พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อการทำธุรกิจทุกรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจแปรรูปสิ่งเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ใหม่ ที่ต้องพึ่งพาอาศัย Waste จากการอุปโภคบริโภคที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดนี้ ชวน ริน-ศรินทร พันธุ์โสภา
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพอร์เฟ็ค เปเปอร์ จำกัด คุยถึงบทเรียนการบริหารธุรกิจโรงงานกระดาษเพื่อการรีไซเคิลที่อยู่ในธุรกิจมายาวนานกว่า 40 ปี เพื่อให้ทุกธุรกิจ SMEs สามารถปรับใช้ต่อได้จริง
ธุรกิจของ Perfect Paper คืออะไร
เราเป็นบริษัทที่ทำเศษกระดาษเพื่อการรีไซเคิล อธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นก็คือ เศษกระดาษจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษที่ทุกคนใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกระดาษทิชชู กระดาษกล่อง หรือกระดาษแพ็กเกจจิ้งต่างๆ ซึ่งหน้าที่ของ Perfect Paper คือการรับซื้อเศษกระดาษจากทั่วประเทศ จากนั้นนำมาคัดแยกเป็นประเภท อัดเป็นก้อน แล้วก็ส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานรีไซเคิลกระดาษทุกชนิด
แรกเริ่มเดิมที Perfect Paper เป็นธุรกิจของครอบครัวค่ะ ตัวรินเองเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจนี้ได้ 17 ปีแล้ว สมัยก่อนระบบงานทุกอย่างยังเป็นแบบแมนวล เป็นการซื้อมาขายไปปกติ พอได้เข้ามาดูแลเต็มตัว รินก็เริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงบริษัท เนื่องจากธุรกิจของเราก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วย
ภาพรวมของอุตสาหกรรมกระดาษเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในยุคที่ทุกอย่างกำลังไปสู่ความเป็นดิจิทัล
ภาพรวมของธุรกิจกระดาษเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ที่ผ่านมาเคยมีคนพูดบ่อยมากว่าธุรกิจกระดาษกำลังจะตายไปไหม ตายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือเปล่า แต่ส่วนตัวคิดว่าจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ว่าธุรกิจไหนมีความสามารถในการปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า การใช้กระดาษในสื่อสิ่งพิมพ์มันน้อยลงอย่างมากก็จริง แต่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้กระดาษในรูปแบบอื่นๆ ที่มากขึ้นในแง่ของบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ หรือการใช้ภาชนะที่เป็นกระดาษแทนโฟม เป็นต้น
เทรนด์ที่น่าสนใจมากคือตอนนี้ในต่างประเทศเขามีการผลิตโลงศพด้วยกระดาษ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายมาก เพราะต่างประเทศเขาใช้วิธีการฝัง ไม่ได้เผาศพเหมือนบ้านเรา ดังนั้นการผลิตโลงศพด้วยกระดาษจะทำให้มันสลายไปเองโดยธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม
เคยมีคนบอกว่าธุรกิจกระดาษกำลังจะตาย แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ว่าธุรกิจไหนมีความสามารถในการปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่า
ถอดบทเรียนการทำธุรกิจแบบ Circular Economy ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จมีอะไรบ้าง
ลำดับแรกที่อยากจะพูดถึงการลงมือปฏิบัติจริงให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ สิ่งนี้เป็นคำสอนที่ได้มาจากคุณพ่อเลยค่ะ รินมองว่าเราไม่ควรมองข้ามคำแนะนำของผู้ใหญ่ จริงอยู่ที่เราอาจจะได้เรียนรู้อะไรมาเยอะ มีทฤษฎีเยอะแยะมากมายที่สามารถหาอ่านได้ แต่ความรู้จากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้นสิ่งที่คุณพ่อรินสอนมาตลอดก็คือต้องลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอนของการทำงาน เพื่อให้เข้าใจธุรกิจอย่างถ่องแท้
ในระหว่างทางที่ได้ลงมือปฏิบัติสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราเริ่มมองเห็นจุดที่จะพัฒนาขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น การคัดแยกทุกวัน อัดกระดาษออกมาทุกวัน สมัยก่อนอาจจะไม่เคยมีการบันทึกเลยว่าในหนึ่งวันเราผลิตกระดาษออกมาได้กี่กิโลกรัม แต่ตอนนี้เราก็มีการออกแบบฟอร์มเพื่อเก็บข้อมูลว่าได้ผลผลิตต่อวันเท่าไร ขายออกไปเท่าไร และหลังจากนั้นมันก็จะมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จากการเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาในด้านอื่นๆ เช่น การใช้ระบบ GPS กับรถบรรทุก การใช้ระบบการชั่งรถ หรือการควบคุมสต็อก
ทีนี้พอเริ่มมีระบบหลายอย่างมากขึ้น รินก็มองเห็นปัญหาอย่างหนึ่ง แม้จะมีหลากหลายระบบ แต่มันกลับมีช่องว่างของระบบต่างๆ ที่ยังไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งก็เป็นความโชคดีที่รินได้มาเข้าโครงการ Smart Business Transformation ของธนาคารยูโอบี ทำให้เราพยายามที่จะพัฒนาระบบหนึ่งขึ้นมาเพื่อปิดช่องว่างของปัญหานี้ โดยนำ Tech Solutions เข้ามาช่วยมากขึ้น แล้วก็เริ่มพัฒนาระบบ ERP (Enterprise Resource Planning หรือการบริหารทรัพยากรขององค์กร) เล็กๆ สำหรับบริษัทขึ้นมาค่ะ
อีกส่วนสำคัญคือเราต้องเข้าใจลูกค้า ซึ่งคำว่าลูกค้านั้นหมายถึงทั้งฝั่งที่เป็นซัพพลายเออร์ที่มาขายกระดาษให้กับเรา รวมไปถึงลูกค้าที่เราขายกระดาษให้เขาด้วย นั่นคือการทำความเข้าใจเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญมากของ Perfect Paper เลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน Perfect Paper ส่งวัตถุดิบให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานกระดาษทิชชูหลายแห่ง ซึ่งแม้จะเป็นโรงงานผลิตของแบบเดียวกัน แต่ความชอบของลูกค้าก็ไม่เหมือนกัน โรงงานที่หนึ่งอาจจะไม่ชอบกระดาษที่ระบายด้วยสีเทียน เพราะมันเป็น Oil Based ซึ่งเครื่องจักรไม่สามารถกำจัดได้ และอาจทำให้กระดาษมีการปนเปื้อน ขณะที่โรงงานที่สอง เครื่องจักรเขาอาจจะสามารถกำจัดสิ่งเจือปนที่เป็น Oil Based นี้ได้ แต่เขาไม่ชอบวัสดุที่เป็นพลาสติก เพราะมันไปอุดตันตะแกรงเยื่อของเขา เราก็ต้องเอามาวางแผนการผลิตในแต่ละสัปดาห์ว่าเราจะคัดแยกและอัดกระดาษให้กับโรงงานไหนเป็นจำนวนเท่าไร
เมื่อลูกค้ามีความพึงพอใจ สบายใจที่จะซื้อกระดาษจากเรา เวลาเขานึกถึงหรือจะใช้กระดาษ เขาก็จะมีความรู้สึกว่าซื้อของ Perfect Paper ดีกว่า เพราะใช้แล้วขยะน้อย แถมไม่เกิดปัญหา และอยู่ในราคาสมเหตุสมผล ซึ่งเราตั้งใจในทุกกระบวนการเพื่อให้ลูกค้ามีความสบายใจที่จะซื้อของเรา ผลสุดท้ายมันก็จะทำให้ตลาดของเราเดินหน้าต่อไปได้ค่ะ
หัวใจสำคัญของ Perfect Paper คือการทำความเข้าใจลูกค้า เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด
Perfect Paper มีเป้าหมายขององค์กรอย่างไรบ้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เราอยากเป็นเบอร์หนึ่งเรื่องเศษกระดาษทั้งในแง่ของคุณภาพและบริการค่ะ รินอยากให้ทุกคนมอง Perfect Paper ในแง่ของบริษัทที่จะจัดหาเศษกระดาษที่มีคุณภาพและตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างสูงสุด ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ละเลยหรือมองข้ามนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะพัฒนาให้ธุรกิจแตกไลน์ออกไปในสาขาที่กว้างขึ้นด้วย
จะเป็นอย่างไรหากธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น
รินเชื่อว่าโลกจะต้องดีขึ้นมากแน่นอน ทุกคนทั่วโลกกำลังใฝ่ฝันถึง Zero Waste เราต่างกำลังมองไปที่จุดนั้นกันอยู่ ถ้าเกิดทุกธุรกิจรวมถึงภาคประชาชนทุกคนมองไปในเป้าหมายเดียวกัน แน่นอนว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้น ขยะก็จะน้อยลงค่ะ
สำหรับตัวรินเองที่อยู่ในธุรกิจนี้มา 17 ปี ทำให้เจอความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ทั้งในแง่ของความคิดและแพสชัน อาจจะเป็นเพราะเราได้เห็นตัวอย่างจากที่คุณพ่อทำมา แล้วเราได้ลงมือทำกับเขาด้วย รินมองว่าการที่เราได้ลงมือทำเองจริงๆ มันทำให้เกิดไอเดียหลายอย่าง ซึ่งไอเดียนี้มันถูกนำมาต่อยอดในด้านการพัฒนา ถึงแม้มันอาจจะยังไม่ได้ดีที่สุดในตอนนี้ แต่เราก็ตั้งใจว่าจะไม่หยุดพัฒนาค่ะ
Credits
Host อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์, นัทธมน หัวใจ
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Art Director กริน วสุรัฐกร
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster ไชยพร ศิริกลการ
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน