×

จับตากลยุทธ์ใหม่ทางการเมือง น้อมนำ ‘ไพบูลย์ประชาชนปฏิรูป’ สู่ ‘ไพบูลย์โมเดล’

20.10.2021
  • LOADING...
ไพบูลย์ นิติตะวัน

วันนี้ (20 ตุลาคม) ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ได้นัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ 

 

เป็นที่มาของอีกหนึ่งคดีที่จะ ‘เปลี่ยนเกม’ การเมืองหลังจากนี้ เมื่อบรรทัดฐานใหม่ทางการเมืองถูกสร้างขึ้นหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

จุดเริ่มต้นคดี

  • ไพบูลย์ นิติตะวัน ปัจจุบันเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ถูกร้องต่อศาลในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป 
  • ต่อมาได้ยื่นขอยุติการดำเนินกิจการของพรรคประชาชนปฏิรูปต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง 
  • หลังจากนั้นไพบูลย์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง
  • จุดที่เป็นปัญหาต่อมาคือ แม้จะสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง แต่ไพบูลย์ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ 
  • ขณะเดียวกันในคำร้องดังกล่าวมีการร้องด้วยว่า ไพบูลย์ย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และมีสถานภาพเป็น ส.ส. แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไพบูลย์มิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง 

 

ผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นใดบ้าง 

  1. การขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
  2. สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของไพบูลย์ สิ้นสุดลงหรือไม่

 

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนและอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้

 

ศาลวินิจฉัยให้การเลิกกิจการพรรคชอบด้วยกฎหมาย-ไม่หลุด ส.ส.

ล่าสุดวันนี้ (20 ตุลาคม) เมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยมีสาระสำคัญเบื้องต้นโดยสรุปว่า 

 

1. การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปเป็นไปตามขั้นตอน กระบวนการของข้อบังคับพรรค และตามที่กฎหมายกำหนด

ศาลระบุว่า กรรมการบริหารพรรคมีมติเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นไปตามข้อบังคับพรรค โดยระบุเหตุผลว่า กรรมการบริหารพรรคหลายคนลาออกและขาดบุคลากรสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้ 

 

ขณะที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบตามกฎหมายพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคได้ยืนยันสอดคล้องว่า มีการลงมติตามการประชุมและเหตุผลดังกล่าวจริง จากนั้นส่งเรื่องให้ กกต. พิจารณาแล้ว กกต. มีมติเอกฉันท์ให้สิ้นสภาพ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงเป็นไปโดยชอบ

 

2. ตีตกข้ออ้างผู้ร้อง ระบุ การเลิกพรรคไม่มีเจตนาซ่อนเร้น

ศาลระบุว่า ที่ผู้ร้องร้องว่าผู้ถูกร้องมีเจตนาซ่อนเร้น ศาลเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง

 

3. การย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐชอบด้วยกฎหมาย 

ศาลระบุว่า เมื่อ กกต. ประกาศการสิ้นสภาพ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ในราชกิจจานุเบกษา ทำให้พรรคสิ้นสุดลงตามกฎหมายพรรคการเมือง 

 

ทำให้สมาชิกสภาพของผู้ถูกร้องในฐานะสมาชิกพรรคสิ้นสุดลง แต่เนื่องจากไพบูลย์เป็น ส.ส. ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การสิ้นสภาพพรรคการเมืองถือเป็นการถูกยุบพรรคการเมือง โดยมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองสมาชิกพรรรคที่เป็น ส.ส. ซึ่งจะได้รับผลกระทบ เป็นหลักการเดียวกับการสิ้นสภาพจากการยุบพรรคการเมือง เมื่อไพบูลย์เข้าไปเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคสิ้นสภาพ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 

 

4. ไม่หลุด ส.ส. แม้ไม่ได้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ

ศาลระบุว่า ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่บอกว่า ไพบูลย์ไม่ได้เป็นผู้ถูกเสนอชื่อในบัญชี ส.ส. รายชื่อพรรคพลังประชารัฐ จึงไม่อาจเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐได้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ มีวัตถุประสงค์ใช้บังคับช่วงเลือกตั้งและก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง จึงเป็นคนละกรณี กรณีนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง และผู้ถูกร้องได้เป็น ส.ส. แล้ว

 

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องจึงไม่พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)

 

จากไพบูลย์ประชาชนปฏิรูปสู่ไพบูลย์โมเดล

คดีการยื่นพรรคการเมืองของไพบูลย์ถูกจับตาจากฝ่ายการเมืองเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอนาคตทางการเมืองของ ‘พรรคเล็ก’ ในสภา 

 

เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นำระบบบัตรเลือกตั้ง ‘แบบสองใบ’ กลับมา ทำให้หนทางกลับเข้าสภาของ ส.ส. พรรคเล็ก หรือที่เรียกกันว่า ส.ส. ปัดเศษ จะไม่สดใสอีกต่อไป เพราะเป็นที่รู้กันว่าวิธีการดังกล่าวเอื้อต่อพรรคใหญ่ และในอดีตเคยสร้าง ปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ให้พรรคการเมืองครองที่นั่งในสภาเกินครึ่งมาแล้ว

 

ช่วงนี้มีการตัดสินใจย้ายพรรค สลับขั้วกันเกิดขึ้นถี่ แต่ยังไม่เข้มข้นมากนัก ประหนึ่งว่าการเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน จึงต้องรีบหาสังกัดเพื่อล็อกพื้นที่ และหาที่ทางในการได้กลับมาเป็น ส.ส. อีกครั้ง

 

ท่าทีของหลายคนจึงขอเงี่ยหูฟังก่อนว่า ทิศทางและกลเม็ดแบบ ‘ไพบูลย์โมเดล’ จะเป็นการเปิดทางให้สดใสหรือปิดประตูให้มืดมน

 

วันนี้จึงเป็นเหมือนการเฉลยคำตอบแล้วว่า การเลิกพรรค-ย้ายสังกัด ไม่มีผลต่อสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. แถมได้อยู่ต่อยาวจนกว่าจะครบเทอมหรือยุบสภา

 

จากนี้จึงต้องจับตามุ้งเล็ก มุ้งกลาง มุ้งใหญ่ พรรคไซส์ต่างๆ ว่าจะขยับตัวอย่างไร และนั่นหมายความว่า ‘เกมการเมือง’ ผ่านศึกเลือกตั้ง อาจงวดเข้ามาทุกที และเป็นการแบไต๋ให้เห็นเช่นกันว่าแต่ละคนคิดอะไรอยู่

 

วีรกรรมที่น้อมนำของชายที่ชื่อ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’

  • พ.ศ. 2555-2557: สมาชิกวุฒิสภา (สรรหา)
  • พ.ศ. 2557: สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (หลัง คสช. รัฐประหาร) 
  • พ.ศ. 2561: หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป
  • เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562: ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ระงับการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรคไทยรักษาชาติ 
  • เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562: พรรคประชาชนปฏิรูปเสนอนโยบายน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ พรรคประชาชนปฏิรูป ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
  • เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562: ไพบูลย์ยื่น กกต. ขอเลิกกิจการพรรค
  • เดือนกันยายน พ.ศ. 2562: เข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
  • เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562: เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
  • เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563: ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยสถานะไพบูลย์ หลังมี ส.ส. 60 คน เข้าชื่อให้วินิจฉัยกรณียุบพรรคตัวเอง
  • เดือนกันยายน พ.ศ. 2564: ประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ
  • วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564: ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไพบูลย์ไม่พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. จากการเลิกกิจการพรรคและเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising