×

ตำรวจที่รับแจ้งความเปรมชัยทารุณกรรมสัตว์ถูกลงโทษภาคทัณฑ์ เหตุบกพร่องต่อหน้าที่

01.03.2018
  • LOADING...

จากกรณีที่ นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายเปรมชัยในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการถอนแจ้งความในข้อหาดังกล่าว เพราะไม่สามารถเอาผิดกับนายเปรมชัยได้ เนื่องจากไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในมาตรา 3 ที่ระบุว่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน ใช้เป็นอาหารเพื่อการแสดง และให้รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศ แต่ยังไม่ได้ประกาศถึงสัตว์ป่าคุ้มครอง

 

จนต่อมา พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความ และพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้ที่แจ้งความในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ว่ามีเจตนากลั่นแกล้งหรือมีจุดประสงค์อื่นไหม

 

ล่าสุดมีรายงานว่า พันตำรวจเอก วุฒิพงษ์ เย็นจิตร ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ มีหนังสือคำสั่งสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิที่ 37/2561 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง ลงโทษภาคทัณฑ์

 

โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่ นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ได้มาแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ให้ดำเนินคดี นายเปรมชัย กรรณสูต กับพวก ในความผิดฐานกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร และได้รับคำร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วนั้น

 

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 นายณรงค์ชัยได้เดินทางมาพบ ร้อยตำรวจเอก สุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวน พร้อมกับได้ให้ปากคำเพิ่มเติมว่า หลังจากตนได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ปรากฏว่าได้ไปตรวจสอบกับคำนิยามของคำว่าสัตว์ ตามมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีกำหนด และได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่ารัฐมนตรียังมิได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด จึงขอถอนคำร้องทุกข์ไปตามระเบียบนั้น

 

ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอก สุมิตร พนักงานสอบสวน เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ เนื่องจากได้มีการรับคำร้องโดยไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

 

ฉะนั้น อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 87 ประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจอัตราและการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ. 2547 จึงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ร้อยตำรวจเอก สุมิตร บุญยะนิจ

 

ซึ่งผู้ที่ถูกลงโทษตามคำสั่งนี้มีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.ตร. และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์

 

เป็นที่หน้าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้นายเปรมชัยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทารุณกรรมสัตว์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดหมาย ทนายความส่วนตัวได้แจ้งมาว่ามีเหตุขัดข้อง ไม่สามารถเดินทางมาพบกับพนักงานสอบสวนได้

 

ต่อมาพนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้นายเปรมชัยมาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทางทนายความก็ขอเลื่อนอีก

 

พลตำรวจตรี กฤษณะ ทรัพย์เดช รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ในฐานะหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนคดีนี้เปิดเผยในเวลานั้นว่า ได้มีการแจ้งขอเปลี่ยนแปลงกำหนดการรับทราบข้อกล่าวหาอีกเป็นวันที่ 5 มีนาคมแทน พร้อมอ้างว่าติดภารกิจ

 

ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการถอนแจ้งความข้อหาทารุณกรรมสัตว์ตามที่ปรากฏเป็นข่าว

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising