×

ลูกน้องชอบเอาเรื่องงานมาบ่นในเฟซบุ๊ก ทำอย่างไรดี

10.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เมื่อเราบ่นลงเฟซบุ๊ก พอผ่านไปอีกปีเราก็จะได้อ่านมันอีกครั้งและพบว่าตอนนั้นเรามีทัศนคติที่เป็นลบได้ขนาดนั้นเลยหรือ เคยไหมครับ กลับมาอ่านเฟซบุ๊กตัวเองแล้วรู้สึกว่า ทำไมตอนนั้นเราทำตัวไม่น่ารักเลย ทำไมตอนนั้นเราโพสต์อะไรรุนแรงแบบนั้น
  • ถ้าเขารู้สึกว่ามีคนที่รับฟังอยู่แล้ว มีคนที่เข้าใจ เขาก็จะไม่ไปบ่นที่อื่นไกล ไม่ไปบ่นลงเฟซบุ๊ก อาจจะลองกลับมาทบทวนดูว่า หัวหน้าวางระยะห่างกับลูกน้องไว้แค่ไหน ลูกน้องรู้สึกใกล้ชิดและไว้วางใจเราไหม ถ้าเขารู้สึกว่าบ่นให้เราฟังได้ เขาก็อาจจะไม่ต้องไปบ่นถึงเฟซบุ๊กก็ได้

Q: ลูกน้องชอบเอาเรื่องงานไปบ่นลงเฟซบุ๊ก ทำอย่างไรให้เขาเลิกบ่นในเฟซบุ๊กดีคะ

 

Q: อ่านเฟซบุ๊กลูกน้องแล้วหน้าชาเลยค่ะ เพราะเขาเขียนสเตตัสด่าลอยๆ ไม่ระบุว่าเป็นใคร แต่อ่านแล้วเหมือนด่าเรา เราควรทำอย่างไรดีคะ

 

A: ผมเห็นทั้งสองท่านนี้มีประเด็นดราม่าในที่ทำงานที่ใกล้เคียงกัน จึงขออนุญาตรวบตึงมาตอบด้วยกันเลย เพราะน่าจะเชื่อมโยงถึงกันได้ครับ

 

บางบริษัทมีกฎระเบียบชัดเจนเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียที่พนักงานต้องทราบและต้องเซ็นยินยอม เรื่องพวกนี้ละเอียดอ่อนครับ ควรให้พนักงานรู้เรื่อง ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าเซ็น เพราะที่สุดแล้ว คนที่จะได้ประโยชน์ก็คือตัวเขาเอง บางที่เข้มงวดขนาดห้ามโพสต์เรื่องงานหรือแสดงตัวว่าเป็นพนักงานบริษัทนั้นเลยก็มีครับ ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลบริษัทหรือภาพลักษณ์ของบริษัท บางที่รุนแรงถึงขนาดที่บริษัทมีสิทธิ์ลงโทษพนักงานหรือให้ออกเลยก็มี แต่ถึงจะไม่มีกฎเข้มงวด การโพสต์เรื่องงานลงโซเชียลมีเดียก็เป็นสิ่งที่เราต้องพึงระวังอยู่ดี

 

ผมว่ามองให้เป็นบวก เพราะการมีโซเชียลมีเดียมันก็ดีเหมือนกันตรงที่ทำให้เราได้รู้ว่าแต่ละคนนั้นคิดอะไรอยู่ เช่นเดียวกัน เราก็ได้รู้ว่าผู้ร่วมงานคิดอะไรอยู่ ใช้ชีวิตอย่างไร ถ้าเราจะใช้มันทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์

 

เหมือนกรณีนี้แหละครับ เรื่องบางเรื่องตอนอยู่ที่ออฟฟิศเราไม่เคยรู้เลยว่าลูกน้องคิดอย่างไร เขาอาจจะไม่กล้าบอกเรา แต่กับเฟซบุ๊กแล้ว เขาอาจจะสบายใจที่จะไประบายออกทางนั้นมากกว่า — แต่บางทีหนูก็ลืมเนอะลูกว่าพี่ก็อ่าน ฮ่าๆ

สมมติเวลาสัมภาษณ์งานใหม่ขึ้นมา เขาเสิร์ชดูว่าในโซเชียลมีเดียโพสต์อะไรไปบ้างแล้วเจอแต่ข้อความบ่นเรื่องงานหรือด่าคนที่ทำงาน คงกากบาทเรซูเม่ไปทันที

มองให้บวก ก็นี่ไงครับ เราจะได้รู้ว่าลูกน้องรู้สึกอย่างไรกับการทำงาน เพราะเรื่องบางเรื่องเขาอาจจะไม่กล้าบอกเราจริงๆ ด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าเรารู้แล้ว เราก็น่าจะเอามาปรับปรุงหรือหาวิธีช่วยเหลือลูกน้องได้

 

ทำไมการบ่นเรื่องงานลงเฟซบุ๊กจึงเป็นสิ่งไม่ดี ผมคิดว่า เพราะมันจะกลับมาที่ภาพลักษณ์ของตัวเจ้าของสเตตัสเอง ความอ่อนแอเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมี แต่บางทีการแสดงความอ่อนแอในที่สาธารณะอย่างในโซเชียลมีเดียอาจเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของเราได้ คนอาจจะรู้สึกว่า อะไรกัน แค่นี้ก็ไม่ไหวแล้วเหรอ หรือไม่ก็รู้สึกว่าทำไมคนนี้ขี้บ่นจัง ทำไมคนนี้มองอะไรเป็นลบไปหมด ทำไมคนนี้เอาแต่ว่าคนอื่น บางอย่างคนไม่พิมพ์ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รู้สึกนะครับ แทนที่บ่นแล้วจะได้ความเห็นใจกลับมา อาจได้สิ่งตรงข้ามแทนโดยที่เราไม่รู้ตัว

 

มองให้ไกลไปกว่านั้น สมมติเวลาสัมภาษณ์งานใหม่ขึ้นมา เขาเสิร์ชดูว่าในโซเชียลมีเดียโพสต์อะไรไปบ้างแล้วเจอแต่ข้อความบ่นเรื่องงานหรือด่าคนที่ทำงาน คงกากบาทเรซูเม่ไปทันที

 

สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่หลวงในวันนี้ — ใหญ่อย่างที่เราอยากจะบ่นลงเฟซบุ๊ก — เมื่อเวลาผ่านไปและเราได้เอาชนะอุปสรรคนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นเรื่องเล็ก เป็นอีกบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ แต่เมื่อเราบ่นลงเฟซบุ๊ก พอผ่านไปอีกปีเราก็จะได้อ่านมันอีกครั้งและพบว่าตอนนั้นเรามีทัศนคติที่เป็นลบได้ขนาดนั้นเลยหรือ ซึ่งเคยไหมครับ กลับมาอ่านเฟซบุ๊กตัวเองแล้วรู้สึกว่า ทำไมตอนนั้นเราทำตัวไม่น่ารักเลย ทำไมตอนนั้นเราโพสต์อะไรรุนแรงแบบนั้น ซึ่งทั้งหมดนั้น เราได้โพสต์ไปแล้ว มีคนเห็นแล้ว และแน่นอน มีคนที่รู้สึกบางอย่างกับเราไปแล้ว และเราอาจจะเอาคืนมาไม่ได้เพียงแค่การลบสเตตัส

 

บางคนอาจจะคิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นที่ระบายความทุกข์ อยากจะโพสต์ด่าใครก็ทำได้ แต่ลองคิดอีกที พื้นที่ที่เราระบายความทุกข์ลงไปนั้นมีคนอื่นๆ อยู่ด้วย ความทุกข์หรือความก้าวร้าวที่เราโยนลงไปนั้น มันอาจจะไปเพิ่มความทุกข์ให้คนอื่นด้วยก็ได้ นึกถึงว่าคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยต้องมาเจอสเตตัสบ่นนั่นบ่นนี่ของเรา หรือมาเจอการโพสต์ด่าคนอื่น มันก็ไม่ใช่พื้นที่ที่อยู่แล้วจะสบายใจเท่าไร

 

ถ้าจะโพสต์อะไรลงไป เป็นไปได้ไหมครับว่าจะโพสต์ในสิ่งที่สร้างสรรค์ลงไปแทน เช่น จากเดิมเคยอยากบ่นเรื่องงานว่าทำไมมันยากเย็นนักหนา เปลี่ยนมาโพสต์ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากการเอาชนะอุปสรรคนั้นได้ เปลี่ยนมาโพสต์วันนี้มีเรื่องอะไรดีๆ ในชีวิต ฯลฯ แล้วพอเรากลับมาดูเฟซบุ๊กตัวเอง เราจะได้เห็นแต่สิ่งที่ดี เห็นการเติบโตในทางที่ก้าวหน้า ดูแล้วตัวเราก็มีกำลังใจไปด้วย ไม่ใช่เห็นตัวเองจมกองทุกข์ เกรี้ยวกราดอาละวาดฟาดงวงฟาดงาใส่คนที่ทำงานไปเรื่อย  

 

ถ้าจะบอกลูกน้องว่าอย่าโพสต์บ่นเรื่องงานลงเฟซบุ๊กเลย ผมคิดว่าบอกอย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่ลองแบบนี้ไหมครับ ลองให้เขาได้ผ่านอุปสรรคที่เขาบ่นๆ อยู่นี่แหละแล้วได้เอาชนะมันดู พอเขาก้าวผ่านมันได้เขาจะเรียนรู้อะไรบางอย่าง ถึงตอนนั้น ลองให้เขาทบทวนดูว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง และเห็นไหมว่า ปัญหาที่เขาเคยบ่นลงเฟซบุ๊กและคิดว่าจะผ่านมันไปได้อย่างไรนั้นแท้จริงแล้วเขาก็ผ่านไปได้ เพราะฉะนั้น เวลาต้องเผชิญปัญหาครั้งต่อไปมันก็จะเป็นแบบนี้เหมือนกัน คือมันจะดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านมันไป แต่เมื่อเราพยายาม เราใช้สติ เราก็จะผ่านมันไปได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรที่เราน่าจะเอาไปบ่นให้คนอื่นรู้ ในเมื่อสิ่งที่กวนใจเราอยู่นี้ เดี๋ยวเราก็จะผ่านมันไปได้อยู่ดี

 

ผมว่าพอเขาได้รู้แล้วว่าปัญหาใดๆ ก็สามารถผ่านไปได้ เขาก็จะเรียนรู้ได้เองว่า แล้วจะเล่นใหญ่บ่นในเฟซบุ๊กไปทำไมล่ะนั่น นั่นแหละครับ เขาก็จะไม่บ่นเอง ไม่ใช่แค่ไม่บ่นในเฟซบุ๊ก แต่จะมีทัศนคติในการทำงานที่เป็นบวกมากขึ้น

 

หัวหน้าเองก็ต้องเป็นตัวอย่างการใช้โซเชียลมีเดียในทางสร้างสรรค์ครับ ไม่อยากให้ลูกน้องบ่นลงเฟซบุ๊ก หัวหน้าก็ต้องไม่ทำเหมือนกัน เขาจะได้ดูเป็นตัวอย่าง

 

ในทุกอุปสรรคมีความสวยงามของชีวิตเสมอครับ เคยไหมครับ เจอปัญหาหนักมากเลย แต่ลูกน้องสู้ยิบตา เราก็ต้องให้กำลังใจเขา นอกจากบอกเขาด้วยตัวเองแล้ว จะโพสต์ชื่นชมลงเฟซบุ๊กไปด้วยก็อาจจะทำให้ลูกน้องมีกำลังใจขึ้น จากเดิมที่จะบ่นก็ไม่บ่นแล้ว เพราะเราจับเขาหันไปมองด้านดีของชีวิตก่อนแล้ว

 

ลึกๆ แล้วการที่เราพิมพ์บ่นอะไรลงไปนั้นมาจากการที่เราต้องการความเห็นอกเห็นใจ อยากบ่น อยากระบาย อยากได้กำลังใจ อย่างน้อย ถ้าเห็นลูกน้องบ่นเรื่องงานลงเฟซบุ๊ก ก็มองให้ออกก่อนว่าเวลานี้ลูกน้องกำลังต้องการกำลังใจ เพราะฉะนั้น ให้กำลังใจเขาก่อนเลย คนเราต้องการแค่เท่านี้เอง

ถ้าจะบ่น มาบ่นกับพี่ บ่นลงเฟซบุ๊กแล้วปัญหาก็ยังอยู่ เพราะคนในเฟซบุ๊กไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่มาบ่นกับพี่ ยังไงเราก็ทีมเดียวกัน มีปัญหาอะไรจะได้ช่วยกันได้

ผมคิดว่ามันง่ายมากเลยที่หัวหน้าจะ ‘สั่ง’ ว่า ห้ามบ่นลงเฟซบุ๊ก แต่ถึงเขาจะไม่บ่นลงเฟซบุ๊ก เขาก็จะไปบ่นที่อื่น หรือไม่ก็บ่นลงเฟซบุ๊กนั่นแหละแต่ซ่อนข้อความไม่ให้หัวหน้าอ่านเจอ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าแทนที่จะสั่ง เราน่าจะสร้างทัศนคติที่เป็นบวกให้กับเขามากกว่า เพราะถ้าเขาคิดบวกได้แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องบ่นลงเฟซบุ๊ก แต่เรื่องอื่นๆ ในชีวิตเขาก็จะดีไปด้วย

 

ถ้าเขารู้สึกว่ามีคนที่รับฟังอยู่แล้ว มีคนที่เข้าใจเขา เขาก็จะไม่ไปบ่นที่อื่นไกล ไม่ไปบ่นลงเฟซบุ๊ก อาจจะลองกลับมาทบทวนก็ดีนะครับว่า หัวหน้าวางระยะห่างกับลูกน้องไว้แค่ไหน ลูกน้องรู้สึกใกล้ชิดกับเราไหม รู้สึกไว้วางใจเราไหม ถ้าเขารู้สึกว่าบ่นให้เราฟังได้ เขาก็อาจจะไม่ต้องไปบ่นถึงเฟซบุ๊กก็ได้นะครับ

 

ถ้าจะบอกลูกน้องว่าอย่าบ่นเรื่องงานลงเฟซบุ๊กเลย ต้องสื่อให้เขาเห็นความห่วงใยของเราด้วยนะครับว่าที่เราบอกนั้นเพราะเราเป็นห่วง ไม่อยากให้เขามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ถ้าจะบ่น มาบ่นกับพี่ บ่นลงเฟซบุ๊กแล้วปัญหาก็ยังอยู่ เพราะคนในเฟซบุ๊กไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่มาบ่นกับพี่ ยังไงเราก็ทีมเดียวกัน มีปัญหาอะไรจะได้ช่วยกันได้

 

จริงๆ เรื่องนี้จะว่าละเอียดอ่อนก็ใช่ เพราะถ้าเราบอกไม่ดีจะเหมือนกับเราไปเหยียบเขาซ้ำ คนมันอัดอั้น คนมันทุกข์อยู่แล้ว เลยต้องการระบายแต่ดันไปตัดช่องทางระบายเขา เขาจะรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเดิม แต่เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นห่วงเขาต่างหาก และเรากำลังช่วยเขา เราพร้อมจะรับฟังความไม่สบายใจของเขา

 

ทีนี้ถ้าอ่านสเตตัสไปแล้ว อ้าว…ด่าเรานี่หว่า ผมคิดว่าอย่างแรกเลยนะ เราต้องสงสารลูกน้องก่อนเลย ต้องสงสารเพราะถ้าเขารู้วิธีการจัดการกับชีวิต เขาจะไม่มาด่าใครลงเฟซบุ๊กแบบนี้ให้อายคนอื่น

 

เผื่อใจไว้ด้วยนะครับว่า คนที่เขาด่าแบบลอยๆ นั้นอาจจะเป็นเราหรือไม่เป็นเราก็ได้ อย่ารีบไปรับ เกิดไม่ใช่ขึ้นมาเราจะหมาได้ เขาโยนขี้มา เราจะเอาหน้าไปรับทำไมล่ะครับ ฮ่าๆ และก็ต้องเผื่อใจไว้อีกว่า เขาอาจจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้ว่าเขาด่าเรา เราจะไปคาดคั้นอะไรก็ใช่เรื่อง

 

มีคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ผมชอบมาก และคิดว่าเป็นประโยชน์กับเรื่องแบบนี้คือ “เขาว่าเราจริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันจริง เขาว่าเราไม่จริง ก็ไม่ต้องโกรธเขา เพราะเรื่องมันไม่จริง แค่นี้จบ”

 

เป็นหัวหน้าต้องเมตตาลูกน้องครับ เขาทำผิดก็ยังต้องเมตตา ลองคุยกันว่าลูกน้องไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า หาความทุกข์ของเขาให้เจอ เรื่องด่าในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเจอว่าปัญหาของเขาคืออะไรแล้วแก้ได้ก็จบ เผลอๆ คุณอาจจะได้ใจลูกน้องมากกว่าเดิมก็ได้

 

ทุกปัญหามีทางออกครับเลยไม่มีอะไรต้องบ่น — เพราะมันมีทางออก

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X