วันนี้ (1 พฤษภาคม) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เปิดปฏิบัติการ ‘CIB Nominee sweep ep.3’ เข้าทลายเครือข่ายบริษัทนอมินีของกลุ่มทุนจีนในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี
หลังสืบสวนพบพฤติกรรมใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) เพื่อกว้านซื้อที่ดินและดำเนินโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท โดยมีการเข้าตรวจค้นเป้าหมายรวม 3 จุด และเตรียมดำเนินคดีกับนิติบุคคล 4 ราย และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและชาวจีนรวม 11 ราย
ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการบูรณาการข้อมูลและการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจสอบสวนกลางและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการป้องกันและปราบปรามปัญหานอมินี โดย บก.ปอศ. ตรวจสอบพบกลุ่มนิติบุคคลไทย 3 ราย ที่จดทะเบียนจัดตั้งในช่วงปี 2566-2567 มีพฤติกรรมน่าสงสัยในการถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดระยองและชลบุรี จากการสืบสวนพบว่า
บริษัทเหล่านี้มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นซับซ้อน มีการนำชื่อพนักงานคนไทย เช่น พนักงานขาย หรือคนขับรถ มาเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการ โดยไม่ได้ลงทุนหรือมีส่วนร่วมในการบริหารจริง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย จากนั้นได้กว้านซื้อที่ดินใน อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง และ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี รวม 7 แปลง เนื้อที่กว่า 72 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ 8 ชั้น 10 อาคาร รวม 1,821 ห้องพัก มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอศ. ได้นำหมายค้นเข้าตรวจสอบบริษัทเป้าหมายพร้อมกัน 3 จุด สามารถตรวจยึดพยานหลักฐานสำคัญได้เป็นจำนวนมาก อาทิ โฉนดที่ดิน 7 แปลง (มูลค่าประเมิน 36 ล้านบาท), สมุดบัญชีธนาคารทั้งของไทยและจีน 48 เล่ม (ยอดเงินหมุนเวียนรวม 72 ล้านบาท), ตราประทับบริษัท, เอกสารทะเบียนบริษัท, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และโทรศัพท์มือถือ จากการสอบปากคำพยาน 14 ปาก ซึ่งรวมถึงพนักงานคนไทยและแรงงานชาวจีน พนักงานชาวไทยให้การยืนยันว่า บริษัทถูกบริหารงานโดยคนจีนและมีการนำชื่อตนไปถือหุ้นแทน
นอกจากนี้ การตรวจสอบยังพบว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวถูกควบคุมสั่งการโดยนายทุนชาวจีนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริหาร การก่อสร้าง มีการตั้งบริษัทผลิตคอนกรีตเพื่อใช้ในโครงการเอง รวมถึงใช้วิศวกรคุมงาน ผู้ออกแบบ ช่างระบบ และแรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวจีน เส้นทางการเงินพบว่ามีการรับโอนเงินกว่า 500 ล้านบาทจากบริษัทแม่ที่จดทะเบียนในฮ่องกง ซึ่งชี้ชัดว่ามีนายทุนจีนเป็นเจ้าของที่แท้จริง
เบื้องต้น บก.ปอศ. ได้ดำเนินคดีกับนิติบุคคล 4 ราย และบุคคล 5 ราย (กรรมการและผู้ถือหุ้นชาวไทย-จีน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และดำเนินคดีกับแรงงานชาวจีน 6 ราย ในความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ส่วนที่ดินที่บริษัทถือครองกรรมสิทธิ์ จะดำเนินการบังคับให้จำหน่ายตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป ตำรวจสอบสวนกลางขอเตือนประชาชน ไม่ให้ความช่วยเหลือหรือใช้ชื่อถือหุ้นในบริษัทแทนคนต่างด้าว เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ