×

น้อย กฤษดา คุยเรื่อง ครอบครัว ของเก่า และการคัมแบ็กทางดนตรี

06.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

 

Time index

00.10 Introduction

02.25 We need to talk about ‘The Super Family

23.51 We need to talk about ‘The Vintage Collection’

30.17 We need to talk about ‘The Comeback’

 

     รู้ไหมว่า พี่น้อยทำอย่างไรเมื่อมีฝรั่งปากเสียมาตวาด ‘ฟักยู!’ ใส่หน้าภรรยาสุดที่รัก… รู้ไหมว่า พี่น้อยไม่อยากเกิดมาในยุคนี้เลย… และรู้ไหมว่า นักร้องคนดังคนไหนที่พี่น้อยเพิ่งจะรู้จักเมื่อไม่นานมานี้เอง…

 


 

00.10

สวัสดีค่ะ โบ สาวิตรี นะคะ This is WE NEED TO TALK Podcast พอดแคสต์ทอล์กโชว์ภาษาอังกฤษ สำหรับคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษค่ะ

 

Hi, you guys. Welcome to our show! Thank you so much for listening.

 

ตามธรรมเนียมของ WE NEED TO TALK โบจะชวนเกสต์ของเราคุย 3 ประเด็น ถ้าเป็นพี่น้อยเนี่ย เรื่องแรกที่โบอยากชวนคุย น่าจะเป็นเรื่องของครอบครัวค่ะ บ้านนี้เก่งทั้งบ้าน ทั้งคุณพ่อ-คุณแม่-คุณลูก ตอนแยกย้ายไปทำของใครของมัน ก็ต่างคนต่างสำเร็จ ตอนรวมตัวกันทำกิจการครอบครัว ก็ประสบความสำเร็จอีก! ตกลงบ้านนี้เขากินข้าวกับอะไร ทำไมถึงสตรองอย่างนี้ เดี๋ยวโบจะถามมาให้นะคะ

 

เรื่องที่สอง คุณผู้ฟังรู้ไหมคะว่า พี่น้อยเป็นคนชอบสะสมของเก่ามากๆ โบอยากรู้จังว่า เสน่ห์ของของ vintage หรือ antique ทั้งหลายนี่มันคืออะไร คนที่มี passion กับมันน่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด เดี๋ยวมาฟังกันค่ะ

 

และเรื่องสุดท้าย โบได้ยินมาว่า พี่น้อยและวงพรูกำลังจะคัมแบ็กแล้ว กลับมาคราวนี้จะมีอะไรมาฝากเราบ้าง รอฟังกันนะคะ

 

เอาล่ะค่ะ ตอนนี้ได้เวลาเปลี่ยนโหมดเป็นภาษาอังกฤษกันแล้ว พร้อมหรือยังคะ

 

Ladies and gentlemen, It would be my pleasure to introduce our guest for this episode of WE NEED TO TALK PODCAST. He is one of the most talented guys in the industry. Both his acting and singing careers have been very well-received and he’s got lots of awards to prove it. Plus! He, along with his family, runs a hotel empire. And you guessed it, he’s good at that, too! Talk about being a ‘triple threat’!

 

Let’s meet him now

 

พี่น้อย กฤษดา สุโกศล แคลปป์

 


 

02.25

  • ก่อนอื่นเราต้องคุยกันเรื่องซูเปอร์แฟมิลี่ของพี่น้อย ยีนความเป็นนักร้องนี่น่าจะสตรองมาก เพราะเป็นนักร้องกันหมดทั้งคุณแม่กมลา คุณพี่มาริสา และพี่สุกี้

     ยกเว้นสุกี้ครับ เขาเป็นนักดนตรีที่เก่ง แต่เสียงร้องนี่ไม่ไหว (หัวเราะ) พวกเราพี่น้องได้ความเป็นศิลปินจากคุณแม่ แต่ที่ผมได้จากคุณพ่อคงเป็นยีนนักกีฬา

     ผมร้องเพลงกับครอบครัวมาตั้งแต่เด็กๆ ก็จริง แต่ถามว่าชอบอะไร ผมเน้นกีฬามากกว่านะ ทั้งฟุตบอล เทนนิส เบสบอล สมัยไฮสกูลเก่งครับ เป็น Athlete of the Year เลยนะ แต่พอไปเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ก็พบว่า สู้เขาไม่ได้เลย (หัวเราะ) คนเก่งๆ เยอะมาก เราไม่เก่งพอจะติดทีมมหาวิทยาลัย

     หลังจากนั้นเริ่มเลือกเมเจอร์ ซึ่งผมเลือกเอก Anthropology หรือมานุษยวิทยา เรียนเกี่ยวกับมนุษย์กับวัฒนธรรม สนุกดี และช่วงนั้นผมรู้สึกว่าตัวเองต้องการช่องทางปลดปล่อยอารมณ์บางอย่าง คือสมัยเป็นนักกีฬาเราปล่อยมันลงบนสนามแข่ง เราได้แสดงฝีมือ ผู้ชมจับตาดูเรา ผมคิดถึงความรู้สึกแบบนั้น แล้วก็มาคิดขึ้นได้ว่า เอ เราปล่อยของบนเวทีก็ได้เหมือนกันนี่นา ผมก็เลยเลือกวิชารองเป็นศิลปะการละคร และการแสดง ผมเคยไปอยู่นิวยอร์กสองสามปี เรียนที่ Stella Adler Conservatory of Acting ระหว่างนั้นก็ทำงานเสิร์ฟอาหารไปด้วย แล้วก็ตระเวนออดิชันไปเรื่อย และพูดตรงๆ ว่าไม่ประสบความสำเร็จ (หัวเราะ) แต่ผมผ่านมาหมดแล้วล่ะ อย่างที่เราเห็น เอ็มมา สโตน เจอใน La La Land เลย คือไปต่อแถวรอคัดตัว เอาล่ะ ตัวละครนายโจคนนี้ ตามท้องเรื่องผมสีน้ำตาล หน้าตามีความลาติโน เขาให้บทพูดมา เราก็ท่องจำเข้าไป พอถึงตาเราก็เข้าไปในห้อง เขามองปราดเดียวก็พูดเลยว่า โทษทีนะ คุณไม่ใช่ตัวละครตัวนี้ คือเขารู้ว่าเขามองหาอะไร เขาไม่อยากเสียเวลาเขา แล้วก็ไม่อยากให้เราเสียเวลาเราด้วย ก็ต้องเข้าใจนะ มันเป็นเรื่องงานล้วนๆ แต่ถ้าบางครั้งเราโชคดี มีลุคในแบบที่เขาอยากได้ พอเราลองพูดบท เขาอาจจะเรียกกลับมาอีก… แล้วก็กลับมาอีก… แล้วก็กลับมาอีก… และสุดท้ายก็ยังไม่ได้อยู่ดี (หัวเราะ) มันยากมาก คือเราต้องแกร่ง เราต้องอึด มันเป็นประสบการณ์ที่ดีนะ แค่ผมคงยังอึดไม่พอ

     แต่ผมโชคดีที่ตอนนั้นสุกี้เปิดค่ายเบเกอรี่ มิวสิค พอดี เขาเลยชวนว่า กลับมาทำวงกันไหม นายร้องเพลงได้นี่ ผมก็เลยกลับมา นี่ไง คนจะนึกว่าชีวิตผมง่ายเพราะพี่ชายเป็นเจ้าของค่ายเพลง ไม่เลย ผมผ่านการถูกปฏิเสธมาเยอะมากเหมือนกันนะ

     ตอนนั้นการร้องการเต้นเป็นของใหม่มากสำหรับผม ตอนนั้นผมอายุ 31 แล้ว ซึ่งมาเริ่มที่อายุเท่านั้นถือว่าช้ามากสำหรับวงการบันเทิงไทยที่เขาเข้ามากันตั้งแต่อายุ 16-17 หรือ 21 คิดไปแล้วก็อยากเริ่มตอนอายุยังน้อยๆ อยู่เหมือนกันนะครับ

 

  • นอกเหนือจากความเป็นศิลปิน อีกอย่างที่ได้มาจากคุณพ่อคุณแม่คือความเป็นนักธุรกิจด้วย

     เอาจริงๆ ผมว่าถ้าพวกเราตั้งใจทำธุรกิจกันอย่างเดียวกิจการเราอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ (หัวเราะ) พวกเราเป็นทั้งศิลปินและนักธุรกิจในเวลาเดียวกัน เราก็เลยจะทำธุรกิจบนพื้นฐานของความรู้สึกว่า เรารักสิ่งที่เราทำแค่ไหน ไม่ใช่ว่า เราจะทำเงินได้มากแค่ไหน

     ศิลปินบ้านเรายิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งยากขึ้นที่จะประสบความสำเร็จ ผมจึงรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ยังมีแพสชันอื่น ยังมีกิจการครอบครัว

 

08.30

“(Our family) we do things based on how much we love it, not how much money we would make. I think we’re very lucky to be able to do different things in life, to have options a lot of artists don’t have… Unfortunately it’s harder to succeed if you’re older, as an artist. I’m very fortunate that I do have other passions and the family business that I can look forward to.”

 

09.04

  • ทำงานกับที่บ้านเป็นอย่างไรบ้างคะ โบได้ยินมาว่า สมาชิกครอบครัวแต่ละคนต่างก็เก่งในเรื่องที่ต่างกันไป เช่น บางคนเก่งการตลาด บางคนเก่งบัญชี บางคนเก่งเรื่องการเป็นผู้นำ ส่วนพี่น้อย นิยามตัวเองไว้ว่าเป็น ‘นักฝัน’ โบเลยอยากรู้ว่าบทบาทของ นักฝัน ในธุรกิจโรงแรมคืออะไรคะ

     บอกเลยว่าผมดีใจมากที่ตัวเองไม่ใช่ลูกคนเดียว (หัวเราะ) ผมแย่มากเรื่องตัวเลข อย่างที่โบบอกว่าพวกเราพี่น้องมีดีกันคนละอย่าง ส่วนผมเนี่ย ถ้าจะพูดให้ตัวเองดูดีคือ เป็นคนให้จิตวิญญาณ สร้างบรรยากาศและความรู้สึกให้กับตัวโรงแรม โดยเฉพาะ The Siam ที่ผมเป็นคนดูแลคอนเซปต์

     ไม่ต่างจากงานศิลปะ คือถ้าเราจะร้องเพลง เราอยากให้มันมีวิญญาณ ถ้าเราจะทำหนัง เราก็อยากให้มันอยู่เหนือกาลเวลา เมื่อไรกลับมาดูก็ยังรู้สึกว่าเป็นหนังดี เหมือน Blade Runner หรือ The Godfather การสร้างโรงแรมใช้เงินหลายล้าน และคุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วมันก็จะอยู่อย่างนั้นตลอดไป มันเป็นงานที่ยากมาก ผมต้องหยุดงานอื่นทั้งหมดเพื่อทุ่มให้กับโรงแรมเต็มๆ อยู่พักใหญ่เลย

 

11.49

  • พี่น้อยแต่งงานมาราว 20 ปีแล้ว ทำอย่างไรให้ชีวิตสมรสสดชื่นอยู่เสมอคะ

     อย่างที่เขาพูดกันนั่นล่ะครับ ชีวิตแต่งงานไม่ง่าย เราต้องปรับตัวและพัฒนาร่วมกันไปตลอดเวลา ผมได้ยินมาว่ามีเพลงหนึ่งของอเดล คือยังไม่เคยฟังนะ แต่ได้ยินคอนเซปต์มา เห็นว่าตอนนั้นเธอเพิ่งแต่งงาน และเธอว่านั่นคือจุดจบของความรัก

     คนเรารักกันแรกๆ ก็อยากจะกุมมือกันตลอดเวลา หรือคุยโทรศัพท์กันทีละหลายชั่วโมง คิดถึงกันทุกวัน และนั่นก็เป็นความรู้สึกที่สวยงามนะครับ แต่ที่สุดแล้วความรู้สึกเหล่านี้มันจะหมดไป แล้วความรักมันจะกลายเป็นอย่างอื่น เช่นกลายเป็นความใส่ใจในอีกรูปแบบหนึ่ง… ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าผมไม่อยากกุมมือภรรยาแล้วนะ (หัวเราะ) อยากสิ แต่ความรู้สึกมันจะไม่เหมือนตอนคบกันแรกๆ เปี๊ยบหรอก แล้วพอมีลูก เราก็จะทุ่มเทความรักไปให้ลูกเรามากกว่าภรรยาหรือสามีของเรา แต่อย่างที่บอก ผมยังคิดว่าภรรยาผมสวยและฮอตอยู่นะ เวลามีผู้ชายที่ไหนมาทำท่ากะลิ้มกะเหลี่ยกับเธอเราก็หึงนะ ผมงี้ขึ้นเลย (หัวเราะ)

 

  • แต่จากมุมของผู้หญิงเราก็ปลื้มนะถ้าสามียังรู้สึก แบบ ออกโรงปกป้อง แสดงความหึงบ้าง ยังงี้

     แต่ตอนผมของขึ้นมันก็ไม่ไหวนะ อย่างมีอยู่คืนหนึ่ง หลายปีมาแล้วล่ะ เราไปเที่ยวกัน ไอ้ผู้ชายคนหนึ่งมาชนเมียผมเครื่องดื่มหกเลอะเทอะ มันก็โมโหแล้วพูดใส่หน้าเมียผมว่า “ฟักยู!” เมียผมก็เดินกลับมาฟ้อง ผมก็ “ไหน ใคร!” พอเธอชี้ไป ผมก็มองแล้วคิดว่า “โอเค พอสู้ไหว” (หัวเราะ) ถ้าตัวใหญ่มากอาจจะลำบากหน่อย คือผมคิดว่าผมน่าจะชิลล์หน่อย ทำตัวคูลๆ แบบ จอร์จ คลูนีย์ แล้วพูดออกไปเท่ๆ ว่า “ไอ้น้องชาย ทำแบบนี้ไม่สวยนะ ขอโทษเธอซะ” แต่นี่ผมของขึ้นแล้วไง พุ่งไปเลยครับ! “You f_cking say sorry to her right now! Or else, I’m gonna f_cking KILL YOU!” บ้ามาก มันโกรธสุดๆ จนไม่รู้จะพูดยังไง แล้วเวลาโกรธมากๆ แบบนี้จะควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ นี่เป็นจุดอ่อนผมเลย แต่เอาจริงๆ นะผมว่าสงสัยกำลังอินกับหนัง ช่วงนั้นถ่ายนี่อยู่ไง อันธพาล (หัวเราะ) องค์ลง…

     แล้วมันก็ขอโทษนะ แบบ “Okay okay, I’m sorry…” คือโชคยังดีที่มันตัวไม่ใหญ่ ไม่งั้นผมอาจโดนมันเตะได้ (หัวเราะ)

     สรุปแล้วคือ เรื่องชีวิตคู่เนี่ยครับ (หัวเราะ) มันมีขึ้นมีลง แต่เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน และพูดไปก็อาจจะเกร่อๆ นะ แต่มันต้องสื่อสารกันจริงๆ มีอะไรก็คุยกัน ทำผิดก็อย่าปากหนัก ขอโทษซะ ซึ่งโชคดีที่ยุคนี้มีอิโมจิให้ใช้ (หัวเราะ) ก็สะดวกดี

     ทุกวันนี้ยังมีที่ทะเลาะกันหนักๆ สักปีละครั้ง ซึ่งนั่นคือเวลาที่เราต้องมาดูแล้วว่า เราควรต้องปรับเปลี่ยนอะไรในตัวเองบ้าง คือคนเราน่ะเปลี่ยนไม่ได้หรอกครับ แต่เราต้องเต็มใจที่จะปรับบ้าง บางทีแค่นิดหนึ่งก็พอแล้ว เวลาทะเลาะกันครั้งใหญ่แบบนี้แหละที่ต้องคุยกัน ไม่ใช่มัวส่งอิโมจิ

     บอกรักใครสักคนน่ะง่ายจะตาย แต่จะพิสูจน์ว่าเราพูดจริงนั่นแหละที่ยาก

 

15.52

“In marriage, you have to communicate. It’s hard to say sorry. Lucky now you have emojis and things like that… That does help. I do it too sometimes. But once a year you get into a really big, big argument, a bad one where you know that, okay, that means you have to change something about yourself. You can never change who you are but you have to be willing to adapt a little bit. Just a little bit. When I know that, okay this is a big one, I have to do something to fix myself. I gotta talk to her… and not send an emoji…

…Saying I love you to someone is a piece of cake, but proving it is really hard.”

 

17.17

  • ลูกพี่น้อยทั้งสองคน ฟินน์กับโรซี่ รู้ไหมคะว่าคุณพ่อดังแค่ไหน

     โอย ผมบอกลูกตลอดแหละว่าคนที่รู้จักพ่อมีแค่คนอายุ 28 หรือแก่กว่านั้น (หัวเราะ) ไปเดินสยามนี่ไม่มีใครรู้แล้วว่าพ่อเป็นใคร ยิ่งไปอเมริกายิ่งไม่มีคนรู้จักใหญ่เลย แต่นานๆ ทีก็มีเรื่องให้ยืดบ้างนิดหน่อย คือปกติผมไม่ดังขนาดจะเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าโฆษณาที่ไหน แต่บางครั้งเวลาได้เล่นหนังก็จะได้อยู่บนบิลบอร์ดใหญ่ๆ บ้าง พอลูกผมเห็นเขาก็ภูมิใจนะ

     แต่หนังผมนี่ลูกๆ ไม่ได้ดูหรอก มันรุนแรงไปสำหรับเด็ก ผมว่าคนชอบเห็นผมในบทโหดๆ นะ ไม่ชอบให้จูบใคร ชอบให้ฆ่าคน (หัวเราะ) แต่ผมก็บอกลูกว่าวงการบันเทิงมันมายาน่ะ แล้วมันก็เป็นแค่งานของพ่อเฉยๆ พ่อแค่ไปทำงาน

 

19.11

  • วันหนึ่งลูกพี่น้อยโตขึ้น คงไม่มีทางที่เขาจะเป็นอย่างใจเราหวังทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว แต่ถ้าขอได้ อะไรคือหนึ่งอย่างที่อยากให้เขาเป็นหรือทำ และอะไรอีกหนึ่งอย่างที่ไม่อยากให้เขาเป็นหรือทำ

     โห ขอคิดก่อน อืม พูดไปก็คงเหมือนที่เขาพูดๆ กัน แต่มันก็จริงนะครับ และคงไม่ต่างจากที่แม่ผมเลี้ยงผมมา คือเขาก็คงอยากให้ผมมาดูแลกิจการโรงแรมของครอบครัว แต่แม่ก็รู้อีกว่า คนเรามีแค่ชีวิตเดียว เราควรได้ทำในสิ่งที่เรารัก แล้วแม่ก็สนับสนุนทุกอย่าง ผมก็จะทำแบบนี้กับลูกเหมือนกัน คืออยากให้เขาทำในสิ่งที่เขารัก และเต็มร้อยกับมัน และนั่นเป็นสิ่งที่พ่อผมสอน พ่อผมเป็นอเมริกันชนชั้นกลาง โตมากับฟาร์ม พ่อจะสอนผมเสมอเรื่องค่านิยมของอเมริกัน นั่นคือการพยายามเต็มที่เพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง ผมก็อยากให้ลูกผมทำอย่างเดียวกัน แล้วผมก็อยากให้พวกเขารู้ว่าตัวเองโชคดีกว่าคนอื่นมากแค่ไหน สิ่งที่พ่อผมสอน และสิ่งที่ผมอยากสอนลูกผมต่อคือ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ เราต้องพยายามเอาเอง และถึงจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร

     แต่แน่นอนว่าผมก็ไม่ได้อยากให้ลูกทำแต่งาน ผมอยากให้เขาเจอรักที่ดี และคนที่ใช่ด้วย เรื่องนี้ยิ่งไม่ง่าย ต้องใช้เวลา

     แต่เรื่องนี้ผมไม่ห่วงลูกสาวผมเลย เขาห้าวมาก แกร่งมาก คือนึกสงสารคนที่จะมาเป็นแฟนในอนาคตเลยนะ (หัวเราะ) จะอธิบายยังไงดี อืม คือตอนจะมีลูกคนแรกผมอยากได้ลูกสาวมากเลยนะครับ ลูกสาวตัวน้อยอ้อนพ่ออะไรแบบเนี้ย แต่พออัลตราซาวด์ดู นั่นจู๋นี่หว่า ผมก็ แม่งเอ๊ย ลูกชาย (หัวเราะ) แต่พอเขาเกิดมาปุ๊บ โอย หลงรักลูกหัวปักหัวปำ แล้วเขาก็น่ารักมาก เป็นเด็กช่างเอาใจใส่ความรู้สึกคน พอมาคนที่สอง เย้ ลูกสาวมาแล้ว! แต่ปรากฏว่า (หัวเราะ) คือเขาเย็นชาอะ เป็นเด็กนิ่งๆ ลูกชายผมยังแสดงความรักมากกว่า คือผมรู้นะว่าเราเลือกไม่ได้หรอก ลูกเป็นอย่างไรเขาก็เป็นอย่างนั้น เขาเขินไง เขาก็จะแสดงความรักในรูปแบบอื่น

     เช้าวันก่อน ผมนอนอยู่ เขาก็เดินเข้ามาในห้อง เขาทำคุกกี้หัวใจ มีตัวอักษร D ก็ยื่นให้ บอกว่า “Daddy, this is for you.” แล้วก็เดินออกไปเลย (หัวเราะ) ไม่กอดไม่อะไร คือได้แค่นี้ ผมก็ โธ่ ลูกพ่อ… (หัวเราะ) เออ ผมว่าเขาเหมือนแม่ผมนะ ห้าวๆ

 

23.52

  • เรามาคุยเรื่องของเก่าที่พี่น้อยสะสมไว้กันดีกว่า พี่น้อยสะสมอะไรบ้างคะ

     โอ ทุกอย่างเลยครับ ของเก่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่รักที่สุด ถ้าผมมีเงิน ผมจะใช้เงินกับครอบครัว การเดินทาง และของเก่านี่แหละ พวกเสื้อผ้าหรือแก็ดเจ็ตเทคโนโลยีนี่ไม่สนใจเลย และผมก็เหมือนคนทั่วไปที่รสนิยมเราจะเปลี่ยนไปเรื่อย ตอนยังหนุ่มผมชอบเรโทร ฟิฟตี้ส์ ซิกซ์ตี้ส์ ตอนนั้นก็จะมองคนอายุมากกว่าเราแล้วสงสัยว่า ชอบเข้าไปได้ยังไงไอ้พวกของหลุยส์ๆ โคมระย้าเว่อวังอะไรอย่างนั้น แล้วเป็นไง ตอนนี้เราก็ชอบอะไรแบบนั้นเลย (หัวเราะ)

     ยุคแรกๆ ที่สนใจของเก่าคือสมัยเรียนมัธยมแล้วมาเดินจตุจักร เริ่มจากของชาวเขา ผมชอบอะไรที่เป็นชนเผ่า เครื่องประดับ รูปปั้นทั้งหลาย นี่คือสาเหตุที่เลือกเรียนมานุษยวิทยาด้วยแหละ จากนั้นความสนใจก็ไปทางเรโทร อาร์ตเดโค อาร์ตนูโว แต่มันก็จะกลับไปที่ชนเผ่าเสมอ ผมชอบการจัดวางของพวกนี้อยู่ด้วยกัน แบบที่ผมทำที่โรงแรมเดอะสยาม ถ้าคุณตั้งใจมองดีๆ จะเห็นว่าแต่ละห้องมีเรื่องเล่าซ่อนอยู่ ผ่านข้าวของเหล่านี้ สำหรับผมมันเหมือนบทเพลง ในท่วงทำนองจะมีถ้อยคำที่คอยเล่าเรื่องอยู่

     แต่ละห้องมีธีมที่ต่างกันไปก็จริง แต่ที่ทุกห้องมีเหมือนกันคือล้วนเล่าเรื่องราวของสังคมไทย ให้สมกับที่ชื่อว่าเดอะสยาม และด้วยความที่มันไม่ได้อยู่กลางเมือง แต่อยู่ในเขตเมืองเก่า แขกที่เลือกมาพักกับเราก็จะไม่ใช่คนที่ตั้งใจมาเดินห้างหรูเพื่อช้อปปิ้ง แต่จะเป็นคนที่ตั้งใจมารู้จักและสัมผัสความเป็นไทย เข้าบ้านถอดรองเท้า เดินทางไปไหนๆ ด้วยเรือ ทุกสิ่งในโรงแรมช่วยกันบอกเล่าความเป็นมาของไทยในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา บางห้องเล่าเรื่องนางสาวไทย ห้องฉายหนังของเราเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย การไปดูหนังเมื่อก่อนเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ไม่เหมือนสมัยนี้ ยิมของเราก็มีเวทีมวยไทย ครูมวยไทย ที่พร้อมสอนมวยไทยให้แขกของเรา ผมมีระฆังของเก่าแท้ๆ จากเวทีลุมพินีด้วยนะ สปาของเราก็มีห้องสัก ไม่ใช่สักโลโก้ซูเปอร์แมนอะไรอย่างนั้นนะครับ แต่เป็นการสักยันต์ สักลวดลายศักดิ์สิทธิ์แบบไทย มีความเชื่อทางศาสนาเพื่อความเป็นสิริมงคล

     แทบจะเรียกได้ว่า ทุกซอกมุมของโรงแรมมีความหมายและเรื่องเล่าแฝงเอาไว้ทั้งหมด และล้วนเป็นเรื่องไทยๆ แต่บางทีเราก็มีเซอร์ไพรส์ซ่อนไว้ เช่นในห้องฉายหนัง เราแสดงตั๋วหนังเรื่อง The Sound Of Music สมัยเพิ่งเข้ามาฉายในบ้านเราเป็นครั้งแรก (ไปได้มาจากไหนคะเนี่ย!) ก็แค่ขยัน ตื่นเช้าวันเสาร์ไปเดินหาเป็นประจำ มันเหมือนกฎแห่งค่าเฉลี่ยน่ะครับ (Law of Averages) คือถ้าเราพยายามไปบ่อยๆ ยิ่งเพิ่มโอกาสในการเจอ จนรู้แล้วว่า ถ้าไปสักสิบครั้งจะเจออะไรเด็ดๆ สักอย่างสองอย่าง ตั๋วหนังเรื่อง Psycho ของ Alfred Hitchcock อะไรอย่างนี้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็เอาหุ่นจำลอง ET ไปตั้งโชว์ไว้ด้วย คือพวกนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเมืองไทยหรอก แต่มันเป็นความรู้สึกดีๆ ที่ได้หวนอดีต โดยเฉพาะกับคนที่โตมากับหนังเรื่องนี้ แล้วเขาได้มารู้สึกดีๆ กับส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเขาอีกครั้งที่เดอะสยาม เนี่ย เราก็จะเอาของพวกนี้ไปซุกๆ โปรยๆ ไว้ ตรงโน้นตรงนี้ ให้คนประหลาดใจเวลาบังเอิญไปเจอ

 

30.17

  • ได้ข่าวว่าพี่น้อยกำลังจะกลับมาสู่วงการเพลงอีกครั้งใช่ไหมคะ

     ใช่ครับ อยากได้ความรู้สึกของการขึ้นแสดงสิบเพลง สิบสองเพลงรวดอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ได้แต่รับเชิญไปร้องทีละเพลงสองเพลง ตอนนี้ได้กลับมาเล่นแบบเต็มๆ เริ่มหาสมาชิกใหม่ๆ มาร่วมวง ก็ได้ความรู้สึกเก่าๆ กลับมา เล่นดนตรีด้วยกัน แสดงเสร็จก็กินเบียร์กัน นี่คือน้องนักดนตรีที่เด็กกว่าเราเป็นสิบปี ได้เห็นความไฟแรงในเด็กรุ่นใหม่แล้วรู้สึกดีนะ คือถ้าผมไปหาสมาชิกใหม่ในวัยเดียวกับผมมาอีกสี่คนเนี่ย (หัวเราะ) จะมีใครมาดูเราไหม แต่อย่าง Big Ass นี่เขาก็ทำตรงข้าม คือสมาชิกวงเหมือนเดิม เปลี่ยนนักร้องนำ หนุ่มๆ เท่ๆ เออ มันก็เวิร์กนะครับ (หัวเราะ) คือถ้าผมจะหาสมาชิกใหม่ก็คงต้องหาเด็กๆ หน่อยดีกว่ามั้ย… ผมพูดเล่นน่ะ… แต่มันก็จริงนะ (หัวเราะ) ที่สำคัญคือฝีมือต้องดี และเคมีต้องเข้ากันได้ด้วย แต่การได้ความกระตือรือร้นของคนรุ่นใหม่ก็ช่วยให้วงเกิด vibe ใหม่ๆ ช่วยสร้างบรรยากาศของความรู้สึกใหม่ๆ นะครับ

 

  • พี่น้อยคิดว่า เด็กรุ่นใหม่มีความแตกต่างจากคนรุ่นเก่าๆ อย่างไรบ้างไหมในเรื่องของการรวมวง หรือเล่นเป็นวง

     ถ้าพูดถึงการขึ้นแสดง ไม่นะ จะยุคสมัยไหน นักดนตรีก็คือนักดนตรี ศิลปินก็ยังเป็นศิลปิน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เขาคุยกันในเรื่องที่ผมไม่รู้เรื่อง อย่างเช่น ผมไม่เคยรู้เลยนะว่า วี-วิโอเลต เป็นใคร จนเมื่อเร็วๆ นี้เอง เราแก่ขนาดนั้น แล้วพอไปค้นดูบนยูทูบ เชี่ย วิดีโอน้องเขามี 70 ล้านวิวเลยเหรอนี่ ตาย เราตกยุคมาก ตรงนี้สนุกดีนะครับ พอพวกเขาคุยกันเรื่องศิลปินใหม่ๆ เราก็ได้รู้จักไปด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าปกติผมไม่เล่นเฟซบุ๊ก เล่นเน็ตยังไม่ค่อยเล่นเลย ไม่ใช่ไม่ชอบนะครับ แต่ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับมัน ผมรู้ว่ามันมีข้อดีมากมาย โดยเฉพาะนักร้องเก่งๆ หรือศิลปินอินดี้ สื่อตรงนี้ช่วยโปรโมตเขาได้มาก ผมแค่ไม่ชอบแง่ที่เป็นข้อเสียของมันเท่านั้นแหละ แต่นั่นคือวิถีของโลกทุกวันนี้ และผมต้องปรับตัว ผมตระหนักดีว่าถ้าในวันนี้จะออกอัลบั้มใหม่ ผมต้องใช้เฟซบุ๊ก ถ้าอยากสำเร็จ ผมต้องทำ ผมไม่มีทางเลือก ผมต้องปรับทัศนคติตัวเองเสียใหม่ คือบางทีความเป็นตัวผมนี่แหละที่เป็นสาเหตุให้ตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ

 

32.49

“I don’t do Facebook. I’m not on the net much. I don’t have Instagram. I don’t like the social media… Well, not that I don’t like it, I just don’t connect with it. But I know the goodness of it. I know the pros of it. It does help promote music and indie artists, and that’s great. Just the other side of it, the negatives, I don’t like that very much…

“But that’s the way the world is now and I have to adapt to that. I realize that if I’m gonna have a new album I have to have Facebook, if I want it to succeed. I have to. I HAVE to. I have no choice. I gotta get my head together. I am my own undoing sometimes…”

 

34.02

  • แผนสำหรับอัลบั้มนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ

     อัลบั้มนี้ที่จริงผมทำมา 7-8 ปีแล้วนะครับ ที่ทำนานก็เพราะต้องแบ่งเวลาไปทำโรงแรม แล้วก็เอาเวลาไปเลี้ยงลูกด้วยแหละ แต่ซิงเกิลแรกจะออกปีนี้ครับ (2017)

     ดนตรีต่างจากหนังตรงที่ หนังเนี่ย คุณควบคุมอะไรไม่ได้เลย นั่นเป็นสิทธิของผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ จะเล่นหนังสักเรื่อง คุณต้องรอให้คนมาชวนไปเล่น พอได้เล่น ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้กำกับอีก แล้วก็อยู่ที่เขาจะตัดต่ออย่างไรอีก บางทีบทดีมากเลย แต่พอดูตอนออกมาเป็นหนังแล้ว เฮ้ย เกิดอะไรขึ้นวะ (หัวเราะ) เดี๋ยว ทำไมเลือกเทกนี้ล่ะ มันมีเทกอื่นที่ผมเล่นไว้ดีกว่านี้นะ (หัวเราะ) แต่เราต้องเข้าใจว่า หนังเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม และเป็นเรื่องมุมมองของผู้กำกับครับ ไม่ใช่ของนักแสดง

     แต่ถ้ามันเป็นอัลบั้มของผม ผมก็สามารถทำจากมุมมองของตัวเองได้หมดเลย งานเพลงของผมคือลูกรักของผม และถ้าผมไม่มีโอกาสได้เล่นหนังที่ให้แรงบันดาลใจ ผมทำอัลบั้มที่ให้แรงบันดาลใจเอาเองก็ได้ และรอดูได้เลย ผมจะเล่นเอ็มวีเองด้วย! รับรองว่าต้องเท่! (หัวเราะ)

     เพลงผมมักมีธีมของความหวัง (hope) และการไถ่บาป (redemption) ผมชอบแนวคิดของการไถ่บาป เรื่องของคนที่ทำผิดหรือพลาดไป และอยากได้โอกาสแก้ตัว เราทุกคนต้องการโอกาสอย่างนี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเด็กนักเรียนไปจนถึงบุคคลสาธารณะ คนที่เคยติดยา คนที่เคยติดคุก สังคมเราติดภาพนะ อย่างเรื่องดีเจกราบรถนั่น ที่เขาทำมันแย่นะ มันผิดแหละ และผมก็เชื่อว่า ถ้าทำผิดต้องชดใช้ คุณต้องพิสูจน์ตัวเองโดยการแก้ตัว ผมไม่ได้ตามข่าวเลยไม่รู้ว่าเขาเจออะไรไปแล้วบ้าง หรือทำอะไรเพื่อชดใช้ความผิดของตัวเองแล้วบ้าง แต่ผมรู้สึกแย่แทนเขาตรงที่ว่า ในสังคมนี้ คุณต้องพยายามหนักหนาแค่ไหนกว่าจะได้โอกาสครั้งที่สอง กว่าผู้คนจะยอมรับคุณอีกครั้ง มันจะเป็นกระบวนการที่เจ็บปวด ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ เพราะเราทำตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็หวังว่าสังคมจะให้อภัย ผมเขียนเพลงเกี่ยวกับ redemption เยอะมากเลย ผมว่าเราจะได้แรงบันดาลใจจากเรื่องของคนที่เคยล้มแล้วพยายามลุกนะครับ

 

35.14

“A lot of my songs are about hope and redemption. I love the theme of redemption: people who make mistake and need a second chance… A problem with our society is that when someone make a mistake we look at them that way forever. The image stuck with them. Of course when that happens you have to pay for it. You gotta prove yourself. You have to redeem yourself. But how much or how hard does a person have to do for the society to give them a second chance or to accept them again. And that’s a painful process, but if you make a mistake, you go through it…

“…So I write a lot of songs about that. I feel for people, you know. People who seek a second chance. I find that there’s so much inspiration. You get inspired by people who’s been hurt or failed and has come back. People who get back up again…”

 

37.12

  • พี่น้อยอยากพูดอะไรกับแฟนๆ ที่กำลังตั้งตารองานชุดนี้ไหมคะ

     ผมคิดว่าคุณผู้ฟังจะไม่ผิดหวังนะครับ ผมตั้งใจทำงานสุดฝีมือ คือเวลาเขียนเพลงน่ะ ผมเขียนเพื่อแฟนๆ ของผมอยู่แล้ว เราโชคดีมากแล้วนะที่ยังมีกลุ่มคนฟังที่ยังไม่ลืมเรา เพราะฉะนั้น เวลาทำเพลง เราทำเพื่อคนฟังของเราก่อนเลย และถ้ามันข้ามไปสู่คนฟังกลุ่มอื่นได้ด้วยก็ถือว่าโชคดี ทุกวันนี้จะมีเพลงฮิตสักเพลงก็ยากจะแย่อยู่แล้ว

     แต่สัญญาครับว่ามันจะเป็นงานเพลงที่ดี หายไปตั้งสิบปีผมไม่ปล่อยของห่วยๆ ออกมาหรอก (หัวเราะ) ผมจะทำเต็มที่ และคิดว่าอย่างน้อยน่าจะมีสักเพลงที่คุณรู้สึกโดน น่าจะมีสักเพลงที่คุณรู้สึกว่ามันพูดกับคุณจริงๆ

 

37:29

“You write your music for your fans. You’re lucky to have a fanbase that hasn’t forgotten you, so you write music for them. And if a song crosses over, you’re lucky.”

 

38:17

  • ช่วงต่อไปคือ What’s Your Take On โบจะให้พี่น้อยเลือก 1 จาก 3 หัวข้อต่อไปนี้เพื่อที่เราจะได้มาถกกันนะคะ
    • Chao Phraya River bank getting a promenade and a bicycle lane: ดีไหม ชอบไหมคะ
    • Social media: เพราะอย่างที่บอกว่าพี่น้อยไม่เล่นโซเชียลเลย
    • Airbnb: ธุรกิจโรงแรมบ้านพี่น้อยรู้สึกกังวลถึงความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันของบริการอย่าง airbnb ไหมคะ

 

     เรื่องที่อยากพูดคือเรื่องที่ผมรู้สึกรักและผูกพันเป็นพิเศษ นั่นคือเรื่องแม่น้ำ โครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นผมไม่เห็นด้วยเลย เงินตั้งหมื่นสี่พันล้านบาท กับทางเดิน หอชมเมือง สะพาน อะไรต่างๆ นั่น เราต้องการของเหล่านี้จริงๆ หรือ มันมีวิธีอื่นในการใช้เงินให้เป็นประโยชน์และฉลาดกว่านี้น่ะครับ นึกภาพไม่ออกว่าจะมีชาวสุขุมวิทสักกี่คนที่จะเอาจักรยานออกไปปั่นริมแม่น้ำจริงๆ มันน่าจะมีเรื่องเร่งด่วนกว่านี้ที่เงินภาษีของพวกเราควรถูกนำไปใช้

     มันเป็นจิตวิญญาณของเมืองนะ ชุมชนตรงนั้น ผมรักเมืองเก่า ถึงกับย้ายบ้านจากสาทรไปอยู่แถวนั้น ตอนนี้ต้องมานั่งดูเสาคอนกรีตถูกตอกลงไปในแม่น้ำเพื่อ ‘พรอมเมอนาด’ ซึ่งจะออกมายังไงก็ยังไม่รู้ แล้วชุมชนริมแม่น้ำก็จะถูกไล่ที่ ผมรู้ว่าเขาไม่มีสิทธิตามกฎหมายจะอยู่อาศัยตรงนั้น แต่เขาก็อยู่กันมายาวนานมาก

     ผมว่ามันมีอีกหลายวิธีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองนะ

 

41:54

  • ช่วงสุดท้ายของรายการคือ ‘What If’ นี่คือคำถามที่พี่น้อยจับได้ค่ะ

     “If, somehow, you know for certain that you will die of an incurable disease within 3 months, would you allow yourself to be cryogenically frozen *within the week* if you knew it would give you a modest chance of being revived in 1,000 years and living a greatly extended life?”

     “สมมติรู้ว่าจะตายแน่ๆ ในสามเดือนด้วยโรคที่ในวันนี้ไม่มีทางรักษา คุณจะยอมถูกแช่แข็งไว้เพื่อฟื้นขึ้นมาในเวลา 1,000 ปีให้หลัง เพื่อมีชีวิตยืนยาวอีกครั้งในโลกอนาคตหรือไม่”

     *ข้อแม้คือ ถ้าจะแช่แข็ง ต้องทำภายใน 7 วัน*

 

     ง่ายเลย เมื่อกี้ผมบอกไปแล้วว่าผมอยากมีชีวิตอยู่ในอดีต ไม่ใช่อนาคต เพราะฉะนั้นคำตอบคือ ไม่ครับ (หัวเราะ) ผมว่าชีวิตคนเรามันก็ยาวแล้วนะ สมมติว่าต้องตายในวันนี้ผมก็ยอมรับได้นะครับ ตอนนี้ผม 46 แล้ว และผมว่าผมน่าจะอยู่ได้ถึง 80 เพราะปู่ย่าตายายผมก็อายุเก้าสิบกว่าถึงร้อยปีกันแล้ว แม่ผมก็แปดสิบแล้วยังแข็งแรงอยู่เลย คิดแล้วไม่อยากจะเชื่อว่านี่เรามาได้ครึ่งทางเองนะ (หัวเราะ) นี่รู้สึกว่าอยู่มานานมากแล้ว และยังมีเวลาอีกตั้งสี่สิบปี นานจริงๆ นะครับ (หัวเราะ)

     แต่เรื่องของเรื่อง อันนี้ได้ยินมาจากผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน เขาว่ากันว่า ครึ่งหลังของชีวิตจะผ่านไปเร็วมาก และสุขภาพเรามีแต่จะเสื่อมถอยลงทุกวัน การแก่ตัวไปอย่างสง่างามจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะฉะนั้น ตอบอีกครั้ง ผมยินดีจะผุพังไปตามกาลเวลานะ ให้แช่แข็งนี่ไม่เอาหรอก

     โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก พัฒนาเร็วมาก เทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย อะไรก็ตามที เอาจริงๆ ก็อยากเห็นนะว่าโลกจะเป็นอย่างไรในอีกหนึ่งพันปีข้างหน้า แต่ถามว่าอยากใช้ชีวิตอยู่ในโลกนั้นด้วยไหม ผมว่าไม่

 


 

Credits

 

The Host สาวิตรี สุทธิชานนท์

The Guest กฤษดา สุโกศล แคลปป์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ภูมิชาย บุญสินสุข

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Music Westonemusic.com

FYI

     เนื่องจากพี่น้อยกับน้องโบคุยกันสนุกสนานถูกคอ ล่อเข้าไปชั่วโมงกว่า ตัดต่อด้วยความเสียดาย ได้มา 47 นาที แต่ก็ยังมีอีกหลายท่อนหลายต่อนที่ตัดแล้วไม่กล้าทิ้ง จึงรวบรวมมาไว้เป็นคลิปเสียงสั้นๆ แบบ Director’s Cut เชิญกดฟังได้ตามอัธยาศัย

 

Dream role: โบถามว่าพี่น้อยมีบทไหนที่อยากเล่นมากๆ หรือเปล่า

 

We are lucky: พี่น้อยพูดถึงงานดนตรีและงานแสดง “จงตระหนักว่าเราโชคดีแค่ไหน เพราะมีคนที่เก่งกว่าเรามากมายที่เขาไม่ได้โอกาสอย่างเรา เพราะการเป็นคนเก่งไม่ได้ช่วยการันตีว่าคุณจะประสบความสำเร็จเลย”

 

The Siam: ทำไมพี่น้อยและครอบครัวตัดสินใจทำโรงแรมอย่างเดอะสยาม

 

Airbnb: ในช่วง What’s Your Take On ที่เราให้เกสต์เลือกถกหนึ่งประเด็น ที่จริงงานนี้พี่น้อยขอพูดสองประเด็นเลย นี่คือประเด็นที่สองที่เราตัดออกจากรายการ แต่ไม่ได้ทิ้ง

 

Trump: หนึ่งสิ่งที่พี่น้อยชอบเกี่ยวกับประธานาธิบดีทรัมป์

 

Why can’t we fly faster?: หนึ่งสิ่งที่พี่น้อยไม่เข้าใจว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ทำไมไม่พัฒนาเสียที

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising