×

ถึงคิวพรรคเก่ายืนยันสมาชิก จับตายอดคัมแบ็ก…ใครจะอยู่หรือไป ใต้อุปสรรคคำสั่ง คสช.

02.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • ในสารบบของ กกต. มียอดพรรคการเมืองเก่าที่ยังคงสถานภาพความเป็นพรรคจำนวน 69 พรรค ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคอันดับ 1 ที่มีจำนวนสมาชิกมากสุด 2.89 ล้านคน ส่วนเพื่อไทยมีเพียง 1.34 แสนคน
  • ต้องจับตาหลังจากนี้ว่ายอดการกลับมายืนยันสถานะความเป็นสมาชิกของแต่ละพรรคการเมืองจะเท่าเดิม ลดน้อยลงขนาดไหน เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะหยิบฉวยจากฟากฝั่งตรงข้ามไปอธิบายความนิยมที่ตกลง
  • ขณะเดียวกันก็เป็นการเช็กไปในตัวว่าใครจะอยู่หรือตีจากพรรคเดิมของตัวเอง แต่ที่แน่ๆ กระแสเตะถ่วงยื้อเลือกตั้ง หรือต้องการให้พรรคการเมืองเดิมมีปัญหาการจัดการจาก คสช. เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายวิเคราะห์
  • ปัญหาจากคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ทั้งเรื่องกรอบเวลาการดำเนินการและเงื่อนไขต่างๆ อาจไม่สำคัญเท่าว่าเมื่อไรจะมีการเลือกตั้ง แต่ในห้วงเวลานี้สีสันทางการเมืองเริ่มกลับมาคึกคักแล้ว

ปี่กลองการเมืองยามนี้กลับมาคึกคักอีกครั้งในรอบ 4 ปี หลังนักการเมืองต้องพักร้อนยาวเนื่องจาก คสช. เข้าควบคุมอำนาจ

 

โรดแมปการเมือง โดยเฉพาะ ‘การเลือกตั้ง’ ถูกเลื่อนเข้าเลื่อนออกหลายครั้ง ถึงตอนนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศไว้ว่า น่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

 

หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มีผลบังคับใช้ ท่าทีของพรรคการเมืองก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ ด้วยเพราะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขหลายประการ บังคับให้ต้องดำเนินการก่อนเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง เพราะมิเช่นนั้นแล้วอาจต้อง ‘สิ้นสภาพพรรคการเมือง’ โบกมือลาสนามเลือกตั้งก่อนจะได้ลงเหยียบ

 

 

คำสั่ง คสช. ขีดเส้น พรรคการเมืองเก่าให้ต้องทำตาม

แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 แต่ก็ไม่สามารถทำให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดได้ เพราะยังติดเงื่อนไขตามคำสั่ง คสช. เดิม ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และยังห้ามมีการรวมตัวตั้ง 5 คนขึ้นไปเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง

 

ถึงตอนนี้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง สามารถทำได้ด้วยมาตรการ ‘ผ่อนคลาย’ ตามคำสั่งที่ 53/2560 เมื่อกำหนดให้พรรคการเมืองตามกฎหมาย พรรคการเมืองเดิม ปี 2550 ยังมีสภาพเป็น ‘พรรคการเมืองต่อไป’ แต่มีหน้าที่ต้องทำตามเงื่อนไขใหม่ ตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง ปี 2560 และต้องอยู่ภายใต้กรอบเวลาและสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ตามที่คำสั่ง คสช. ขีดเส้นไว้

 

 

28 มีนาคม ที่ผ่านมา กกต. นัดพรรคการเมืองเก่าถกกติกาที่ต้องเดินตามคำสั่ง คสช. มีตัวแทนพรรคเข้าร่วมกว่า 308 คน จาก 55 พรรค

 

เวทีดังกล่าวคราคร่ำไปด้วยนักการเมืองที่คุ้นหน้าคุ้นตา เป็นแอ็กชันที่ดูแอ็กทีฟทางการเมืองแบบที่ไม่ค่อยได้เห็นกันมานาน เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อชี้แจงแถลงไข เนื่องจากตั้งแต่ 1 เมษายนเป็นต้นไป พรรคการเมืองเก่าจะสามารถดำเนินการทางธุรการได้ โดยเฉพาะการยืนยันสถานะการเป็นสมาชิกพรรคใหม่ของสมาชิกเดิม มองกลายๆ ก็คือการ ‘รีเซ็ต’ ระบบสมาชิกของพรรคการเมืองเก่าทั้งหมด ที่สำคัญตามกติกาใหม่ กำหนดให้สมาชิกต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคด้วย โดยขั้นตอนนี้ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน มิเช่นนั้นจะต้องขาดจากสมาชิกภาพพรรคการเมือง ส่วนการรับสมัครชิกรายใหม่ คสช. ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ

 

สำหรับค่าบำรุงพรรคที่สมาชิกต้องจ่ายคือ 100 บาทต่อปี หรือ 2,000 บาทตลอดชีพ

 

ขณะเดียวกันยังมีขั้นตอนต่างๆ ให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดด้วย

 

 

 

เปิดยืนยันสมาชิกพรรคการเมือง คึกคัก พร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

หลายพรรคเริ่มคิกออฟแคมเปญเชิญชวนให้สมาชิกมาทำการยืนยันความเป็นสมาชิกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนแล้ว เช่น

 

พรรคประชาธิปัตย์ชิงเปิดตัว ‘แอปพลิเคชัน’ เพื่อให้สมาชิกสามารถดาวน์โหลด โดยจะต้องเข้าไปสแกนบาร์โค้ดบัตรประจำตัวประชาชน หรือลงบันทึกหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยเลือกที่จะเป็นสมาชิกรายปีหรือตลอดชีพ จากนั้นจะได้รับ QR Code เพื่อนำกลับมายังพรรคและชำระค่าสมาชิก ก่อนพรรคจะนำไปใช้เป็นเอกสารหลักฐานยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งมีการจัดสถานที่ ณ ที่ทำการพรรคย่านสามเสน ให้สมาชิกเดินทางมาดำเนินการได้ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มายืนยันสถานะเป็นคนแรก

 

 

ขณะที่พรรคภูมิใจไทยถือฤกษ์ในวันที่ 1 เมษายน จัดฉลองในโอกาสที่พรรคก้าวสู่ปีที่ 10 มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค นำสมาชิกเดิมยื่นยืนยันสถานะสมาชิกพรรค ท่ามกลางบรรยากาศการมาแสดงความยินดีของพรรคการเมืองต่างๆ

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเปิดให้สมาชิกมายืนยันสถานะความเป็นสมาชิกวันนี้เป็นวันแรก บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางมาจากโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการเปิดใช้แอปพลิเคชันไลน์ เพื่อให้สมาชิกได้รับรู้ข้อมูลและติดต่อสื่อสารระหว่างพรรคกับประชาชน

 

แม้จะเห็นถึงความคึกคักที่บรรดาพรรคการเมืองขยับรับกติกาที่ต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งตามวัน ว. เวลา น. ที่รู้กันคร่าวๆ คือ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 แต่ถึงกระนั้นก็ยังไว้ใจไม่ได้ เพราะอาจมีปัจจัยแทรกซ้อนเข้ามาอีกเมื่อไรก็ได้

 

 

เหมือนที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์วันนี้ว่า “เอาเป็นว่าใครเตรียมจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ท่านก็ไปเตรียมหาเสียงให้ทันการเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ 2562 แล้วกัน อย่างอื่นคนอื่นจะช่วยจัดการให้ ท่านไม่ต้องจัดการอะไร ถ้ามัวแต่นั่งกังวลสงสัยว่าจะเลื่อนเลือกตั้งหรือเปล่าเลยยังไม่หาเสียง หรือยังไม่ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ เดี๋ยวจะไม่ทันนะ รัฐบาลจะพูดเรื่องโรดแมปต่อเมื่อ เฮ้ย ต้องเลื่อนแล้วเว้ย ถ้ายังไม่เลื่อนก็ยังเป็นไปตามโรดแมป”

 

ความกังวลเรื่องโรดแมปการเลือกตั้ง แม้จะเป็นเรื่องใหญ่ของพรรคการเมือง แต่เงื่อนเวลาดังกล่าวดูจะถูกขยายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไปแล้ว ด้วยภาวะต่างๆ ที่เผชิญแรงบีบทั้งภายนอกและภายในในช่วงที่ผ่านมา

 

 

สารพัดข้อกังวลคำสั่ง คสช. เวลาน้อย กระชั้นชิด ประหนึ่งเซตซีโร่

สำหรับข้อกังวลต่อคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 นั้น ได้เคยถูกหยิบยกไปพูดคุยในเวทีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม โดยตัวแทนพรรคการเมืองได้ตั้งคำถามต่อ กกต. ถึงความชัดเจนในการปฏิบัติ เช่น

  • การตั้งคำถามถึงความชัดเจนว่าจะสามารถเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ได้จริงหรือไม่
  • กรอบเวลาการดำเนินการในการยืนยันสถานะสมาชิกเพียงแค่ 30 วันน้อยไป เมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกหลายพรรคที่มีหลักแสนหรือหลักล้าน
  • นายชัยเกษม นิติสิริ แกนนำพรรคเพื่อไทยมองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิและเพิ่มภาระให้กับสมาชิก มีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด ขัดกับรัฐธรรมนูญ
  • นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มองว่า หัวหน้า คสช. ควรปรับปรุงแก้ไขคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จะช่วยให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมปด้วยความถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

 

  • นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ขยายความเพิ่มเติมว่า คำสั่งที่ 53/2560 สร้างภาระเกินความจำเป็นให้พรรค เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 มีศักดิ์เป็นเพียง พ.ร.บ. ต่ำกว่า แต่กลับมีเนื้อหาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งในบทหลักและบทเฉพาะกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมองว่า วันนี้ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมืองและการเลือกตั้งยังไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไร พรรคภูมิใจไทยคงต้องชิลล์ๆ ไปก่อน แต่ยืนยันว่ามีบุคลากรที่พร้อมอยู่แล้ว
  • นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยอมรับว่า ผลกระทบคือจำนวนสมาชิกพรรคที่ต้องลดลงแน่นอน เป็นเหมือนเซตซีโร่พรรคการเมืองกลายๆ
  • พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีข้อห่วงใยเรื่องระยะเวลาของการยืนยันสมาชิกพรรคที่เวลาค่อนข้างจะน้อยไปว่า สำนักงานฯ จะประมวลความเห็นเข้าสู่การประชุม กกต. ว่าจะดำเนินการหรือช่วยประสานงานกับ คสช. อย่างไรได้บ้าง

 

 

ล่าสุด ความกังวลดังกล่าวได้รับการตอบรับจากนายวิษณุว่า ทราบว่ามีปัญหาที่มีข้อขัดข้องอยู่ และเตรียมที่จะมีการปรับแก้ในส่วนที่มีปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต. ได้รายงานปัญหาให้ คสช. ทราบ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รวบรวมคำถามได้ชัดเจน เห็นปัญหาทั้งในวิธีปฏิบัติและตัวบทกฎหมายแล้วก็มีความเป็นไปได้ว่าต้องแก้ไข เช่น การประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองที่ต้องประกอบด้วยหัวหน้าหรือตัวแทนของสาขา ปัญหาคือพรรคที่มีสาขาก็พอจะเรียกประชุมให้ครบองค์ประกอบได้ แต่พรรคที่ยังไม่มี จะมีสาขาได้ก็ต่อเมื่อมีการประชุมใหญ่ แต่ในการประชุมใหญ่ต้องมีหัวหน้าสาขา ในที่สุดจึงเป็นปัญหาว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน

 

ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องใน 2 ประเด็นคือ การยืนยันสมาชิกและกรอบเวลาที่กระชั้นชิด เป็นการลิดรอนสิทธิประชาชน รวมทั้งการให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่แก้ข้อบังคับภายใน 90 วัน การจัดตั้งสาขาพรรคหลังมีการปลดล็อกทางการเมือง เป็นการสร้างภาระเกินจำเป็น

 

 

เปิดข้อมูลสมาชิกพรรคการเมือง 10 อันดับแรก ประเมินสมาชิกคัมแบ็ก

แม้จะยังไม่มีความชัดเจน กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช. พรรคการเมืองจึงต้องเดินหน้าในการยืนยันสมาชิกของพรรคไปก่อนตามกรอบ 30 วันที่ได้ขีดเส้นไว้

 

ปัจจุบันตามรายงานของ กกต. มีพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2550 ในสารบบรวม 69 พรรค มีจำนวนสมาชิก 10 ลำดับแรกคือ

 

 

 

พรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ ที่ในสารบบพรรคการเมืองถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะตกที่นั่งลำบากพอสมควร ด้วยเงื่อนไขกรอบเวลาและขั้นตอน เพราะมีจำนวนสมาชิกมาก หากมีการมายืนยันสถานะเพียงหลักแสน อาจทำให้ถูกหยิบฉวยไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง อธิบายถึงความนิยมที่ลดลง แม้หลายพรรคจะเห็นว่ากรอบเวลามีปัญหา

 

ขณะที่พรรคอื่นๆ ก็ไม่อาจประเมินให้ต่ำได้ เพราะการที่สมาชิกลดลงก็มีผลในทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

 

ขณะที่การเปิดยืนยันสมาชิก หากพ้นกรอบเวลาไปแล้วสมาชิกเดิมไม่มารายงานตัว ยืนยันสถานะ ยิ่งเป็นระดับแกนนำหรืออดีตสมาชิกที่เคยเป็น ส.ส. ย่อมแสดงให้เห็นนัยยะสำคัญว่า เขาได้ปล่อยมือจากพรรคนี้ไปแล้ว อาจไปร่วมกับพรรคใหม่ในอนาคตหรือตั้งพรรคเอง

 

 

การพยายามให้มีการยืนยันสมาชิกพรรคใหม่อีกรอบ แม้จะดูเป็นเรื่องที่ไม่มีใครได้เสียทางการเมือง แต่การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ที่ชัดเจนมากที่สุดคือการเซตซีโร่ตัวเองออกจากพรรคเดิมของบางคนบางกลุ่มกำลังเริ่มต้น และอาจเป็นการเตะถ่วงยื้อเวลาการเลือกตั้งของ คสช. แถมตอนนี้ให้ส่งร่างกฎหมาย ส.ส. ตีความอีก

 

ด้านพรรคเพื่อไทยนัดอดีต ส.ส. มายืนยันเพื่อเช็กชื่อในวันที่ 4 เมษายนนี้ เราจะได้เห็นโฉมหน้าว่าใครอยู่หรือไป แต่ที่แน่ๆ สมรภูมิการเมืองยามนี้กลับมาร้อนแรงคึกคักขึ้นอีกครั้งแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising