หลายคนอาจยังไม่ลืมปรากฏการณ์แปลกๆ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 ที่จู่ๆ ตื่นเช้ามากลางฤดูร้อน อากาศก็หนาวเย็นลงฉับพลัน อุณหภูมิในกรุงเทพมหานครเช้าวันนั้นอยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคเหนือยิ่งหนาวกว่านั้น ต่ำสุดคือ 12.0 องศาเซลเซียส ที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน เรียกว่าทำเอางงกันไปทั้งประเทศ
นั่นคือครั้งแรกๆ ที่เราได้ยินคำว่า ‘โพลาร์วอร์เท็กซ์’ (Polar Vortex) จากสื่อสำนักต่างๆ โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ เพราะปรากฏการณ์หนาวเย็นฉับพลันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
‘โพลาร์วอร์เท็กซ์’ คืออะไร
โพลาร์วอร์เท็กซ์หรือกระแสลมวนขั้วโลกนั้น คือกระแสลมความเร็วสูงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) หรือที่ความสูงประมาณ 50 กิโลเมตรจากผิวโลก กระแสลมนี้จะพัดวนรอบขั้วโลกทั้ง 2 ขั้ว โดยในขั้วโลกเหนือ กระแสลมนี้จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา
โดยปกติแล้ว โพลาร์วอร์เท็กซ์มีบทบาทในการเก็บรักษาอากาศหนาวเย็นเอาไว้ที่ภูมิภาคอาร์กติกไม่ให้ไหลออก รวมทั้งไม่ให้ความร้อนจากภายนอกไหลเข้าไปเมื่อกระแสลมนี้พัดเสถียร แต่หากปีใดกระแสลมโพลาร์วอร์เท็กซ์อ่อนแรงลงดังเช่นในปี 2554 ก็จะเกิดสภาพอากาศหนาวเย็นในละติจูดต่ำ เนื่องจากอากาศหนาวเย็นที่เก็บกักไว้ได้รั่วไหลลงมาจนทำให้เกิดอากาศหนาวในฤดูร้อนขึ้นกับหลายประเทศ (รูปด้านบนคือ ‘โพลาร์วอร์เท็กซ์’ ในสภาพปกติ)
ล่าสุดเกิดอะไรขึ้น
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา (NOAA) ตรวจพบเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ทิศทางของกระแสลมวนบริเวณขั้วโลกเหนือหรือโพลาร์วอร์เท็กซ์ เกิดการหมุนกลับด้าน นั่นคือเปลี่ยนจากการหมุนทวนเข็มไปเป็นการหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยปรากฏการณ์นี้ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการที่ความเร็วของกระแสลมโพลาร์วอร์เท็กซ์เริ่มลดต่ำลงจนเกือบหยุดนิ่งในช่วงหนึ่ง จากนั้นเครื่องมือของโนอาก็ตรวจพบในเวลาต่อมาว่า ความเร็วที่ลดลงนั้นกำลังเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่เป็นทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางปกติ โดยสามารถวัดค่าความเร็วได้สูงสุดถึง -20.5 เมตรต่อวินาที (เครื่องหมายลบหมายถึงหมุนถอยหลัง)
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ดร.เอมี บัตเลอร์ ผู้นำทีมวิจัยโพลาร์วอร์เท็กซ์ของโนอา กล่าวถึงที่มาของปรากฏการณ์นี้ว่า เกิดจากการที่คลื่นรอสส์บี (Rossby Wave) ซึ่งเป็นคลื่นที่วนอยู่รอบโลกจากความแตกต่างของอุณหภูมิที่โดยปกติคลื่นนี้จะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เกิดการหยุดชะงักลงที่ระดับความสูงระดับสตราโตสเฟียร์ ทำให้ชั้นบรรยากาศที่เป็นที่ตั้งเดียวกันกับกระแสลมโพลาร์วอร์เท็กซ์เกิดความอบอุ่นขึ้นกว่าปกติ ลักษณะดังกล่าวทำให้การหมุนวนของโพลาร์วอร์เท็กซ์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือพัดย้อนกลับในทิศตรงกันข้าม ส่วนสาเหตุที่คลื่นรอสส์บีที่ระดับสตราโตสเฟียร์เกิดการหยุดชะงัก อาจเนื่องมาจากอุณหภูมิที่ผิวมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน อาจเข้ากันได้กับสภาพเอลนีโญรุนแรงที่เกิดในปีนี้ด้วย
ผลของการหมุนกลับด้านคืออะไร
โชคดีที่แม้หมุนกลับด้าน แต่กระแสลมวนขั้วโลกหรือโพลาร์วอร์เท็กซ์ยังมีความเร็วลมค่อนข้างสูง รวมทั้งมีการหมุนอย่างเสถียร ทำให้บทบาทของการเป็นกำแพงกั้นความเย็นจากขั้วโลกไม่ให้รั่วไหลลงมายังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เพิ่มมาคือเกิดการเคลื่อนย้ายโมเลกุลของก๊าซโอโซนจากแถบศูนย์สูตรไปสู่ขั้วโลก ทำให้บริเวณขั้วโลกมีโอโซนสูงกว่าปกติ โดยในขณะนี้ การเพิ่มขึ้นของโอโซนขั้วโลกหรือ ‘Ozone Spike’ มาถึงจุดสูงสุดนับย้อนไปถึงปี 1979
ฟังดูก็เป็นเรื่องดี เพราะโอโซนมีหน้าที่ป้องกันรังสีอันตรายจากอวกาศ ปัญหาคือการเคลื่อนย้ายในลักษณะนี้ อาจทำให้ปริมาณของโอโซนในแถบศูนย์สูตรที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าขั้วโลกลดปริมาณลง
“ปรากฏการณ์นี้จะเกิดไม่นาน” ดร.บัตเลอร์ อธิบาย “เวลานี้ค่าความเร็วของการหมุนของโพลาร์วอร์เท็กซ์กำลังลดลง ทีมงานเราคาดว่ามันจะกลับไปหมุนตามทิศทางเดิมใน 10 วันนับจากนี้ และหากเป็นตามที่คาด การเกิด Ozone Spike ของขั้วโลกก็จะกลับสู่สภาพปกติ”
ที่ควรกังวลไม่ใช่เรื่องของการเคลื่อนย้ายโอโซนไปมา ที่แม้จะเกิดขึ้นแล้วแต่ก็คงอยู่ไม่นานและยังไม่ส่งผลกระทบชัดเจน แต่ที่ต้องใส่ใจคือสภาวะโลกร้อนไปเร่งสภาพเอลนีโญจนทำให้ธรรมชาติของลมขั้วโลกเปลี่ยนแปลงไปได้ สิ่งนี้บอกเราว่ามนุษย์ทุกคนยังคงต้องใส่ใจในการลดต้นเหตุของโลกร้อนให้ได้ผลในเร็ววัน ก่อนที่มันจะส่งผลลามไปถึงระบบอากาศกว้างขึ้นหรือมากขึ้นกว่านี้
ภาพ: Scott Olson / Getty Images
อ้างอิง: