เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจหัวข้อ ‘กาสิโน…จุดแตกหักเพื่อไทย – ภูมิใจไทย?’ ซึ่งดำเนินการระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2568 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,310 ตัวอย่าง โดยเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) มีค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.05 ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0
เมื่อสอบถามถึงความสำคัญระหว่าง ‘สถานบันเทิงครบวงจร’ และ ‘กาสิโน’ ภายหลังรับฟังข่าวการจัดตั้ง พบว่าประชาชนร้อยละ 45.73 ระบุว่าไม่ให้ความสำคัญใดๆ เลย ขณะที่ร้อยละ 27.24 ให้ความสำคัญเท่าๆ กัน ร้อยละ 19.47 ให้ความสำคัญกับสถานบันเทิงครบวงจรมากกว่า และร้อยละ 7.56 ให้ความสำคัญกับกาสิโนมากกว่า
ในด้านการประเมินร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หากไม่มีการอนุญาตให้มี ‘กาสิโน‘ พบว่า ร้อยละ 46.18 มองว่าไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรได้ ขณะที่ร้อยละ 32.67 มองว่าสามารถผ่านได้ ร้อยละ 19.01 เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. โดยไม่มี ‘กาสิโน’ และร้อยละ 2.14 ไม่ตอบหรือไม่สนใจ
สำหรับกรณีที่ ไชยชนก ชิดชอบ สส. บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดว่า “จะไม่มีวันเห็นด้วยกับกาสิโน” พบว่า ประชาชนร้อยละ 35.80 เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ขณะที่ร้อยละ 29.08 มองว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อการต่อรองทางการเมือง ร้อยละ 27.63 เห็นว่าเป็นการตัดสินใจส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 22.44 มองว่าเป็นการประกาศตามกระแสสังคม แต่สุดท้ายต้องทำตามมติพรรค
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนร้อยละ 20.38 ที่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงผลักดันให้เกิดสถานบันเทิงครบวงจรที่มี ‘กาสิโน’ ได้ และร้อยละ 17.40 เชื่อว่าสถานบันเทิงครบวงจรที่มี ‘กาสิโน’ มีแนวโน้มไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะที่ร้อยละ 16.26 มองว่าเป็นสัญญาณว่าพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับกาสิโน และร้อยละ 13.59 เชื่อว่าท้ายที่สุดพรรคภูมิใจไทยจะต้องยอมพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน ร้อยละ 10.84 ระบุว่าอาจเกิดความแตกแยกภายในพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 9.39 เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยพร้อมแตกหักกับพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.72 มองว่าพรรคภูมิใจไทยอาจถูกถอดออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 5.95 เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง และร้อยละ 4.50 มองว่าท้ายที่สุดพรรคเพื่อไทยจะยอมถอย
สำหรับลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.70 อยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.79 อยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.28 อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 อยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.86 อยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่างเป็นเพศชายร้อยละ 47.94 และเพศหญิงร้อยละ 52.06
ด้านอายุ ร้อยละ 12.13 อยู่ในช่วง 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.34 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 25.80 อายุ 60 ปีขึ้นไป ศาสนาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 96.72) รองลงมาคืออิสลาม (ร้อยละ 2.44) และศาสนาคริสต์หรือศาสนาอื่นๆ (ร้อยละ 0.84)
สถานภาพสมรสร้อยละ 62.37 สมรส ร้อยละ 35.42 โสด และร้อยละ 2.21 หม้าย หย่าร้าง หรือแยกกันอยู่ ด้านระดับการศึกษา ร้อยละ 0.53 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 17.18 จบประถมศึกษา ร้อยละ 34.50 จบมัธยมศึกษา ร้อยละ 10.08 จบอนุปริญญา ร้อยละ 32.75 จบปริญญาตรี และร้อยละ 4.96 จบสูงกว่าปริญญาตรี
ในด้านอาชีพ ร้อยละ 8.47 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 17.48 พนักงานเอกชน ร้อยละ 22.05 เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 10.92 เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.50 รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.31 พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณ/ว่างงาน และร้อยละ 5.27 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
รายได้ของตัวอย่างพบว่าร้อยละ 20.62 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 3.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 15.19 รายได้ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 30.38 รายได้ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 11.22 รายได้ 20,001-30,000 บาท และที่เหลือมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า 30,000 บาทหรือตอบไม่ระบุ