ภาพรวมการลงทุนในประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา การลงทุนได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยบวกและเป็นปัจจัยต่างประเทศ มีผลทำให้ตลาดหุ้นต่างๆ ทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น และในตลาดตราสารหนี้ การปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็มีผลทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวลดลง สะท้อนถึงการยุติวงจรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
เรามาดูกันว่ามีอะไรเกิดขึ้นกันบ้าง ขอเริ่มจากฝั่งตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนกันยายน การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก 0.50% จาก 5.50% เป็น 5.00% จบวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในฝั่งสหรัฐฯ และเป็นครั้งแรกของการลดอัตราดอกเบี้ยขนาด 0.50% ตั้งแต่ช่วงปี 2008 ทั้งนี้ FOMC ยังมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.50% ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี ขณะที่ความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอยใน EU เริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ที่ 0.25% ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกันยายน เป็น 3.5% เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ 2.2% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 ปี
และในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหญ่ โดยคาดหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวให้ถึง 5% เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย
- การปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสำหรับธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรอายุ 7 วัน (Reserve Repo) ลง 0.2% จาก 1.7% เหลือ 1.5%
- ปรับลดอัตราส่วนกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.5% ที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบราว 1 ล้านล้านหยวน โดยคาดว่าจะยังสามารถปรับลดลงได้อีก 0.25-0.50%
- ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลง 0.5% และปรับลดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับอสังหาริมทรัพย์มือสองมาที่ 15% จาก 25%
- อนุญาตให้กองทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกันภัย เข้าถึงแหล่งเงินทุนพิเศษที่สามารถใช้ทรัพย์สินค้ำประกันเพื่อแลกเปลี่ยนสภาพคล่องจาก PBOC ในการซื้อหุ้นได้ รวมถึงการจัดตั้งแหล่งเงินทุนเฉพาะสำหรับบริษัทจดทะเบียนและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อให้สามารถซื้อหุ้นคืนหรือเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นตอบรับเชิงบวกเป็นอย่างมาก
เดือนกันยายน MSCI ACWI ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% นำโดยสหรัฐฯ ทั้ง Dow Jones, NASDAQ และ S&P 500 สร้างผลตอบแทนให้ได้ 2.0-2.5% หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางเดือน ในขณะที่ตลาดยุโรป ดัชนี EURO STOXX 50 ให้ผลตอบแทน 2.73%
ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น นำโดยตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงที่สร้างผลตอบแทนในเดือนกันยายนมากถึง 11.5% และ 15% ตามลำดับ หลังจากจีนส่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดทุนชุดใหญ่ในวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา
สำหรับตลาดหุ้นไทยในเดือนกันยายนก็ปรับตัวขึ้น 7% ได้รับผลเชิงจิตวิทยาจากการขายกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และกระแสเงินไหลเข้ามาในเอเชียอย่างต่อเนื่องหลัง Fed ปรับลดดอกเบี้ย และการเริ่มแจกเงิน 10,000 บาทสำหรับกลุ่มเปราะบาง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปีพลิกกลับขึ้นมาอยู่ในแดนบวกประมาณ 3% ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ไทยไม่ได้ส่งผลตอบรับจากการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มากนัก แต่ในทางกลับกัน กระแสเงินที่ไหลเข้าเอเชียมีผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับค่าเงินสหรัฐฯ
สำหรับมุมมองการลงทุนในเดือนตุลาคม ภาพการลงทุนโดยรวมยังคงมีโมเมนตัมต่อเนื่องจากเดือนกันยายน ตลาดหุ้นยังมีทิศทางเป็นบวก ทั้งจากเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการแจกเงิน 10,000 บาทให้กับกลุ่มเปราะบาง ตลาดตราสารหนี้ ผลตอบแทนน่าจะยังอยู่ในช่วงแคบๆ ซึ่งคงต้องจับตามองทิศทางของคณะกรรมการนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด ส่วนเรื่องที่ต้องระมัดระวังก็คงเป็นเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย และสถานการณ์การสู้รบทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง
คำแนะนำการลงทุนในเดือนกันยายน ภาพใหญ่ในระดับโลกดูค่อนข้างดีและมีโมเมนตัม ซึ่งน่าจะยาวไปจนถึงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น กลยุทธ์ Let Profit Run ในส่วนของหุ้นน่าจะเหมาะสมกว่า และค่อยพิจารณาที่จะ Lock Profit เมื่อ SET Index เกินระดับ 1,480 จุด เป็นจุดพิจารณาที่จะเพิ่มการถือครองเงินสดขึ้น 5-10%
อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ พอร์ตการลงทุนยังควรมีหุ้น 50% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนในทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 10%