×

เปิดขั้นตอนเลือกตั้ง ‘สันตะปาปา’ ประชุมลับพระคาร์ดินัล กับเสียงโหวตแห่งศรัทธา

21.04.2025
  • LOADING...

หากคริสตจักรโรมันคาทอลิกเดินทางมาถึงจุดที่ตำแหน่งพระสันตะปาปา ‘ว่างลง’ (Sede Vacante) อันเนื่องมาจากพระสันตะปาปาพระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์หรือตัดสินใจสละตำแหน่ง กระบวนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางการจับตามองจากคริสตชนคาทอลิกทั่วโลก ว่าใครที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประมุของค์ใหม่แห่งพระศาสนจักรคาทอลิก

 

ที่ผ่านมาการเลือกตั้งพระสันตะปาปาจะเป็นไปในลักษณะของการ ‘ลงคะแนนลับ’ โดยคณะพระคาร์ดินัลจะโหวตเลือกผู้ที่เหมาะสม แต่ขั้นตอนทั้งหมดจะเกิดขึ้นในห้องปิดผนึกที่โลกภายนอกจะไม่รับรู้อะไรนอกจากสัญญาณควัน

 

และนี่คือขั้นตอนและภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่จะเกิดขึ้น

 

กระบวนการเลือกพระสันตะปาปา 

 

การเลือกพระสันตะปาปา หรือที่กล่าวกันในภาษาอังกฤษว่า ‘Conclave’ มีที่มาจากคำภาษาละติน 2 คำ ได้แก่ Cum (ด้วย) และ Clave (กุญแจ) อันสื่อถึงการปิดประตูลงกลอน เพื่อขังบรรดาพระคาร์ดินัลไว้ภายในห้องที่ทำการลงคะแนนเสียง ตลอดช่วงเวลาการลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปา

 

หลังจากที่พระสันตะปาปาลาออกหรือสิ้นพระชนม์ประมาณ 15-20 วัน การเลือกตั้งพระสันตะปาปาก็เริ่มต้นขึ้น ช่วงเวลา 2-3 อาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งนี้ มีไว้เพื่อให้พระคาร์ดินัลที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปีทุกคนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง สามารถเดินทางมาถึงกรุงโรม ก่อนที่กระบวนการสรรหาพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะเริ่มต้นขึ้น ทั้งยังช่วยให้บรรดาพระคาร์ดินัลจากประเทศต่างๆ สามารถทำความรู้จักกันและกัน รวมทั้งสามารถพิจารณาไตร่ตรองความต้องการของพระศาสนจักรในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกพระสันตะปาปา ‘แตกต่าง’ จากการเลือกตั้งที่พบเห็นได้ทั่วไป เนื่องจากไม่มีใครที่ประกาศตัวเป็นแคนดิเดต ไม่มีการประกาศนโยบายหาเสียง โจทย์ของการเลือกตั้งไม่ได้จำกัดเพียงแค่ว่า ‘ผู้ใดเหมาะสมที่สุด’ ทว่ายังมีมิติทางจิตวิญญาณ ศาสนา และพิธีกรรมอีกด้วย 

 

การลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปาดำเนินไปอย่างเป็นความลับและมีกฎระเบียบที่เข้มงวด เหล่าบรรดาพระคาร์ดินัลประชุมลงคะแนนลับภายในวัดน้อยซิสติน (Sistine Chapel) ซึ่งจะถูกล็อก บรรดาพระคาร์ดินัลต่างทำการสาบานที่จะไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อมูลการลงคะแนนเสียง และไม่ติดต่อกับโลกภายนอก หรือออกนอกเขตวาติกันจนกว่าจะได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่ 

 

ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนเสียงทั้งหมด ในทางทฤษฎี พระคาร์ดินัลไม่สามารถลงคะแนนเสียงให้กับตนเองได้ ถึงกระนั้นบัตรลงคะแนนเสียงก็ยังคงเป็นความลับ แม้ว่าจะต้องเขียนด้วยมือก็ตาม 

 

ในระหว่างการเลือกตั้งนั้น สาธารณชนที่อยู่ภายนอกวัดน้อยซิสตินจะรับรู้เพียงแค่ผลคะแนนสุดท้ายผ่านปล่องไฟ หากปล่องไฟของวัดน้อยซิสตินเป็นสีดำ แสดงว่าบรรดาพระคาร์ดินัลยังไม่สามารถเฟ้นหาพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้ ในทางตรงกันข้าม เมื่อควันเป็นสีขาว นั่นหมายความว่าที่ประชุมสามารถเลือกพระสันตะปาปาได้แล้ว

 

ภาพรวมของคณะพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือกพระสันตะปาปา ณ ขณะนี้

 

จากข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2025 ตามที่ปรากฏบนหน้าเว็ปไซต์ของวาติกัน พระคาร์ดินัลที่สามารถลงคะแนนเลือกพระสันตะปาปาได้มีจำนวน 138 องค์ จาก 7 ทวีปทั่วโลก ทั้งนี้ พระคาร์ดินัลที่มีสิทธิลงคะแนนได้นั้นต้องมีอายุต่ำกว่า 80 ปี โดยในจำนวนดังกล่าว บรรดาพระคาร์ดินัลจากทวีปยุโรปมีจำนวนถึง 54 องค์ คิดเป็น 39% ของพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิ์ลงคะแนนทั้งหมด ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ที่มีสัดส่วนพระคาร์ดินัลซึ่งสามารถลงคะแนนเสียงมากกว่า 10% จากจำนวนทั้งหมดนั้น ประกอบไปด้วย ทวีปเอเชีย (24 องค์ หรือ 17%) แอฟริกา (18 องค์ หรือ 13%) อเมริกาใต้ (18 องค์ หรือ 13%) และอเมริกาเหนือ (16 องค์ หรือเกือบ 12%) 

 

พระสันตะปาปาเป็นผู้เดียวที่จะพิจารณาและเลือกพระคาร์ดินัลจากบรรดาอาร์ชบิชอปหรือบิชอป (ผู้รับผิดชอบในระดับเขตปกครอง คล้ายกับผู้ว่าราชการจังหวัดในมุมมองการปกครอง) และบาทหลวงตามที่ตนเองเห็นสมควร ไม่มีหลักการและกฎเกณฑ์ใดๆ 

 

ก่อนรัชสมัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส การแต่งตั้งพระคาร์ดินัลยังพอมีขนบธรรมเนียมอยู่บ้าง เช่น อาร์ชบิชอปประจำปารีส (Paris) และอาร์ชบิชอปประจำลียง (Lyon) จะได้แต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัลแทบจะอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พระสันตะปาปาฟรานซิสดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปา ธรรมเนียมดังกล่าวไม่มีเห็นอีกต่อไป ซึ่ง ณ เวลานี้ จำนวนพระคาร์ดินัลที่แต่งตั้งโดยพระสันตะปาปาฟรานซิส และมีสิทธิลงคะแนนในการเลือกพระสันตะปาปามีอยู่ถึง 110 องค์ ซึ่งเยอะกว่าสมัยพระสันตะปาปาเบเนดิกต์เกือบ 5 เท่า ! 

 

โดยหนึ่งในพระคาร์ดินัลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปาฟรานซิส และมีอายุต่ำกว่า 80 ปี ได้แก่ พระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช อย่างไรก็ตาม การที่พระสันตะปาปาฟรานซิสรับใบลาออกจากการดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งกรุงเทพฯ ของพระคาร์ดินัลเกรียงศักดิ์ในวันเกิดครบรอบ 75 ปีบริบูรณ์ อาจเป็นที่น่าสังเกต เพราะบ่อยครั้งที่พระสันตะปาปาทรงให้บิชอปหรืออาร์ชบิชอปดำรงตำแหน่งต่อไปอีกสักระยะหนึ่งหลังเกษียณอายุ 75 ปี หรือว่านี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติในพระศาสนจักรคาทอลิกที่กำลังเปลี่ยนไป?

 

เลือกตั้งพระสันตะปาปาคือการลุ้น ‘เซอร์ไพรส์’

 

การเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่างจากการเลือกตั้งโดยทั่วไป เป็นการยากที่จะระบุว่าใครเป็น ‘ตัวเต็ง’ ทั้งนี้ ในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา บุคคลที่ได้รับตำแหน่งพระสันตะปาปาส่วนใหญ่มักจะเป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้จัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ก็มีกรณีที่สามารถคาดเดาได้ เช่น พระสันตะปาปาปิโอที่ 12 ซึ่งเป็นนักการทูต และเข้าใจบริบทประเทศเยอรมันเป็นอย่างดี จึงไม่น่าแปลกที่พระองค์จะได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะปะทุขึ้น

 

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยพระสันตะปาปามีสถานะเป็นผู้นำรัฐและลักษณะของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกที่เป็นสากล ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นท้องถิ่น (อาจพอเปรียบได้กับบริษัทข้ามชาติ ที่มีบริษัทลูกทั่วโลก) บุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาจำเป็นจะต้องเข้าใจบริบทในสังคม​​โลกาภิวัตน์ พร้อมทั้งสามารถบริหารจัดการประเด็นต่างๆ ภายในพระศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่มาจากความแตกต่างทางบริบทวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าตามธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร (Lumen Gentium ข้อที่ 23) “สภาบิชอปท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างบิชอปเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ” ซึ่งช่วยนำไปสู่การกระจายอำนาจ และปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ แต่ทว่าในความเป็นจริง โครงสร้างของพระศาสนจักรก็ยังคงอยู่ในรูปแบบรวมศูนย์ อันก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินงานของพระศาสนจักร (Evangelii Gaudium ข้อที่ 32)

 

ภาพรวมปัจจุบันของพระศาสนจักรคาทอลิก กับบริบททางสังคมและการเมือง

 

ประเด็นที่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันคงหนีไม่พ้นความท้าทายจากสภาวะทางสังคมที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ อันเป็นผลมาจากแนวคิดรัฐต้องแยกตัวจากศาสนา (Secularism) ส่งผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เลือกที่จะ ‘ไม่มีศาสนา’ นอกจากนี้ยังทำให้คำสอนของพระสันตะปาปามีอิทธิพลลดลงในสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นระหว่างปีค.ศ. 2021-2022 แต่ทว่าจำนวนผู้ที่ปฏิบัติกิจทางศาสนาอย่างแท้จริง และการบวชบาทหลวงหรือนักบวชในหลายประเทศกลับมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต 

 

นอกจากนี้การล่วงละเมิดทางเพศและการคุกคามทางเพศที่กระทำโดยบาทหลวง และการปกปิดเรื่องราวดังกล่าวโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบเห็นได้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส สเปน สหรัฐอเมริกา ชิลี ฯลฯ ก่อให้เกิดวิกฤตความศรัทธาในบรรดาคริสตชนเป็นวงกว้าง ในปัจจุบันพระศาสนจักรได้ออกเอกสารทางกฎหมายและคู่มือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ทว่าก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของพระศาสนจักรให้กลับมาดังเดิม

 

เมื่อพิจารณากรณีการล่วงละเมิดทางเพศในพระศาสนจักรคาทอลิก ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การล่วงละเมิดทางเพศ แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการใช้อำนาจโดยมิชอบ (Abuse of power) ในความจริงการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวงมาจากการใช้สถานะและอำนาจของบาทหลวงอย่างไม่เหมาะสม ความสัมพันธ์ระหว่างบาทหลวงและฆราวาสที่กำหนดด้วยคำแทนตัวเองว่า ‘พ่อ’ และ ‘ลูก’ แสดงให้เห็นว่าบาทหลวงเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การเคารพเชื่อฟัง สามารถไว้ใจได้อย่างสนิทใจทั้งเรื่องส่วนตัว และเรื่องทางจิตวิญญาณ ยิ่งไปกว่านั้น การใช้คำแทนเหล่านี้ยังเน้นย้ำถึงสภาวะที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกฝ่ายหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรแล้ว การใช้อำนาจโดยมิชอบจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีทัศนคติที่ว่าพระสงฆ์องค์เจ้ามีศักดิ์สูงกว่าคนทั่วไป (Clericalism) ซึ่งเป็นทัศนคติที่มาจากทั้งฝ่ายบาทหลวงและฝ่ายฆราวาส ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้บาทหลวงบางคนล้ำเส้น และฉวยโอกาสใช้อำนาจโดยมิชอบ

 

ในส่วนของสภาพแวดล้อมทางการเมือง พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในยุโรปซึ่งเน้นย้ำถึงการมุ่งรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิม เริ่มเป็นที่นิยมชมชอบในบรรดาคริสตชนคาทอลิกในยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะมีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ก็ตาม ทั้งนี้ ก็เนื่องจากแนวคิดทางการเมืองของพรรคฝ่ายขวาจัดนั้น ตอบโจทย์กับความต้องการของคริสตชนคาทอลิกหลายคนที่เกรงว่าขนบธรรมเนียมและวิถีชีวิตของตนจะถูกคุกคามโดยผู้อพยพ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเรียกเสียงโหวตจากคริสตชนมากขึ้น นักการเมืองจากพรรคฝ่ายขวาจึงหันมาประกาศว่าตนเองนับถือศาสนาคริสต์ ไม่ว่าจะเป็น มารีน เลอ แปน (Marine Le Pen) ในประเทศฝรั่งเศส หรือ จอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี 

 

ทิศทางของพระศาสนจักรหากมีพระสันตะปาปาองค์ใหม่

 

ถ้าหากผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปามีจุดยืนที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในพระศาสนจักรคงยากที่จะได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ความพยายามในการปฏิรูปพระศาสนจักรคาทอลิกภายใต้พระสันตะปาปาฟรานซิสอาจหยุดชะงัก เช่น การลดความยุ่งยากซับซ้อนในระบบราชการของ ‘โรมันคูเรีย’ (Roman Curia – กระทรวงและองค์กรราชการของวาติกัน), การเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในตำแหน่งระดับสูงในโรมันคูเรีย 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปายึดถือค่านิยมดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น และมีทัศนคติว่า ‘กฎเกณฑ์’ ต้องมาก่อนเสมอ ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ‘กฎเกณฑ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบท และมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือและนำทางผู้คนไปสู่การใช้ชีวิตอย่างถูกต้องดีงาม’ การอนุญาตให้บาทหลวงสามารถอวยพรคู่รักเพศเดียวกันได้ในปลายปี ค.ศ. 2023 อาจถูกนำกลับมาทบทวนอีกครั้ง 

 

เนื่องจากจุดยืนของพระศาสนจักรตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมและสันติภาพ ไม่ว่าใครที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ทิศทางของพระศาสนจักรในเวทีโลกย่อมเกี่ยวเนื่องกับการต่อต้านสงคราม และการยับยั้งการใช้กำลัง ซึ่งควบคู่ไปกับการแสวงหาหนทางให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจา เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ 

 

สุดท้ายนี้การเลือกตั้งพระสันตะปาปาไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการเลือกพระสันตะปาปาแฝงมิติความเป็นพี่น้องกันในบรรดาพระคาร์ดินัล และความเป็นหนึ่งเดียวในความหลากหลายของพระศาสนจักรคาทอลิก การกล่าวเพียงว่าพระเจ้าผู้เดียวที่ทรงเลือกพระสันตะปาปา มนุษย์ก็คงเป็นเพียงแค่หุ่นเชิดที่คอยทำตามการชักใย ในขณะเดียวกัน ถ้ามองเพียงว่ากระบวนการเลือกพระสันตะปาปาทั้งหมดคือผลลัพธ์จากการกระทำของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ก็กลายเป็นว่าข้อจำกัดต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถต่างถูกมองข้ามอย่างสิ้นเชิง จนลืมไปว่าการเลือกพระสันตะปาปานั้นอยู่บนพื้นฐานของประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ประสบการณ์ที่เรียกตามสไตล์ คาร์ล ราห์เนอร์ (Karl Rahner) หนึ่งในนักเทววิทยาที่มีอิทธิพลในศตวรรษที่ผ่านมาว่า ‘ประสบการณ์ของความลึกลับอย่างสมบูรณ์’ 

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising