สวยงาม เวิ้งว้าง กดดัน จนแทบขาดอากาศหายใจ
น่าจะเป็นนิยามความรู้สึกสั้นๆ ที่อธิบายความรู้สึกของหลายคนที่ได้ดู Gravity ผลงานกำกับของ อัลฟอนโซ กัวรอน ที่เข้าฉายอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 4 ตุลาคม ได้ชัดเจนที่สุด
เอาจริงๆ พล็อตเรื่องของ Gravity นั้นเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ว่าด้วยนักบินอวกาศหญิง ดร.ไรอัน สโตน (ซานดร้า บูลล็อก) ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างซ่อมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล นักบินอวกาศคนอื่นๆ เสียชีวิตจนหมด
เหลือเพียงเธอและ แมตต์ โควาลสกี (จอร์จ คลูนีย์) นักบินอวกาศรุ่นเก๋า ที่ภายหลังก็ประสบอุบัติเหตุหายตัวไป เหลือเธอคนเดียวที่ต้องเอาชีวิตรอดในอวกาศที่แสนเวิ้งว้างเพียงลำพัง จะมีก็ตรงฉากจบนี่ล่ะที่ไม่เรียบง่าย เพราะทำให้หลายคนถึงกับเหวอไปเลย
แต่สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก เป็นเพราะองค์ประกอบที่เริ่มต้นจากการเขียนบทที่ตัดสลับภาพระหว่าง ‘ความหวัง’ และ ‘สิ้นหวัง’ ล้อเล่นกับชะตาชีวิตของตัวละคร และความรู้สึกของคนดูอยู่ตลอดทั้งเรื่อง
งานวิชวลเอฟเฟกต์สมจริงที่เนรมิตความเวิ้งว้างของอากาศได้อย่างสวยงามจนน่าขนลุก (ยิ่งดูในระบบ 3 มิติจะยิ่งชัดขึ้นไปอีก) การออกแบบฉาก สถานที่ สภาวะไร้น้ำหนัก ประกอบการถ่ายทำแบบลองเทกจำนวนมาก ที่ชวนคิดว่าต้องใช้ความละเอียดและความพิถีพิถันขนาดไหน
แม้กระทั่ง ‘เสียง’ ประกอบที่มีน้อยมาก เพื่อถ่ายทอดบรรยากาศบนอวกาศให้สมจริงที่สุด มีเพียงความเงียบที่ถูกตัดจากรอบข้าง เงียบจนเหลือเพียงเสียงหายใจ เงียบจนทำให้เรารู้สึกอัด ราวกับอากาศหายใจของเรากำลังจะหมดตามลงไปด้วย
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือการแสดงแบบ ‘แบก’ หนังทั้งเรื่องเอาไว้ด้วยตัวคนเดียวของซานดร้า บูลล็อก ที่เก็บรายละเอียดหมดจดทั้งการเคลื่อนไหวเชื่องช้า ลอยเคว้งคว้างในสภาพไร้น้ำหนัก, หวาดหวั่นต่อสิ่งที่มองไม่เห็น, แววตาเศร้าบนสีหน้าเรียบเฉย, ตาเป็นประกายเมื่อเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และความสิ้นหวังเมื่อสูญสิ้นทุกอย่าง ฯลฯ
Gravity กลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องรายได้ ที่ทำไปได้ 723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 100-130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 10 สาขา และคว้ามาได้ 7 สาขา ได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, ลำดับภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ลำดับเสียงยอดเยี่ยม, และเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม
ถึงแม้น่าจะเสียดายอยู่บ้างตรงที่ซานดร้า บูลล็อก ต้องพลาดรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมให้กับเคต บลานเชตต์ จากเรื่อง Blue Jasmine ก็ตาม