×

เมื่อผู้ต้องหาคดีการเมือง ‘อดอาหารประท้วง’ ภาวะที่ต้องระวังคือ ‘Refeeding Syndrome’

31.03.2021
  • LOADING...
เมื่อผู้ต้องหาคดีการเมือง ‘อดอาหารประท้วง’ ภาวะที่ต้องระวังคือ ‘Refeeding Syndrome’

HIGHLIGHTS

  • วันที่ 15 มีนาคม 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และ 116 ประกาศอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับการประกันตัว หลังจากที่ถูกคุมขังมานานถึง 2 เดือน และถูกปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวมาแล้ว 5 ครั้ง ส่วน รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวก็ประกาศอดอาหารเช่นกัน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม
  • ไม่ว่าผู้ประท้วงจะยุติการอดอาหารเพราะร่างกายไม่สามารถทนได้ หรือได้รับความยุติธรรมจากผู้มีอำนาจ สิ่งที่ต้องระมัดระวังหลังจากนั้นคือ ‘Refeeding Syndrome’ ซึ่งจะทำให้เซลล์ของร่างกายรีบนำน้ำตาลและเกลือแร่บางตัวเข้าสู่เซลล์ด้วยความหิวโหย เพราะหยุดการเผาผลาญไปตั้งแต่ 48 ชั่วโมงแรก ผลที่ตามมาคือระดับเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียม ฟอสเฟต แมกนีเซียมในเลือดไม่สมดุล ขาดวิตามิน ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ผิดปกติ ไตวาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ 
  • สุดท้ายความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันอาจเปรียบได้กับ ‘การอดความยุติธรรม’ ที่คล้ายกับการอดอาหาร ประเทศใช้ความยุติธรรมที่มีอยู่จนหมดสิ้น ถึงแม้จะไม่รู้ว่าเมื่อไรความยุติธรรมจะกลับมา แต่เมื่อนั้นอาจเกิด Refeeding Syndrome ทำให้มีความไม่สมดุลของอำนาจ ประเทศที่สึกหรออยู่ก่อนแล้วอาจปรักหักพังลงอีกจนต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู

‘การอดอาหารประท้วง’ อยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองมานาน มหาตมะ คานธี เป็นนักต่อสู้ที่ใช้การอดอาหารประท้วงเจ้าอาณานิคมอังกฤษที่ปกครองอินเดียในขณะนั้นอยู่หลายครั้ง ส่วนในประเทศไทย ร.ต. ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ก็เคยอดอาหารประท้วงการสืบทอดอำนาจของคณะ รสช. ในปี 2535

 

ถ้ายังจำ ‘13 หมูป่า’ ทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีที่ติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเมื่อปี 2561 ได้ พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองนะครับ เพียงแต่พวกเขาไม่ได้กินอะไรเลย นอกจากน้ำที่หยดลงมาเป็นเวลา 17 วัน ทำให้แพทย์กังวลว่าถ้ากลับมารับประทานอาหารปกติเลยทันทีอาจทำให้เกิดภาวะ ‘Refeeding Syndrome’ ได้

 

‘ผู้ต้องหาคดีการเมือง’ อดอาหาร

วันที่ 15 มีนาคม 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และ 116 ประกาศอดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับการประกันตัว หลังจากที่ถูกคุมขังมานานถึง 2 เดือน และถูกปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวมาแล้ว 5 ครั้ง ส่วน รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวก็ประกาศอดอาหารเช่นกัน โดยเบื้องต้นทนายได้รับแจ้งจากรุ้งว่าต้องการงดอาหารมื้อเย็น 1 มื้อเป็นระยะเวลา 3 วัน (นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม) ส่วนอาหารมื้อเช้าและมื้อกลางวันยังคงรับประทานอยู่ และมีการทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการเข้าพบทนายเพื่อปรึกษาเรื่องคดีความตามปกติ

 

 

สำหรับอาการของเพนกวินในวันที่ 27 มีนาคม ช่วงเย็น เจ้าหน้าที่พยาบาลได้เข้าไปติดตามอาการประจำวัน พบว่ามีอาการอ่อนเพลีย ริมฝีปากแห้ง และเวียนศีรษะ (น่าจะเป็นผลมาจากการขาดน้ำ) แต่ผู้ป่วยปฏิเสธการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดและการให้น้ำเกลือ เจ้าหน้าที่จึงให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้นแทน

 

 

จนกระทั่งตอนกลางคืน แพทย์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เข้าตรวจเยี่ยม เพราะเวียนศีรษะมากขึ้นและมีปัสสาวะน้อยลง แต่ครั้งนี้เขายินยอมให้เจาะเลือด จึงพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ แพทย์ให้การรักษาด้วยการฉีดน้ำตาลทางหลอดเลือดดำและให้น้ำเกลือ ตามที่เป็นข่าวว่าเขาถูกเบิกตัวมาศาลเมื่อวันที่ 29 มีนาคมด้วยรถเข็นพร้อมกับสายน้ำเกลือ

 

ร่างกายขณะ ‘อดอาหาร’

2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้นิยมงดมื้ออาหาร (Intermittent Fasting) มากขึ้นเพื่อลดน้ำหนัก หรือบางคนเชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่เป็นการอดอาหารในระยะสั้น เช่น 16 ชั่วโมง (สูตร 16/8) หรือบางคนอาจงดอาหารนานกว่านี้ เช่น 24, 36 และ 48 ชั่วโมง แต่เป็นส่วนน้อยและน่าจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า

 

ปกติร่างกายจะใช้ ‘น้ำตาล’ เป็นแหล่งพลังงานหลัก ถ้าเปรียบเทียบเป็นโทรศัพท์มือถือจะมีแบตเตอรี่ 1 ก้อน และพาวเวอร์แบงก์อีก 3 ก้อน โดยเกือบทั้งหมดจะต้องเปลี่ยนเป็นกลูโคสก่อนนำมาใช้ แบตเตอรี่ที่ว่าคือน้ำตาลที่ได้จากการรับประทานอาหารจะหมดภายใน 4 ชั่วโมง (ระหว่างนี้ก็จะแบ่งเก็บไว้ในพาวเวอร์แบงก์ด้วย) ทำให้เรารู้สึกหิว 

 

ถ้ายังไม่มีการชาร์จน้ำตาลเพิ่ม ร่างกายจะหยิบพาวเวอร์แบงก์ก้อนแรกคือ ‘ไกลโคเจน’ ที่ตับและกล้ามเนื้อขึ้นมาต่อ แต่เนื่องจากก้อนนี้จะหมดภายใน 24 ชั่วโมง ร่างกายจะเชื่อมก้อนที่ 2 คือ ‘โปรตีน’ ด้วยและสลายเป็นพลังงานมากขึ้นเมื่อผ่านไปถึง 16 ชั่วโมง จนกระทั่งถึง 48 ชั่วโมงจะเปลี่ยนไปใช้ก้อนที่ 3 คือ ‘ไขมัน’ เพราะต้องการรักษาโปรตีนไว้

 

ขณะใช้พาวเวอร์แบงก์ ร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้ใช้พลังงานเท่าที่จำเป็น ช่วง 24-48 ชั่วโมง กลูโคสจะถูกส่งไปเลี้ยงสมองและเม็ดเลือดเป็นหลัก ส่วนอวัยวะอื่นจะหยุดการเผาผลาญกลูโคส ในขณะที่เมื่อเลย 48 ชั่วโมงไปแล้วสมองจะเปลี่ยนไปใช้คีโตน ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการสลายไขมันแทน แต่พาวเวอร์แบงก์ก้อนนี้จะหมดลงภายใน 2 สัปดาห์

 

สภาพที่อิดโรยของผู้อดอาหารประท้วงไม่เพียงแต่เป็นผลการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลง ‘ภายใน’ ร่างกายที่ร่อยหรอสารอาหารลงเท่านั้น เขายังต่อสู้กับผู้มีอำนาจ ‘ภายนอก’ อย่างสันติ ซึ่งผู้มีอำนาจเหล่านั้นควรทบทวนสิ่งที่พวกเขาประท้วงอีกครั้งว่าผู้ต้องหาทางการเมืองจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีหรือไม่

 

เมื่อ ‘ยุติ’ การอดอาหาร

ไม่ว่าผู้ประท้วงจะยุติการอดอาหารเพราะร่างกายไม่สามารถทนได้ หรือได้รับความยุติธรรมจากผู้มีอำนาจ สิ่งที่ต้องระมัดระวังหลังจากนั้นคือ Refeeding Syndrome ซึ่งแพทย์เคยกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับ 13 หมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานด้วย แต่ ‘เรือนจำ’ อาจต่างจาก ‘ถ้ำ’ ตรงที่ยังมีพยาบาลประจำและมีแพทย์โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ดูแลอยู่

 

ปกติแล้วแพทย์จะคุ้นเคยกับภาวะ Refeeding Syndrome ในผู้ป่วยทางศัลยกรรมที่ต้องงดน้ำและอาหารเป็นเวลานาน ถ้ากลับมารับประทานอาหารปกติทันที (Re แปลว่าอีกครั้ง + Feeding แปลว่าการให้อาหาร) จะทำให้เซลล์ของร่างกายรีบนำน้ำตาลและเกลือแร่บางตัวเข้าสู่เซลล์ด้วยความหิวโหย เพราะหยุดการเผาผลาญไปตั้งแต่ 48 ชั่วโมงแรก

 

ผลที่ตามมาคือระดับเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียม ฟอสเฟต แมกนีเซียมในเลือดไม่สมดุล ขาดวิตามิน ทำให้การทำงานของระบบต่างๆ ผิดปกติ ไตวาย หรือภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อผู้ประท้วงที่อดอาหารเป็นเวลานานจะเริ่มกลับมารับประทานอาหารอีกครั้งควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลมากกว่าจะอยู่ในเรือนจำ

 

ตามแนวทางของสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ (NICE) ของสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะ Refeeding Syndrome คือผู้ที่เข้าเกณฑ์ต่อไปนี้อย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่

 

  • ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 16
  • น้ำหนักลดลงมากกว่า 15% ใน 3-6 เดือนก่อนหน้า
  • ไม่ได้รับสารอาหารนานกว่า 10 วัน*
  • ระดับของโพแทสเซียม ฟอสเฟต หรือแมกนีเซียมต่ำก่อนได้รับอาหาร
  • *แต่ถ้าอดอาหารนานกว่า 5 วัน ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น ดัชนีมวลกายน้อยกว่า 18.5, ประวัติการติดสุรา หรือใช้ยาบางชนิดก็ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน

 

สำหรับการป้องกัน การกลับมารับประทานอาหารอีกครั้งจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นจากอาหารที่มีพลังงานต่ำก่อน แล้วปรับเพิ่มขึ้นจนเท่ากับหรือมากกว่าปกติภายใน 4-7 วัน และควรได้รับวิตามินบี 1 เสริมด้วย เพราะเป็นโคเอนไซม์ในกระบวนการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ร่วมกับการติดตามระดับเกลือแร่ในร่างกาย

 

ประเทศ ‘อดความยุติธรรม’

“ประการแรก! คนที่กระทําผิดต้องมีความรักต่อผู้อดอาหารประท้วง และผู้อดต้องรักฝ่ายที่ตนจะประท้วงด้วย หากผู้กระทําผิดไม่ทราบเรื่องนี้ หรือมีทรรศนะไม่แยแสต่อผู้อดแล้ว การประท้วงก็ไม่มีผลใดๆ” ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนถึงศีลที่ มหาตมะ คานธี ถือในการประท้วง ซึ่งมีทั้งหมด 7 ประการในบทความเรื่อง ‘สันติวิธี อดอาหารประท้วง’

 

 

ในขณะที่ผมไม่มั่นใจเลยว่าผู้มีอำนาจในประเทศไทยจะ ‘แยแส’ กับการประท้วงของผู้ต้องหาคดีการเมืองเพียงใด จนอาจทำให้ความพยายามของพวกเขาสูญเปล่า ทั้งที่พวกเขาประท้วงความ ‘อยุติธรรม’ ในกระบวนการ ‘ยุติธรรม’ อีกทอดหนึ่ง ไม่นับข้อกล่าวหาในมาตรา 112, 116 และกฎหมายอื่นๆ ที่พวกเขาจะต้องต่อสู้ในชั้นศาล

 

สุดท้ายความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันอาจเปรียบได้กับ ‘การอดความยุติธรรม’ ที่คล้ายกับการอดอาหาร ประเทศใช้ความยุติธรรมที่มีอยู่จนหมดสิ้น ถึงแม้จะไม่รู้ว่าเมื่อไรความยุติธรรมจะกลับมา แต่เมื่อนั้นอาจเกิด Refeeding Syndrome ทำให้มีความไม่สมดุลของอำนาจ ประเทศที่สึกหรออยู่ก่อนแล้วอาจปรักหักพังลงอีกจนต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X