มาถึงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับซีรีส์ Moving เจ้าของสถิติซีรีส์เกาหลีใต้ที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุด และก็ได้ผลตอบรับไปแบบคุ้มทุนสร้างด้วยเสียงชื่นชมมากมาย ส่วนหนึ่งจากโปรดักชันที่อลังการ แต่ส่วนสำคัญคือการเลือกหยิบประเด็นทัชใจ สัมผัสได้ถึงความเป็น ‘มนุษย์’ จากเรื่องราวของเหล่า ‘คนเหนือมนุษย์’ โดยเฉพาะช่วงการย้อนเวลาเล่าที่มาที่ไปของรุ่นพ่อแม่ (แม้บางคนจะบอกว่าย้อนบ่อยจนจะย้ายไปดู บุพเพสันนิวาส กันแล้ว)
ซึ่งก็ต้องยอมรับความเก่งกาจของชนชาติเกาหลีใต้ที่สอดแทรกแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับการเล่าเรื่องอย่างมีอรรถรส โดยเฉพาะมุมเล็กๆ ของคนธรรมดา และวัฒนธรรมป๊อปที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น กระตุ้นให้คอซีรีส์ออกไปสืบเสาะค้นหา และนี่คือ 3 เรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยใน 3 ประเด็นที่หลายคนสงสัย
ที่มาที่ไปของ ‘สาวส่งกาแฟ’ อาชีพของแม่ฮีซู
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องรักสุดประทับใจสำหรับมนต์รักคนชายขอบ ระหว่างนักเลงหางแถว จางจูวอน (รยูซึงรยง) เจ้าของฉายาไอ้สัตว์ประหลาด กับสาวส่งกาแฟ ฮวังจีฮี (ควักซอนยอง) ก่อนจะให้กำเนิด จางฮีซู (โกยุนจอง) สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ อาชีพสาวส่งกาแฟมีจริงหรือไม่ เกิดขึ้นตอนไหน และพัฒนาสู่การขายบริการแบบในซีรีส์ได้อย่างไร
ดาบัง (다방) คือร้านกาแฟสไตล์เกาหลีดั้งเดิมที่เสิร์ฟชา กาแฟ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เกิดขึ้นในช่วงที่เกาหลีเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ช่วงปลายราชวงศ์โชซอน ซึ่งในตอนนั้นก็มีธุรกิจคล้ายๆ ดาบังเกิดขึ้นแล้ว และเชื่อมโยงกับพิธีชงชาและห้องน้ำชาในวัฒนธรรมเกาหลีโบราณ จนกลายเป็นแหล่งนัดพบของเหล่าศิลปิน กวี และปัญญาชนในยุคนั้น จนกระทั่งช่วงปี 1923 ดาบังสมัยใหม่เริ่มปรากฏให้เห็น จากนั้นก็ถูกพัฒนาให้มีความบันเทิงด้านศิลปวัฒนธรรมเข้าไป
จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อด้วยสงครามเกาหลี ทำให้ธุรกิจห้องน้ำชาแบบดั้งเดิมเริ่มซบเซา และเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟเชิงพาณิชย์สมัยใหม่มากขึ้น โดยหลังสงครามเกาหลีในปี 1953 เมื่อทุกอย่างขาดแคลน ความรื่นรมย์ทางวัฒนธรรมหายไป ดาบังก็มีบทบาทเป็นพื้นที่สำหรับงานศิลปะ แต่การเข้ามาของเครื่องทำกาแฟและกาแฟสำเร็จรูปทำให้ความนิยมของดาบังค่อยๆ เสื่อมลง จนกระทั่งปี 1970 ดาบังพัฒนาตัวเองอย่างมีสีสัน ผนวกกับระบบเคอร์ฟิวของเกาหลีใต้ถูกยกเลิก ทำให้เกิดดาบังยามดึกในหัวเมืองใหญ่ๆ มากมาย ผู้คนก็เริ่มมองหาความบันเทิงจากดาบังมากกว่าการลิ้มรสกาแฟ
ช่วงยุคทศวรรษ 80-90 ดาบังค่อยๆ สูญเสียจุดยืน จนร้านกาแฟบางแห่งใช้ชื่อ ‘ดาบัง’ เพื่อสิ่งที่เรียกว่า ตั๋วดาบัง หรือ ‘Ticket Dabang’ ซึ่งก็คือการขายบริการโดยใช้กาแฟบังหน้า โดยมีทั้งแบบให้บริการที่ร้านและเดลิเวอรีแบบที่เราได้เห็นในซีรีส์ Moving นั่นเอง
กลุ่มผู้ใช้บริการตั๋วดาบังส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง เพราะมีราคาถูก เข้าถึงง่าย ถ้าให้เทียบกับเมืองไทยก็คงคล้ายกับกลุ่มแม่ค้าส้มตำหาบเร่ที่เคยระบาดในย่านหัวลำโพง หรือบริการตัดผมท่านชายโดยช่างผมสาวสวย ที่เป็นรูปแบบการทำธุรกิจบังหน้าเหมือนๆ กัน
ปัจจุบันทั้งร้านกาแฟที่ขายกาแฟจริงๆ และกิจการที่มีบริการทางเพศแฝงอยู่ก็ใช้ชื่อดาบังเหมือนกัน และดาบังแบบดั้งเดิมก็ยังมีให้เห็น อย่างวง BTS ก็เคยมีมิวสิกวิดีโอที่ถ่ายทำในดาบังด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจคือ เพลงประกอบในเอพิโสดนี้คือเพลง Dam Da Di ของอีซังอึน เพลงฮิตระดับตำนานในปี 1988 ที่มักถูกใช้เป็นตัวแทนแห่งยุคสมัยในซีรีส์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Reply 1988, ภาพยนตร์เรื่อง Seoul Vibe ฯลฯ เรียกว่าเพลงนี้เป็นเพลง K-Pop เพลงแรกที่ระบาดทั่วเอเชียเลยก็ว่าได้ รวมทั้งที่ไทยก็เคยนำทำนองเพลงมาใส่เนื้อร้องใหม่ในชื่อ ดำดีดูดี ของวงฟอร์เอฟเวอร์ ในปี 1989 (พ.ศ. 2532)
กว่าจะเป็นคลองชองกเยชอน แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของกรุงโซล
ใน EP.14-15 ซีรีส์เรื่อง Moving พาเราย้อนกลับไปในปี 2003 กับเรื่องราวชีวิตของ อีแจมัน (คิมซองกยุน) พ่อของหัวหน้าห้อง อีคังฮุน (คิมโดฮุน) ที่เป็นพ่อค้าในตลาด ก่อนจะถูกไล่ที่เพื่อพัฒนาบูรณะคลองชองกเยชอน นำมาซึ่งการประท้วงที่เราได้เห็นในซีรีส์
คลองชองกเยชอน เป็นคลองโบราณตั้งแต่สมัยโชซอน มีความยาว 11 กิโลเมตร ไหลผ่านกลางกรุงโซล ในอดีตที่นี่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงโซล และมีการสร้างถนนและทางยกระดับคร่อมตัวคลองเพื่อเป็นทางสัญจรเข้าสู่ตัวเมือง จนกระทั่งในปี 1980 รัฐบาลเกาหลีใต้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกรุงโซลให้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ทำให้คนเริ่มย้ายออกไปสู่ชานเมือง
ช่วงปี 1990 จึงมีแนวคิดที่จะทุบสะพานแล้วบูรณะคลองชองกเยชอนขึ้นมาใหม่ สร้างผลกระทบให้พ่อค้าแม่ขายที่ทำธุรกิจในย่านนั้น จนกระทั่งในปี 2003 ก็บรรลุข้อตกลง และทำลายถนนเดิมในช่วงปลายปีเดียวกัน แล้วบูรณะคลองสำเร็จในปี 2005 กลายเป็นลำธารน้ำใสที่ปรากฏในซีรีส์หลายๆ เรื่อง และเป็นจุดเช็กอินสำคัญในกรุงโซลในที่สุด
ถ้ามองอย่างใกล้ตัวที่สุด คลองชองกเยซอนในเรื่องก็คงคล้ายกับคลองโอ่งอ่างบ้านเราที่อยู่ในย่านธุรกิจเก่า และเคยมีพ่อค้าแม่ขายสร้างร้านค้าคร่อมตัวคลองจนได้รับการบูรณะ และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในปัจจุบัน
เสื้อ Be the Reds! พลังใจแฟนบอลเกาหลีใต้
การแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 ถือเป็นความภูมิใจของเกาหลีใต้ ทั้งในฐานะเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นและการเอาชนะทีมชาติสเปนด้วยคะแนน 5 ต่อ 3 เข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย จนกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงในซีรีส์หลายๆ เรื่อง อย่างใน Reborn Rich ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ด้วย รวมทั้งใน Moving EP.14-15 เสื้อสีแดงที่ แจมัน พ่อของคังฮุน ชอบและเอาไปให้ลูกใส่ ก็เป็นผลพวงจากฟุตบอลโลกครั้งนี้เช่นกัน
ในการแข่งฟุตบอลโลกครั้งนั้น กองเชียร์เกาหลีใต้เรียกตัวเองว่า Red Devils ซึ่งการแข่งขันในตอนนั้นเสื้อทีมเหย้าของทีมชาติเกาหลีใต้ก็เป็นสีแดง ทำให้เกิดเป็นเสื้อ Be the Reds! ของกองเชียร์ทีมชาติเกาหลีใต้ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง แถมโลโก้ยังออกแบบให้มีความหมายพิเศษคือ ตัว R ถูกดีไซน์ให้เป็นเลข 12 ก็เหมือนกองเชียร์คือผู้เล่นคนที่ 12 ของทีมชาตินั่นเอง แต่ต่อมาในฟุตบอลโลกปี 2006 สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ก็เปลี่ยนแคมเปญเป็น Reds Go Together! ส่วนปี 2010 ก็เปลี่ยนเป็น All the Reds! แทน
อย่างไรก็ตาม เสื้อ Be the Reds! ก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนเกาหลีใต้ แม้แต่ไอดอลหลายๆ คนก็มีรูปตอนเด็กๆ ที่สวมเสื้อลายนี้อยู่ด้วยเหมือนกัน เช่น คิมแจฮวาน อดีตสมาชิกวง Wanna One และ แพจินยอง จาก CIX หรือแม้แต่ใน Moving EP.17 คุณพ่อแจมันก็ยังคงใส่เสื้อตัวเดิม แม้เวลาผ่านมา 20 ปีแล้วก็ตาม
อ้างอิง: