“ตัวเราเองเป็นเด็กคนหนึ่งที่อยู่บ้านนอก อยู่ในอำเภอที่เกือบจะสุดเขตของจังหวัดราชบุรี เล่นน้ำ วิ่งเล่นในทุ่งนา หาปลา ไม่เคยคิดจะเป็นข้าราชการเลย เพราะบ้านอยู่ติดแม่น้ำรู้สึกแค่ว่าอยากทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับน้ำ เพราะแม่น้ำแม่กลองเหมือนชีวิตของเรา” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนที่ 15 เริ่มต้นเล่าถึงที่มาของการเป็นข้าราชการตำรวจ
จุดเริ่มต้นในการเป็นตำรวจเริ่มมาจากที่พ่อเป็นตำรวจยศดาบตำรวจ ทำหน้าที่เสมียนคดีของโรงพักเมืองราชบุรี เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน และแนะนำนักเรียนนายร้อยตำรวจเวลาไปดูงานที่โรงพัก
ในตอนนั้นพ่อบอกว่าครอบครัวเรามีพี่น้อง 4 คน แต่ไม่มีใครรับข้าราชการเลย อยากให้ผมลองสอบดู
“พ่อหลอกล่อเราว่าถ้าไปสอบเตรียมทหารจะให้แห 1 ปาก ชีวิตเราตั้งแต่เล็กจนโตก็อยู่กับแม่น้ำ ด้วยความที่อยากได้แห 1 ปากก็เลยไปสอบเตรียมทหาร” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวพร้อมยิ้ม
จากนั้นผลปรากฏว่าสอบติดได้เริ่มชีวิตของการเป็นนักเรียนเตรียมทหาร จากนั้นจึงไปฝึกอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ยอมรับว่าตลอดชีวิตการเรียน 4 ปี การเป็นนักเรียนเตรียมทหารและนักเรียนนายร้อยตำรวจถือว่าหนักหน่วงมาก คิดกับตัวเองตอนนั้นว่าทำไมต้องทำขนาดนี้ ทำไมต้องฝึกขนาดนี้
แต่พอมาถึงจุดนี้และมองย้อนกลับไปก็เข้าใจได้เลยว่าทำไมต้องเรียนและต้องฝึกให้อดทนอดกลั้นขนาดนั้น
แต่ละขั้นของชีวิตที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่าตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง นับเป็นสถานที่แรกที่ได้ทำงานในฐานะตำรวจ ตลอดเวลาที่เรียนจนได้มาเป็นรองสารวัตร แค่ตำแหน่งต่อไปอย่างสารวัตรยังไม่เคยคิด ดังนั้นการจะไปถึงตำแหน่ง ผบ.ตร. ยิ่งไม่เคยคิดเข้าไปใหญ่
จากนั้น พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ มีโอกาสรับการพิจารณาคัดเลือกจากนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ไปทำหน้าที่เป็นนายตำรวจหน้าห้องของรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เพื่อช่วยกลั่นกรองงานต่างๆ
“เป็นห้วงเวลาที่หนักมาก เราไม่คิดว่าการเป็นนายตำรวจติดตามหรือที่เรียกว่านายเวรจะหนักไม่แพ้กับการดำรงตำแหน่งที่สถานี เพราะต้องอยู่ติดกับนาย ทำงานด้วย ติดตามด้วย ประสานงานทุกอย่าง แล้วมันยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าไม่น่าเป็นตำรวจเลย” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เล่าต่อว่าชีวิตหลังจากเป็นตำรวจนายเวรถูกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเรื่อยมา ซึ่งแต่ละตำแหน่งที่ก้าวขึ้นไปทำให้ได้เรียนรู้การทำงานที่แตกต่างกัน การที่วันหนึ่งได้แต่งตั้งไปถึงตำแหน่งผู้กำกับการ ตัวเองตอนนั้นคิดว่าเป็นตำแหน่งที่ดูสูงมาก น่าเกรงขาม ทั้งด้านการทำงานและการอยู่กับประชาชน
แต่ช่วงที่เหลือเชื่อในชีวิตคือตอนเป็นรองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำการอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ช่วงเวลานั้นนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมอบหมายให้ทำงานเกี่ยวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่จะต้องดำเนินการในทุกปี ซึ่งก็คือพิธีการต่างๆ จึงทำให้เรียนรู้เรื่องคน งาน และเงิน ตอนนั้นที่โต๊ะทำงานมีแฟ้มเป็นตั้งๆ ตลอดเวลา
“วันหนึ่งที่ถูกเรียกมาช่วยงาน ตร. นั่นคือจุดที่ชีวิตเปลี่ยนไป คือได้รับการพิจารณาจากท่าน พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ขณะนั้น ให้มาทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ตร. พูดไปก็อาจจะไม่เชื่อ เพราะตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยว่าเลขานุการ ตร. ต้องทำอะไร ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเหมือนถูกย้ายงาน” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เล่า
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่าจากนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่คิดว่าย้ายไปไหนก็ไป ไม่ได้สนใจอะไร จากที่เป็นผู้กำกับการตำรวจทางหลวง อยู่กรุงเทพฯ ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจน้ำที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นตกใจมาก ภรรยาก็ร้องไห้ เพราะมันไกล แต่คิดว่าไปก็ไป
สุดท้ายเราได้ค้นพบชีวิตที่มีความสุขจริงๆ กับการทำงาน ได้พบปะพรรคพวกที่ดี แม้กระทั่งตอนที่ถูกย้ายไปอยู่ตำรวจท่องเที่ยวที่จังหวัดขอนแก่น แม้จะรู้สึกว่าไปไกลอีกแล้ว แต่สุดท้ายสิ่งที่เจอก็เหมือนกันกับตอนไปทำงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีคือได้ไปเจอพรรคพวกที่ดี ตำรวจท่องเที่ยวที่ดี พี่น้องตำรวจภูธร เราเจอแต่กัลยาณมิตรที่ดี ไม่มีศัตรู แต่ตอนขึ้นมาเป็นเลขานุการ ตร. เป็นบทบาทที่เปลี่ยนไปจริงๆ เพราะเป็นการปูพื้นฐานให้เราเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เล่าว่าต้องเรียนรู้ว่าการอยู่กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงต้องทำอะไร การประสานงานกับเหล่าทัพต่างๆ ต้องทำอย่างไร ในงานของรั้ว ตร. ทั้งหมดเลขานุการต้องทำอะไร ไม่ต่างจากแม่บ้านที่ต้องดูแลทั้งหมดทุกหน่วย ดูแลผู้บังคับบัญชาทุกนาย รวมแล้วประมาณ 33 นาย
จนวันที่ก้าวขึ้นมาเป็น พล.ต.ท. ถูกย้ายไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ทำให้ยิ่งได้เรียนรู้ว่าเราต้องรับผิดชอบในภูธรจังหวัด ดูแลพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่ตอนที่เป็นรองสารวัตรและสารวัตร คือใฝ่ฝันว่าอยากจะอยู่กับพื้นที่ที่เราใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน และจากนั้น 2 ปีได้เลื่อนขึ้นไปเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.
“ผมเป็นคนชอบเข้าฟังประชุมตั้งแต่เป็นเด็ก ถ้ามีการประชุมผมจะไม่ค่อยมอบหมายใคร เพราะอยากเรียนรู้สาระสำคัญในการประชุม อยากเรียนรู้สไตล์ของแต่ละคนที่พูด ที่คิด เราอยากได้ประสบการณ์” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว
ช่วงโค้งสุดท้ายคือการก้าวขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ตร. ตัวเองยังคงได้ทำงานเป็นฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ตามเดิม และ 2 ปีให้หลังซึ่งก็คือปัจจุบันนี้ได้ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. ดูแลตำรวจกว่า 200,000 นาย
สนามแคนดิเดต ผบ.ตร. การแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรก
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ระบุว่าในฐานะแคนดิเดต ผบ.ตร. รู้สึกว่านั่นคือการแข่งขันครั้งแรก แต่ในใจตัวเองไม่อยากใช้คำว่าแข่งขัน เพราะไม่คิดจะแข่งกับใครจริงๆ ฉะนั้นตอนเป็นแคนดิเดตไม่ได้กดดันเท่าความรู้สึกตอนเป็นรักษาการ ผบ.ตร. ช่วงเดือนมีนาคม 2567 เพราะตอนนั้นรู้สึกอึดอัดมาก ต้องทำหน้าที่เสมือน ผบ.ตร. ต้องพยายามลืมความเป็นตัวตนของตัวเอง
ส่วนเหตุผลที่ไม่คิดว่าจะไปแข่งกับใครเพื่อเป็น ผบ.ตร. เพราะจากใจคิดเพียงว่า “ท่านใดจะเป็น ผบ.ตร. ย่อมได้ ตัวเราตอนเป็นรอง ผบ.ตร. คิดว่ามันมาถึงจุดที่สุดของชีวิตแล้ว เรามียศ พล.ต.อ. ก็คือยศที่ไม่มีสูงไปกว่านี้ในองค์กรนี้ เราภาคภูมิใจที่สุดแล้ว”
ถ้าถามว่าวันนี้ดีใจหรือไม่ที่ได้เป็น ผบ.ตร. คำตอบคือ “ไม่ดีใจครับ” เรารู้สึกว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ต้องมีภาระหน้าที่ที่หนักหน่วง ตามมาด้วยความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ ต้องดูแลตำรวจ ดูแลพี่น้องประชาชนมากขึ้นกว่าที่เคยดำรงตำแหน่งอื่นๆ
แต่การที่ผมได้รับตำแหน่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวและวงศ์ตระกูล การที่เราก้าวขึ้นมาในจุดที่เป็นตำแหน่งสูงสุดขององค์กรนี้เป็นความภูมิใจของคนที่เกี่ยวข้องในชีวิตของเรา
15 นโยบายการบริหาร ตร. เปลี่ยนความคิดคนคือธงสำคัญ
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่าจากนโยบาย 15 ข้อ สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้นที่สุดคือเรื่องการปรับทัศนคติ ค่านิยม และความคิด เรียกรวมๆ ว่าเป็นการปรับมายด์เซ็ต การที่เลือกเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากที่ตัวเองเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในชีวิตการทำงาน และมองว่าสิ่งที่ต้องทำให้ได้อันดับต้นๆ เลย คือ “ตำรวจต้องปรับความคิดตัวเอง เรามีหน้าที่การงานที่ควรทำ เรามีธรรมะที่ควรจะนำมาไว้เป็นแนวทางปฏิบัติ เราเป็นตำรวจที่สวมใส่เครื่องแบบอันมีเกียรติ หน้าที่ของเราคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ต้องดูแลพี่น้องประชาชน อะไรที่เป็นทุกข์ของพี่น้องประชาชน ตำรวจควรจะรีบเข้าไปแก้ไขทันที ช่วยเหลือทันที ให้เขารู้สึกอุ่นใจ และเขาก็จะรักและเชื่อมั่น”
หากปรับมายด์เซ็ตตัวเองได้ ส่วนตัวเชื่อว่านโยบาย 14 ข้อที่เหลือจะสำเร็จ และผลที่ตามมาก็คือความไว้วางใจจากประชาชน
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ยอมรับว่าการที่ประชาชนมองตำรวจหลายแง่หลายมุมเป็นเรื่องปกติ ในบางครั้งตำรวจทำตามหน้าที่ หลายกลุ่มหลายคนก็จะมีมุมมองที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และในโลกของยุคโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายกลุ่มไม่เข้าใจก็จะโจมตีทันที ซึ่งเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้
แต่สิ่งใดก็ตามที่เกิดมาจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วเกิดความไม่เข้าใจ ก็ย่อมเป็นหน้าที่ที่ตำรวจต้องทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทำไมเราถึงต้องทำเช่นนั้น เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าตำรวจด้อยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์
แต่อีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ แต่เอาเครื่องแบบนี้ไปใช้ผิดต่อหน้าที่ ทำผิดต่อพี่น้องประชาชน และไปแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เราเป็นผู้นำองค์กรต้องยอมรับในความเป็นจริงว่ามันมีจริงๆ เพียงแต่สิ่งเหล่านี้ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วถือว่าไม่ได้สูง แต่มันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้องค์กรเสื่อมเสียภาพลักษณ์
“เมื่อเกิดภาพลักษณ์ทางลบประชาชนก็จะไม่เปิดบ้านต้อนรับ รู้สึกว่าตำรวจไม่เป็นมิตร แล้วก็ไม่อยากเจอตำรวจเลย มันทำให้เรารู้สึกแย่มาก ในช่วงที่ผมเป็นรักษาการ ผบ.ตร. ผมสะเทือนใจกับการเปรียบเทียบว่าตำรวจเหมือนโจร” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว
ในช่วงนั้นยอมรับว่าไม่คิดเรื่องอะไรเลย คิดเพียงอย่างเดียวว่าเราจะต้องปรับมายด์เซ็ตตำรวจ โดยขอความร่วมมือจากหัวหน้าหน่วยแต่ละระดับปรับเปลี่ยนความคิดตำรวจให้มาออกในทิศทางที่ดี
Quick Win สิ่งที่จะเกิดขึ้นใน 3-6 เดือนจากนี้
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่าในช่วง 3-6 เดือนจากนี้สิ่งที่อยากเห็นจากองค์กรในฐานะ ผบ.ตร. คือตำรวจเข้มงวดและเดินหน้าเชิงรุกในการปราบปรามอาชญากรรมใดๆ ที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน รบกวนสุจริตชน และกระทำต่อประชาชนที่เป็นลักษณะภัยคุกคาม
เรื่องต่อมาคือการจัดระเบียบปัญหาการจราจร ต้องยอมรับว่าปัจจุบันประเทศไทยเรายังไม่มีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากๆ มาใช้เท่าไร ตำรวจยังคงต้องเหนื่อยต่อ แต่ฝันไว้ว่าในวันหนึ่งจะไม่มีตำรวจอยู่บนท้องถนน เราจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแลคน
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นตำรวจต้องจัดระเบียบและปลูกฝังความมีวินัยให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลา และแน่นอนว่าย่อมมีการต่อต้าน แต่เราจะใช้ความค่อยเป็นค่อยไปกับพี่น้องประชาชน อยากให้เขาเข้าใจว่าทำไมเราต้องทำอย่างนั้น การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นมาตรการสุดท้ายที่เราจะใช้
สิ่งที่จะเน้นหนักไม่ต่างจากเรื่องอื่นคือถ้าตำรวจทำดี เราจะดูแล, ช่วยเหลือ, สนับสนุน, ให้กำลังใจ, ยกย่อง, เชิดชู ทุกวิถีทางที่ทำได้ แต่ถ้าทำไม่ดี ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรและปกครองตำรวจถึงกว่า 200,000 นาย จะมีความเด็ดขาดในการจัดการ
“ถ้าบอกว่าสังคมสิ้นหวังกับตำรวจ นี่คือคีย์พอยต์ ผมอยากบอกถึงข้าราชการตำรวจทุกนายตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานจนถึงระดับบริหาร ให้เราหันกลับมามองตัวเองว่าเราเป็นข้าราชการของแผ่นดิน เรามีหน้าที่การงานอะไร เราเป็นข้าราชการตำรวจที่ได้รับพระราชทานยศและตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อยากให้พึงระลึก” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว
ผมขอให้ตำรวจทุกนายมาร่วมมือกันนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดึงคำว่าสิ้นหวังของประชาชนให้ละลายหายไป แล้วทำให้ประชาชนอ้าแขนและโอบกอดเราด้วยความรัก ความเชื่อใจ ความมั่นใจ ในการที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน
ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ช่วยกัน เหมือนไม้เส้นเล็กๆ ที่เรามารวมกัน แล้วมันจะเกิดความแข็งแกร่ง อยากให้เป็นแบบนั้น ขอให้ทุกคนหันมาช่วยกันทำงาน ช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม “อยากให้ทุกคนเชื่อในตัว ผบ.ตร. คนนี้ว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”
ในคำถามสุดท้ายของการสัมภาษณ์พิเศษ เราให้ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ขยายความคำว่า ‘ตำรวจ New Generation’
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ระบุว่า “คำว่า New Generation ของตำรวจคือต้องไม่มีการแบ่งยุค X, Y, Z ปัจจุบันตำรวจส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่ม X, Y, Z ปนกัน ยุค Z ที่เป็นเด็กยุคใหม่ก็คือคนที่เข้ามาเป็นตำรวจใหม่ๆ ก็จะมีความคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ตัวผมที่น่าจะเป็น X และยังมีคนยุค Y ที่อยู่ตรงกลาง หน้าที่ของผมคือต้องอยู่ในจุดเส้นกลางเพื่อพาทุกคนเดินไปสู่สายกลาง
“ฉะนั้น New Generation ของตำรวจคือเราจะเป็นตำรวจ X, Y, Z ที่มารวมตัวเดินไปด้วยกัน สร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน เพื่อพี่น้องประชาชน”