คนทำงานควรปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และพร้อมมีสิ่งใหม่เข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ หรือการโดน Disruption ด้วยเทคโนโลยีในทุกวงการ
เคน-นครินทร์ ถอดแนวคิดเรื่องทักษะแห่งอนาคต ที่จำเป็นกับคนทำงานในแทบทุกสายอาชีพ จากการคุยกับ รวิศ หาญอุตสาหะ CEO แบรนด์ศรีจันทร์ และ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร นักเขียนฝีมือดีเจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง ในรายการ The Secret Sauce
1. ต้องมี ‘ทักษะเฉพาะด้าน’ มากกว่าแค่ ‘ทักษะพื้นฐานทั่วไป’
คุณต้อง-กวีวุฒิ พูดถึงประเด็นนี้ โดยยกตัวอย่างจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เริ่มมีการปรับตัวและมองหากลุ่มคนที่มีทักษะเฉพาะด้านมาร่วมงาน เช่น ตำแหน่ง Data Scientist (นักวิเคราะห์ข้อมูล) หรือ UX และ UI (นักพัฒนาผลิตภัณฑ์) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทักษะพิเศษ ที่หาเรียนได้ยากจากวิชาในรั้วมหาวิทยาลัยทั่วไป
ตัวอย่างนี้กำลังบอกเราว่า ‘คนเก่ง’ ในสายอาชีพแบบเดิมๆ อาจไม่ใช่คนที่องค์กรใหญ่กำลังมองหา และถึงเวลาแล้วที่คนทำงานต้องพัฒนาตัวเองไปอีกขั้นเพื่อความอยู่รอด
ทุกวันนี้ เวลาผมหาคนมาร่วมทีม ผมไม่ได้มองหาคนที่มีทักษะในการปล่อยสินเชื่อ หรือมีความรู้เรื่องของการเงินอะไรมากมาย ที่บอกว่าไม่ได้หา เพราะมันหาง่ายมาก ต่างจากคนที่มีทักษะเฉพาะด้าน และเป็นที่ต้องการตัวมากกว่า
2. อย่าใช้วิธีคิดแบบเดิมกับคนกลุ่มเดิม เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว
หากลองเปรียบเทียบจำนวนคอนเทนต์ของสื่อทุกชนิดกับอัตราการรับรู้ข่าวสารของผู้คน จะเห็นได้ชัดว่ามันไม่สามารถไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสื่อมีมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่พลังในการเสพสื่อของมนุษย์มีไม่มากพอ
จากประสบการณ์ของคุณรวิศ บางแคมเปญที่ปล่อยออกไป จำนวนคนแชร์และกดไลก์ดีมาก แต่สินค้ากลับขายไม่ได้ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว พวกเขากระจายความสนใจหลากหลาย และไม่ได้เสพสื่อทางเดียวอีกต่อไป ฉะนั้นคนทำงานสายนี้โดยเฉพาะวงการเอเจนซีและมีเดีย จึงไม่ควรใช้วิธีคิดแบบเดิมในการป้อนข้อมูลข่าวสารไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย เพราะอาจไม่ได้ผลตอบรับตามที่ตั้งใจไว้เหมือนเดิมอีกแล้ว
คนจะทดลองเสพสื่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอรูปแบบที่ตัวเองชอบ รู้สึกเคยชิน และกลับมาเสพได้อยู่ตลอด ถือเป็นหน้าที่ของคนทำคอนเทนต์ที่ต้องทดลองเพื่อหาจุดยืนข้อนี้ให้ได้
3. ตัดสินใจจาก ‘ข้อมูล’ มากกว่าแค่ ‘ประสบการณ์’
ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มากกว่าแค่อ้างอิงจากประสบการณ์ที่เริ่มมีความน่าเชื่อถือน้อยลง ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงคำว่าข้อมูล (Data) กับการปล่อยผลิตภัณฑ์ใหม่ออกไป องค์กรจะวางแผนไว้ก่อนเลยว่าจะเก็บข้อมูลจากผู้ใช้กลับมาอย่างไรได้บ้าง เพื่อนำมาพัฒนาสิ่งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันเข้ามาเปลี่ยนวิธีจัดการใหม่แทบทั้งหมด ทำให้คนทำงานต้องกลับมาคิดว่าจะให้ความสำคัญกับการประชุมระดมความคิดแบบเดิม หรือควรให้เวลากับการวิเคราะห์ฐานข้อมูลและปรับตามสิ่งที่ได้มามากกว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ผิดพลาด ทดลองซ้ำ จนกว่าจะได้สิ่งที่ดีที่สุดมาตอบโจทย์ลูกค้า
4. ใช้ Design Thinking เพิ่มความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง
Design Thinking ไม่ใช่กระบวนการ แต่เป็นทักษะในการสื่อสารและเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ หลักของมันมีไม่มากแต่ทำจริงยาก คือ เข้าใจลูกค้า คิดนอกกรอบ ลงมือทำ และทำซ้ำวนขั้นตอนเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าจริงๆ
ขั้นตอนเหล่านี้เป็นทักษะในการพูดคุยที่ต้องอาศัยคนที่มีทัศนคติอยากจะเข้าใจปัญหาของลูกค้า โดยไม่รีบตัดสินคนอื่นจากความเชื่อของตนเอง หรือไม่ควรเข้าไปคุยเพื่อแค่คอนเฟิร์มว่าความคิดของตนเองถูกต้องอยู่แล้ว ฉะนั้นคนที่องค์กรมองหาเพื่อมาทำงานในด้านนี้ อาจเป็นเด็กที่เรียนจบมาทางด้านจิตวิทยาหรือสถาปัตยกรรม ซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ดีอยู่แล้ว
หลักการของ Design Thinking คือเราเข้าไปเพื่อเข้าใจปัญหาของลูกค้า ไม่ใช่เข้าไปเพื่อพยายามถามหาทางแก้ไขจากเขา
5. ฝึกกล้ามเนื้อแห่งความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมักไม่ได้มาจากการถูกกระตุ้นหรือบีบบังคับให้คิดทันทีในที่ประชุม แต่เป็นหน้าที่ในการสร้างสภาวะของผู้นำให้บริบทโดยรวมเอื้ออำนวยต่อความอยากในการคิดสิ่งใหม่ๆ ของคนในทีม ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างทัศนคติและฝึกฝนทักษะที่ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Creative Muscle เป็นกล้ามเนื้อเดียวที่อ่อนแอตอนมนุษย์โตขึ้นมา เพราะทันทีที่เข้าระบบการศึกษา จบออกมาเราจะกลายเป็นมนุษย์ตรรกะ ที่พร้อมทำงานในโรงงานทันที
6. มี Mindset ที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะอายุเท่าไรหรือทำงานมาแล้วกี่ปี วิธีคิดที่สำคัญที่สุด คือต้องระลึกไว้เสมอว่าตัวเองยังไม่ค่อยรู้อะไร และควรใส่ใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พยายามหาทางเข้าใจสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้อยู่ทุกวัน ข้อนี้เป็นทักษะที่สำคัญที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะ 5 ข้อแรกที่กล่าวมา
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
The Guests รวิศ หาญอุตสาหะ, กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์