เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการประชารัฐสวัสดิการ การช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ให้กับผู้ลงทะเบียนคนจนที่ผ่านเกณฑ์ไว้กับกระทรวงการคลัง 11.67 ล้านคน รวมเงินที่รัฐต้องจ่าย ปีละ 41,940 ล้านบาท
สำหรับบัตรคนจน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก คือ ผู้มีรายได้มากกว่า 30,000-100,000 บาท/ปี จะได้รับวงเงินผ่านบัตร 200 บาท/เดือน หรือ 2,400 บาท/ปี
กลุ่มที่สอง คือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้รับวงเงินผ่านบัตร 300 บาท/เดือน หรือ 3,600 บาท/ปี
ทั้งนี้บัตรคนจนไม่ว่าของกลุ่มใดและแบบใด จะมีวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จากร้านค้ากระทรวงพลังงาน 45 บาท/คน/3 เดือน และยังช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าโดยสารรถเมล์-รถไฟฟ้า 500 บาท/เดือน วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/เดือน รวมถึงวงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/เดือน
โดยเงินจะเข้ามาทุกวันที่ 1 ของเดือน แต่ถ้าใช้ไม่หมดเงินจะถูกตัด สะสมไม่ได้
โดยบัตรคนจนจะมี 2 แบบ แบ่งตามพื้นที่ลงทะเบียน
สำหรับคนจนที่ลงทะเบียนไว้ในเขตกรุงเทพฯ และอีก 6 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี, ปทุมธานี, อยุธยา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม จะได้รับบัตรแบบ 2 ชิป หรือ บัตรแมงมุม
สำหรับคนจนที่ลงทะเบียนไว้ในเขตต่างจังหวัด จะได้รับบัตรแบบ 1 ชิป สามารถซื้อตั๋วรถ บขส. ได้ แต่จะใช้ขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ซึ่งในระยะแรกจะติดตั้งเครื่องรับบัตรให้กับรถเมล์จำนวน 800 คัน
น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า วงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านบัตร สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ขายในร้านที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ได้ทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่ง เหล้า บุหรี่ แต่จะรณรงค์ไม่ให้ขาย อย่างไรก็ตาม บัตรนี้จะไม่รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เพราะตอนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบก็มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว
ในกรณีที่เงินในบัตรหมด หากใครต้องการเติมเงินก็สามารถทำได้ ซึ่งตอนนี้กำลังดูรายละเอียดก่อน และหากใครทำบัตรหาย หากมาทำใหม่ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมทำบัตร สำหรับบัตรที่มี 1 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 50 บาท และบัตรที่มี 2 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 100 บาท
สำหรับบัตรคนจน เริ่มทยอยแจกวันที่ 21 กันยายนนี้ และนำไปใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
อ้างอิง: มติชน และ ประชาชาติธุรกิจ