×

TIJ เผยผลโพลคดี บอส อยู่วิทยา ประชาชนเชื่อมีอำนาจอื่นแทรกแซง ชี้คะแนนกระบวนการยุติธรรมลดวูบ

24.08.2020
  • LOADING...
TIJ เผยผลโพลคดี บอส อยู่วิทยา ประชาชนเชื่อมีอำนาจอื่นแทรกแซง ชี้คะแนนกระบวนการยุติธรรมลดวูบ

วันนี้ (24 สิงหาคม) ศ.ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) แถลงข่าวถึง ‘ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อคดี บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา’ หนึ่งในคดีที่ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจกระบวนการยุติธรรมเป็นวงกว้าง และการสำรวจครั้งนี้มีประชาชนจากทั่วประเทศ ทุกกลุ่มอายุ ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 4,008 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2,056 คน เป็นผู้มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม  

 

โดยแบบสอบถามนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ความรู้สึกและความคาดหวังต่อคดี และความรู้สึกและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรายละเอียดผลสำรวจมีดังนี้

 

ส่วนที่ 1 ความรู้สึกและความคาดหวังต่อคดี

เรื่องที่ผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกไม่ดีหรือรับไม่ได้มากที่สุดเกี่ยวกับคดีนี้มี 2 เรื่องในคะแนนใกล้เคียงกัน อันดับ 1 คือการทำสำนวนคดีที่ยืดระยะเวลาออกไปอย่างไม่มีเหตุสมควรจนคดีหมดอายุความ และอันดับ 2 คือการที่คดีนี้ดูเหมือนมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและจากอิทธิพลของกลุ่มนายทุน

 

ส่วนประเด็นที่ผู้ตอบไม่พอใจเป็นอันดับ 3 เป็นการตอบที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ในกระบวนการยุติธรรม โดยคนที่มีประสบการณ์จะไม่พอใจกับการมีพยานบุคคลเพิ่มเติมหลังจากคดีผ่านไปหลายปีมาหักล้างความผิดโดยไม่มีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ส่วนคนไม่มีประสบการณ์จะมองเรื่องการพบสารเสพติดในเลือดของผู้ต้องหา แต่กลับไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหา     

 

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าในภาพรวมนั้นไม่พอใจอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับการดำเนินคดีนี้ มีผู้ตอบถึง 56.76% ระบุว่าไม่พอใจที่ ‘กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาค เพราะกระบวนการยุติธรรมถูกซื้อได้ด้วยเงินและอำนาจ’

 

ส่วนความคาดหวังต่อคดีนี้ หลังจากที่เป็นกระแสสังคมและเริ่มมีการตรวจสอบจากทั้งตำรวจ อัยการ และคณะกรรมการอิสระที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น พบว่าผู้ตอบกว่า 89% ล้วนคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ต้องมีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี และดำเนินคดีหากพบว่าร่วมกันบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม ต้องสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่ามีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ ต้องรื้อสำนวนคดีใหม่ และนำคดีเข้าสู่ชั้นศาล ทั้งคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และคดีใช้ยาเสพติด รวมทั้งคาดหวังว่าต้องนำตัวผู้ต้องหากลับมารับโทษให้ได้หากภายหลังศาลตัดสินว่าผิดจริง

 

ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามนี้ 94.56% ยังเห็นว่าสังคมควรมีความเคลื่อนไหวต่อคดีนี้ และบอกว่าสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือร่วมกันต่อต้านการทุจริตในกระบวนการยุติธรรมทุกรูปแบบ รองลงมาคือควรเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้ตอบส่วนน้อยที่ตอบว่าไม่ควรเคลื่อนไหวอะไร เกือบครึ่งหนึ่งบอกว่าเพราะเคลื่อนไหวเรียกร้องไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

 

ส่วนที่ 2 ความรู้สึกและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม

ส่วนนี้เป็นคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมและความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม รวมไปถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม

 

ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรกคือความเชื่อมั่นที่ผู้ตอบมีต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ก่อนที่จะทราบรายละเอียดความผิดปกติในคดีของวรยุทธ ค่าเฉลี่ยของความเชื่อมั่นมีคะแนนอยู่ที่ระดับ 2.40 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน (โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ให้คะแนน 2-4 คะแนน) 

 

แต่ทว่าเมื่อทราบรายละเอียดของคดีนี้แล้ว ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของผู้ตอบแบบสอบถามลดเหลือเพียง 0.99 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน (โดยมีผู้ตอบถึง 46% ที่ให้เพียง 0 คะแนน)

 

สำหรับข้อคำถามในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ผู้ตอบสามารถที่จะเลือกให้ความเห็นหรือไม่ก็ได้ และมีผู้ให้ความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 2,893 คน ซึ่งคิดเป็น 72.18% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

 

เริ่มที่บทบาทของ ‘ตำรวจ’ ในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และทำสำนวนคดี ผลสำรวจระบุว่าผู้ตอบส่วนใหญ่ 57.86% เห็นด้วยว่าเป็นบทบาทที่เหมาะสมแล้ว ที่เหลือ 26.48% บอกว่าไม่เหมาะสม และ 15.66% ตอบว่าไม่แน่ใจ

 

ส่วนบทบาทของ ‘อัยการ’ ผู้ตอบ 73.97% ระบุว่าการถ่วงดุลการทำงานของตำรวจโดยการตรวจสำนวนและใช้ดุลพินิจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้นมีความเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม 75.98% ยังบอกว่าอัยการควรมีบทบาทในการสอบสวนและการทำสำนวนมากขึ้น

 

สำหรับบทบาทของ ‘ศาล’ ผู้ตอบ 82.27% บอกว่าศาลควรมีบทบาทมากขึ้นในการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาทั่วไปเพิ่มเติมจากการพิจารณาตามสำนวนที่ส่งมาเท่านั้น และผู้ตอบ 85.48% ยังเห็นว่าการใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มาให้การประกอบการพิจารณาคดีควรเป็นผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอกมากกว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม และอีก 82.09% เห็นว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ควรมีน้ำหนักมากกว่าพยานบุคคล

 

ส่วนคำถามที่ว่าคดีนี้สะท้อนปัญหาจากช่องโหว่ของระบบหรือตัวบุคคลได้ผลสรุปที่น่าสนใจ เพราะมีผู้ตอบเพียง 50.64% ที่เชื่อว่าระบบงานกระบวนการยุติธรรมดีอยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาเพราะผู้ปฏิบัติไม่สุจริตหรือไม่มีประสิทธิภาพ หมายความว่าผู้ตอบส่วนที่เหลือเห็นว่าระบบของกระบวนการยุติธรรมน่าจะมีปัญหาด้วย

 

ส่วนคำถามสำคัญคือท่านคิดว่าคดีนี้น่าจะมีส่วนผลักดันให้คนในกระบวนการยุติธรรมทำงานอย่างโปร่งใสขึ้น และเกิดการปฏิรูประบบงานบางประการในแต่ละหน่วยงาน ผู้ตอบประมาณ 50% ตอบว่า ‘อาจจะเป็นไปได้’ ส่วนที่เหลือพบว่ามีผู้ตอบที่มั่นใจว่า ‘เป็นไปได้’ กับผู้ที่ตอบว่า ‘เป็นไปไม่ได้เลย’ อยู่ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ด้านที่ดูจะมีความหวังคือผู้ตอบถึง 74.63% เชื่อมั่นว่าคดีนี้จะทำให้ภาคประชาชนสนใจตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ 91.05% เห็นว่าควรมีช่องทางให้ประชาชนติดตามขั้นตอนและผลการพิจารณาคดีต่างๆ ตามที่สนใจได้อย่างสะดวก แม้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงก็ตาม

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising