เดินทางมาถึงซีซันสุดท้ายแล้วสำหรับ Pose ซีรีส์ว่าด้วยเรื่องชีวิตเหล่าผู้หญิงข้ามเพศผิวสีในนิวยอร์กช่วงกลางยุค 80-90 ที่ทำให้ได้เข้าไปสัมผัสชีวิตชนชั้นล่างสุดที่มักจะถูกพูดถึงเป็นลำดับสุดท้ายในกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีแกนกลางอยู่ที่ ‘งานบอล (Drag Ball)’ งานประจำสัปดาห์ที่ให้เหล่าคนข้ามเพศแต่งตัวเลิศหรูมาประชันกันแลกกับถ้วยรางวัลที่ดูไม่มีค่าในสายตาใคร แต่สำหรับพวกเธอมันคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และกลายเป็นเครื่องหมายแห่งการยอมรับที่เธอไม่เคยได้รับจากโลกแห่งความเป็นจริง
สำหรับผู้เขียนได้ดูรายการ Rupaul’s Drag Race แต่ไม่เคยเข้าใจคำว่าบ้าน (House) จนกระทั่งดูซีรีส์เรื่องนี้จึงรู้ว่าความผูกพันดั่งครอบครัวของชาว Drag หรือ LGBTQ+ เกิดขึ้นได้อย่างไร แม้ในยุคปัจจุบันความหมายของคำว่า ‘บ้าน’ อาจไม่เข้มข้นเท่ายุคบุกเบิกที่ประกอบขึ้นจากความแหว่งวิ่นด้วยเพศสภาพของชาว LGBTQ+ ผู้ถูกปฏิเสธจากครอบครัวตัวเอง จนต้องสร้างครอบครัวใหม่เพื่อให้ไออุ่นกันและกัน Pose ในซีซันต่างๆ เน้นย้ำประเด็นที่แตกต่างกันตั้งแต่การปูพื้นฐานให้รู้จักวัฒนธรรม Drag Ball และความสัมพันธ์ของตัวละครในซีซันแรก การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิของชาว LGBTQ+ ในซีซันที่ 2 และการเปิดประตูต้อนรับวัฒนธรรม ความเป็น LGBTQ+ ในซีซันสุดท้าย แต่สิ่งที่เหมือนๆ กันก็คือการนิยามความหมายของคำว่าครอบครัวผ่านตัวละครหญิงทั้งในเพศสภาพปกติ และหญิงข้ามเพศในบทบาทความเป็น ‘แม่’ ที่สร้างทั้งความขัดแย้งและความอบอุ่นในเวลาเดียวกัน
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์
เพราะโลกนี้ไม่มีคู่มือสำหรับคุณแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+
“ที่นี่ไม่มีใครสอนให้เลี้ยงลูกที่เป็นเกย์ คุณจะโทษตัวเองเรื่องที่ไม่รู้ไม่ได้” Elektra แม้ความขัดแย้งส่วนใหญ่ของลูกชายเกย์มักเกิดขึ้นกับพ่อ แต่ความเจ็บปวดที่ร้าวลึกกว่าคือความรู้สึกของเด็กเหล่านั้นที่มีต่อแม่ หากไม่ยอมรับในตัวตนของพวกเขา ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ก็เน้นย้ำไปที่ความขัดแย้งเหล่านั้นที่กว่าจะถูกคลี่คลายก็หมายถึงการจากลากันอย่างไม่มีวันกลับ อย่างในฉากแม่ไปงานศพของ ‘Candy’ เธอก็ยังไม่อาจยอมรับตัวตนแท้จริงของลูกชาย และยังเรียกชื่อเดิมของ Candy อยู่ แต่เมื่อมาทบทวนความรู้สึกก็ได้รู้ว่าสิ่งที่เธอมองข้ามไปคือข้อดีหลายๆ อย่างของลูกสาวในร่างลูกชายผู้นี้ไป หรือในฉากที่เด็กชาย Mateo ถามว่า “แม่จะรักผมตลอดไปไหม” แล้วแม่ก็ตอบว่า “รักสิ แม่จะรักหนูตลอดไป” แต่เมื่อโตขึ้นตัวตนข้างในของ Mateo กลับผลิบานเป็นสาวน้อย ‘Blanca’ นั่นคือความท้าทายของคนเป็นแม่ว่าจะรับตัวตนที่แท้จริงของลูกได้แค่ไหน และคำว่า ‘ตลอดไป’ มีจริงหรือเปล่า
อย่างที่บอกว่าเพราะโลกนี้ไม่มีคู่มือสำหรับแม่ที่มีลูกเกย์ จึงไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรผิดหรือถูก จนบางครั้งสิ่งแม่คิดว่าเป็นความห่วงใย กลัวลูกจะใช้ชีวิตลำบาก กลายเป็นความก้าวร้าว รุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่มันยิ่งกลับผลักลูกให้ออกห่างจากตัว แบบเดียวกับที่แม่ ‘Elektra’ ใช้ความดุดันจนทำให้เธอขอออกไปยอมรับความอัปยศตามข้างถนนเสียยังดีกว่าจะถูกแม่ที่ให้กำเนิด แต่ไม่ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของลูกข่มแหงจิตใจ หรือแม้แต่แม่ที่รู้อยู่เต็มอกว่าลูกชายหัวใจเป็นหญิงมีดีแค่ไหน แต่ก็อาจดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาใช้ได้ เพราะกลัวแรงต้านของสังคมจนกลายเป็นปมในใจของ ‘Pray Tell’ ที่กว่าจะได้รับการสะสางก็อาจจะถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้วเหมือนกัน
ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์แม่ลูกในเรื่องเป็นภาพสะท้อนกลับมายังครอบครัวที่มีสมาชิกมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดว่า การยอมรับและเข้าใจคือคำตอบที่ดีที่สุด และสิ่งที่ต้องย้ำในใจคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็คือเวลาบนโลกนี้ของเราเหลือน้อยกว่าลูก ดังนั้นชีวิตต่อจากนั้นเขาต้องเป็นคนเลือกเอง
‘แม่ก็คือแม่’ แม้ไม่มีค่าน้ำนม
“เมื่อเราไม่ได้รับการยอมรับจากแม่หรือพ่อตัวเอง เราจะคอยมองหาใครสักคนที่จะเข้ามาแทนที่ความรักที่ขาดหายไป” Blanca
เมื่อครอบครัวที่แท้จริงไม่ยอมรับ LGBTQ+ จะเลือกครอบครัวของตัวเอง ซึ่งบ้านต่างๆ ในเรื่องก็คือครอบครัวของเด็กหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีบ้านของตัวเอง นอกจากจะเพื่อแข่งขันความเลิศหรูในงาน Drag Ball แล้ว ยังให้ไออุ่นกันและกัน หรือแม้แต่ตัว ‘แม่’ ซึ่งหมายถึงผู้ที่รวบรวมสมาชิกต่างๆ ก็ยังต้องการความยอม เพราะเราต่างก็อยากเป็นคนสำคัญของใครสักคน
ในเรื่องเราได้เห็นการทำหน้าที่ ‘แม่’ ที่ไม่แตกต่างจาก ‘แม่’ แบบครอบครัวปกติของ Blanca ที่คอยดูแลความเป็นอยู่ และสั่งสอนให้ลูกๆ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ยิ่งไปกว่านั้นยังสอนเรื่องเพศศึกษาที่ครอบครัวปกติไม่กล้า หรือไม่เข้าใจถึงวิถีของเพศทางเลือกให้กับลูกๆ ที่จริงๆ แล้วอายุเท่าๆ กัน แต่สำนึกในเรื่องนี้อาจจะต่างกัน ในขณะที่ Elektra เป็นแม่อีกแบบคือใช้อำนาจข่มเห่งลูกๆ ให้อยู่ในโอวาท โดยได้รับผลพวงจากการเลี้ยงดูของแม่แท้ๆ ของตัวเอง แม้จะดูเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่ในซีซันต่อๆ มาก็เผยให้เห็นถึงความเสียสละ ห่วงใย เอื้ออาทรไม่ต่างกัน อย่างที่เราได้เห็นในเรื่อง ที่บ่อยครั้งๆ ริอ่าน ‘ปีนเกลียว’ แต่สุดท้ายก็ยังวนเวียนมาสร้างความรู้สึกดีๆ ให้กัน เหมือนผู้สร้างต้องการจะย้ำว่า ‘เรามีกันอยู่เท่านี้’ ซึ่งอธิบายสังคมแบบ LGBTQ ได้เป็นอย่างดี
ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก
“ลูกต้องได้อยู่ในโลกที่ดีกว่าโลกที่ฉันเติบโตมา“ Blanca
Pose ฉายภาพให้เห็นว่าชาว LGBTQ+ เดินทางมาไกลแค่ไหนจากจุดเริ่มต้น ตั้งแต่การเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง จนกระทั่งถึงวันที่โลกเริ่มเปิดประตูต้อนรับความแตกต่างหลากหลาย ณ จุดนี้ก็ต้องขอบคุณ ‘แม่ๆ’ ที่ไม่ใช่แค่คำเรียกเพื่อตลกขบขัน แต่คือคำยกย่องต่อชาว LGBTQ+ รุ่นใหญ่ที่กล้าเปิดเผยตัวตน ท้าทายแรงเสียดทานของสังคม จนกระทั่งกลุ่มเพศทางเลือกมีพื้นที่ยืนอยู่ในสังคมในปัจจุบันนี้ และไม่ว่าคุณจะอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ หรือไม่ อยากแนะนำให้ลองเปิดไปดูเพื่อเรียนรู้และเข้าใจเพื่อนผู้ร่วมอยู่ในสังคมเดียวกัน รับชมได้ทาง Netflix
ภาพ: Netflix