให้ได้หุ่นยนต์และอาวุธเป็นของเล่นเสมอ ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะถูกคาดหวังว่าเป็นคนที่รักสวยรักงาม ชอบการดูแลคนและเด็ก (เช่นเดียวกับต้องเป็นภรรยาที่ดีในอนาคต) ก็เลยทำให้ได้ตุ๊กตาบาร์บี้ ชุดทำกับข้าว หรือชุดปฐมพยาบาลไปเล่น
ทว่าโดยแนวโน้มแล้วพบว่า พ่อมักจะกีดกันไม่ให้ลูกชายเล่นของเล่นผู้หญิง (Feminine Toys) ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะได้รับอิสระมากกว่าในการเล่นของเล่นแบบข้ามเพศ (Cross-sex Toys) ซึ่งสะท้อนถึงภาวะที่สังคมชายเป็นใหญ่
ในกระบวนการเลือกของเล่นให้เด็กนี้ เด็กคงไม่สามารถรับรู้สารที่มาพร้อมกับของเล่นได้ พ่อแม่หรือคนในครอบครัวมักมีส่วนต่อการแนบสารนั้น เช่น สอนวิธีการเล่น สอนหน้าที่ของของเล่นที่สัมพันธ์กับเพศ เช่น รถถังมีไว้สู้กับศัตรู ทหารคือผู้ชายที่ขับรถถัง โตขึ้นถ้าหนูอยากจะปกป้องชาติก็ต้องเป็นทหารและเป็นผู้ชายที่เข้มแข็ง
ด้วยความคาดหวังต่อนิสัยที่ผูกกันไปกับเพศสภาพ ครั้นพอเด็กจะไปเล่นของเล่นที่แตกต่างไปจากเพศของตัวเอง ในสมัยก่อนผู้ใหญ่หรือครูที่โรงเรียนก็มักจะแสดงท่าทีตกใจ หรือบังคับให้เด็กไปเล่นของเล่นให้ตรงกับสภาพของตัวเอง เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่ฝรั่งก็คิดเหมือนกัน (แต่ไม่อาจเหมารวมว่ามีการห้ามเช่นนี้ในทุกครอบครัวหรือสังคม เพราะตอนเด็กผมก็เล่นตุ๊กตาได้)
อย่างไรก็ดี บางอย่างย่อมมีข้อยกเว้น เราจึงไม่อาจมองอะไรแบบสุดโต่งได้เสมอไป เพราะมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำการทดลองกับเด็กแล้วพบว่า เด็กบางคนก็มีกลไกบางอย่างในการที่จะเลือกของเล่นตรงกับเพศของตัวเองเหมือนกัน คือเด็กชายวิ่งไปหาหุ่นยนต์ โดยที่อิทธิพลของพ่อแม่หรือสังคมไม่ได้แสดงผลอย่างมีนัยชัดเจน และก็พบเช่นกันว่าเด็กผู้หญิงมักชอบเล่นของเล่นผู้ชาย (Masculine Toys) มากกว่าของเล่นผู้หญิง
แต่สรุปสั้นที่สุดก็คือ คล้ายกับที่บาร์ตส์กล่าวว่า เพศสภาพของเด็กนั้นถูกลับถูกสร้างโดยผ่านโลกของผู้ใหญ่ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง หรือพูดอีกแบบก็คือ ความเป็นชายเป็นหญิงของเด็กนั้นมาจากสังคมผู้ใหญ่ไม่ใช่ตัวเด็กเองทั้งหมด
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงงานวันเด็กแห่งชาติ ไม่เฉพาะของไทยแต่ทั่วโลกว่า เด็กที่ไปเล่นรถถัง เครื่องบิน หรืออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นเขาจะซึมซับอะไรมาบ้าง เขาจะซึมซับความเป็นชาย ความเป็นทหาร ผ่านโลกของผู้ใหญ่มาแบบใดกัน
เอาเป็นว่า คำถามสำคัญในหมู่นักวิชาการที่ศึกษาของเล่นก็คือ ในเมื่อของเล่นสามารถกำหนดเพศสภาพของเด็กและพัฒนาการในอนาคต เด็กควรมีสิทธิที่จะเลือกของเล่นของเขาเองหรือไม่ จึงมีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาของของเล่นที่ผูกติดกับเพศสภาพ (Gender Stereotyped) หลายวิธี แต่ในที่นี้ขอเลือกมาเล่าสัก 2 เรื่องหลักๆ คือ
- วิธีแรก พ่อแม่และสังคมต้องเคารพความหลากหลายทางเพศและสิทธิของเด็ก (Children’s Right) ในการเลือกของเล่นด้วยตัวของเขาเอง
- วิธีที่สอง การไม่แบ่งแยกเพศของเล่นในร้านขายของเล่น ทั้งสองเคสเป็นเรื่องราวในอังกฤษ
โลแกน ชีวิตที่หนูขอเลือกเอง
เมื่อหลายปีก่อน ในอังกฤษมีข่าวใหญ่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องของ โลแกน ซิมมอนด์ส (Logan Symonds) เด็กชายที่สวมกระโปรงไปโรงเรียน ขอเล่าสักนิดว่า ความจริงแล้วโลแกนมีพี่น้องฝาแฝดคนหนึ่งชื่อว่า อัลฟี นับแต่เด็กโลแกนชอบเล่นของเล่นผู้หญิง ตรงกันข้ามอัลฟีชอบเล่นรถยนต์และรถถังของเล่น
เมื่อโลแกนอายุได้ 4 ขวบ เขาได้บอกกับแม่ว่า เขามีความรู้สึกเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่อายุ 18 เดือน ซึ่งในตอนนั้น เอ็มมา แม่ของเด็กเชื่อว่าเป็นเพียงแค่ความรู้สึกชั่วคราวของโลแกนเท่านั้น หลายคนอาจคิดว่าอายุ 18 เดือนนี้เร็วไปหรือเปล่าที่เด็กจะรู้ว่าตัวเองจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ฮาลิมและรูเบิลได้อธิบายว่า เด็กจะเริ่มรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเมื่ออายุ 18-24 เดือน เมื่ออายุได้ 27-30 เดือน เด็กจะเริ่มสามารถกำหนดเพศของตัวเองได้ชัดเจน และเมื่ออายุได้ 6-7 ปี เด็กจะชัดเจนในตัวเองว่าควรจะเป็นเพศอะไรดี
กลับมาที่โลแกน นับจากที่โลแกนบอกเรื่องที่ว่าเขารู้สึกเป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชายกับแม่ไป โลแกนก็เริ่มไว้ผมยาวและหันมาใส่เสื้อผ้าของผู้หญิง เอ็มมาเคยบอกให้โลแกนเลิกใส่เสื้อผ้าแบบนั้น ส่งผลทำให้โลแกนมีท่าทีก้าวร้าวและไม่พอใจอย่างมาก ไม่นานนักพ่อแม่ก็เริ่มยอม และอนุญาตให้โลแกนใส่เครื่องแบบนักเรียนของผู้หญิงไปโรงเรียน ซึ่งนับเป็นก้าวที่ใหญ่ของครอบครัวที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศและสิทธิของเด็ก โชคดีที่ทั้งโรงเรียนและเพื่อนของโลแกนให้กำลังใจเขา
ตามข้อมูลของกรรมการสิทธิมนุษยชน (ปี 2-14) ได้ให้ข้อมูลว่า เด็กที่เป็นเพศทางเลือก (LGBTI) บ่อยครั้งมักได้รับความรุนแรงภายในโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมและอัตลักษณ์ของเด็ก เช่นเดียวกับแรงกดดันที่เด็กได้รับจากพ่อแม่หรือสังคมที่นำไปสู่นิสัยก้าวร้าวของเด็กอีกด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กพัฒนาพฤติกรรมที่ชอบต่อต้านสังคมขึ้น
ดังนั้น จึงเชื่อว่าเพศสภาพนั้นสามารถก่อรูปขึ้นได้ผ่านจากสิ่งของ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพฤติกรรมและบุคลิกลักษณะของเด็ก เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างเหมาะสม จึงควรให้เด็กเลือกของเล่นตามที่เขาอยากจะเล่น เครื่องแต่งกาย และทรงผมของตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความคาดหวังของสังคม เพราะจะช่วยทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเชิงบวกและมีสุขภาพจิตที่ดี
ร้านของเล่น คละของไม่กำหนดเพศ
หลายคนคงเคยเดินเข้าไปในแผนกของเล่นเด็กแล้วพบว่า บางที่มีการแบ่งแยกของเล่นของผู้ชายกับผู้หญิงที่ค่อนข้างชัด อาจมีการแบ่งจากสี หรือจากชนิดของของเล่น ครั้งหนึ่งร้านของเล่นในอังกฤษก็เคยแบ่งเช่นนั้น เช่น พื้นที่ขายของเล่นของเด็กผู้หญิงก็จะใช้สีชมพูเป็นหลัก ส่วนผู้ชายก็ใช้สีฟ้าเป็นหลัก
ในเชิงประวัติศาสตร์พบว่า การใช้สีแบ่งชายกับหญิงนี้แท้จริงเพิ่งเริ่มต้นเมื่อราวทศวรรษ 1930 เท่านั้นเอง แต่กลับกลายเป็นแนวคิดที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วงปี 1970 แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้เกี่ยวกับเพศสภาพ (Gender Studies) เมื่อราวปี 2010 ทำให้เกิดการรณรงค์ให้เปลี่ยนแนวคิดในการจัดวางของเล่นในร้านค้าเสียใหม่ ภายใต้แคมเปญว่า “ปล่อยให้ของเล่นจงเป็นของเล่น” (Let Toys Be Toys) ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากร้านของเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้าน Toy R Us, Marks & Spencer และร้านใหญ่อย่าง Hamleys
ร้านต่างๆ จึงเริ่มไม่ตกแต่งชั้นวางของเล่นด้วยสีตามเพศ (แบบที่ Stereotyped) หรือแยกฝั่งระหว่างของเล่นผู้ชายหรือผู้หญิง วิธีการใหม่คือคัดแยกของตามประเภทหรือความสนใจ เช่น ของเล่นประเภทหุ่นยนต์ ของเล่นประเภทตุ๊กตา แต่ไม่ใช่ใช้วิธีแบ่งตามเพศอีก
ดังนั้น ถ้าเข้าไปร้าน Hamleys เช่นที่ถนนออกซ์ฟอร์ด ก็จะพบว่า ตุ๊กตาก็นำมาวางใกล้กับหุ่นยนต์หรือเครื่องบินของเล่น ซึ่งทำให้เด็กสามารถเลือกได้ว่าจะเลือกซื้ออะไรเพียงแค่หันหน้าหรือหันหลังไปเท่านั้นเอง
เด็กในยุคโพสต์โมเดิร์นควรเล่นอะไร
จากข้อถกเถียงข้างต้น พวกนักคิดแบบโพสต์โมเดิร์น (Postmodernism) หรือหลังสมัยใหม่ ซึ่งเป็นพวกที่ไม่เชื่อความคิดเชิงเดี่ยวหรือครอบจักรวาล คือไม่เชื่อว่าอะไรเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เราควรเคารพความแตกต่างและหลากหลาย (ว่ากันโดยทฤษฎี ส่วนปฏิบัติจะทำได้มากน้อยอีกเรื่องหนึ่ง) เพศไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัว เราต้องไร้โครงสร้างของความคิดแบบเดิมๆ
ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ทำให้เขามองว่าเด็กในโลกยุคโพสต์โมเดิร์นควรมีสิทธิที่จะเลือกเล่นของเล่นอะไรก็ได้ตามเพศสภาพของเขา หรือจะข้ามเพศสภาพก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กนั้นมีสิทธิของเด็ก (Children’s Rights) ในการที่จะเลือกสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ในยุคใหม่จะต้องพยายามทำความเข้าใจทั้งต่อตัวเด็กและความหมายที่แฝงมาพร้อมกับของเล่น
อีกข้อหนึ่งก็คือ พ่อแม่ยุคโพสต์โมเดิร์นควรจะเข้าใจต่อความหลากหลายของเพศสภาพ (Gender Diversity) ของเด็กให้มากขึ้น ควรยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศ บทบาท หรือการแสดงออกของบุคคลที่แตกต่างไปจากบรรทัดฐานทางสังคมกระแสหลักที่มักจะยึดติดกับเพศใดเพศหนึ่งเป็นหลัก
ฟังดูใช้ชีวิตยากจริงๆ นะครับในยุคโพสต์โมเดิร์น ด้วยข้อจำกัดของของเล่นแบบเก่า จึงมีนักคิดของเล่นที่พยายามเสนอของเล่นที่ดูเป็นกลางทางเพศ (Neutral Gender Toys) ของเล่นที่ว่านั้นก็เช่น เครื่องดนตรี ตุ๊กตาต่อรูปทรงเรขาคณิต (Shape Sorters) เกมเก็บแต้มต่างๆ ในมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ตัวต่อแบบเลโก้ ชุดตัวต่อแบบต่างๆ การวาดภาพศิลปะ บอร์ดเกม
สรุปให้สั้นที่สุดก็คือ เด็กในยุคโพสต์โมเดิร์นสามารถเล่นของเล่นได้ทุกชนิดโดยไม่แบ่งเพศ และควรปล่อยให้เป็นอิสระของเด็กที่จะเล่นอะไรก็ได้ที่เขาชอบ
Cover Photo: Karin Foxx
อ้างอิง:
- American Psychological Association. (2015). Key Terms and Concepts in Understanding Gender Diversity and Sexual Orientation Among Students. America: American Psychological Association.
- Barthes, R. (2000). Toys, in Mythologies. London: Vintage.
- Campenni, C. E. (1999). Gender Stereotyping of Children’s Toys: A Comparition of Parents and Nonparents. Sex Roles, Vol. 40, No 8: 112, pp.121-138.
- Cherney, I. D. (2003). The Effects of Stereotyped Toys and Gender on Play Assessment in Children Aged 18-47 Months. Gender and Play Complexity. Abingdon: Tylor & Francis Ltd.
- Cochrane, K. (2014). The fight back against gendered toys. The Guardian, 22th April. Available at www.theguardian.com/lifeandstyle/2014/apr/22/gendered-toys-stereotypes-boy-girl-segregation-equality
- Commissioner for Human Rights. (2014). LGBTI children have the right to safety and equality. Available at www.coe.int/en/web/commissioner/-/lgbti-children-have-the-right-to-safety-and-equality
- Halim, M. L., & Ruble, D. N. (2010). Gender identity and stereotyping in early and middle childhood. In J. Chrisler & D. McCreary (Eds.). Handbook of Gender Research in Psychology (pp.495-525). New York: Springer.
- Hawken, A. (2016). Mother allows one of her twin boys, four, to wear a DRESS. Mail Online, 21th April. Available at www.dailymail.co.uk/news/article-3551502/Mother-allows-one-twin-boys-four-wear-DRESS-school-believed-girl-just-18-months-old.html
- Mantz, Erin. (2018). 18 of the Best Gender-Neutral Toys for Kids. Available at: www.care.com/c/stories/4003/18-of-the-best-gender-neutral-toys-for-kids
- Martin, C. L., Eisenbud, L., and Rose, H. (1995). Children’s Gender-Based Reasoning about Toys. Children Development, 66: 1453-1471.
- Şalgam, D. (2015). The Roles of Toys in Gender and Sexual Identity Construction in Early Childhood. Research Gate. Available at www.researchgate.net/publication/2775 07628_The_Roles_of_Toys_in_Gender_and_Sexual_Identity_Construction_in_Early_Childhood