×

ศาลปกครองสูงสุด สั่งตำรวจชดใช้ค่าสินไหม สลายม็อบพันธมิตรฯ หน้ารัฐสภาปี 2551

โดย THE STANDARD TEAM
31.01.2018
  • LOADING...

วันนี้ (31 ม.ค.) ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 280/2556 หมายเลขแดงที่ อ. 1442/2560 ในคดีที่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน ผู้ฟ้องคดี และนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม 11 คน ผู้ร้องสอด ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อปี พ.ศ. 2551 ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สิน

 

โดยคดีนี้ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุอันเป็นการกระทำละเมิดแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด และมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน 254 ราย

 

โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการชุมนุมที่เป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยปิดล้อมบริเวณรัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ แต่ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามขั้นตอนและวิธีการที่เหมาะสม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและวิธีการยิงแก๊สน้ำตา ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้ได้ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ ทำให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดการปั่นป่วนชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ชุมนุม

 

จึงเป็นการกระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว

 

ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น มติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภาเป็นไปตามปกติ ซึ่งหากมีเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุม จึงไม่ได้กระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย สำหรับความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น การกระทำละเมิดสืบเนื่องมาจากการชุมนุมบางส่วนที่มีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว จึงให้ลดค่าเสียหายลงจากที่ศาลปกครองกลางกำหนด

 

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จำนวน 254 ราย แต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 บาท ถึง 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สำนักนายกรัฐมนตรี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising