×

5 ธันวาคม – วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

05.12.2018
  • LOADING...

5 ธันวาคม วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร, วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

 

ผู้เป็นพ่อของแผ่นดินได้ทรงทุ่มเทปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อพสกนิกรชาวไทยตลอดชีวิตของพระองค์ และในฐานะประชาชนของพระองค์จึงยึดถือวันที่ 5 ธันวาคม ในการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเสมอมา

 

โดยหนึ่งในพระปรีชาสามารถที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือพระปรีชาสามารถในฐานะ ‘พระมหากษัตริย์นักดนตรี’ ที่แม้กระทั่งนักดนตรีระดับโลกหลายคนยังให้การยอมรับ

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา กับนักดนตรีชาวอัลซาสที่ชื่อ เวย์เบรชต์ วิชาที่พระองค์ทรงเลือกในช่วงแรกคือ การเป่าแซกโซโฟน การเขียนโน้ต และการบรรเลงในแนวดนตรีคลาสสิก ต่อมาทรงสนพระทัยในการศึกษาดนตรีแนวแจ๊ซ จนมีความชำนาญ โดยเฉพาะดนตรีประเภท Dixieland Jazz ที่ทรงโปรดมากที่สุด

 

พระองค์ทรงเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิดได้เป็นอย่างดี ทั้งแซ็กโซโฟน, คลาริเน็ต, ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์ กระทั่งเกิดเป็นเพลง แสงเทียน ที่นับเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ในขณะที่พระชนมายุ 18 พรรษา จนถึงปัจจุบันมีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น 48 เพลง

 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ขึ้นใน พ.ศ. 2495 เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง สารประโยชน์ และข่าวสารต่างๆ แก่ประชาชน รวมทั้งทรงเป็นผู้จัดรายการและเลือกแผ่นเสียงด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ฟังสามารถโทรศัพท์เข้ามาขอเพลง โดยพระองค์ทรงเป็นผู้รับโทรศัพท์เองในบางโอกาส

 

ใน พ.ศ. 2507 ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข 23 จากสถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา ในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างดนตรีตะวันออกกับดนตรีตะวันตก

 

นอกจากนี้ ตลอดพระชนม์ชีพพระองค์ยังทรงเป็นผู้สนับสนุนนักดนตรีในการสร้างสรรค์ผลงานทุกประเภท ไม่จำกัดแค่เพียงดนตรีแจ๊ซที่พระองค์ทรงโปรดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังเช่นพระราชดำรัสของพระองค์ที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนชาวอเมริกันในรายการเสียงแห่งวิทยุอเมริกาในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2503 เอาไว้ว่า

 

“ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของข้าพเจ้า จะเป็นแจ๊ซหรือไม่ใช่แจ๊ซก็ตาม ดนตรีล้วนอยู่ในตัวทุกคน เป็นส่วนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคนเรา สำหรับข้าพเจ้า ดนตรีคือสิ่งประณีตงดงาม และทุกคนควรนิยมในคุณค่าของดนตรีทุกประเภท เพราะว่าดนตรีแต่ละประเภทต่างก็มีความเหมาะสมตามแต่โอกาสและอารมณ์ที่ต่างกันออกไป”

 

ภาพ: Skilllike Courses / YouTube

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising