วันนี้ (1 สิงหาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) วาระรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอในการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน พิจารณาเสร็จแล้ว
สมาชิกจากหลายพรรคการเมืองได้อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้พรรคการเมืองควรเกิดง่ายและยุบยาก
ในช่วงหนึ่ง อดิศร เพียงเกษ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อยากให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนจริงๆ ศรัทธาพรรคไหนไปอยู่พรรคนั้น เมื่อเลือกพรรคไหนมาเป็นผู้แทนก็มีความเสมอกัน ไม่มีใครสูงใครต่ำ
อดิศรยังกล่าวถึงการอภิปรายนำเสนอของ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ อภิปรายนำเสนอรายงาน โดยระบุว่า ตนเองเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองควรเกิดง่ายและต้องตายยาก
“ท่านพูดคล้ายๆ จะกลั่นความรู้สึกว่าวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ผมฟังแล้วสะเทือนใจ เพราะไม่อยากให้มีองค์กรใดๆ มายุบพรรคการเมือง คนที่จะยุบเขาต้องฟังด้วย และหวังว่าทั้ง 9 คนของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ได้ยึดโยงกับชาวบ้าน จะรับฟัง” อดิศรกล่าว
อดิศรกล่าวต่อไปว่า ตนเองโดนมาก่อนตอนอยู่พรรคไทยรักไทยที่พรรคถูกยุบ แล้วถูกตัดสินเพราะเป็นกรรมการบริหารพรรค ทำให้กว่าจะเข้าสภามาได้ใช้เวลา 17 ปี ดังนั้น วันที่ 7 สิงหาคมนี้ ไม่อยากให้เกิดสภาพแบบพรรคไทยรักไทย
“เพราะคนที่จะยุบพรรคการเมืองต้องยึดโยงกับประชาชน คือประชาชนเริ่มต้นและประชาชนเป็นคนยุบ และพรรคที่ล้มหายตายจากไปเพราะเขาไม่เลือก นั่นคือตุลาการผู้พิพากษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในระบอบประชาธิปไตย ผมขอให้กำลังใจพรรคก้าวไกล” อดิศรกล่าว
รัฐธรรมนูญฝังแนวคิดมองพรรคการเมืองเลว
ขณะที่ ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ เดิมทีตนเองไม่ได้ตั้งใจอภิปรายในครั้งแรก แต่อย่างที่ทราบกันดี ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะมีการตัดสินคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคก้าวไกล รายงานการศึกษาฉบับนี้ไม่ได้ทำมาเพื่อพรรคก้าวไกล และไม่มีผลกระทบต่อชีวิตของตนเองแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของการเมืองทุกพรรค และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาธิปไตยของไทย
ชัยธวัชกล่าวว่า กฎหมายพรรคการเมืองที่ใช้ในปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แม้ว่าเจตนารมณ์จะดูดี แต่ถูกออกแบบด้วยฐานคิดที่มีปัญหา เพราะมีเจตนาที่อยากให้พรรคการเมืองยึดโยงกับประชาชน ซึ่งปัญหาคือไม่สามารถบรรลุเจตนารมณ์ได้ เพราะมีฐานคิดที่ต่อต้านประชาธิปไตย
“การไม่ไว้วางใจนักการเมืองหรือคนที่มาจากการเลือกตั้ง ในกฎบอกเงื่อนไขในการเป็นสมาชิกพรรค เงินบริจาคจากประชาชน ให้อยู่ในกรอบกฎเกณฑ์ที่ออกแบบ แต่สุดท้ายก็มองคนที่มาจากการเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นต้นเหตุความเลวร้ายของการเมืองไทย ผลสุดท้ายจึงกลับตาลปัตร สุดท้ายทำให้พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาด้วยอุดมการณ์เกิดได้ยากมาก”
ชัยธวัชชี้ว่า พรรคการเมืองควรเกิดง่าย ดำรงอยู่ง่าย และยุบยาก หรือควรยุบโดยประชาชนเท่านั้น รายงานฉบับนี้ควรเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การออกแบบสถาบันทางการเมือง ทั้งหมดที่พยายามทำให้สังคมไทยเชื่อโดยไม่รู้ตัวว่า ปัญหาของการเมืองไทยเกิดจากพรรคการเมืองหรืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่พยายามซ่อนเร้นอำนาจที่ฉ้อฉลยิ่งกว่า ไม่เคยถูกตรวจสอบ และไม่มาจากการเลือกตั้ง
ชัยธวัชกล่าวต่อไปว่า พัฒนาการเรื่องการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทยน่ากลัวมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่แค่การทำลายสถาบันทางการเมืองของประชาชนเท่านั้น แต่เริ่มเห็นการยุบพรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามสถาปนาระบอบอำนาจนิยม หรือเผด็จการแบบไทยๆ ที่พยายามวางหลักกฎหมาย ระบบกฎหมาย หรือนิติรัฐแบบไทยๆ เอาไว้ ทำให้แปลกแยกจากหลักการพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมากขึ้นทุกวัน สังเกตจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่า
ท้ายที่สุด เมื่อสมาชิกอภิปรายกันพอสมควรแล้ว ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะได้ส่งรายงานไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบหรือดำเนินการต่อไป