แม้หลายๆ ออฟฟิศจะมีนโยบายการ Work From Home หรือทำงานกันจากที่บ้านเป็นเรื่องเกือบจะปกติในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของพวกเราไปโดยสิ้นเชิง แต่ในขณะเดียวกันก็มีมนุษย์ทำงานจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่กลับไปทำงานเป็นปกติ และยังคงใช้ชีวิตทำงานภายในบรรยากาศออฟฟิศ บ้างก็เป็นออฟฟิศแบบกั้นห้อง กั้นคอกที่คุ้นเคยกันดี หรือออฟฟิศแบบใหม่ในยุคหนึ่งที่ผู้คนชื่นชอบคือการดีไซน์ให้เป็น Open Space เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างสูงสุด
คำถามก็เกิดขึ้นตรงนี้ว่า แล้วเราจะทำอย่างไร หากต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้งด้วยเงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือแม้แต่เรื่องความเป็นส่วนตัวที่เริ่มจะหาได้ยากขึ้นในออฟฟิศที่เป็นพื้นที่เปิด นี่จึงเป็นการมาถึงของผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า PODKET (พ็อดเก็ต) ห้องอเนกประสงค์ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสถานที่ทำงานแบบเดิมๆ ให้คุณได้ทั้งความเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างพื้นที่ใหม่อีกด้วย
THE STANDARD มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับโอ๊ต-ภาคภูม จุลนิพิฐวงษ์ ผู้ริเริ่มผลิตภัณฑ์ PODKET นี้หลังจากดำเนินธุรกิจพื้นที่ออฟฟิศให้เช่าอย่าง Comet Office มาก่อนหน้านี้ และผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะพร้อมเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานในออฟฟิศได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร? และเรายังเข้าไปสัมผัสผลิตภัณฑ์จริงๆ ที่ CO.Lab พื้นที่ทำงานรูปแบบใหม่ของ SC ASSET อีกด้วย
โอ๊ต-ภาคภูม จุลนิพิฐวงษ์ Co-Founder ของ PODKET
เหตุผลที่ตัดสินใจขยายธุรกิจจากการให้เช่าพื้นที่สำหรับออฟฟิศ พัฒนาขึ้นมาเป็น PODKET สำหรับพื้นที่การทำงานขนาดเล็กในออฟฟิศ?
หลักๆ แล้วเรามองถึงปัญหาหรืออุปสรรคอะไรที่เกิดขึ้นระหว่างการทำ Serviced Office ของเรา และสิ่งหนึ่งที่เราเจอก็คือการจัดสรรพื้นที่ในที่ทำงาน เราอยากพัฒนาให้มันดีขึ้น และตอบสนองกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นด้วยในยุค New Normal ที่เรามองว่าควรจะต้องจัดสรรพื้นที่ให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำงานได้ดีมากขึ้น ตอบโจทย์ถึงเรื่องของการประชุมทางไกล (Conference Meeting)
เพราะฉะนั้นพอเราได้โจทย์ตรงนี้มาพัฒนา ถ้าเราจะพัฒนาพื้นที่แบบเก่า คือเราจะต้องจัดสรรใหม่ ทำพื้นที่ใหม่ ตีห้องใหม่ เปลี่ยนแปลงเลย์เอาต์ใหม่ มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยสำหรับทุกวันนี้ เราต้องทำงานร่วมกับช่าง ผู้รับเหมา หรืออินทีเรีย การคุมงานมันจะค่อนข้างลำบากมาก แล้วก็เรื่องของค่าใช้จ่ายก็สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเรามอง PODKET เป็นการแก้ไขปัญหาที่มันสำเร็จรูป ตัวนี้ตอบโจทย์ได้หมดเลย เลยเกิดธุรกิจแตกออกมาจาก Comet Office ที่จะเข้ามาคอยช่วยแก้ปัญหา ซึ่งผมกับหุ้นส่วนคิดว่าออฟฟิศทุกที่น่าจะเหมือนกันหมด น่าจะต้องพบเจอปัญหาแบบเดียวกัน การจัดสรรพื้นที่ให้ดีขึ้นจะทำอย่างไรดีด้วยงบประมาณเท่านี้ และในระยะเวลาที่จำกัด เราควรจะทำอย่างไร?
การที่คุณนำ PODKET นี้เข้ามาน่าจะเป็นเจ้าแรกๆ คุณคิดว่ามันสามารถเปลี่ยนเทรนด์การทำงานของสังคม หรือเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานไหม?
ณ วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ คือเทรนด์พื้นที่ทำงานมันจะวนกลับมาอีกครั้ง เหมือนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราก็จะเจอกับออฟฟิศที่เป็น Partition แยกส่วนตัว กั้นห้องแยกกัน ซึ่งเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาเราเจอกับออฟฟิศแบบ Open Plan เปิดกว้าง เปิดที่โล่ง เพื่อให้ได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ให้คุยกันเต็มที่ แต่สุดท้ายมันจะเบนเข้าหาตรงกลาง สุดท้ายแล้วคนจะวนกลับไปหาว่า เราควรจะต้องมีที่เป็นส่วนตัวในการคิดงานของเราบ้างสิ แล้วยิ่งสิ่งเร้าคือสถานการณ์โควิด-19 ที่มันเกิดขึ้น สิ่งกระตุ้นของมันคือบอกว่าเราไม่สามารถมาเจอหน้ากัน 10 คนพร้อมกันได้
สิ่งนี้เป็นเหมือนสิ่งเร้า ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ถ้าผลิตภัณฑ์ตัวนี้ของผมออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมกับหุ้นส่วนมองแล้วก็ยังเชื่อว่ามันยังไม่ประสบผลสำเร็จ และคนไม่อยากจะใช้มันหรอก แต่เมื่อเวลาของมันมาถึง มีสิ่งเร้าที่ดีแล้ว เราเอามานำเสนอมันจะตอบโจทย์ แต่ถามความคาดหวังว่ามันจะตอบโจทย์มากหรือน้อย ผมมองถึงว่า คู่ค้าของเรามองจุดไหนเหมือนกับเราหรือเปล่า เช่น เรามองถึง Cost Effective คือการควบคุมตัวต้นทุน ระยะเวลาการทำงาน อย่างเช่น PODKET 1 ห้องใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงในการติดตั้ง แต่กับอีกไอเดียหนึ่ง สมมติบอกว่าอยากจะไปกั้นพื้นที่นี้ให้เป็นห้อง ผมมั่นใจว่าต้องมีเป็นเดือน ต้องคุยกับผู้รับเหมาก่อน คุยกับอินทีเรียก่อนว่าจะเอาอย่างไรดี จะจบงานอย่างไรดี กว่าจะได้จัดการกับพื้นที่เสร็จต้องใช้เวลานาน เราเข้ามาตอบการแก้ปัญหานั้น
นอกเหนือจาก PODKET จะเข้ามาตอบโจทย์บางอย่างในเรื่องของค่าใช้จ่าย หรือการลดปัญหาการจัดสรรพื้นที่ใหม่ที่ต้องใช้เวลามาก อยากทราบว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ในออฟฟิศอย่างไร?
อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ถ้ามองกลับไปในอดีต เราต้องตัดเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน ในวันนี้ที่ผมมองเห็นทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว มันอยู่ในเวลาเดียวกัน เพราะปัจจุบันเราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายและสะดวกขึ้น แต่เราจะจัดสรรเวลาอย่างให้เป็นผลดีกับทั้งสองเรื่อง และการมี PODKET จะทำให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแน่นอนครับ สมมติเมื่อเกิดเรื่องส่วนตัวขึ้น หรือทุกคนจะมีเรื่องส่วนตัวหรือปัญหาส่วนตัว เราก็จะเดินเข้ามานั่ง คุณอาจจะต้องการมุมส่วนตัวแค่ 10 หรือ 15 นาที เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนตัวแค่นั้นเอง เสร็จแล้วเราก็เดินออกมา เพื่อหลีกเลี่ยงจากเสียง (Noise) ที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน หรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ใช่เรื่องของเราหรือในสิ่งที่เราไม่สนใจ และ PODKET จะมีระบบ Noise Cancellation คอยตัดเราออกไปสู่อีกโลกหนึ่งได้ เพื่อให้เรารู้สึกว่าเรามีเวลาส่วนตัวของเราในที่ทำงานที่อาจจะวุ่นวาย
ในขณะที่หลายๆ ออฟฟิศมีนโยบายให้ทำงานจากที่บ้าน Work From Home แล้วพื้นที่ออฟฟิศยังจำเป็นสำหรับการทำงานอยู่จริงๆ หรือเปล่า ในมุมมองของคุณ
สำหรับผม ผมว่าจำเป็นครับ การทำงานจากบ้านมันดีครับ ประหยัดเวลาและการเดินทาง แต่สุดท้ายแล้วในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ผมยังเชื่อในการเจอหน้ากันแบบ Face to Face เมื่อก่อนเราใช้โทรศัพท์ แค่ได้ยินเสียง เราโอเคแล้ว และวันนี้โลกพัฒนาไปถึงวิดีโอคอลแล้ว การได้เห็น การได้ยินเสียง มันก็บ่งบอกถึงอารมณ์ของผู้พูดได้ระดับหนึ่ง
แต่ถ้าเราได้เห็นหน้ากัน หรืออากัปกิริยาของการมีส่วนร่วมของคู่บทสนทนา มันบ่งบอกได้อีกเยอะเลยครับ และในเชิงธุรกิจเองมันบอกได้เยอะ แม้กระทั่งอาจจะบอกได้ถึงผลลัพธ์ของการสนทนาเลยก็ได้ว่าสุดท้ายเราจะได้งานหรือไม่ได้งานนี้ หรือลูกค้าเราพอใจมากน้อยแค่ไหน การได้ยินเสียงอาจจะพอใจระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราเห็นอากัปกิริยา เราจะรู้ทันทีว่าคู่สนทนาเราน่าจะแฮปปี้ หรือมีฟีดแบ็กอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรให้การทำงานที่บ้านและการมาพบปะกันที่ออฟฟิศมันบาลานซ์ไปด้วยกัน ผมไม่เชื่อว่าจะเลือกการแก้ปัญหาแบบไหนแค่ทางเลือกเดียวเพื่อตอบโจทย์ในสิ่งที่ดีที่สุด มันเป็นไปได้ยากในชีวิตปัจจุบันนะครับ
“การทำงานจากบ้านช่วยประหยัดเวลาและการเดินทาง แต่สุดท้ายแล้วในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ผมยังเชื่อในการเจอหน้ากันแบบ Face to Face”
คุณได้มาร่วมงานกับ SC ASSET ได้อย่างไร? ดูเหมือนว่า PODKET จะเหมาะกับพื้นที่ของ CO.Lab นี้มากๆ ทั้งความสวยงามและฟังก์ชันการใช้งาน
ต้องบอกว่าเราได้โอกาสที่ดี ก็คือทาง CO.Lab ของ SC ASSET ติดต่อไป ซึ่งเขาน่าจะมองหาการแก้ไขปัญหาเรื่องพื้นที่การทำงานที่ไม่ต่างจากเรา คือการจัดสัดส่วน ผัง หรือพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ตอบโจทย์ให้ความเป็นอยู่ของตัวพนักงานทุกคน ผมมองว่าพอมันตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน เราเลยได้รับโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ แล้วก็นำมาวางติดตั้งครับ
ตอนนี้เราพยายาม Custom สีให้เยอะขึ้น ซึ่งเราคุยกับทาง CO.Lab เข้าไปช่วยเหลือกัน โดยดูจากการตกแต่งภายในของพื้นที่นั้นๆ ว่าสีโทนประมาณนี้ เราจะแนะนำว่าเฟรมสีนี้กับตัวผนังสีนี้น่าจะเข้ากว่า อย่างที่บอกว่า นอกจากใช้งานได้แล้ว สิ่งนี้จะต้องไม่เสียภาพลักษณ์ในองค์กรด้วย ไปด้วยกันได้ และสวยด้วย ต้องให้ความรู้สึกว่าอยากเดินเข้าไปใช้ เพราะฉะนั้นผมพยายามทำให้กลืน หรือเสริมในพื้นที่นั้นให้ดูดีขึ้น
อาจเรียกได้ว่าเป็นการควบรวมของ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ เข้าไว้ด้วยกัน
ใช่ครับ ผมพยายามจะนำเข้ามาควบรวมเข้าหากันให้บาลานซ์ เพราะผมไม่เชื่อว่าข้างไหนข้างหนึ่งดีที่สุด ผมว่าทั้งสองทางจะส่งเสริมซึ่งกันและกันและนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี เพราะว่าถ้าเราไปอยู่ในโซนส่วนตัวของเรา เป็นส่วนตัวไปเสียหมด ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากบริบทแวดล้อม คนอื่นๆ หรือความคิดเห็นที่เราจะมาเสริมมันก็น้อยลง
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไปฟังคนอื่นหมด แต่เราไม่ได้มีแก่นของเราในการนำเสนอความคิด มันก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี สุดท้ายแล้วการรับฟังทุกอย่าง แล้วก็พยายามปรับมันเข้าหากัน บาลานซ์ทุกอย่างเข้าหากัน ผมว่ามันก็จะได้ผลลัพธ์ที่ผมมั่นใจว่า มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เราคนเดียว 100% ได้ดี แต่มันอาจจะ 80-90 % แต่ตอบโจทย์คนอื่นได้ด้วย ผมว่าอันนี้สำคัญกว่า
ก่อนหน้าที่ PODKET จะมาเป็นดีไซน์แบบนี้ ตัวต้นแบบใช้ระยะเวลาการพัฒนามากน้อยแค่ไหน
จริงๆ ตัวต้นแบบของมันเป็นตู้โทรศัพท์ อย่างที่เราเข้าใจและทราบกันดีว่ามันต้องถูกชั่งน้ำหนักระหว่าง 2 อย่าง ถ้าคุณต้องการเก็บเสียงระดับหนึ่ง แต่ความสวยงามจะต้องมีด้วย และคุณไม่สามารถทำทึบได้ 4 ด้าน ซึ่งถ้าดีไซน์ทำทึบทั้ง 4 ด้าน แน่นอนมันช่วยเก็บเสียงและมีความส่วนตัวที่ดี แต่คุณก็จะไม่ได้ภาพลักษณ์ที่ดี หรือการดีไซน์ที่ดี แม้กระทั่งความโค้งมน วัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้น แต่ก่อนอาจจะเริ่มต้นจากตู้ไม้ สร้างโดยโครงไม้ แต่ทุกวันนี้เรามีมีวัสดุที่ดีกว่านั้นเยอะเลย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย สามารถอยู่กับมันได้นานกว่าไม้เยอะ ไม้เจอความชื้นไม่ได้ เจอแสงแดดหนักๆ ทำให้ไม้ขยายตัว เราจึงลองสร้างด้วยอะลูมิเนียมดีกว่าไหม เฟรมอะลูมิเนียมเบาด้วยนะ ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นชิ้นเดียวแบบหล่อชิ้นเดียวขนาดใหญ่ แล้วมันสามารถเคลื่อนย้ายได้ไหม ไหวไหม เพราะฉะนั้นเราทำแบบชิ้นส่วนในการประกอบจะดีกว่าไหม สุดท้ายแล้วผมก็ยังมั่นใจว่า เราจะยังไม่หยุดพัฒนาหรอกครับ
ส่วนใหญ่ผู้ใช้งาน PODKET จะทำกิจกรรมอะไรนอกเหนือจากการคุยโทรศัพท์ หรือการประชุม และหลังจากได้รับฟีดแบ็ก มีส่วนไหนที่คุณอยากปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์บ้าง
ต้องตอบว่าฟีดแบ็กที่ได้มานั้นดีมากจากลูกค้า คือมันสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เขาต้องการ หลักๆ เลยคือเรื่อง Air Circulation หรือการหมุนเวียนอากาศ ในบางตู้อยู่ไปประมาณ 15 หรือ 20 นาทีแรกยังไม่อึดอัด แต่ถ้าอยู่ในเวลาระยะเวลาที่นานขึ้นจะรู้สึกเริ่มอึดอัดขึ้นนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราก็ปรับปรุงในเรื่องการระบายอากาศเพิ่มเติมขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจาะช่องข้างในเพิ่มพัดลมเข้าไป แต่ก็อย่างที่บอก เราต้องตอบโจทย์ในเชิงของการบาลานซ์ เพราะการที่เติมพัดลมเข้าไป เราต้องมั่นใจว่าเสียงหรือ Noise ที่เกิดจากตัวแรงหมุนของพัดลมไม่ไปทำลายบรรยากาศด้วย การระบายอากาศเป็นเรื่องหลักของเราเลย
สำหรับที่ผมเจอมากับลูกค้า ก็จะใช้พื้นที่ของ PODKET ในการทำงานตัดต่อวิดีโอ สื่อมีเดีย หรือทำเป็นห้องซ้อมดนตรีก็มี และกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับเสียงก็ให้ความสนใจสูง แต่ในความเป็นจริงตัว PODKET ไม่สามารถเงียบสงัดได้เท่าห้องสตูดิโอนะครับ อันนี้คือเรื่องจริงที่เราต้องบอกก่อน แต่มันช่วยลดทอนเรื่อง Noise จากข้างนอกได้ประมาณ 30% เหมาะกับงานแบบการแคสต์เกม งานรีวิว หรือยูทูเบอร์ อัดพอดแคสต์ ผมว่าดีระดับหนึ่งเลยครับ
ตัวอย่างการใช้ PODKET ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ในออฟฟิศ งานอีเวนต์ หรือสถานศึกษา
ใจจริงผมอยากผลักดันให้ PODKET เข้าไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเสียงด้วย ผมชอบนะ คือเหมือนกับในต่างประเทศ ในงานอีเวนต์ต่างๆ สามารถนำมันไปวางได้ อย่างเช่นบูธของ Sound Engineer สำหรับการควบคุมการทำงาน ผมว่าดีมากเลย จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ยินเสียงบนเวทีให้ตรงที่สุด หรือแม้กระทั่งยูทูเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการใช้ในการบรอดแคสต์ มันน่าจะช่วยให้เขาใช้งานได้หลากหลายขึ้น
อย่ามองว่าสุดท้ายแล้ว PODKET จะต้องอยู่ในพื้นที่ทำงานอย่างเดียว ผมมองว่าอุตสาหกรรมบันเทิงก็ได้ โรงพยาบาลยังได้เลยครับ จริงๆ แล้วสำหรับโรงพยาบาลนี่เจ๋งมากเลยนะ ที่เมืองนอกเขาเอาตู้ไซส์ใหญ่สุดทำเป็นห้องพักสำเร็จรูปของผู้ป่วย คือถ้าเป็นไปได้มันก็ดี ถ้ามันส่งเสริมกัน ผมก็อยากให้ไปทางนั้น แล้วอย่างที่ผมบอกว่า ตัวผลิตภัณฑ์ผมเอง ผมจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงของตัวฟังก์ชันและตัวดีไซน์ สีสันอาจจะมากขึ้นกว่านี้ แต่ก็ยังมีลิมิตมันอยู่ เพราะว่าสีที่พ่นลงบนเฟรมในเชิงอุตสาหกรรมของอะลูมิเนียมมันยังจำกัด มันไม่ได้หลากหลายเหมือนสีทาบ้าน ส่วนตัวผมก็จะแนะนำว่าทุกวันนี้มันไม่จำเป็นต้องพ่นอย่างเดียว เรามีสติกเกอร์เยอะแยะเลยครับ วันไหนคุณอยากจะเปลี่ยน อยากจะลอก อยากจะทำอะไร ผมว่างานดีไซน์สนุก
“ผมจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงน่ากลัวเสมอ แต่จะไม่น่ากลัวต่อเมื่อเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี”
ในอนาคตความท้าทายของธุรกิจนี้คืออะไร?
ผมจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงน่ากลัวเสมอ แต่จะไม่น่ากลัวต่อเมื่อเรามีภูมิคุ้มกันที่ดี หรือเราเตรียมพร้อมดี ผมมองว่าจริงๆ คู่แข่งที่น่ากลัวที่สุด ไม่ได้เป็นคู่แข่งแบรนด์ที่ 2, 3 หรือ 4 หรอก มันคือเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของทุกวันนี้ที่รวดเร็วมาก ผมยังไม่รู้เลยว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า หรือปีใหม่ที่จะถึงอาจจะเกิดอะไรขึ้นมาอีก แล้วถ้าปรับไม่ทัน ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่รู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือไม่รู้จักหาการแก้ไขปัญหาอื่น สิ่งที่เราทำอยู่ก็จะหายไป อย่างที่เราเห็น พอโควิด-19 เข้ามา อันนั้นคือความท้าทายที่สุดเลย ผมว่าความท้าทายคือปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ให้เร็วที่สุด และกลับมายืนให้เร็วที่สุดได้อย่างไร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ PODKET ได้ที่ https://www.facebook.com/podket หรือเว็บไซต์ https://www.podketthailand.com/