×

เทยนักสิทธิมนุษยชน: ต่อสู้เพื่อความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนเป็นคนอย่างเท่าเทียม

23.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
04.20 รู้ตัวว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศตั้งแต่เด็ก
07.53 โดนกระทำในวัยเรียน
15.04 เริ่มทำงานโรงงาน
16.03 เข้าคอมมูนิตี้และเริ่มทำงานภาคประชาสังคม
24.06 สู้เพื่อสิทธิการแต่งกายของคนข้ามเพศ
31.07 เรียกร้องเพื่อความเหลื่อมล้ำ
39.37 อยากเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายไหม

 

หากมองด้วยตาเปล่า ตรงหน้าเราคือผู้หญิงคนหนึ่ง จนเมื่อเธอเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองให้เราฟัง

 

นาดา ไชยจิตต์ คือผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นนักกฎหมาย ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำของชนชั้นแรงงาน Sex Worker กลุ่มชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางเพศ ที่กว่าจะเป็นนักสิทธิมนุษยชนอย่างในปัจจุบัน เธอได้ผ่านเรื่องราวการถูกเลือกปฏิบัติเพราะความไม่เข้าใจในเรื่องเพศสภาพตั้งแต่จำความได้ ทุกอย่างค่อยๆ หล่อหลอมให้เธอเข้มแข็งและเป็นปากเป็นเสียงเรียกร้องให้ความหลากหลายของมนุษย์อย่างทุกวันนี้

 

ก่อนที่จะมาเป็นนักสิทธิมนุษยชน เรียกร้องสิทธิ์ให้กลุ่มคนที่หลากหลายในสังคม ย้อนกลับไปชีวิตในวัยเด็กเติบโตมาอย่างไร

เอาจริงๆ เลยคือไม่คิดว่าจะกลายมาเป็นนักสู้เรื่องสิทธิ์ นักปกป้องสิทธิ์ ไม่เคยคิดเลย เราเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัว พ่อแม่มีลูกทั้งหมด 4 คน เราเป็นคนสุดท้อง ทั้งบ้านเป็นผู้ชายหมดเลย แล้วมีเราเกิดมาเป็นกะเทยอยู่คนเดียว เรารู้ตัวเร็วกว่าคนอื่น เราจำความได้ตอนเกือบ 3 ขวบ ยังไม่เข้าอนุบาลเลย จำได้ว่าแม่มีกระบะผ้ากระบะหนึ่ง แล้วมีกางเกงในที่มีระบายบานออกมาเหมือนกระโปรงบัลเลต์ เราเห็นปุ๊บแล้วเรารู้สึกว่ามันคือของฉัน เลยหยิบมาใส่แล้วแม่มาเห็น เราก็บอกแม่ว่าไปเดินเล่นกันรอบหมู่บ้าน คนกรุงสมัย 30 กว่าปีที่แล้วตอนเย็นเขาจะชอบเดินเล่นรอบหมู่บ้านกัน นั่นคือครั้งแรกที่เรารู้ว่าโลกมีหลายเพศ มันเกิดจากการที่พอเราเดินออกจากบ้านก้าวแรก เพื่อนบ้านก็พูดว่า ‘เฮ้ย เป็นตุ๊ดเหรอ’ สมัยนั้นหนังเรื่อง Tootsie ดัง ตอนนั้นตุ๊ดซี่คือแย่ น่าเกลียด เรามองหน้าแม่แล้วแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เลยรู้สึกว่ามันโอเค แต่ส่วนหนึ่งเราคิดว่าแม่คงคิดว่าเดี๋ยวเราก็หาย เด็กมันคงอยากเรียนรู้ แต่หารู้ไม่ว่าดิฉันได้ประทับร่างความเป็นหญิงของฉันเรียบร้อยแล้ว จากการใส่กางเกงในที่มีระบายเหมือนบัลเลต์ตัวนั้น

 

เรียกได้ว่าตั้งแต่โตมา ที่บ้านค่อนข้างเปิดให้ทำตามอย่างที่ต้องการหรือเปล่า

เอาจริงๆ แล้วไม่เลย พอครั้งนั้นก็ติด อยากจะใส่อีก แต่เราก็พบว่าครั้งต่อมามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น พอดีพ่อรับราชการ นานๆ ทีได้เจอกัน แล้ววันนั้นพ่อจะกลับมา แม่บอกเราว่าใส่ไม่ได้แล้วนะลูก พอพ่อกลับบ้านมาเราก็รู้สึกว่าทำไมต้องกลัวคนๆ นี้

 

โตมาเรื่อยๆ ถามว่าเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์กับเพื่อนในแง่ของการยอมรับไม่ดีเลย ไม่มีความราบรื่น สมัยนั้นใครเห็นเราเป็นแบบนี้เขาก็เรียกอีตุ๊ด อีกะเทย อีขี้แย

 

ไม่มีเพื่อนจับแก๊งด้วยกันหรือคะ

ไม่มีค่ะ ยุคเราอย่าพยายามจับกลุ่มเข้าหากันเลย เราเรียนโรงเรียนสหศึกษามาตลอด เราไม่ได้อยู่ในยุคที่มาจับกลุ่มกันเถอะ ตอนนั้นยิ่งจับกลุ่มยิ่งเป็นเป้าสายตามาก

 

อย่างนี้ไม่เก็บกดหรือคะ

เอาตรงๆ เราเป็นคนเก็บกดมาก เพราะว่าพอเราเริ่มโต พ่อเราก็จะรู้สึกไม่ไหวกับเรา เด็กๆ ยังพอทำเนา มีบ้างที่โวยวาย เขาจะให้เราดูต่อยมวย เราไม่อยากดูเลย การ์ตูน Gundam สู้รบกันก็ไม่ให้เราดู เพราะเข้าใจว่าเราอยากจะไปดูตัวผู้หญิง

 

เป็นอย่างนี้จนถึงอายุเท่าไรถึงแสดงความคิดอิสระทางเพศของตัวเองได้คะ

จริงๆ ช่วง ม.ต้นก็เริ่มเก็บไม่ไหวแล้วค่ะ ทะเลาะกับที่บ้านทุกวันเรื่องพฤติกรรม ร่างกายเราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนึ่งที่เราไม่เหมือนผู้ชายเลยเพราะว่าเราเกิดเหมือนเป็นกะเทยธรรมชาติ ฮอร์โมนเรามันไปหมดเลย แล้วเราเริ่มต่อสู้ทางความคิดกับพ่อแม่เยอะขึ้น เรารู้สึกว่าเต้านมโตข้างเดียว เกิดอะไรกับเรา เราไม่สามารถคุยกับใครได้เลยว่าเราเป็นใคร ซ้ำร้ายยังถูกเพื่อนที่เป็นกะเทยที่โรงเรียนไล่ตีอีก เพราะว่าทำไมมึงเหมือนผู้หญิง ทำไมมึงดูเนียน ทำไมมึงแอ๊บเรียบร้อย พอกลับมาที่บ้านก็เจอสถานการณ์ไม่แตกต่างกัน เขาคอยจับจ้องเรา ทุกคนในบ้านมาแอบขโมยไดอะรีเราไปถ่ายเอกสาร แล้วไดอะรีเป็นที่เดียวที่ใช้ระบายความรู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิง

 

จนมาถึงจุดแตกหักตอนจบ ม.6 แล้วเราไม่สามารถทนอยู่ได้ในสภาพร่างกายนี้ เริ่มไว้ผมยาว เราเริ่มแต่งตัวยูนิเซ็กซ์ที่ค่อนไปทางผู้หญิงมากขึ้น ทะเลาะเบาะแว้งกันใหญ่โต เรายอมรับว่าเคยฆ่าตัวตาย แล้วผลจากการฆ่าตัวตายก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนของครอบครัว

 

ตอนนั้นเป็นผลของฮอร์โมนที่ไม่สมดุล เพราะจากการเป็นกะเทยธรรมชาติ เราจะไม่สบาย ขี้โรคบ่อยๆ แล้วพอเราเอ็นทรานซ์ไม่ติด ความกดดันที่เราแบกมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งจบ ม.6 ปกติการเอ็นทรานซ์ติดคือได้ไปต่อ แต่พอเอ็นทรานซ์ไม่ติดก็ไม่มีอะไรมาปกป้องเราแล้ว มันดีเพรสจนเราฆ่าตัวตายเลยต้องถูกส่งไปพบจิตแพทย์ จริงๆ ถูกส่งไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่ ม.ปลาย แล้วเพราะเราดูซึมเศร้าชัดเจนมาก และยาที่เขาให้เรามายิ่งทำให้ดูซึมทั้งวัน คิดอะไรไม่ได้ ช้าไปหมด วันนั้นจำได้ว่าไปรับยาแล้วทะเลาะกับพ่อ เขาเหมือนใช้ให้เราไปทำอะไรอย่างหนึ่งแล้วเราไม่พร้อมจะไปเพราะฤทธิ์ยาทำให้เรากลัว ไม่กล้าเผชิญโลกข้างนอก เราเมาๆ เบลอๆ แล้วเขาก็บอกว่าเราเป็นคนที่ไร้ประโยชน์มาก เป็นกะเทยแล้วยังไร้ประโยชน์อีก มันเหมือน พรึ่บ!  ขาดเลย เราแกะเม็ดยามานับ เขาบอกว่าฆ่าตัวตายให้นับ 1 ถึง 100 เมื่อคืนกินไปแล้วเม็ดหนึ่ง เลยแกะกินอีก 99 เม็ด เรารอดมาได้ แต่เราฆ่าตัวตายถึง 4 ครั้ง แต่ที่เล่าเพราะอยากจะบอกว่าเราเชื่อว่ามีชีวิตคนข้ามเพศในประเทศไทยที่ต้องเผชิญสถานการณ์แบบนี้ แล้วเราโชคดีที่เราไม่ตาย เหมือนมีเมสเสจบางอย่าง

 

เรารู้สึกว่าพระเจ้าไม่ได้สร้างมาให้เราตายไปแน่ๆ มันต้องมีวัตถุประสงค์บางอย่างที่ทำให้เราเกิดมา เรารู้สึกว่าเอาละเว้ย 4 ครั้งไม่ตาย กูจะไม่ฆ่าตัวตายอีกทั้งชีวิตนี้ ไม่ว่าจะตกต่ำขนาดไหนก็ตาม นี่คือสิ่งที่บอกกับตัวเอง

 

แต่สุดท้ายก็ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยใช่ไหมคะ

ก็เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยหนึ่ง ตอนนั้นพยายามจะทำยังไงก็ได้ให้เราเข้มแข็งให้ได้ ปีแรกๆ ไม่ค่อยได้ไปเพราะกลัวคนรู้ ผมกำลังยาวแล้วเวลาไปสอบเราก็จะต้องปวดหัวกับกรรมการคุมสอบ เพราะเขาจะถามว่าเป็นผู้หญิงทำไมถึงไม่ใส่กระโปรงมาสอบ เราเลยบอกว่าในบัตรประชาชนเราเป็นผู้ชายครับเลยต้องใส่กางเกงมา เขาเลยถามว่า ‘เป็นกะเทยเหรอ’ แบบโหวกเหวกโวยวายทุกครั้งที่สอบ เทอมหนึ่งเรียน 7 ตัว ก็ต้องเจอแบบนี้ 7 ครั้งต่อเทอม เลยหาอะไรผ่อนคลายในมหาวิทยาลัย เลยพบว่ามีชมรมกีฬา เราชอบเทควันโดมากเลยไปเล่น เวลาเราไปเล่นเราก็ต้องแอบซ่อนเพราะกลัวคนรู้ เราต้องโกหกเขาว่าเราเป็นผู้หญิง แต่พอขึ้นปี 2 มันมีน้องรุ่นมาใหม่ ความเป็นกะเทยยิ่งชัด แล้วยิ่งบอกว่าเราเป็นผู้หญิง เราก็ไม่สุงสิงกับน้องกะเทยมากเกินไป เราเห็นว่าตอนรับน้อง น้องเขาถูกปฏิบัติอย่างไรบ้าง ยังจำภาพตอนที่เขาโดนรุ่นพี่เล่นงาน ลากไปอยู่ตรงลานหน้ามหาวิทยาลัยแล้วเอามือล้วงเข้าไป เราก็ฉิบหายแล้ว ถ้าเป็นเราแล้วเขารู้ความจริงเขาคงทำร้ายเรามากกว่านี้

 

แต่ก็รอดมาได้ใช่ไหม

รอดมาได้แต่ก็ไม่ราบเรียบ คือมีคนพยายามจะสร้างเรื่องว่าไปแอบดูเรามาแล้ว ‘มันยืนฉี่ ยาวมาก อุบาทว์จริงๆ’ ทั้งที่เราไม่ยืนฉี่มาตั้งแต่ ป.3 เพราะเรารู้สึกว่าการนั่งฉี่คือความเป็นผู้หญิง มันคือเรื่องโกหกเลยค่อยๆ ปลีกตัวเองออกมา ตอนนั้นมีเพื่อนมาช่วยเราให้เราไปทำงานกับแม่เขาให้เข้าไปทำงานที่โรงงานผลิตอาหารนมแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าทำโรงงานอยู่ประมาณปีหนึ่ง เราก็เริ่มเห็นช่องทางเพราะเขาประกาศรับสมัครตำแหน่งประจำ แต่พอไปสมัครเขาบอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นตำแหน่งของผู้หญิง คำนำหน้านามต้องเป็นนางสาวถึงจะสมัครได้ แล้วอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นคนดูแลแยม ในโยเกิร์ตต้องมีแยมใส่อยู่ก้นขวดใช่ไหม เขาก็บอกไม่ได้อีก ถามว่าทำไมไม่ได้ล่ะ ปรากฏว่าแยมถังหนึ่งมันหนักมาก ประมาณ 10 กิโลกรัม เวลาเอามาตรวจก็ต้องยกทั้งถัง คุณก็ไม่ใช่ผู้ชายแล้ว เราก็อ้าว แล้วฉันจะเป็นใครในพื้นที่ของที่นี่ ตกลงไม่มีทางให้เลือกเลยใช่ไหม เขาบอกว่าไม่มี แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ตอนนั้นเราเริ่มมีอินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน เราเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของการข้ามเพศ จนไปเจอเว็บบอร์ดที่เป็นศูนย์รวมคนข้ามเพศของคนในโลกออนไลน์ในยุคสมัยที่เว็บบอร์ดเหมือนพันทิปยังดังมาก ยังไม่มีเฟซบุ๊กในเมืองไทย

 

ยังไม่มี Palm-Plaza ใช่ไหม

ตอนนั้นมีปาล์ม อ่านเล้าเป็ด อ่านนิยายวาย แต่เราเข้าเว็บ Thai Ladyboys มีสมาชิกประมาณ 4,000-5,000 คน เราได้เจอเพื่อน 2-3 คน ที่ทำงานในสายงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เราเข้าไปอยู่ในเว็บบอร์ด 3 วัน เขาเจอประสบการณ์การเลือกปฏิบัติเหมือนเราจากที่ทำงาน เขาถูกล้อ พ่อแม่เขาไม่ยอมรับ อ่านแต่ตัวอักษรไม่เห็นหน้าเขา เขาคือผู้หญิงคนหนึ่งในสายตาเราเลย เราไม่รู้สึกว่าเขาเป็นอื่นเลย เลยเริ่มเปิดใจสมัครเป็นสมาชิก และเริ่มทำงานจนตอนนั้นพอมาเจอกับคนที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ตอนนั้นมีศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ศูนย์ซิสเตอร์พัทยา เราก็เลย เฮ้ย มีงานอย่างนี้ด้วย มีงานที่มีเกียรติภูมิ มีคนเคารพนับหน้าถือตาได้ช่วยเหลือสังคม เรารู้สึกว่ามันดีจัง ก็เลยเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครก่อนที่สมาคมฟ้าสีรุ้ง จนเขาเห็นหน่วยก้านว่าโอเค เขาเลยชวนว่าสนใจจะมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามไหม มาดูแลชุมชนคนข้ามเพศที่เราคุ้นเคยนี่แหละ

 

ตอนนั้นเป็นอาสามัครของฟ้าสีรุ้งเป็นอย่างไร มีประสบการณ์ประทับใจอะไรบ้าง

ตอนนั้นจำได้ว่าเริ่มเข้าไปอบรมศาสตร์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เรารู้ว่าเพศมันไม่ได้รวมเป็นก้อนเดียว แล้วมันเป็นการพูดถึงมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตอนนี้เปลี่ยนเป็นมาตรา 27 เดิมคือมาตรา 30 พูดถึงเรื่องบุคคลย่อมเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย ห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ​ เชื้อชาติ​ ศาสนา การศึกษา ชาติพันธุ์ ความคิดทางการเมือง แล้วเพศเราได้มีโอกาสทำงานรณรงค์กับเขา ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นข่าวหน้าหนึ่ง คือมีกะเทยคนหนึ่งไปเที่ยวผับแล้วการ์ดบอกว่าไม่ให้เขา ที่นี่ห้ามกะเทยเข้า เขารู้สึกว่าถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากเลยมาเดินเรื่อง ในยุคนั้นเริ่มมีองค์กรรัฐที่ทำงานเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิคือสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขาไปร้องเรียนเราก็เลยไปทำงานกับเขา เรื่องของเขาเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องจนกระทั่งสมาชิกสภารัฐธรรมนูญประกาศเจตนารมณ์ของมาตรา 30 ออกมาว่า คำว่าเพศ หมายรวมถึงเพศสภาพ และอัตลักษณ์ทางเพศด้วย มันจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยปกป้องสิทธิ์ของเรามาตลอด เวลาเรามีเรื่องร้องเรียน

 

สุดท้ายแล้วคุณก็กลับไปเรียนอีกครั้งหนึ่ง แต่ทราบว่าก็เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเลือกปฏิบัติเหมือนเดิม อยากให้เล่าให้ฟังหน่อย

ตอนไปเรียนเขาก็ไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร แต่อาจารย์ที่สัมภาษณ์เขาจะรู้อยู่คนหนึ่ง ตอนนั้น คุณนก ยลดา ดังมากจากสมาคมสตรีข้ามเพศ​ เรารู้จักพี่นกมานาน เคยทำงานอยู่ด้วยกันมาก เรียนเป็นภาคพิเศษ แต่ว่าชั่วโมงการเรียนเรียนเหมือนภาคปกติ เพราะหลักการเรียนนิติศาสตร์ต้องผ่านสภาทนายความ ผ่านเนติบัณฑิตเป็นคนกำกับหลักสูตร เพราะฉะนั้นเป็นหลักสูตรมาตรฐานเดียว

     

เรียนภาคพิเศษต้องไปเรียนกับทหาร ตำรวจ ไม่ขอเล่าว่าเผชิญกับสถานการณ์อะไรบ้างในตอนเรียน แต่อยากจะบอกว่าเป้าหมายของการเรียนเพื่อที่จะต่อสู้เรื่องสิทธิ์ของตัวเองให้เกิดมาตรฐานใหม่ในแวดวงนิติศาสตร์ของประเทศว่าคนข้ามเพศก็สามารถเป็นทนายความได้ อาจจะเป็นอัยการ ผู้พิพากษาก็ได้ในอนาคต เราไม่รู้ แต่ตอนนี้ถามว่ามีคนข้ามเพศจบนิติศาสตร์ไหม มีเกย์ไหม มีเลสเบี้ยนไหม มี แต่คนข้ามเพศหรือกะเทยเขาไม่สามารถยืนอยู่วงการนี้ได้ เราบอกว่าเราไม่เชื่อว่าจะเป็นไปไม่ได้ในยุคของเรา เลยตัดสินใจมาเรียน

     

ปัญหามันมาเกิดขึ้นกับตัวเองตรงที่ว่าตอนเรียนจบ ยื่นรูปถ่ายพร้อมกับขอออกเอกสารใบรับรองคุณวุฒิ ซึ่งต้องติดรูปถ่ายเพื่อบอกว่าเอกสารฉบับนี้เป็นของคนที่อยู่ในรูป ตอนถ่ายรูปเขาก็ถามว่าจะเอายังไง ถ่ายเผื่อด้วยหญิงด้วยชายด้วย เราบอกว่าไม่เผื่อ ถ่ายหญิงเท่านั้น เราก็ไปยื่น จนกระทั่งผ่านไป 2 เดือน ทุกคนได้เอกสารหมดแล้ว ปรากฏมีผู้ประสานงานคณะโทรมาบอกว่าให้เราเข้าไปที่มหาวิทยาลัย มีปัญหานิดหน่อยเพราะงานทะเบียนบอกไม่สามารถออกเอกสารให้เราได้ เพราะรูปถ่ายไม่ตรง ‘ไม่ตรงอะไรคะพี่’ เราถามกลับไป เขาบอกว่ารูปถ่ายไม่ตรงคำนำหน้านาม เราก็เลย ‘อ้าว ทำไมหรือคะ’ เราพยายามจะไปต่อรองกับเขา ไปต่อรองจนเขาใจอ่อนมาก เขาพร้อมจะช่วยเรา แต่เขาไม่สามารถจะออกให้ได้ คือเขาพร้อมจะอำนวยความสะดวกเรื่องประสานงานให้ว่าเราต้องไปคุยกับใคร เขาช่วยเราติดต่อกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทำเรื่องกับกองกิจการนิสิต ไปทำเรื่องมากมายก่ายกอง เราพยายามทำอย่างไรก็ได้ แล้วตอนนั้นมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้โอกาสเราไปเป็นเหมือนผู้ช่วยประจำตัว แต่เราขาดอยู่อย่างเดียวคือเอกสารใบรับรองคุณวุฒิว่าเราจบปริญญาตรีนิติศาสตร์มา มันไม่ได้ มันไม่มีอะไรไปยื่น แม้แต่ตั๋วทนาย ใบอนุญาตว่าความ เราก็สมัครไม่ได้เพราะใช้เอกสารหมดเลย แต่เอกสารไม่มี เราเคยคิดจะช่างมันค่อยไปสู้ตอนไปขอใบอนุญาตว่าความ อย่างไรก็ต้องไปไฟต์กับสภาทนายความ ปรากฏว่าเราคิดผิด เพราะว่าถ้าเรายอมพ่ายแพ้ตั้งแต่ตอนนั้น ไปที่ไกลกว่านี้เขาไม่ยอมเหมือนกัน เลยตัดสินใจว่าจะสู้

     

เราทำงานอยู่ 2 ส่วน ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศออกมาแล้ว เราเลยไปคุยกับมหาวิทยาลัยก่อนว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยเราอย่างไรได้บ้าง เราเลยไปเขียนคำร้อง

     

สังคมเราเวลาอยากได้อะไรคือมักจะทำอยู่ 2 อย่าง คือ Naming กับ Shaming บอกว่าไอ้นั่น ไอ้นี่ เลวอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ มันเลยทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น

     

เราแค่เห็นไม่ตรงกัน แต่ยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การทำงานก็ดี เรามักจะเห็นคนที่อยู่ตรงข้ามเราเป็นศัตรู ซึ่งผิด เราต้องมองให้ออกว่าอะไรคือปัญหา ในกรณีนี้ปัญหาคือระเบียบไม่ใช่คน ระเบียบมาครอบให้คนทำ ในเมื่อระเบียบมันบอกว่าเราต้องแต่งกายตามเพศ คำนำหน้าเป็นอะไรต้องแต่งตามนั้น เราต้องระบุไปให้เห็นเลยว่าระเบียบผิด แต่คนที่จะมีอำนาจช่วยเหลือเราเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากงานนี้บ้าง เราเลยเขียนคำร้องลักษณะที่บอกว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน และถ้าเกิดแก้เขาจะได้รับข้อดีอย่างไรบ้าง มหาวิทยาลัยเรามีศูนย์นิสิตคนพิการ มหาวิทยาลัยเราดูแลผู้สูงอายุ คนชาติพันธุ์เพราะตั้งอยู่เขตภาคเหนือ นักเรียนที่เป็นชาติพันธุ์ไม่มีสัญชาติก็สามารถเข้ามาเรียนได้ มหาวิทยาลัยจะได้อะไรจากการคุ้มครองความเสมอภาคระหว่างเพศ ปรากฏมหาวิทยาลัยซื้อ ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากได้ ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป กฎหมายมันไม่ทันสมัยต่อยุคที่เปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันถามว่าเรายอมอ่อนข้อให้ทันทีไหม ไม่ เราบอกว่าเรายื่นคำร้องตาม พ.ร.บ. ไปแล้วเพราะเราอยากช่วยมหาวิทยาลัย กลัวมหาวิทยาลัยทำไม่สำเร็จหรือมีอุปสรรค เรารู้ว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราใช้คำร้องนี้เลย คำวินิจฉัยมีผลผูกพันตามกฎหมายเปรียบเสมือนคำพิพากษาของศาล ก็เลยได้วินิจฉัยออกมาเป็นกรณีแรกของประเทศจากการใช้ พ.ร.บ. นี้ เพื่อจะบอกว่าระเบียบทั้งบังคับให้คนข้ามเพศแต่งกายตามเพศกำเนิดนั้นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และผิดต่อ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น

 

 

ทีนี้เหล่าน้องๆ ของเราก็สามารถใส่กระโปรงรับปริญญาเรียบร้อยแล้วไม่ว่าอยู่มหาวิทยาลัยอะไรก็ตาม ถูกไหมคะ

ค่ะ เพียงแต่ว่ามันเริ่มจากมหาวิทยาลัยพะเยาก่อน เราก็จะเอาผลนี้ไปทำงานกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยังไม่อนุญาต เดิมทีอย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเมื่อก่อนจะต้องมาให้หมอ ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้เกิดมาไม่เคยเจอเลย มาบอกว่าคนนี้มีความผิดปกติในการรับรู้เพศของตัวเอง ไม่ รับรู้ดีมาตลอดเลยว่าเป็นเพศอะไร แล้วเอาใบรับรองแพทย์ไปยื่น ซึ่งมันไม่ใช่

     

มนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิ์จะบอกว่าเราเป็นใคร คนชาติพันธุ์ควรมีสิทธิ์จะบอกว่าตัวเองเป็นใคร เป็นคนกะเหรี่ยง ม้ง ไทใหญ่ คนไทย คนใต้ คนเหนือ เป็นชาย หญิง กะเทย ทอม เลสเบี้ยน ดี้ ทุกคนควรจะบอกได้หมด

 

มันเป็นหลักกฎหมายสากล ทุกคนยอมรับ เพราะฉะนั้นมันควรจะเริ่มจากการบอกตัวเองต่างหาก Self Determination คือการที่จะบอก กำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ฉันเป็นผู้หญิงคุณก็ต้องเห็นฉันเป็นผู้หญิง กฎหมายบอกแล้วว่าคุ้มครองคนที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ฉันนี่แหละแสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดชัดเจนมาก ไม่มีอะไรที่คุณจะไม่คุ้มครองและรับรองฉัน พอยต์มันคือเรื่องนี้

 

ปัจจุบันนี้หลักๆ ที่คุณดูแลให้เกิดความเสมอภาคกันคือเรื่องอะไรบ้าง

โดยภาระของงานที่รับผิดชอบอยู่ เราก็เป็นนักกฎหมาย เราก็จะช่วยดูประมาณ 3-4 งานที่เรารู้สึกว่าตรงที่สุด งานแรกคือเรื่องแรงงาน เรารู้ว่าประเทศนี้มีแรงงานทั้งในและนอกระบบประมาณ 38 ล้านคน เกินครึ่งหนึ่ง มีตั้งแต่แรงงานแรกรับ คือเข้ามาอยู่ในระบบแรงงานเลย ทำอะไรไม่เป็นเลย เขาให้ทำอะไรก็ทำ จนถึงแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ถ้าอยู่ในระบบคือมีสังกัด มีประกันสังคม ตั้งแต่แรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์​ ยานยนต์ต่างๆ จนถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานธนาคาร ส่วนแรงงานนอกระบบอย่างเช่น แม่ค้าขายข้าวแกง ภาคเกษตร มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พวกนี้คือแรงงานทั้งหมดแต่เขายังไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมในเรื่องของค่าจ้างและค่าตอบแทนได้ เพราะเรารู้ว่าชีวิตของเขาไม่มีความมั่นคง ถ้าเราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความมั่นคง เราจะทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้มีความมั่นคงได้อย่างไร ทุกวันนี้แรงงาน 38 ล้านคนทำให้ชีวิตเจ้านาย บริษัท นักลงทุนมีความมั่นคง แต่ชีวิตเขาไม่มีความมั่นคงเลย ถ้าบริษัทเจ๊งก็ไม่มีความมั่นคงไปอีก เรารู้สึกว่าทำไมมันเหลื่อมล้ำขนาดนี้ เราจะพูดว่าทำอย่างไรเขาจะเข้าถึงค่าจ้างและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม คำว่าค่าจ้างค่าตอบแทนที่เป็นธรรมไม่ได้หมายความว่าอย่างที่เป็นข่าวล่าสุด เรียกร้อง 700 บาทต่อวัน อาจไม่ถึงขั้นนั้น แต่ทำอย่างไรให้ตามหลักแล้ว คน 1 คน หามาได้แล้วเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงคนข้างๆ และเลี้ยงลูกได้ มันถึงจะพอ ทุกวันนี้ BTS เที่ยวละ 42-44 บาท ไปกลับก็เกือบ 100 บาทแล้ว มันคืออะไร ทั้งๆ ที่เขาต้องยืนขาแข็งไปทำงานเพราะต้องนั่งรถเมล์ 2 ชั่วโมง บ้านอยู่ห่างจากที่ทำงาน บางคนไม่มีทางเลือก เรากำลังจะบอกว่าถ้าเราสามารถทำให้รัฐบาลเห็นได้ว่าตัวเองมีพันธกรณีอะไรที่สามารถจะช่วยเพื่อให้แรงงานเข้าถึงความเป็นธรรมตรงนี้ได้

     

อีกเรื่องหนึ่งที่สนใจส่วนตัวคืออาชีพพนักงานบริการทางเพศ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศนี้มีคนทำงานที่เรียกว่า Sex Worker อยู่ เรารู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เรารู้ว่าเขาอยู่ในระบบบริการแบบไหน เรารู้ว่าเขาเป็นองคาพยพสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยวยามค่ำคืน ไม่ต้องบอกหรอกว่าเม็ดเงินที่ดึงเข้ามามันมากมายขนาดไหน ที่สำคัญก็คือว่างานของเขาคนมักจะไปโฟกัสที่เขาไปมีเพศสัมพันธ์กับใคร แต่งานภาคบริการตั้งแต่เอ็นเตอร์เทนลูกค้า อาชีพนี้ไม่แตกต่างจากนักจิตวิทยาเลย ต้องผ่อนคลาย ต้องสร้างความสุขให้ลูกค้า ต้องทำหลายอย่างมาก บางครั้งเขาอาจจะไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศกันก็ได้ เขาอาจต้องการใครสักคนที่เข้าใจและฟังเขา โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องจดจำ วันรุ่งขึ้นก็จะหายไปผ่านไป แต่เราไม่ยอมรับงานเหล่านี้ เรามองว่าเป็นงานที่ผิดศีลธรรม แต่ว่าคนเหล่านี้ถูกรีดไถ โดยอาศัยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมตลอดเวลา เช่น พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณี พัทยานี่กะเทยโดนทุบโดนตี แค่รู้ว่าเป็นกะเทยก็โดนแล้ว เวลาไปจ่ายค่าปรับจะมีเอกสารบอกว่าทำตัวไม่เป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว กีดขวางการจราจร เตร็ดเตร่ อะไรแบบนี้ ซึ่งเตร็ดเตร่ค้าประเวณีข้อหานี้มันไม่มีแล้ว แต่ยังถูกเอามาใช้อย่างสม่ำเสมอ มีการล่อซื้อและอีกหลายอย่างมากที่เรารู้สึกว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่คนที่ทำอาชีพนี้จะต้องทำงานได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตอนนี้จริงๆ เอาแค่ทำให้กฎหมาย พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณี มันบังคับใช้ผิดที่ผิดทาง ก็เพียงพอที่จะทำให้คนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นเรื่องที่จะต้องทำงานกันต่อไป

     

สุดท้ายเรื่องที่ไปทำคือเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าที่เป็นผู้หญิง เรามองว่าผู้หญิงในสังคมบ้านเรา สิทธิ์กับเสียงก็น้อยอยู่แล้ว พอมาบวกกับความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของเขาที่รัฐไม่ยอมรับ ทำให้เสียงของคนยิ่งน้อยลงไปใหญ่เลย และในวัฒนธรรมท้องถิ่นของเขาที่ผู้ชายมีอำนาจตัดสินใจสูงมาก แล้วผู้หญิงไม่มี เรารู้สึกว่าถ้ามีโอกาสได้ช่วยเหลือเขาให้เขาเข้าถึงศักยภาพที่เขามี ใช้กฎหมายที่รัฐบาลผูกพันมาเป็นตัวทำงาน น่าจะช่วยให้เขามีสิทธิ์มีเสียง กำหนดวิถีชีวิตตัวเองได้ดีขึ้น เราเป็นกะเทยยังอยากกำหนดสิทธิ์ชีวิตตัวเอง เขาเป็นผู้หญิงชนเผ่าคนน่าจะมีสิทธิ์กำหนดชีวิตตัวเองได้เหมือนกัน

 

 

 

ทั้งหมดที่ทำหัวใจของมันคือการทำเรื่องความเหลื่อมล้ำหมดเลย มีอะไรอยากจะสื่อสารผ่านสื่อตรงนี้บ้างไหม

อยากจะบอกว่าความเท่าเทียมมันเริ่มจากตัวเราเป็นลำดับแรก ตระหนักกับตัวเองก่อนว่าเรายอมรับความเป็นตัวตนของเราได้หรือยัง มองเห็นว่าเราเป็นคนที่เท่าเทียมกับคนอื่นหรือยัง เช่น เราเห็นความเป็นกะเทยของตัวเองในความเป็นคนของเราหรือยัง เราไม่ชอบคำพูดหนึ่งที่พูดกันว่า ไม่ต้องพูดถึงความเป็นกะเทยหรอก ก็เป็นคนเหมือนกัน เราอยากจะบอกว่าไม่ใช่ คุณต้องบอกให้ได้ว่ากะเทยคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ อย่าบอกว่าห้ามพูดถึง แต่ให้มองที่ความเป็นมนุษย์ เราอยากจะเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ พยายามจะก้าวข้ามปัญหาคือการบอกว่าเป็นคนเหมือนกัน ใช่ แต่ความเป็นคนของฉันคือความเป็นกะเทย

 


 

Credits

The Host นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ

The Guest นาดา ไชยจิตต์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Music Westonemusic.com

FYI
  • Thai Ladyboys คือเว็บไซต์คอมมูนิตี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่าง LGBT ซึ่งตอนนั้นไอเดียเรื่องผู้หญิงข้ามเพศยังไม่แพร่หลายเท่าในปัจจุบัน ถือเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกะเทยในลำดับแรกๆ ปัจจุบันปิดตัวลงแล้ว
  • Palm-Plaza คือเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของ LGBT ยุคเดียวกับ Thai Ladyboys มีการแยกเป็นหมวดหมู่ชัดเจนตั้งแต่กอสซิป เพลง ดารา นิยาย จนถึงภาพจากนิตยสารระดับฮาร์ดคอร์ซึ่งต้องมีการสมัครสมาชิกก่อนใช้บริการ ถือเป็นเว็บไซต์สำคัญของเหล่าเทยไทยก่อนที่เฟซบุ๊กจะแพร่หลายก็จะมาสุมกันอยู่ที่นี่ ศัพท์แสงกะเทยหลายคำก็เกิดจากที่นี่เช่นกัน เช่น เมื่อมีการเมาท์เรื่องบางเรื่องแล้วดูเกินจริงมากไป ก็จะมีคอมเมนต์ทำนองว่า ‘นิยายเชิญห้องข้างๆ ค่ะ’
  • เล้าเป็ด คำใช้เรียกเว็บไซต์ Thaiboyslove ซึ่งเป็นเว็บโพสต์นิยายวายแรกเริ่มของเมืองไทยก่อนจะวายกันทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดนี้
  • ข่าวการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาไม่ต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดของนาดาเป็นที่สนใจของสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ข่าว ยกระดับ! ม.พะเยารับรองอัตลักษณ์ ‘นิสิตข้ามเพศ’ คนแรก เผยมียื่นขอกว่า 10 ราย จากหนังสือพิมพ์มติชน https://www.matichon.co.th/news/421066
  • และบทสัมภาษณ์จากสำนักข่าว Reuters In LGBT ‘paradise’, Thai transgender activist breaks barriers to education https://www.reuters.com/article/us-thailand-lgbt/in-lgbt-paradise-thai-transgender-activist-breaks-barriers-to-education-idUSKBN15204Z
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising