×

“Baby I want you” เซาะลึกคำว่า ‘อาวรณ์’ คือความคิดถึงอย่างมีความหวัง ก้าวใหม่ของ Polycat

31.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • “เพลง อาวรณ์ พูดถึงความคิดถึงแฟนเก่า พูดถึงวันเกิดของเขาที่เรานึกขึ้นได้ทุกๆ ปี เป็นวันที่เราต้องเจ็บช้ำซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกปี” นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ ร้องนำและนักแต่งเพลง ขยายเจตจำนงไว้ว่า “คำว่าอาวรณ์มันเป็นความคิดถึงที่มีความหวัง” จึงออกแบบให้โน้ตสไตล์อาร์แอนด์บีกับบลูส์อยู่ในซาวด์ ในการร้อง ผสมผสานกับการร้องแบบกอสเปล
  • จุดประสงค์หลักในอัลบั้มใหม่ของ Polycat คือ ‘ความหวัง’ ซึ่งวงมองว่ากอสเปลเป็นดนตรีแห่งความหวัง เป็นดนตรีที่คนผิวสีใช้ปลอบประโลมแก่กันและกันว่า ‘จงสู้ต่อไป’ มีพระเจ้าคอยนำทางเราอยู่ โดยนัยแล้ว กอสเปลก็คือเพลงที่ให้ความหวังกับคนที่ได้ฟัง ซึ่งงานเพลงในอัลบั้มใหม่จะเป็นเพลงที่มีเนื้อหาให้ความหวังถึง 5 เพลง
  • กอสเปลคือแนวเพลงที่เน้นเสียงร้องเป็นหลัก มีลักษณะการร้องประสานเสียง เช่น การร้องเพลงในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ เชื่อกันว่ากอสเปลมีที่มาจากโบสถ์ของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในช่วงตอนต้นศตวรรษที่ 20 ที่มีการร้องประสานเสียง มีนักร้องที่เป็นฟรอนต์แมน และมีกลุ่มนักร้องแผงหลังคอยช่วยเสริม เพลง อาวรณ์ เองก็ใช้แพตเทิร์นแบบนั้น

 

 

“ผมว่าคำว่าอาวรณ์มันเป็นความคิดถึงที่มีความหวัง เพราะถ้าแค่คิดถึงเฉยๆ เราอาจจะจำได้ว่า อ๋อ วันนี้เป็นวันเกิดของแฟนเก่านี่หว่า แล้วจบไป แต่ถ้าอาวรณ์ นั่นหมายความว่าเรายังมีความหวังนะว่าเราควรจะส่งเมสเสจไปดีไหมวะ เผื่อว่าเขาจะเปลี่ยนใจรีเทิร์นกลับมาหาเรา”

 

เสียงเรียวเล็กใต้เสื้อแขนยาวคอเต่าสีดำของ นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ นักแต่งเพลงและนักร้องนำวง Polycat เล่าถึงแรงบันดาลใจในเพลง อาวรณ์ ซิงเกิลใหม่ที่ถือเป็นการย่างก้าวแรกสู่อัลบั้มใหม่ที่วงตั้งใจว่าจะไม่เดินทางย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิม หลังจาก 2 ปีก่อนพวกเขาทำให้ 80 Kisses กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มเพลงไทยที่ถูกจดจำและประสบความสำเร็จมากที่สุด

 

กลับมาคราวนี้ Polycat ตั้งใจจะเดินทางต่อจากแนวทางดนตรี 80s สู่งานเพลงสไตล์นีโอโซลและอาร์แอนด์บี ผสมผสานกับรูปแบบการร้องแบบกอสเปลที่เน้นการร้องประสานเสียงเพื่อสื่อสารถึง ‘ความหวัง’ จากแต่ละบทเพลงในอัลบั้มใหม่ ซึ่งคาดว่าจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า

 

สมาชิกวง

นะ-รัตน จันทร์ประสิทธิ์ (ร้องนำ)

เพียว วาตานาเบะ (เบส)

โต้ง-พลากร กันจินะ (ซินธิไซเซอร์)  

 

 

Polycat เริ่มต้นงานเพลงอัลบั้มใหม่ด้วยซิงเกิล อาวรณ์ (I Want You) ซึ่งฟีดแบ็กตอนนี้ก็ดีมาก ไอเดียของมิวสิกวิดีโอเป็นอารมณ์บอยแบนด์ผิวสีแบบย้อนยุคก็นำเสนอดีมาก ตรงนี้บอกอะไรได้บ้างเกี่ยวกับแนวทางอัลบั้มใหม่ที่เราจะได้ฟังต่อไปในอนาคต  

นะ: ขอเล่าย้อนแบบนี้ครับ พอจบ 80 Kisses พวกเราก็ทำเพลงเก็บไว้เรื่อยๆ จนสุดท้ายออกมาลงตัวที่งานเพลงในสไตล์อาร์แอนด์บีและนีโอโซล ซึ่งน่าจะครอบคลุมที่สุด ส่วนเพลง อาวรณ์ มันเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเพลงป๊อปยุค 80s นีโอโซล และอาร์แอนด์บีพอดี เราเลยเลือกเพลงนี้เป็นซิงเกิลแรก เหมือนเป็นการทักทายกับแฟนเพลงว่าอัลบั้มใหม่ของเราจะเดินมาในไดเรกชันนี้แล้วนะ

 

ในเพลง อาวรณ์ จะมีการเลือกใช้โน้ตสไตล์อาร์แอนด์บีกับบลูส์อยู่ในซาวด์ ในการร้อง บวกกับการร้องแบบกอสเปล (แนวเพลงที่เน้นเสียงร้องเป็นหลัก มีลักษณะการร้องประสานเสียง เช่น การร้องเพลงในโบสถ์คริสต์ เชื่อกันว่ากอสเปลมีที่มาจากโบสถ์ของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในช่วงตอนต้นศตวรรษที่ 20) ที่มีการร้องประสานเสียง มีนักร้องที่เป็นฟรอนต์แมน และมีกลุ่มนักร้องแผงหลังคอยช่วยเสริม เพลง อาวรณ์ เองก็ใช้แพตเทิร์นแบบนั้นครับ

 

ทำไมถึงออกแบบให้เพลง อาวรณ์ ต้องร้องแบบกอสเปล

นะ: ผมว่าคำว่าอาวรณ์มันเป็นความคิดถึงที่มีความหวัง เพราะถ้าแค่คิดถึงเฉยๆ เราอาจจะจำได้ว่า อ๋อ วันนี้เป็นวันเกิดของแฟนเก่านี่หว่า แล้วจบไป     

 

แต่ถ้าอาวรณ์ นั่นหมายความว่าเรายังมีความหวังนะว่าเราควรจะส่งเมสเสจไปดีไหมวะ เผื่อว่าเขาจะเปลี่ยนใจรีเทิร์นกลับมาหาเรา

 

ดังนั้นจุดประสงค์หลักของอัลบั้มนี้คือความหวัง และกอสเปลก็เป็นดนตรีแห่งความหวัง มันคือดนตรีที่คนผิวสีใช้ปลอบประโลมแก่กันและกันว่า ‘จงสู้ต่อไป’ มีพระเจ้าคอยนำทางเราอยู่ โดยนัยแล้วกอสเปลก็คือเพลงที่ให้ความหวังกับคนที่ได้ฟัง ซึ่ง 5 เพลงในอัลบั้มใหม่เป็นเพลงที่มีความหวังหมดเลย  

 

ผมว่าคำว่า ‘อาวรณ์’ มันเป็นความคิดถึงที่มีความหวัง เราควรจะส่งเมสเสจไปดีไหมวะ เผื่อว่าเขาจะเปลี่ยนใจรีเทิร์นกลับมาหา

พอฟังเพลง อาวรณ์ รู้สึกเลยว่านะยิ่งสนุกกับการแต่งเนื้อเพลงที่มีภาษาเชยๆ เก่าๆ แต่จังหวะจะโคนสละสลวย

นะ: สนุกมากกว่าเดิมอีกครับ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าเราได้พูดอย่างที่เราอยากพูด เช่น เพลง อาวรณ์ มันจะมีท่อนหนึ่งที่บอกว่า

 

…ถ้าพรของฉันที่จะให้ไป

ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระอาจารย์ที่ใด

จะขอให้เธอได้มีพลังรู้ความในใจ

ให้เธอรู้ไว้ (ไว้)…

 

ท่อนนี้ได้มาเพราะมีคนมาขอให้ผมอัดคลิปอวยพรวันเกิดให้เพื่อนของเขาหน่อย ผมพูดอวยพรไปให้น้องเขานะครับ แต่ก็จะบอกด้วยว่า “น้องครับ พี่ไม่มีพรวิเศษ พูดขอให้เพื่อนน้องรวย เพื่อนน้องก็ไม่ได้รวยขึ้นหรอก” พอนึกขึ้นมาได้ เฮ้ย แล้วทำไมเราไม่พูดอย่างนี้ลงไปในเพลงเลยล่ะ

 

เนื้อหาของเพลง อาวรณ์ จะพูดถึงความคิดถึงแฟนเก่าของเรา เพียงแต่เนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นมันพูดถึงวันเกิดของเขาที่เรานึกขึ้นได้ทุกๆ ปี เป็นวันที่เราต้องเจ็บช้ำซ้ำๆ เหมือนเดิมทุกปี

 

โต้ง: แต่สำหรับผม ผมชอบท่อนนี้นะ “ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระอาจารย์ที่ใด จะขอให้เธอได้มีพลังรู้ความในใจ” คือตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาก็ไม่เคยเห็นประโยคทิศทางแบบนี้ในเพลงที่พี่เขาเขียนผ่านๆ มานะฮะ ผมเคยทักพี่นะไปตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นเนื้อว่า โอ้โห เดี๋ยวนี้พี่แม่งเขียนถึงพระอาจารย์แล้วเหรอวะ ไปวัดไหนมาเนี่ยพี่ (หัวเราะ)

 

เพียว: ผมชอบท่อนที่ร้องว่า

 

“…วันสำคัญยังคงเป็นวันเดิม

เพียงคนสำคัญที่ตรงนั้นเปลี่ยน

แววตาของเธอยังคงงามดังเดิม

เพียงคนได้มองข้างในนั้นเปลี่ยน

แต่ใจของฉันยังคงเป็นคนเดิม

รักเธอแค่ไหน จะไม่เปลี่ยน…”

 

คือเวลาพี่นะเขียนเนื้อเพลง เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยประโยคเดียว แต่พอเราอ่านหรือฟัง ปะติดปะต่อทุกอย่างทั้งวรรคใหญ่ วรรคเล็ก มันจะออกมาเป็นเนื้อเพลงที่สมบูรณ์มาก และถ้าสังเกตท่อนนี้ให้ละเอียด มันจะมีคำว่า ‘เดิม’ กับคำว่า ‘เปลี่ยน’ สลับมาพร้อมกันหมดเลย

 

เวลาพี่นะเขียนเนื้อเพลง เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยประโยคเดียว แต่พอเราอ่านหรือฟัง ปะติดปะต่อทุกอย่างทั้งวรรคใหญ่ วรรคเล็ก มันจะออกมาเป็นเนื้อเพลงที่สมบูรณ์มาก

รู้สึกว่าพอสนุก เรายิ่งขยี้ภาษา ขยี้อารมณ์ลงไปในเนื้อเพลง

นะ: สนุกดีครับ เหมือนเราค่อยๆ ศึกษาไปด้วยกันกับแฟนเพลง แล้วความจริงเรื่องแบบนี้มันอยู่ในเนื้อเพลงฝรั่งมานานแล้วครับ ยกตัวอย่าง “ฉันจะคอยทำไข่ดาวให้เธอทุกเช้า แล้วคอยดูว่ากาแฟของเธอใส่ครีมหรือยัง” นักแต่งเพลงเขาลงดีเทลแบบนี้มาตั้งแต่ยุค 80s แล้ว แต่เราไม่ค่อยได้เห็นแบบนี้ในเมืองไทยสักเท่าไร ถ้าอย่างนั้นลองดู แล้วถ้าคนเริ่มเก็ตก็อาจจะมีศิลปินคนอื่นเริ่มเขียนสิ่งที่เขาอยากพูดจริงๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ด้วยความที่ 80 Kisses อัลบั้มชุดที่ผ่านมาประสบความสำเร็จมาก และมันก็สร้างรากฐานความเป็น Polycat ให้ชัดเจน สร้างกลุ่มแฟนเพลงใหม่ๆ ให้กับวง การเริ่มต้นกับอัลบั้มใหม่มันเดินหน้าด้วยอารมณ์แบบไหนบ้าง

นะ: สนุกครับ แต่ภายใต้ความสนุกไม่ได้หมายความว่าเราแค่ทำเอามัน อย่างโต้งทำดนตรีเสร็จก็ไม่ได้หมายความว่าเสร็จ ผมแต่งเนื้อเสร็จก็ไม่ใช่ว่าส่งเลย ใช้ได้แล้ว เพราะภายใต้ความสนุกก็ยังต้องเหลาให้ชิ้นงานมันแหลม งานเสร็จแล้วก็ยังต้องกรองกันอีกมาก คุยกันกลับไปกลับมาว่ากรู๊ฟแบบนี้ใช่แล้วหรือยัง ทางคอร์ดแบบนี้ฟังง่าย แต่มันจับใจคนฟังแล้วหรือยัง

 

โต้ง: ใช่ครับ ปกติถ้าเป็นนีโอโซลเพียวๆ นักดนตรีจะใส่ทางคอร์ดแบบแจ๊ซหรือแบบอื่นๆ ผสมเข้าไป ผมเลยรู้สึกว่าในความง่ายมันมีความยาก แต่ในส่วนของ Polycat เราตั้งใจจะทำให้มันง่าย แต่ยังได้กลิ่นนีโอโซลในนั้นอยู่ ผมก็คิดว่ามีเสน่ห์มากกว่า

 

เพียว: ผมเปรียบอย่างนี้ดีกว่า ถ้านีโอโซลคือเอสเปรสโซช็อตเพียวๆ แต่ของ Polycat อาจจะเป็นอเมริกาโนใส่ไซรัปนิดหนึ่งเพื่อให้กินง่ายขึ้นหน่อย

 

นะ: บางเพลงอาจจะมาก บางเพลงน้อย บางเพลงมีอาร์แอนด์บีมากกว่า

 

โต้ง: ผมว่าเพลง อาวรณ์ มันชัดที่สุด เพราะว่าอัลบั้ม 80 Kisses เราตั้งใจทำให้มันเป็นงานดนตรียุค 80s ซึ่งในเพลง อาวรณ์ มันยังมีความเป็น 80s และกำลังจะก้าวไปสู่นีโอโซลผสมผสานอาร์แอนด์บี ซึ่งหลังจากนี้เพลงอื่นๆ ในอัลบั้มใหม่จะมีความเป็นนีโอโซลที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้  

 

เราทำงานอัลบั้มใหม่ด้วยความรู้สึกเหมือนตอนทำอัลบั้ม 80 Kisses นั่นคือเราอยากทำในสิ่งที่อยากเป็นที่สุดก่อน ถามว่าอยากให้คนฟังเพลงไหม เราอยากให้คนฟัง แต่เราก็อยากให้เขาได้ฟังและชอบในสิ่งที่เป็นเราที่สุดด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ถือว่า Polycat ประสบความสำเร็จแล้ว

หมายความว่าถ้าใครกำลังคิดว่าอัลบั้มใหม่จะเดินซ้ำรอยความสำเร็จแบบ 80 Kisses คือคิดผิด

โต้ง: ผมคิดว่ามันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราอยากนำเสนอมากกว่าครับ

 

เพียว: ความจริงวิธีคิดของพวกเรายังเหมือนเดิมนะครับ อย่างอัลบั้มชุดที่แล้วเราก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จถึงขนาดนั้น อัลบั้มใหม่ก็เหมือนกัน คือเราไม่รู้ว่าหรอกจะมีอะไรเกิดขึ้นกับชุดนี้บ้าง แต่เราอยากสร้างสิ่งที่พวกเรายังไม่เคยสร้างมาก่อน ยังไม่เคยทำมันมาก่อน     

 

อย่างตอนทำอัลบั้มชุดที่แล้วเสร็จ เรายังคุยกันอยู่เลยว่าเพลงแบบ พบกันใหม่ ใครจะฟังวะ ทำเพลง 80s ให้คนฟังในยุคที่คนเปิดอีดีเอ็มเพื่อเต้น เพื่อกระโดด เพื่อสนุกสนาน เฮ้ย แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราชอบที่จะทำแบบนี้  

 

นะ: ใช่ครับ อย่างตอนทำเพลง อาวรณ์ เสร็จ เราลองมานั่งฟังแล้วก็ถามกัน… ใครฟังวะ แต่ตรรกะของพวกเราก็เป็นแบบนี้แหละครับ คือจะไปแคร์ทำไมว่าใครฟัง (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่ว่าเพลงมันจะไม่เพราะนะครับ พวกเราสามคนชอบฟังเพลงเพราะทั้งหมดเลย ฉะนั้นพอทำออกมา ถ้าเราฟังแล้วรู้สึกว่ามันแปร่ง มันกลิ่นแรง เราจะพยายามเบลนด์ให้มันเป็นเพลงที่เพราะให้ได้ เพียงแต่มันจะไม่ธรรมดาแน่นอน

 

เพียว: ก่อนหน้านี้เราคุยกับพี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้บริหารค่ายสมอลล์รูม) พี่รุ่งเขาก็บอกว่าทุกศิลปินในค่าย เขาจะชอบปล่อยเพลงจ๊าบๆ เพลงที่โชว์ของออกมาจั่วหัวก่อน แล้วเก็บเพลงที่เป็นหมัดเด็ดเอาไว้ทีหลัง แต่อัลบั้มชุดนี้พี่รุ่งเปลี่ยนแนวคิดเลย เราเอาเพลงนี้เลย ต่อยหน้าเลย ไม่ต้องแยบแล้ว

 

นะ: คือในส่วนของเนื้อเพลง ผมชอบมันมากครับ ผมก็เลยอยากให้ทุกคนได้สัมผัสมันเร็วๆ ก็เลยเชียร์เพลงนี้เป็นเพลงแรก อยากให้ฟังมาก (หัวเราะ)

 

 

สรุปได้อย่างหนึ่งว่าลงท้ายแล้วไม่ว่าอัลบั้มใหม่จะโด่งดังหรือประสบความสำเร็จเท่า 80 Kisses หรือเปล่า แต่สำหรับ Polycat มันเป็นงานที่ประสบความสำเร็จแล้ว เพราะทุกคนสนุกและเอ็นจอยกับมันมาก

นะ: จริงเลยครับ ต้องพาดพิงเลยครับ คือผมจะมีความรู้สึกผิดทุกครั้งเวลาฟังเพลงในอัลบั้มแรกอย่าง จะเอาอะไร หรือ ประโยคร้ายๆ เวลามีที่ไหนเปิด ผมจะไม่อยากฟังมัน ผมจะรู้สึกผิดมาก ซึ่งผมไม่อยากให้ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นอีกแล้ว ผมก็เลยคุยกับน้องๆ ว่าถ้าจะทำเพลง ทำที่เราอยากทำจริงๆ ดีกว่า ทำเพลงในแบบที่ตอนเปิดให้คนอื่นฟังแล้วเราภูมิใจ ผมไม่อยากมีรู้สึกว่าปิดเถอะ หรือฟังแล้วอายแบบนั้นอีกแล้ว   

 

ผมยกตัวอย่างเพลง จะเอาอะไร ผมว่าเราทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเราเลยครับ จุดเริ่มต้นของเพลงมันสร้างขึ้นจากความคิดที่ว่า โต้ง มึงกระโดดให้หน่อย เวลามึงไปคอนเสิร์ต มึงกระโดดที่เทมโปเท่าไร พวกเราก็ให้โต้งกระโดดแล้วทำเพลงตามจังหวะกระโดดของโต้ง เพื่อที่ว่าพอไปอยู่ในคอนเสิร์ตเราจะได้บอกว่า เอ้า ทุกคน หนึ่ง สอง สาม กระโดด! ซึ่งแฟนเพลงก็กระโดดนะครับ แต่พอเล่นเสร็จเรากลับรู้สึกไม่แฮปปี้ที่ต้องไปตะบี้ตะบันให้เขากระโดด เพราะบางคนเขาก็มากับแฟน มากับแม่ บางทีถือน้ำหรือถืออะไรอยู่ เขาอาจจะไม่ได้อยากกระโดด บางคนอาจจะอยากมาเพื่อฟังเพลง ซึมซับซาวด์หรือเนื้อเพลง และถ้าอยากกระโดด เดี๋ยวเขากระโดดเอง เราไม่ต้องบังคับเขา ซึ่งเพลง จะเอาอะไร เฟลในเรื่องนี้ครับ

 

โต้ง: ผมว่าเราเริ่มต้นอัลบั้มใหม่ด้วยความรู้สึกเหมือนตอนทำอัลบั้ม 80 Kisses นั่นคือเราอยากทำในสิ่งที่อยากเป็นที่สุดก่อน ถามว่าอยากให้คนฟังเพลงไหม เราอยากให้คนฟัง แต่เราก็อยากให้เขาได้ฟังและชอบในสิ่งที่เป็นเราที่สุดด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ถือว่า Polycat ประสบความสำเร็จแล้ว

 

เพียว: มันมีคำที่เรามักจะพูดเล่นกันในค่ายเวลาทำเพลงไปส่งพี่รุ่งแล้วไม่ผ่าน พี่รุ่งก็จะถามว่ามึงแต่งเพลงอะไรมาเนี่ย ผมก็จะตอบพี่รุ่งไปว่า นี่แหละพี่ สร้างอะไรให้กับวงการ (หัวเราะ) ฟังดูมันอาจจะเป็นคำติดตลกนะครับ แต่จริงๆ แล้วในคำนั้นมันก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราด้วยว่าเราอยากสร้างอะไรที่มันยังไม่เคยเกิดขึ้น สิ่งนี้มันยังไม่มีนี่หว่า หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ตัวเราเองยังไม่เคยทำด้วย  

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่าอัลบั้มเต็มชุดใหม่ด้วยงานเพลงสไตล์อาร์แอนด์บีและนีโอโซลจะมีชื่ออัลบั้มว่า Pillow War โดยนะเล่าให้ฟังถึงที่มาและรายละเอียดของ Pillow War ให้ฟังว่า

 

          “ชื่ออัลบั้มมันมาจากชื่อเพลงในอัลบั้มครับ เป็นเพลง coming of age ที่เนื้อหาผู้ใหญ่มากๆ เป็นเพลงที่พูดถึงคนที่ไม่ได้มองความรักแค่ว่า ‘รัก’ แต่มันยังมีเรื่องผ่อนบ้าน มีเรื่องรถติด มีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

 

          ผมชอบความรู้สึกเวลาเราฟังเพลงของ Maxwell อัลบั้ม Maxwell’s Urban Hang Suite (1996) ที่เขาบอกกันว่าเป็นอัลบั้มที่คู่รักควรมีติดไว้ประจำหัวนอน ตอนนี้เราก็อยากจะมีอัลบั้มแบบนั้นบ้าง เพราะเราโตขึ้นในทุกๆ ด้านทั้งเรื่องเขียนเพลง เรื่องดนตรี เราก็เลยตั้งชื่อว่า Pillow War อารมณ์เหมือนอยู่ในห้องกันสองคนแล้วเอาหมอนตีกัน มันก็ให้ความรู้สึกที่โรแมนติกดี เพราะดนตรีสไตล์นีโอโซลจะรู้กันว่าเป็นดนตรีอารมณ์นวดๆ โรแมนติกๆ เราก็อยากจะหยิบแนวทางนี้ขึ้นมาทำ เพียงแต่ว่าเพลงที่พูดถึงนี้ยังไม่ผ่าน ดังนั้นชื่ออัลบั้ม Pillow War จะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อเพลงที่เรากำลังทำกันอยู่นี้มันผ่าน (หัวเราะ)

 

  • Maxwell ศิลปินผิวสีชาวอเมริกันผู้สร้างงานเพลงสไตล์นีโอโซล อาร์แอนด์บี ฟังก์ และแจ๊ซได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะงานอัลบั้ม Maxwell’s Urban Hang Suite ที่หลากหลายบทเพลงนำเสนอมุมมองความรักได้อย่างโรแมนติกงดงาม

 

  • ถ้าใครกำลังอินกับเนื้อหาโดนๆ ของเพลง อาวรณ์ นะยังเล่าที่มาน่ารักๆ ของเพลงให้ฟังอีกว่า “ความจริงที่มามันกระจอกมาก (หัวเราะ) ผมแค่ร้องเพลง ตีคอร์ด แล้วร้องว่า I want you… I want you แล้วมันก็ผันเสียงเป็นภาษาไทยได้ว่า อาวรณ์อยู่… อาวรณ์อยู่ เฮ้ย เราจะอาวรณ์ต่อไปได้ยังไง ก็ค่อยๆ เริ่มปะติดปะต่อ ประกอบร่าง”
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising