วันนี้ (21 พฤศจิกายน) เวลา 11.15 น. สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จโดยรถยนต์พระประเทียบจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร มายังโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ถนนสาทร กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จถึงยังโรงพยาบาลแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จประทับรถยนต์พระประเทียบเปิดประทุน ซึ่งจะเคลื่อนผ่านบรรดาประชาชนและนักศึกษาจากวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ที่มารอเฝ้าตลอดสองข้างทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางส่วนเป็นผู้พิการ และผู้สูงอายุที่มารอเฝ้าตั้งแต่เช้าวันนี้
โอกาสนี้สมเด็จพระสันตะปาปาประทานพระวโรกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ก่อนที่รถยนต์พระประเทียบเปิดประทุนจะเคลื่อนไปโดยรอบบริเวณเพื่อให้คริสตชนและประชาชนที่ชุมนุมกันในบริเวณโรงพยาบาลได้เฝ้าชมพระบารมีโดยทั่วกัน
จากนั้นรถยนต์พระประเทียบเปิดประทุนเทียบยังอาคารรวมจิตเพียรธรรม ณ ที่นั้น บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร และศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เฝ้ารับเสด็จ ทรงรับมาลัยข้อพระกรจาก อธิการิณีมารี เซเวียร์ โรซาร์พิทักษ์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร แล้วประทับลิฟต์ขึ้นไปยังหอประชุมพระวิสุทธิวงศ์ ชั้น 11 พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อาร์ชบิชอปกิตติคุณแห่งกรุงเทพฯ พร้อมด้วยบุคลากรทางด้านการแพทย์จากโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ โรงพยาบาลคามิลเลียน และโรงพยาบาลซานคามิลโล ผู้แทนองค์กร และวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ เฝ้ารับเสด็จภายในหอประชุม
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์กราบทูลแสดงความยินดีในการเสด็จมาเยือนโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ได้ประทานพระวโรกาสให้บุคลากรทางด้านการแพทย์เข้าเฝ้ารับประทานพระโอวาท พร้อมทั้งผู้ป่วยและผู้สูงอายุเข้าเฝ้ารับประทานพระพร พร้อมกันนั้นได้ถวายหนังสือ ‘ศริพจน์ภาษาไทย์’ (Siamese Frence English Dictionary หรือ Dictionnaire Siamois Francais Anglasis) พจนานุกรมภาษาไทย อังกฤษ และฝรั่งเศส จัดพิมพ์ขึ้นในปี 2439 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ (Jean – Louis Vey) พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเกราซา ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 15 ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ได้ปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นจาก ‘สัพะ พะจะนะ พาสา ไท’ ของพระสังฆราชปัลเลอกัว ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 14 เป็นของที่ระลึกแด่สมเด็จพระสันตะปาปา โดยหนังสือเล่มนี้เป็นมรดกทางด้านภาษาและประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความพยายามและตั้งใจจริงของมิชชันนารีในการเผยแผ่พระคริสตธรรมแก่พี่น้องชาวไทย
จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาประทานพระโอวาทแก่บรรดาผู้ที่มาเฝ้า เมื่อจบพระโอวาทแล้ว บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เข้าเฝ้ารับประทานของที่ระลึกจากสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นพระรูปพระนางมารีย์และกุมารเยซูเป็นที่ระลึกแก่โรงพยาบาล และประทานพระวโรกาสให้ฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
จากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จลงมายังชั้น 1 อาคารร้อยปีบารมีบุญ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนประทานพระพรและกำลังใจแก่ผู้ป่วยจำนวน 40 ราย โดยผู้ป่วยที่ได้เข้าเฝ้าในครั้งนี้เป็นผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ในระยะสุดท้ายหรืออาการค่อนข้างหนัก สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จไปประทานพระหัตถ์ให้จับ ทั้งวางพระหัตถ์ประทานพระพรและกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยกับผู้ดูแลที่ร่วมเข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย
สำหรับโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เป็นโรงพยาบาลคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2441 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ ประมุขมิสซังสยามลำดับที่ 15 เป็นผู้ก่อตั้ง และมอบให้คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เป็นผู้ดูแล ต่อมาได้ขยายกิจการสถานฝึกผู้ช่วยพยาบาล ก่อตั้งเป็นวิทยาลัยเซนต์หลุยส์เมื่อปี 2528 โดยพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ลำดับที่ 2 ทั้งนี้ในการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 (ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2557 (ค.ศ. 2014) ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม) ได้เสด็จเยือนโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์แห่งนี้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2527
นอกจากนี้โรงพยาบาลคาทอลิกในประเทศไทยยังมีโรงพยาบาลซานคามิลโล อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นกิจการแรกของคณะนักบวชคามิลเลียนในประเทศไทย ได้รับการอนุญาตและเปิดเป็นโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2496 โรงพยาบาลคามิลเลียน เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ของคณะนักบวชคามิลเลียน เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2499 และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งบาทหลวงมารีอุส เบรย์ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2501
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงเยี่ยมเยียนประทานพระพรแก่บรรดาผู้ป่วยแล้วจึงเสด็จออกจากอาคารร้อยปีบารมีบุญ ประทับรถยนต์พระประเทียบเสด็จไปเสวยพระกระยาหารกลางวัน และประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ สถานเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์