“ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน”
ประโยคสุดคลาสสิกที่ใครๆ ก็ต่างคุ้นหู ประโยคที่นำเสนอภาพแทนของความรักที่มีเพียงเธอกับฉันและโลกอันหอมหวานสดใส ความรักที่เป็นไปตามครรลองของสังคม ประพฤติปฏิบัติตัวอยู่ในรีต รักเดียวใจเดียว
แต่ไม่ใช่ทุกคนหรือเปล่าที่จะมีเพียงรักเดียวได้
อย่าเพิ่งดราม่าและเข้าใจว่าเรากำลังนำเสนอเรื่องราวที่ชี้นำให้ผู้อ่านทำผิดศีลธรรมหรือทำตัวนอกรีต แต่นี่คือสิ่งที่เราอยากให้คุณเข้าใจว่าในโลกใบใหญ่ของเรายังมีรูปแบบความสัมพันธ์อีกมากมายที่เกิดขึ้น และแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องของเขา คุณไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่ถ้าหากพบเจอสักครั้ง เราก็อยากให้คุณทำความเข้าใจว่าความรักอาจไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน เพราะในหลายๆ ความสัมพันธ์ ความรักอาจเป็นเรื่องของคนสามคน สี่คน หรือมากกว่านั้นก็ได้ เพราะมนุษย์เราอาจสามารถตกหลุมรักคนได้มากกว่าหนึ่งคน
ไอเดียดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าว่า ‘ความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคน’ หรือ ‘Polyamory’ คือการที่มนุษย์มีความสัมพันธ์ในเชิงโรแมนติกกับคู่รักที่คบหาดูใจกันมากกว่าหนึ่งคน อาจจะสอง สาม สี่ หรือห้า หรือแล้วแต่คนในความสัมพันธ์นั้นๆ จะตั้งกฎของตัวเองขึ้นมา โดยสารตั้งต้นของความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นจากการ ‘ตกหลุมรักคนมากกว่าหนึ่งคน’ เช่น A คบอยู่กับ B โดย A และ B มีความพึงพอใจใน C ส่วน C เองก็พึงใจกับทั้ง A และ B ฉะนั้นหมายความว่า A, B และ C ต่างชอบพอซึ่งกันและกัน จึงคบกันแบบสามคน อย่างนี้แหละที่เราเรียกว่า Polyamory แต่ในความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์นี้ก็ยังมีรูปแบบที่ยิบย่อยลงไปอีก เช่น
- รูปแบบ ‘V’ ที่มี A เป็นคนกลางหนึ่งคนโดยมีความสัมพันธ์กับทั้ง B และ C แต่ B และ C ไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างรับทราบสถานะนี้
- รูปแบบ ‘Triad’ คือการคบสามคน
- รูปแบบ ‘Quad’ คือการคบสี่คน โดยทั้งสี่อาจไม่ต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งหมดก็ได้ เช่น A และ B คบกัน C และ D ก็ต่างคบกัน โดย A อาจพึงใจกับ C ด้วย แต่ไม่พึงใจกับ D แต่มีข้อแม้ว่าพวกเขาจะต้องมีกิจกรรมร่วมกัน
ภาพจากหนังเรื่อง Y Tu Mama Tambien (2001)
อย่าเพิ่งปวดหัวไปก่อน และทั้งนี้คุณจะต้องแยกความสัมพันธ์แบบนี้ออกจากการสวิงกิ้ง การแลกเปลี่ยนคู่นอน หรือความสัมพันธ์แบบ Bigamy ที่มีสามีหรือภรรยาสองคน (การจดทะเบียนซ้อน) ไปก่อนเลย เพราะการมีคนรักหลายคนในที่นี้ยังไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นการแต่งงาน แต่มีกฎเป็นของตัวเอง อย่างการดูแลซึ่งกันและกันเหมือนคู่รักทั่วไป เพียงแต่มีตัวประกอบในจำนวนที่มากกว่าสองคน และสร้างความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกพร้อมๆ กันกับคนที่มากกว่าหนึ่งคน
แล้วความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคน (Polyamory) แตกต่างอย่างไรกับความสัมพันธ์แบบเปิด (Open Relationship) ล่ะ ในเมื่อคุณก็สามารถจะไปมีเซ็กซ์กับอีกคนได้ แต่ความแตกต่างของความสัมพันธ์สองรูปแบบนี้อยู่ตรงที่ ‘การผูกมัด’ นั่นหมายความว่าหากคุณอยู่ในความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคน คือการที่คุณผูกมัดตัวคุณไว้กับคนอีกสองคนด้วย ‘สถานะ’ มีความรู้สึกที่ดีต่อกันในเชิงโรแมนติก แต่กับความสัมพันธ์แบบเปิดนั้นเป็นเรื่องของคนสองคนที่เปิดโอกาสให้คู่รักของตนไปมี ‘ความสัมพันธ์’ กับคนอื่นๆ โดยไม่ผูกมัด ไม่มีความรู้สึกในเชิงโรแมนติกเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นคุณเข้าใจง่ายๆ ไปก่อนได้เลยว่า Polyamory ไม่ใช่ Open Relationship แต่ Polyamory สามารถเป็น Open Relationship ได้
ภาพจากหนังเรื่อง Professor Marston and the Wonder Women (2017)
ความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคนนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน ซึ่งอาจเกิดกับคู่รักที่คบหากันมาอย่างยาวนาน การต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ หรือความรู้สึกใหม่ๆ โดยในความสัมพันธ์เช่นนี้ก็เกิดคำถามขึ้นอีกว่า แท้จริงแล้วการคบสาม คบสี่ หรือมากกว่านั้น เป็นเพราะมนุษย์ต้องการความรักหรือต้องการเซ็กซ์ที่แตกต่างไป?
คำตอบอาจจะเป็นทั้งสองอย่าง ซึ่งในแง่ของความสัมพันธ์แบบ Polyamory นี้ทำให้ประเด็นของ ‘การนอกใจ’ กลายเป็นเรื่องไม่ผิดไป เหตุเพราะหากคุณคบสามอย่างถูกต้อง การที่คุณจะไปอี๋อ๋อกับใครอีกคนที่นอกเหนือไปจากคู่รักตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะนั่นก็คือคู่รักของคุณอีกคนเหมือนกัน นอกเสียจากว่าจะมี ‘มือที่สี่’ เข้ามา ซึ่งนั่นแล้วแต่พวกคุณจะตกลงกันเอาเองว่าผิดหรือไม่ผิด
แต่จุดบอดบางๆ ของความสัมพันธ์นี้ก็มีอยู่เช่นกันและเกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเฉพาะการให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ของคนสองคนให้ ‘พอดี’ ซึ่งแน่นอนว่าความพอดีของคนเราไม่เท่ากัน ฉะนั้นความสัมพันธ์นี้อาจเกิดลักษณะของความอิจฉาหรือความน้อยอกน้อยใจขึ้นได้ หากใครสักคนประพฤติตัวหรือให้ความรักไม่เท่ากับอีกคน ก่อเกิดเป็นความหึงหวงถึงขั้นรุนแรงได้
ความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นเรื่องผิดหรือไม่ เราไม่รู้ นั่นเป็นมุมมองและทัศนคติปักเจกบุคคล แต่บางทีเรื่องความสัมพันธ์และความรัก อาจไม่มีเรื่องไหนผิดหรือถูกเลยก็ได้ ถ้าคนกลุ่มนั้นยินยอมพร้อมใจอย่างเปิดใจกว้างจริงๆ หากจะผิดก็ผิดแค่เพียงการไม่เดินตามความเหมาะสมของสังคมที่สร้างไอเดียเรื่อง ‘ผัวเดียวเมียเดียว’
แต่ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ต่างมีความคิดและความรู้สึกที่หลากหลาย ฉะนั้นกรอบของการบอกว่า ‘ควรต้องมีผัวเดียวเมียเดียว’ อาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน
แต่ขณะเดียวกันการมีคนรักหลายคนก็อาจไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคนเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.womenshealthmag.com/relationships/a22531210/polyamorous-relationship/
- www.womenshealthmag.com/relationships/a19664033/polyamory-vs-open-relationships/
- www.independent.co.uk/life-style/dating/polyamory-meaning-open-relationship-dating-sexuality-louis-theroux-altered-states-a8541506.html
- www.theguardian.com/lifeandstyle/2018/sep/25/truth-about-polyamory-monogamy-open-relationships