×

แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยเหลือ 1.25% รับเศรษฐกิจชะลอ พ่วงปรับ 4 เกณฑ์ ลดบาทแข็ง

06.11.2019
  • LOADING...

วันนี้ (6 พฤศจิกายน) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 1.50% สู่ระดับ 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่เงินเฟ้อยังเคลื่อนไหวต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย

 

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุม กนง. วันนี้ว่า ในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ 

 

กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ 

 

ส่วนกรรมการ 2 คน เห็นว่า ในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีจำกัด เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

กนง. ระบุว่า การส่งออกสินค้าในไทยหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้ ตามปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้า ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ของครัวเรือน และการจ้างงานที่ปรับลดลงเร็ว โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ก็มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ 

 

อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทย และโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งมาจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ จะติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

 

ขณะที่ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค

 

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น ธปท. แถลงว่า จะมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ และลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทใน 4 เรื่อง ได้แก่

1. การยกเว้นการนำเงินรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ

2. การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

3. การโอนเงินออกนอกประเทศ

4. การซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

 

ซึ่งทั้งหมดจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising