สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสถือว่าเป็นสันตะปาปาองค์แรกที่ไม่ได้มาจากทวีปยุโรปนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 อีกทั้งยังเป็นสันตะปาปาองค์แรกจากทวีปอเมริกาใต้ และยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่มาจากคณะเยสุอิต (Society of Jesus) คณะนักบวชที่เคยถูกยุบในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นเวลากว่า 40 ปี
ทั้งนี้ สันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งเสด็จเยือนไทยเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน มีชื่อเดิมว่า ฮอร์เฮ มารีโอ แบร์โกกลีโอ เป็นชาวอาร์เจนตินา เกิดในกรุงบัวโนสไอเรส มีพื้นเพจากครอบครัวอพยพชาวอิตาเลียนที่อพยพหนีความแร้นแค้นจากประเทศอิตาลีมาตั้งรกรากในประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งครอบครัวแบร์โกกลีโอทั้งหมดได้อาศัยอยู่ในย่านฟลอเรส ซึ่งเป็นย่านที่ค่อนข้างเสื่อมโทรมและมีการค้ายาเสพติดอีกด้วย
โป๊ปฟรานซิส หรือแบร์โกกลีโอ (ชื่อเดิมของโป๊ปฟรานซิส) ในวัยเด็กก็เหมือนชาวอาร์เจนตินาทั่วไปที่ชื่นชอบแทงโก้และกีฬาฟุตบอล โดยทีมโปรดคือ ทีมซาน โลเรนโซ สโมสรที่ตั้งอยู่ในย่านฟลอเรส บ้านเกิดของโป๊ปฟรานซิส นอกจากนี้ยังชื่นชอบดนตรีคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นโมสาร์ต, บีโธเฟน และวากเนอร์ อีกด้วย
ในขณะที่แบร์โกกลีโอมีอายุประมาณ 12-13 ปี เขาเคยวาดรูปบ้านที่มีหลังคาสีแดงและกำแพงสีขาว พร้อมกับเขียนบรรยายว่า “บ้านหลังเล็กนี้คือบ้านที่เราจะซื้อเมื่อเราสองคนได้แต่งงานกัน” ให้กับ อามาเลีย เพื่อนที่อาศัยอยู่ในย่านเดียวกัน แบร์โกกลีโอยังเคยบอกเธออีกว่า “ถ้าเราไม่แต่งงานกับเธอ เราจะไปเป็นพระ” ซึ่งเขาก็ถูกเธอปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี แบร์โกกลีโอรู้สึกว่าเส้นทางชีวิตคู่ไม่น่าจะใช่คำตอบ หลังเรียนจบด้านเคมีจากโรงเรียน Escuela Técnica Industrial No.12 ซึ่งเป็นโรงเรียนเทคนิคระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แบร์โกกลีโอได้ตัดสินใจบวชเป็นบาทหลวงในคณะ ถึงแม้ว่าเขาจะมีคู่หมั้น ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน
โดยทั่วไปแล้ว คณะเยสุอิตนั้นได้รับฉายาว่าเป็นคณะนักบวชที่ ‘Pragmatic & Practical’ ซึ่งการตัดสินใจและปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของสมาชิกคณะเยสุอิตจะดูบริบทรอบๆ เป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเวลา สถานที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการพิจารณาโดยใช้หลักการทางจิตวิญญาณ (Spiritual Discernment) ยิ่งไปกว่านั้นทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องผ่านการศึกษา-ฝึกอบรมโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 10 ปี และแบร์โกกลีโอก็เหมือนกับสมาชิกหลายคนที่อยู่ในคณะเยสุอิต เขา “เป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ และหลีกเลี่ยงการพูดโอ้อวด”
ในขณะที่แบร์โกกลีโอยังเป็น ‘เยสุอิตหนุ่ม’ เขาขออาสาไปเป็นมิชชันนารีที่ญี่ปุ่น แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลทางสุขภาพ ทั้งนี้เป็นเพราะแบร์โกกลีโอเคยได้รับการผ่าตัด จนทำให้ต้องเสียปอดข้างขวาส่วนหนึ่งไป ถึงกระนั้นเมื่อแบร์โกกลีโออายุได้เพียง 36 ปี เขาก็ได้รับเลือกให้เป็น Provincial (หัวหน้าคณะเยสุอิตระดับภูมิภาค) ในประเทศอาร์เจนตินา
ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศอาร์เจนตินาระหว่างช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้ผู้คนในประเทศจำนวนมากมีฐานะยากจน อีกทั้งปัญหาคอร์รัปชันได้ซ้ำเติมปัญหาดังกล่าว และยังเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างผู้ที่ร่ำรวยและผู้ที่มีรายได้น้อย ด้วยเหตุนี้ชาวอาร์เจนตินามากมายจึงต้องย้ายไปอยู่ในชุมชนแออัด ซึ่งไม่มีสาธารณูปโภคใดๆ เข้าถึง ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้กลุ่มนักเรียน-นักศึกษา กลุ่มชนชั้นกลาง รวมทั้งบาทหลวง เข้ามามีบทบาททางสังคมและการเมืองในประเทศ โดยหวังที่จะบรรเทาความทุกข์ยากของผู้คนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
แบร์โกกลีโอซึ่งเป็น Provincial ระหว่างปี 1973-1979 ได้ส่งสมาชิกของคณะเยสุอิตให้เข้าไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ในสลัมต่างๆ นอกจากนี้ยังเล่ากันว่า แบร์โกกลีโอได้มอบหมายภารกิจที่เกี่ยวข้องกับคนยากจนให้นักเรียน (Scholastics) เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงความรู้สึก และมองเห็นชีวิตประจำวันที่แร้นแค้นของคนยากไร้ในเมืองที่อาศัยอยู่ในสลัม โดยแบร์โกกลีโอไม่ต้องการให้นักเรียนเหล่านี้เป็นเพียงแค่ปัญญาชนที่รู้จักคนจนเพียงแค่ในตำรา หรือจากตัวเลขทางสถิติเพียงอย่างเดียว
ความรุนแรงและการใช้กำลังเป็นหนทางที่รัฐบาลเผด็จการทหารเลือกใช้เพื่อปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่ให้ความช่วยเหลือคนจนในชุมชนแออัด โดยรัฐบาลจัดว่าใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชุมชนแออัดนั้นเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นศัตรูต่อรัฐบาล หลายคนในอาร์เจนตินาถูกอุ้มและหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย บ้างถูกลอบสังหาร หรือโยนลงมาจากเครื่องบิน (Dealth Flight) โดยหนึ่งในเหยื่อที่แบร์โกกลีโอรู้จักดี ได้แก่ เอส์เธร์ บาล์เลสตรีโน หัวหน้าห้องทดลองที่แบร์โกกลีโอเคยไปฝึกงาน ซึ่งเธอนั้นเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Mothers of Plaza de Mayo กลุ่มที่ช่วยหญิงชาวอาร์เจนตินาตามหาลูกของพวกเธอที่หายไปอย่างลึกลับ
เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายการปราบปรามของรัฐบาล แบร์โกกลีโอใช้โรงเรียน Colegio Máximo de San José โรงเรียนของคณะเยสุอิตเป็นที่พักพิงและหลบซ่อนของผู้ที่รัฐบาลต้องการตัว นอกจากนี้เขายังพยายาม ‘ทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะปกป้องผู้ที่ถูก (รัฐบาล) กักขัง’ ซึ่งเขาได้หาโอกาสพูดคุยกับ นายพลฮอร์เฮ วิเดลา ผู้นำประเทศอาร์เจนตินาในขณะนั้น แบบตัวต่อตัว โดยหวังจะโน้มน้าว นายพลฮอร์เฮ วิเดลา ให้ปล่อยตัวบาทหลวงสองคนที่ถูกลักพาตัวในวันที่ 23 พฤษภาคม 1976 ซึ่งสุดท้ายทั้งสองก็ได้รับการปล่อยตัวในอีก 5 เดือนต่อมา
เมื่อวาระการดำรงตำแหน่ง Provincial ของแบร์โกกลีโอสิ้นสุดลง เขาได้รับมอบหมายให้เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่โรงเรียนสอนปรัชญาและเทววิทยาของคณะเยสุอิตในกรุงบัวโนสไอเรส ก่อนที่เขาจะเดินทางไปประเทศเยอรมนี เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาเทววิทยา ที่โรงเรียน Sankt Georgen ในปี 1986 แต่ทว่า เขาอยู่ที่นั่นได้เพียงแค่ 1 ปี ก็กลับมาที่อาร์เจนตินาโดยไม่ได้เรียนปริญญาเอกจนจบ โดยอาจารย์จากโรงเรียน Sankt Georgen ได้เปิดเผยว่า “บาทหลวงฮอร์เฮ แบร์โกกลีโอมาที่นี่เพื่อปรึกษาเรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์กับอาจารย์ต่างๆ แต่ทว่าไม่ได้อยู่เขียนวิทยานิพนธ์จนสำเร็จแต่อย่างใด”
อันที่จริงการไปที่เยอรมนีเป็นเพียงแค่ ‘Gap Year’ เท่านั้น ปิแอร์ ซาลอมบิเอร์ ซึ่งเป็นบาทหลวงในคณะเยสุอิต ชี้แจงว่า “ขณะนั้นสถานการณ์ในอาร์เจนตินายังคงตึงเครียด คุณพ่อคอล์เวนบาค (ซึ่งเป็นมหาธิการของคณะเยสุอิต – คล้ายๆ กับ ‘บิ๊กบอส’ ระดับซีอีโอ) ได้มีคำสั่งให้คุณพ่อแบร์โกกลีโอไป ‘พักผ่อน’ นอกประเทศอาร์เจนตินา”
และถึงแม้ว่าจะไม่ได้กลับมาพร้อมใบปริญญาเอก แบร์โกกลีโอได้นำรูปภาพเล็กๆ ที่ปรากฏรูปวาดพระแม่มารีย์ที่กำลังคลายปมริบบิ้นของศิลปินเยอรมันกลับมา (แจก) โดยรูปภาพดังกล่าวได้กลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศอาร์เจนตินาในเวลาถัดมา
ในปี 1998 เมื่อแบร์โกกลีโอขึ้นรับตำแหน่งเป็นอาร์คบิชอปประจำกรุงบัวโนสไอเรส เขาได้เพิ่มจำนวนบาทหลวงตามชุมชนแออัดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เขามองว่า การเพิ่มจำนวนบาทหลวงในชุมชนแออัด ไม่เพียงจะทำให้ศาสนจักรสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึงแล้ว แต่ยังช่วยให้ศาสนจักรเป็นศาสนจักรที่อยู่ท่ามกลางผู้คนและยืนเคียงข้างทุกคน
ยิ่งไปกว่านั้นแบร์โกกลีโอยังเป็นหนึ่งในบิชอปที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเสรีนิยมสุดโต่งของ คาร์ลอส เมเนม ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาระหว่างปี 1989-1999 โดยมองว่า โมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเมื่อประเทศอาร์เจนตินาต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2001-2002 แบร์โกกลีโอได้ออกมาตัดพ้อว่า “พวกเราเหนื่อยกับระบบที่สร้างคนยากจน เพื่อให้ศาสนจักรเข้ามาช่วยเหลือคนเหล่านี้ต่อ” โดยศาสนจักรในอาร์เจนตินาลงเอยด้วยการทำหน้าที่ต่างๆ แทนรัฐในชุมชนแออัด และพื้นที่เสื่อมโทรม
ถึงแม้ว่าแบร์โกกลีโอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคาร์ดินัลในปี 2001 แบร์โกกลีโอยังคงไปเยี่ยมเยือนผู้คนที่อยู่ในชุมชนแออัดเป็นประจำ เขาถือว่าเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยเขามองว่า “ความยากจนเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์”
ในระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2013 การเลือกตั้งสันตะปาปาองค์ใหม่ได้มีขึ้น ณ กรุงวาติกัน หลังจากที่สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ขอลาออกเนื่องจากอายุที่ค่อนข้างมาก (85 ปี) ซึ่งอาจจะขัดขวางการทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการประชุมเลือกตั้งสันตะปาปาในปี 2013 คาร์ดินัลฮอร์เฮ มารีโอ แบร์โกกลีโอ ได้รับเลือกให้เป็นสันตะปาปา หลังจากได้รับเสียงโหวต 2 ใน 3 เป็นคนแรก หลังจากการโหวตลงคะแนนครั้งที่ 5 ทั้งนี้ การเลือกตั้งสันตะปาปาก่อนหน้านี้ในปี 2005 แบร์โกกลีโอได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับสองรองลงมาจากสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16
เมื่อแบร์โกกลีโอต้องเลือกชื่อใหม่หลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็นสันตะปาปาตามธรรมเนียม เขาตัดสินใจใช้ชื่อฟรานซิส ซึ่งมาจากฟรานซิสแห่งอัสซีซี
ทว่า ไม่นานหลังจากที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปา หลายคนท้วงติงว่า โป๊ปฟรานซิสเคยมีส่วนรู้เห็นกับรัฐบาลทหารที่ได้สังหารและลักพาตัวประชาชน โดยอ้างว่า ในอดีต โป๊ปฟรานซิสเคยส่งบาทหลวง 2 คน ที่เคยทำงานอยู่ในชุมชนแออัดให้แก่รัฐบาล ถึงกระนั้นหลายคนต่างยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่ง ฟรานซ์ จาลิกส์ 1 ในบาทหลวง 2 คนที่ถูกอุ้ม ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า “ผมไม่ได้ถูกส่งตัว (ให้แก่เผด็จการทหาร) โดยคุณพ่อแบร์โกกลีโอ ฉะนั้นมันไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่า การที่พวกเราถูกจับกุมตัวเป็นเพราะคุณพ่อแบร์โกกลีโอ”
เมื่อย้อนกลับไปดูเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ที่แบร์โกกลีโอทำในอดีตจะพบว่า เป้าหมายชีวิตของแบร์โกกลีโอหรือโป๊ปฟรานซิสนั้นคือ การดูแลปกป้องคนจนและผู้ที่ถูกทอดทิ้งโดยระบบที่ใช้ ‘อำนาจในการซื้อ’ มาเป็นตัวชี้วัดคุณค่าของมนุษย์
จึงไม่น่าแปลกใจ หากแบร์โกกลีโอจะใช้ชื่อฟรานซิสแห่งอัสซีซี ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือคนยากจน อีกทั้งการเลือกชื่อฟรานซิสแห่งอัสซีซี ยังสะท้อนให้เห็นความคล้ายคลึงระหว่างโป๊ปฟรานซิสและผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต อิกนาซิโอแห่งโลโยลา ซึ่งต่างได้รับแรงบันดาลใจในการดําเนินชีวิตที่เรียบง่ายและสมถะจากฟรานซิสแห่งอัสซีซี
สำหรับโป๊ปฟรานซิสแล้ว ‘ขุมทรัพย์ของศาสนจักรคือ คนยากจน’ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะคนยากจนเป็นเรื่องที่ศาสนจักรต้องให้ความสนใจและดูแลเป็นพิเศษ
การให้ความสำคัญแก่คนยากจนตั้งแต่ที่โป๊ปฟรานซิสอยู่ในประเทศอาร์เจนตินา ส่งผลให้โป๊ปฟรานซิสได้รับขนานนามว่า เป็น ‘Pope of the Poor’ แต่ในขณะเดียวกัน คำวิจารณ์ของโป๊ปฟรานซิสต่อระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ทำให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ทำให้อีกหลายคนเรียกโป๊ปฟรานซิสว่า Communist Pope
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่โป๊ปฟรานซิสกำลังเผชิญนั้นไม่ต่างจากเรื่องราวของ เอล์เดอร์ เกอมารา อาร์คบิชอปชาวบราซิลในอดีต ที่เคยกล่าวว่า “พอผมเลี้ยงข้าวคนจน เขาก็พากันบอกว่าผมเป็นนักบุญ แต่พอผมถามว่า ทำไมคนจนถึงไม่มีอะไรกิน เขาก็มองผมว่าเป็นคอมมิวนิสต์”
ภาพวาด Mary, Untier of Knots โดย Johann Georg Melchior Schmidtner ภาพที่สร้างความประทับใจให้กับแบร์โกกลีโอ (โป๊ปฟรานซิส)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- รู้จักโป๊ปฟรานซิส โป๊ปองค์แรกที่ไม่ใช่ชาวยุโรป ผ่านมิติทางการเมือง สังคม และศาสนา
- Antonio Spadaro, SJ (2013): Interview with Pope Francis
- ‘Dirty War’ Victim Rejects Pope’s Connection to Kidnapping
- Poverty, priests and politics: why Peronism is back in Argentina
- KTO : A la Source du Pape François
- El Papa Francisco no es doctor en Teología, aunque su biografía oficial lo insinúa
- Rubín and F. Ambrogetti (2014) : Jesuita Conversaciones con el Cardenal Jorge Bergoglio, Sj
- Papa Francesco (2018) : Dio è giovane