×

‘โป๊ปฟรานซิส’ หลีกเลี่ยงการเอ่ยคำว่า ‘โรฮีนจา’ ระหว่างกล่าวปราศรัยในเมียนมา

29.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 Mins. Read
  • สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส กล่าวปราศรัยเรียกร้องความเคารพต่อแต่ละชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ โดยปราศจากการเอ่ยคำว่า ‘โรฮีนจา’ ภายหลังเข้าพบปะนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา
  • ขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศในทางพฤตินัยอย่างซูจีไม่ได้กล่าวถึงชาวมุสลิมโรฮีนจาโดยตรง แต่เธอยอมรับถึงสถานการณ์รุนแรงในรัฐยะไข่ โดยกล่าวว่า “เป็นที่เรื่องที่โลกจับตามองอย่างรุนแรง”
  • เพนนี กรีน ศาสตราจารย์จาก Queen Mary University of London ผู้ศึกษาความขัดแย้งโรฮีนจาเปิดเผยว่า การปฏิเสธที่จะใช้คำว่าโรฮีนจาถือเป็นชัยชนะของกลุ่มที่ต้องการจะทำลายความชอบธรรมของคำดังกล่าว

 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส กล่าวปราศรัยเรียกร้องความเคารพต่อแต่ละชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ โดยปราศจากการเอ่ยคำว่า ‘โรฮีนจา’ ภายหลังเข้าพบปะนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา

รัฐบาลเมียนมาปฏิเสธที่จะใช้คำว่า ‘โรฮีนจา’ โดยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์นี้ในฐานะ ‘ชาวเบงกาลี’ ด้วยเหตุผลสืบเนื่องมาจากการที่ชนกลุ่มน้อยนี้อพยพมาจากบังกลาเทศ จนทำให้พวกเขาไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศเมียนมา

ท่ามกลางการยืนปราศรัยข้างซูจี เนื้อหาของการปราศรัยส่วนมากเป็นกลาง แม้อาจทำให้เจ้าบ้านรู้สึกยินดี แต่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนต่างโจมตีต่อท่าทีครั้งนี้ เนื่องจากพวกเขามองว่าฝ่ายกองทัพเมียนมาเป็นต้นเหตุทำให้ชาวโรฮีนจาหลายแสนคนอพยพเข้าบังกลาเทศ

 


“อนาคตของเมียนมาต้องมีสันติภาพ สันติภาพบนพื้นฐานของความเคารพต่อศักดิ์ศรีและสิทธิของสมาชิกในสังคม ความเคารพต่อแต่ละชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของพวกเขา เคารพหลักนิติรัฐ เคารพต่อระเบียบประชาธิปไตยที่มอบสิทธิแก่ปัจเจกชนและกลุ่มต่างๆ โดยไม่มีใครได้รับการยกเว้น เพื่อมอบประโยชน์ทางกฎหมายแก่ประโยชน์ส่วนรวม” สมเด็จพระสันตะปาปากล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้นำประเทศในทางพฤตินัยอย่างซูจีไม่ได้กล่าวถึงชาวมุสลิมโรฮีนจาโดยตรง แต่เธอยอมรับถึงสถานการณ์รุนแรงในรัฐยะไข่ โดยกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่โลกจับตามองอย่างรุนแรง”

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพรายนี้เผยต่อไปอีกว่า “เราพยายามจัดการปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเรื่องสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ที่ได้กัดเซาะความเชื่อใจ ความเข้าใจ ความสามัคคี และความร่วมมือระหว่างชุมชนต่างๆ ในยะไข่”

ท่าทีของซูจีในช่วงที่ผ่านมาถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วง จนทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สภาเมืองออกซ์ฟอร์ดตัดสินใจเรียกคืนรางวัลเสรีภาพแห่งออกซ์ฟอร์ดที่เธอได้รับเมื่อปี 1997 โดยสภาเมืองลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่ต้องการยกย่องบุคคลผู้เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

เพนนี กรีน ศาสตราจารย์จาก Queen Mary University of London ผู้ศึกษาความขัดแย้งโรฮีนจา เปิดเผยว่า การปฏิเสธที่จะใช้คำว่าโรฮีนจา ถือเป็นชัยชนะของกลุ่มที่ต้องการจะทำลายความชอบธรรมของคำดังกล่าว


เตรียมพบชาวโรฮีนจา
หลังเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนเมียนมา ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวคาทอลิกจะเดินทางเยือนบังกลาเทศต่อ รวมถึงการพบปะชาวโรฮีนจาในกรุงธากาด้วย

ก่อนหน้านี้โป๊ปฟรานซิสเคยประณามความรุนแรงต่อชาวโรฮีนจา พร้อมเรียกชนกลุ่มน้อยในฐานะ ‘พี่น้องชาวโรฮีนจาของพวกเรา’

เหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่เมื่อช่วงสิงหาคมที่ผ่านมาก่อให้เกิดคลื่นมวลชนชาวโรฮีนจามากกว่า 623,000 คนหลั่งไหลเข้าบังกลาเทศ ด้วยเกรงกลัวภัยจากกองทัพเมียนมา

อย่างไรก็ตาม หลังการเข้าพบโป๊ปฟรานซิสช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกมาอ้างว่า “ไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ุในเมียนมา”

เมื่อสัปดาห์ก่อน เมียนมาและบังกลาเทศร่วมลงนามข้อตกลงเพื่อส่งตัวชาวโรฮีนจาที่อพยพข้ามพรมแดนกลับ โดยฝ่ายองค์การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องความปลอดภัยให้แก่ชาวโรฮีนจาในกรณีนี้ด้วย

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising