×

สทนช. เผย พายุโพดุล-คาจิกิทำน้ำไหลเข้าอ่างฯ เพิ่ม 7 พันล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมปรับแผนบริหารน้ำให้เหมาะสม

05.09.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.) สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการติดตามนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย โดยระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีพายุที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยถึง 2 ลูก คือ พายุโซนร้อนโพดุลที่ส่งผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 

 

ขณะที่พายุคาจิกิ ซึ่งขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ได้อ่อนกำลังลงจากพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) เป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณทะเลจีนใต้ แต่ก็คาดว่า จะส่งผลให้ประเทศไทยบริเวณด้านตะวันออกของภาคอีสานและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

 

ซึ่งจากสถานการณ์ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุทั้ง 2 ลูกดังกล่าว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้แหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 12 แห่ง ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% มีแนวโน้มพ้นวิกฤตในเร็วๆ นี้ อาทิ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นต้น หลังจากที่เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนได้พ้นวิกฤตน้ำน้อยไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา 

 

สทนช. คาดการณ์ไว้ว่า ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 7 กันยายน 2562 จะมีน้ำไหลลงสู่แหล่งน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,890 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,760 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออก 220 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และภาคใต้ 270 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศปัจจุบันพบว่า มีปริมาณรวมอยู่ที่ 47,486 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 58% แบ่งเป็น ภาคเหนือ 1,1906 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6,307 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันออก 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคตะวันตก 22,545 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคกลาง 449 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาคใต้ 4,824 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

อย่างไรก็ตาม สทนช. ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำทุกขนาดลดการระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะลดผลกระทบให้แก่พื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากแล้ว ยังเป็นการเร่งเก็บกักน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ยกเว้นกรณีแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มาก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำล้นได้ จึงต้องมีการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงของตัวอ่างฯ 

 

โดย สทนช. ยังได้วิเคราะห์ถึงพื้นที่ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลจากพายุคาจิกิ ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำหลายสายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเสี่ยงเกิดน้ำล้นตลิ่ง พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมใน 18 จังหวัด ทำให้มีการออกประกาศให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักที่มีความเสี่ยงจากปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบกับบ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำด้วยแล้ว

 

“แม้ว่าหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมและฝนตกต่อเนื่อง แต่ สทนช. ยังได้ประเมินพบว่า มี 7 จังหวัด ที่ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ซึ่งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจได้ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างฯ และบรรเทาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงในพื้นที่เสี่ยงด้วย พร้อมแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนได้ทันสถานการณ์ต่อไป” สมเกียรติกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising