อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของเว็บบอร์ดม่วงที่เป็นต้นทางของความรู้พอๆ กับดราม่า แถมให้กำเนิดศัพท์มากมายอย่าง ต้มมาม่า, ม้า, วิ่งควาย, ปูเสื่อรอ, เผือก, ติดดอย, ดริฟต์, รูปปลากรอบ, ปาหมอน ฯลฯ จากกระทู้หลากหลาย ไม่ว่าจะกระทู้ดัก, กระทู้ด๋อย, กระทู้พลีชีพ ฯลฯ
จากการเล่นกันแค่ในแวดวงคนไอที กลายเป็นแหล่งชุมนุมของคนไทยทั่วโลก และรองรับทุกประเภทความสนใจ อยากรู้เรื่องอะไร ที่นี่มีคำตอบทั้งนั้น หรืออย่างน้อย ก็มีคนพร้อมคุยกับคุณทั้งนั้น
เคน นครินทร์ คุยกับ บอย-อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (CTO), หนึ่งในผู้บริหาร และฟรอนต์แมนของ Pantip.com
01.59
จุดเปลี่ยนสำคัญ
“ยุคแรก คนเล่น Pantip ไม่ต้องมีล็อกอิน จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ มีความเป็นเสรีนิยมมาก ตอนนั้นทุกอย่างก็ราบรื่นดี จนกระทั่งสักพักเริ่มเกิดปัญหา มีคนไปตั้งกระทู้ 18+ แล้วใส่ชื่อผมเข้าไป คนอื่นก็เข้ามาถามว่าผมไปตั้งกระทู้ 18+ เองเหรอ เกิดความเดือดร้อน ผมเลยคิดระบบล็อกอินขึ้นมาให้คนสมัครจองชื่อนามแฝงผูกกับพาสเวิร์ดเอาไว้
“จนถึงยุคที่คนในสังคมไทยเริ่มเพ่งเล็งว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งไม่ดี ดูดาร์กมาก ซึ่งในสมัยนั้นมันไม่ได้มีสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กมากเท่าตอนนี้ Facebook กับ Hi5 ยังไม่เกิด มีแต่ Pantip เราเลยโดนเพ่งเล็งว่าเป็นแหล่งรวมความดาร์ก เป็นเรื่องที่คุยกันหนักมาก ตัดสินใจยาก จนในที่สุดก็ตัดสินใจเอาเลขบัตรประชาชนผูกเข้ากับล็อกอิน คนจะเล่นเว็บไซต์ต้องส่งสำเนาบัตรประชาชนมายืนยันตัวตนก่อน สรุปพอทำไปวันแรก คนด่าเลย คนกลัวเอาไปทำทุจริต เขาไม่เข้าใจว่าจะเอาเลขบัตรประชาชนไปทำอะไร เราตั้งใจทำเรื่องนี้เพื่อตอบสังคมว่าเราไม่ได้เพิกเฉย เรามีการดูแลเนื้อหา ดูแลคนที่เข้ามาโพสต์ สิ่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดหลายๆ อย่างตามมา เช่น พอคนจะสมัคร Pantip ต้องใช้บัตรประชาชน คนที่ยินดีสมัครจะรู้สึกว่าล็อกอินเป็นสิ่งมีค่า เป็นตัวเขาจริงๆ เขาจะตั้งใจรักษาล็อกอิน เลยตั้งใจโพสต์อะไรที่มันดี ไม่หยาบคาย ทำให้คุณภาพคอมมูนิตี้ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่มันก็ส่งผลต่อการใช้งานเหมือนกัน คนมองว่า Pantip สมัครยาก เข้ามาเล่นยาก คนก็สมัครน้อยลง
“หลังจากเราใช้ระบบนี้ไปสักพัก เริ่มเกิดไอเดีย สำหรับบางคนที่ไม่แฮปปี้กับการยืนยันบัตรประชาชน ยังไม่ไว้ใจ Pantip เราเลยเสนอทางเลือกเป็น SMS ยืนยันตัวตน ทำให้คนมีช่องทางเข้ามาเล่นมากขึ้น จนถึงยุคที่มีสื่อโซเชียลมีเดีย เราคิดว่าเว็บไซต์ควรจะเปิดกว้างมากขึ้น เปิดให้มีการล็อกอินผ่านกูเกิล เฟซบุ๊ก แต่คนกลุ่มนี้เราจะให้สิทธิ์น้อยกว่า เช่น ถ้าอยากโหวตกระทู้แนะนำ ต้องเป็นล็อกอินบัตรประชาชนเท่านั้น”
07.00
ทำไม Pantip ยังได้รับความนิยมในยุคที่เรามีโซเชียลอื่นๆ มากมาย
“ผมว่ามันอยู่ที่คอมมูนิตี้เลยนะ ไม่ได้อยู่ที่ฟีเจอร์ของเว็บไซต์หรอก ความจริง Pantip จะทำแบบเฟซบุ๊กก็ได้ มันอยู่ที่กลุ่มคนเล่นเลย แต่ละห้องมันมีกลุ่มของเขาอยู่ คนที่เล่นประจำจะสร้างคอนเทนต์ที่มันน่าสนใจ พอมันไวรัลได้ดี เวลามีคอนเทนต์แบบนี้ คนก็มาลงในเว็บไซต์เราอีก เป็นวัฏจักรของมัน
“มันก็มีดรอปลงบ้างหลังจากมีเฟซบุ๊กเข้ามา เป็น life cycle ของมัน คือคนที่เล่น Pantip เมื่อ 20 ปีที่แล้วเขาเกิดความรู้สึกอิ่มตัว เปลี่ยนไปเล่นแพลตฟอร์มอื่น แล้วสักพักหนึ่งก็มีอาการโหยหา Pantip กลับมาเล่นเหมือนเดิม มันอยู่ที่เรื่องช่วงอายุด้วย คนที่เล่นเมื่อ 20 ปีที่แล้วในยุคนั้นเป็นกลุ่มนักศึกษาถึงวัยทำงานตอนต้น พอโตขึ้น เขาเริ่มทำงานแล้ว หน้าที่การงานเยอะ อาจไม่มีเวลาเล่นเท่าสมัยก่อน มันก็จะมีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาแทน
“Pantip ทุกวันนี้เราเด็กลง ก่อนที่จะรีโนเวตเว็บไซต์ คนเล่นเราอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเราเด็กลงมาเป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป เด็กสุดที่เคยเจอคือเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี ตั้งกระทู้ถ่ายรูปให้คนช่วยมาคอมเมนต์วิจารณ์ ขณะที่อายุมากสุดที่เคยเจอ เล่นมาตั้งแต่ปี 2546 ตอนนี้อายุ 87 แล้ว เล่นมานานมาก เล่นเป็นประจำ คุยทุกวัน ตั้งกระทู้ทุกวัน เป็นกลุ่มผู้ใช้ที่น่าสนใจ เขาอาจจะมีเวลาเยอะ เกษียณแล้ว ไม่ต้องทำอะไร ได้แก้เหงา ได้คุยกับเพื่อน ได้แลกเปลี่ยนกัน”
09.42
ชาว Pantip เป็นคนแบบไหน
“มันแล้วแต่กลุ่ม คือคอมมูนิตี้ของเรารองรับคนตั้งแต่วัยรุ่นเลย วัยรุ่นเข้าห้องสยาม เข้าห้องเฉลิมไทย คุยเรื่องหนัง เข้าห้องบางขุนพรหม ชวนกันดูละคร พอวัยทำงาน เริ่มเข้าห้องสีลม ห้องสินธร คุยเรื่องการลงทุน อยากซื้อบ้าน ไปห้องชายคา ซื้อรถ ไปห้องรัชดา แต่งงาน เข้าห้องบางรัก มีลูก เข้าห้องชานเรือน เริ่มมีอายุ เข้าห้องสวนลุม วัยเกษียณ คุยกันที่ห้องดิโอลด์สยาม ครอบคลุมทุกช่วงอายุ ทุกความสนใจ”
ทีมงานมีวิธีการคิดแต่ละห้องอย่างไร
“การแบ่งห้องมันมีหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือสมาชิกเรียกร้อง เมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนที่เรามีห้องเฉลิมไทยขึ้นมา ห้องนี้คุยเรื่องบันเทิง ศิลปะ มีทั้งหนังไทย หนังต่างประเทศ ละครหลังข่าว ดารา นักร้อง นักแสดง การ์ตูน ศิลปะ คอมมูนิตี้มันใหญ่ขึ้น เริ่มมีการรีเควสต์ กลุ่มเพลงและดนตรีขอแยกก่อนเลยเป็นห้องเฉลิมกรุง หรืออย่างห้องหอศิลป์ ทีมงานมองเห็นว่าศิลปะมันไปจมกับละคร เราอยากให้ศิลปะที่เป็นอาร์ตจริงๆ มันเด่นขึ้นมา หรืออย่างห้องการ์ตูน เขาก็ขอแยก จนล่าสุดเหลือแค่หนังกับละครอยู่ที่เดียวกัน ละครเนี่ยมันเป็นกลุ่มใหญ่มาก มันคือละครหลังข่าว สารพัดซีรีส์ ในขณะที่หนังเข้าทุกวันพฤหัสบดี กลุ่มหนังรู้สึกว่าตัวเองโดนเบียด ละครเลยแยกออกมาเป็นห้องบางขุนพรหม กลายเป็นว่าเฉลิมไทยก็เล็กลง และบางขุนพรหมกลายเป็นห้องใหญ่สุด เพราะความแมส วงการบันเทิงมันคือเรื่องที่คนสนใจ
“ห้องบางห้องเปิดจากทีมงานมองกันเอง เช่น เรามองว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนมีกระทู้ที่ติดอันดับที่สองของปีนั้น ชื่อว่า ดูดวงถาวรแบบญี่ปุ่น (แม่นมาก) pantip.com/topic/32205199 เป็นกระทู้ที่คนอ่านหลายล้านวิว บ่งบอกความเป็นคนไทยได้ชัดเจนว่านอกจากเรื่องบันเทิง ดารา ก็มีเรื่องดูดวง ซึ่งก่อนหน้านั้นเราสนใจเรื่องกลุ่มพระเครื่อง เห็นว่าบนออนไลน์มีการซื้อขายพระเครื่องกัน เป็นตลาดเฉพาะทางที่มีดีมานด์พอสมควร แต่เดิมกลุ่มพระเครื่องรวมกันอยู่ที่ห้องจตุจักร คุยเรื่องต้นไม้ สัตว์เลี้ยง ของสะสม แล้วห้องนี้มีแต่หมาแมว พอพระเครื่องไปอยู่ในห้องนั้นก็จะดูแปลกๆ เราเลยอยากดึงพระเครื่องออกมา แต่การที่ดึงพระเครื่องออกมาก็กลัวไม่เกิด เลยเห็นว่ามันมีดูดวงที่พอจะไปด้วยกันได้ เลยเปิดห้องพรหมชาติขึ้นมา”
ปกติใครเป็นคนตั้งชื่อ
“เป็นสิ่งที่ยาก มันมีหลายอย่าง การตั้งชื่อห้องเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ทีมงานคิดด้วย หรือบางครั้งสมาชิกเป็นคนเสนอก็มี อย่างห้องพรหมชาติ เราเปิดมาก็ไม่รู้คนจะคุยกันแบบไหน แต่พอเปิดก็ได้เห็นอะไรแปลกๆ เยอะ ความน่ารักแบบห้องพรหมชาติ คือบางคนเขาศึกษาเรื่องการดูดวงมา อยากฝึก เลยตั้งกระทู้รับดูดวงฟรี 5 คน ใครอยากดูให้ไปบริจาคเงินแล้วส่งหลักฐานมา เขาจะดูให้ หรือตั้งกระทู้แบบ รบกวนช่วยดูดวงให้หน่อยค่ะ และถ่ายรูปมือตัวเองลงกระทู้ ถ่ายหน้ามือ สันมือ คนที่ดูดวงเป็นก็เข้ามาดูกัน มีกระทู้รีวิวหมอดูด้วย ทั้งหมอดูที่อยู่ใน Pantip เอง และหมอดูข้างนอกด้วย เป็นห้องเฉพาะทางที่เหนียวแน่นมาก
“อย่างห้องดิโอลด์สยามที่เราเพิ่งเปิดตอนสงกรานต์ที่ผ่านมา เราคิดว่าสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตอนแรกที่คุยกันก็ไม่แน่ใจว่าผู้สูงอายุจะเล่น Pantip เหรอ เพราะเว็บไซต์เราไม่ได้เล่นง่าย เรารู้ว่าผู้สูงอายุเล่นไลน์ เขาคุยกับเพื่อนเขา เรามองว่าห้องนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักไม่ได้ทำเพื่อผู้สูงอายุหรอก แต่นึกถึงพวกเราคนวัยทำงานที่มีคุณพ่อ คุณแม่ บางทีเราอยากหาที่ปรึกษา คุณพ่อเริ่มมีอาการอัลไซเมอร์ ทำยังไงดี? ซึ่งห้องนี้ก็จะมีกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มหลัก และกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน”
17.59
กระทู้ที่คนเข้าเยอะที่สุดมียอดวิวประมาณเท่าไร
“หลักล้าน เมื่อสัก 2-3 ปีก่อน กระทู้ดูดวงถาวรญี่ปุ่น (แม่นมาก) ที่บอกว่าติดอันดับสอง อันดับหนึ่งมียอดวิว 7 ล้านกว่าคือ กระทู้คุกกี้รัน pantip.com/topic/31678667 ตั้งกระทู้ให้คนเข้ามาแอดไลน์กัน เพราะยิ่งไลน์เยอะ ยิ่งได้หัวใจ กระทู้นี้มันไม่ได้มีคนเข้าเยอะในวันเดียว มันค่อยๆ ทยอยเข้าทีละ 4-5 หมื่นวิว เพราะเกมมันระยะยาว สะสมยอดวิวไปเรื่อยๆ จนถึงยอดนั้นได้ ทำให้รู้ว่าสิ่งที่คนไทยสนใจคือ เกม ดูดวง ดารา
“และมันก็มีกระทู้ที่ถึงล้านวิวภายใน 24 ชั่วโมง เช่น กระทู้ที่ไปพบศพบนตึกร้าง pantip.com/topic/32943074”
กระทู้คำถามแปลกๆ เช่น ผมอายุ 23 ปี มีเงินเดือน 7 หมื่นถือว่าน้อยไหม? หรือกระทู้คำถามทะลึ่ง มาจากไหน
“มันมีสองเคส เคสแรกคือขาประจำของ Pantip ที่อยู่มา 10 ปี เป็นตัวป่วน คนนี้เขาฉลาดในระดับที่รู้ว่าตั้งกระทู้ยังไงแล้วคนจะกดเข้ามาดู ทีมงานเราก็จะรู้ว่ากระทู้นี้เป็นของคนนี้แน่ๆ ถึงจะโดนยึดล็อกอินไปแล้ว เขาก็จะไปสมัครอีเมลใหม่มาโพสต์สร้างกระแส ตั้งประเด็นอะไรแปลกๆ ซึ่งทีมงานอ่านสำนวนแล้วรู้ว่าเป็นเขานะ และสมาชิกที่อยู่มานานก็จะรู้ แต่บางทีผมก็ไม่รู้นะ มีบางอันที่เผลอแชร์ด้วยซ้ำ
“ตอนนี้พันทิปมีเพจหนึ่งในเฟซบุ๊กที่ชื่อ พันทิปนานุกรม www.facebook.com/pantipedia แชร์กระทู้แนวสาระ พวกวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่มาจากห้องหว้ากอ ชอบตั้งคำถามแปลกๆ ที่น่าสนใจ ที่เรานึกไม่ถึง ผมชอบคำถามแบบนี้ ชอบเข้าไปอ่าน อย่างเช่นคำถามที่ว่า ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 แล้วมันมีเบอร์ 4, 3, 2,1 ไหม มีใครเคยเห็นไหม pantip.com/topic/35023406”
#ต้มมาม่า #ปูเสื่อ #กินเผือก มาจากไหน
“มาจากผู้ใช้ที่เราสังเกตเห็น แล้วทีมงานก็เอามาทำสติกเกอร์น้องเพี้ยนมาสคอต ให้สมาชิกเอาไปเล่นในกระทู้ มันก็ฮิต แล้วก็กระจายออกไปข้างนอก”
มาสคอตน้องเพี้ยนมาจากไหน
“สมัยก่อนเรามีต้นกระบองเพชรอยู่ในโลโก้ คือ Pantip เป็นเว็บไซต์ที่เกิดมาก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง มีคนได้รับผลกระทบทางเศรษกิจเยอะมาก เลยมาพึ่งพิง Pantip เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน เหมือนสังคมไทยตอนนั้นเป็นทะเลทราย เป็นพื้นที่แห้งแล้งและ Pantip เป็นต้นกระบองเพชรในทะเลทรายนั้นที่สามารถเติบโตได้ เป็นที่พึ่งได้ พอเรามีการรีโนเวตเว็บไซต์ใหม่ เราจึงเอากระบองเพชรในโลโก้ออก แล้วเอากระบองเพชรมาเป็นมาสคอตแทน โดยให้น้องในทีมที่เป็นดีไซเนอร์และคนที่รู้จักคอมมูนิตี้นี้เป็นอย่างดีช่วยกันออกแบบให้”
25.59
นักสืบ Pantip คือใคร
“ทีมงานไม่ใช่นักสืบ Pantip เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร มันเริ่มมาจากกระทู้ที่เล่าว่าไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเกิดหลงป่า ก็มีสมาชิกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านญี่ปุ่นไปถ่ายรูปให้ดูว่า จุดที่มาเล่าว่าหลงป่า จริงๆ มันคือสี่แยกไฟแดง อันนี้มันคือจุดเริ่มต้นของนักสืบ Pantip
“ก่อนหน้านั้นก็มี แต่ไม่เป็นที่รู้จัก สมัยปีแรกๆ เคยมีคนมาก่อกวนในเว็บไซต์ ใช้คำหยาบคาย ตั้งกระทู้ซ้ำๆ ทำให้คอมมูนิตี้เกิดความไม่ปกติ ตอนนั้นผมเองก็เป็นผู้เล่นคนหนึ่ง ยังไม่ใช่ทีมงาน เกิดความรู้สึกว่าคนนี้ทำตัวไม่ดี ทีนี้ใน Pantip ยุคก่อน มันจะมีระบุ IP คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน เราก็สืบดูว่ามาจากไหน ตอนนั้นผมเรียนวิศวะคอมฯ ที่เกษตร และคอมฯ นั้นมันอยู่ในเกษตร เลยเอามาเช็กหาคนที่ออนไลน์ในเวลาที่ตั้งกระทู้ จนได้ชื่อ-นามสกุลมา เอาไปหาต่อว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน สุดท้ายก็ไปบอกพ่อแม่ของน้องคนนี้ว่าลูกคุณมีพฤติกรรมแบบนี้นะ
“แสดงว่านักสืบพันทิปคือคุณบอยนั่นเอง”
32.30
ทำไมคนทำการตลาดต้องให้ความสำคัญกับ Pantip
“เดี๋ยวนี้เวลาคนหาอะไร เขาจะเข้ามาที่ Pantip เข้ากูเกิลแล้วเสิร์ชตามด้วย Pantip แปลว่าถ้าในเว็บไซต์เรามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ มันจะส่งผลดี แต่ถ้าข้อมูลนั้นลบก็ส่งผลไม่ดีเหมือนกัน ดังนั้นแบรนด์ต้องเข้ามาดู อย่างหลายคนได้รับความเดือดร้อนจากการไปซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ เขามาเล่าใน Pantip ซึ่งเราไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้นนะ แต่มันเป็นไปเอง ดังนั้นแบรนด์ก็ต้องเข้ามาคอยตอบ คอยแนะนำ หรือแก้ปัญหาให้กับลูกค้าก่อนที่เรื่องจะบานปลาย พอแก้ไขได้ก็ต้องเข้าไปชี้แจงว่ามีการแก้ไขแล้ว เพื่อที่คนมาเสิร์ชเจอจะได้รู้ว่าแบรนด์มีการแก้ไขให้แล้ว จะได้ปิดเคสได้”
33.59
คิดอย่างไรกับประโยคที่บอกว่า คนไทยชอบดราม่า
“ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของคนไทย ส่วนตัวผมไม่ได้ชอบนะ ถ้ามีคนมาดราม่าในเว็บไซต์เยอะๆ มันเรียกกระแสได้ดี แต่ผมไม่ได้ชอบทราฟฟิกแบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน มันเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาใช้ หน้าที่ของเราคือกำกับไม่ให้ล้ำเส้น เช่น คุณจะดราม่าอะไรก็ตาม ถ้าคุณไปเอาข้อมูลส่วนตัวเขามาลง เราลบทันที สังเกตว่าถ้าดราม่าพวกนี้ไปเกิดในเฟซบุ๊ก มันจะเละเทะมาก แต่ถ้าเกิดใน Pantip เราจะควบคุมขอบเขต เราเป็นคนที่ทำแพลตฟอร์ม เราไม่รู้ว่าเรื่องที่เขาเล่าจริงหรือเท็จ ดังนั้นเราก็ต้องคอยระมัดระวังตรงนี้ไม่ให้ไปเดือดร้อนถึงคนที่ถูกพูดถึง
“ผมรู้สึกเสียดายเวลาคนไทย ผมเคยดูตัวเลขเล่นๆ ดราม่าเรื่องหนึ่งเฉพาะในกระทู้ Pantip เอายอดวิวมาคูณกับเวลาเฉลี่ยที่คนอยู่ในกระทู้นั้น มันให้ตัวเลขที่น่าตกใจมาก คนไทยเสียเวลากับเรื่องนี้ 2,000 กว่าปี นี่ยังไม่รวมบนเฟซบุ๊กด้วยซ้ำ คงจะมากกว่านี้มหาศาล”
37.55
สตาฟฟ์ทำงานกันอย่างไรบ้าง
“กลุ่มแรกคือทีมพัฒนาเว็บไซต์ โปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ กลุ่มที่ 2 คือทีมมาร์เก็ตติ้ง คอยฟีดกระทู้ลงสื่อโซเชียลต่างๆ ประสานงานกับสื่ออื่นๆ ทำเรื่องพีอาร์ กลุ่มที่ 3 คือทีมดูเรื่องคอนเทนต์ พาสมาชิกไปรีวิวร้านอาหาร รีวิวสถานที่ท่องเที่ยว แล้วมาเขียนลงกระทู้ ดูแลสมาชิก มีคนคอยตรวจสอบเอกสารต่างๆ เช็กข้อมูลคนที่มาขอนามแฝง มีกลุ่มที่คอยดูแลกระทู้ ทำการตักเตือนสมาชิก เฟเวอร์สมาชิกที่ทำดี ให้รางวัลสมาชิกที่ทำดี คนที่ตั้งกระทู้น่าสนใจ ให้รางวัลเขาเล็กๆ น้อยๆ และถ้าเขาตั้งบ่อย ได้รางวัลนี้บ่อย ครบ 20 ครั้งก็จะมีรางวัลใหญ่ พาไปดินเนอร์หรู
“หรืออย่างตอนช่วงสิ้นปี เราจะมีประกาศผล Pantip Pick of the Year pantip.com/topic/35953236 จัดมา 4 ปีแล้ว เราอยากนำเสนอกระทู้ที่เนื้อหาดีตามสโลแกน Learn, Share and Fun เรียนรู้ แบ่งปัน ลั้นลา ทีมงานจะคัดเลือก 10 กระทู้ดีที่สุดในรอบปี ให้รางวัลโดยการพาเขาไปดินเนอร์หรูหัวละหลายพันบาท ทำสแตนดี้น้องเพี้ยน มาสคอตของ Pantip ตามเนื้อหากระทู้ของเขา pantip.com/topic/36296452 เช่น กระทู้ความรักของพ่อที่ทำอาหารให้ลูกกิน pantip.com/topic/35434002 ทำน้องเพี้ยนยืนคู่กันพ่อลูกให้เขาได้ถ่ายรูปได้ และมีของเซอร์ไพรส์เป็นป๊อปอัพการ์ดสามมิติที่เล่าเรื่องในกระทู้ของเขา
“ทีมงานให้ความสำคัญกับความรู้สึกคน คนที่ทำคอนเทนต์ดีๆ ให้พันทิป reward เต็มที่ สแตนดี้เอากลับไม่ไหว เรามีรถขนกลับให้”
คนที่จะเข้ามาทำงานกับ Pantip
“ผมว่าต้องเป็นคนที่ดูแลทุ่มเทเพื่อสมาชิกของเว็บไซต์ จริงๆ ผมไม่ได้กำหนดหรอกว่าต้องเป็นคนยังไง แต่จากที่สังเกต เวลาจัดมีตติ้งใหญ่ พาสมาชิกไปดินเนอร์ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา เราเห็นการเทกแคร์ เห็นความทุ่มเทของทีมงาน เรารู้ว่าเขาเหนื่อย เขาเตรียมตัวล่วงหน้าหลายเดือนมาก แล้วพองานจบ เราจะเห็นว่าเขาแฮปปี้ที่เห็นสมาชิกมีความสุข”
44.34
“ความสำเร็จของเรามันอยู่ที่คอมมูนิตี้ อยู่ที่สมาชิกที่เข้ามาสร้างเนื้อหาในเว็บ จริงๆ ถ้าพันทิปไม่มีคอมมูนิตี้ เราไม่มีอะไรเลย เราก็แค่เว็บธรรมดา แพลตฟอร์มเว็บบอร์ดร้างๆ ไม่มีใครเล่น แต่เพราะว่าสมาชิกเข้ามาเล่นกันเยอะ ดังนั้นจุดสำคัญคือการเทกแคร์สมาชิก เนื้อหาดีๆ มาจากเขา ดังนั้นเราก็ต้องดูแลเขาให้ดี”
45.17
รายได้ของ Pantip
“หลักร้อยล้านครับ 90% มาจากโฆษณาที่อยู่ในห้องต่างๆ มีโฆษณาแบบเนทีฟ เหมือนกระทู้ที่เป็นโฆษณาให้คนคลิกเข้าไปอ่าน และการทำกิจกรรมร่วมกับแบรนด์ ตัวอย่างเช่น ข้าวตราพันดี ทำกิจกรรมให้เราเลือกสมาชิกผู้โชคดี 30 คนที่จะได้รับข้าวสารไป ให้เขาทำอาหารแล้วกลับมารีวิว ทำโจ๊ก ทำข้าวต้ม ทำข้าวผัด ทำข้าวแกง หาผู้โชคดีแจกไอโฟน 1 เครื่อง แบรนด์ก็ได้ในแง่ของการทำให้คนรู้จัก เราก็ได้คอนเทนต์ หรือการรับเขียนรีวิว รีวิวไปเดินห้างอิเกีย รีวิวสวนสนุกดรีมเวิลด์เปิดโซนใหม่และเรื่องของ API เรามี 3-4 แบรนด์ที่มาขอดึงเนื้อหาไปวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด เพื่อให้แบรนด์ต่างๆ ได้เอาไปใช้ต่อ”
ยอดขายเติบโตอย่างไร
“ใน 5 ปีที่ผ่านมา เราโตเยอะ เพราะมีการรีโนเวตเว็บไซต์ เปิดพื้นที่ให้มีการทำแบนเนอร์เยอะมากขึ้น บวกกับเทรนด์ของโมบายล์มันมา ทำให้คนเข้าเว็บไซต์มากขึ้น แต่ปีที่ผ่านมารายได้จะนิ่งๆ เพราะเราพบขาลงของแบนเนอร์ บวกกับจุดที่วางแบนเนอร์ฮิตๆ มันเต็ม”
ควรปรับอย่างไร
“เปลี่ยนรูปแบบของโฆษณาให้มีความกลมกลืนกับเนื้อหามากขึ้น แบนเนอร์ต้องมีทาร์เก็ตติ้งที่ดีกว่าเดิม เช่น กองทุนรวมอยากจะขายเฉพาะคนที่สนใจเท่านั้น เราต้องเจาะไปถึงเฉพาะคนกลุ่มนี้ให้ได้ ซึ่งเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่มาตอบรับมากพอ”
Pantip นำข้อมูลจากผู้ใช้มาประยุกต์ในการตลาดมากระดับไหน
“เราเพิ่งมีทีม Data Science เพื่อทำเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะ วิเคราะห์ข้อมูลในแง่ธุรกิจ ส่งโฆษณาให้ตรงความต้องการของสมาชิก เป็นการปรับตัวโฆษณา และมีการรับคนที่เป็น Business Development ดูว่าเอาคอมมูนิตี้มาทำอะไรต่อได้บ้าง หารายได้ยังไงได้อีก เช่น จัดงานสัมมนา เอาสมาชิกที่เก่งๆ มาเป็นสปีกเกอร์ เราเป็นแพลตฟอร์มที่จัดทุกอย่างให้ หาลูกค้า แล้วมาแบ่งรายได้กัน”
Pantip Expert
“มันคือการแก้ปัญหาของเรา เวลามีคนมาตอบในกระทู้คำถาม เชื่อถือได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เราอยากรับรองคำตอบที่น่าเชื่อถือจากคนที่น่าเชื่อถือ เช่น คนมาถามเรื่องสุขภาพ เราจะรู้ได้ยังไงว่าคำตอบไหนโอเค เราก็มองสมาชิกที่เป็นหมอ และเอาไอคอนหมอไปอยู่หลังชื่อล็อกอินเขา ดังนั้นเวลาเขาตอบก็จะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น
“เรามีทั้งหมอ วิศวกร ทนาย หรือส่วนของแบรนด์ เราเชื่อว่าแต่ละแบรนด์มีความเก่งของเขา Kbank เก่งเรื่องการเงินการลงทุน SCG เก่งเรื่องบ้าน เราชวนเขามาตอบในเชิงให้ความรู้ ไม่ต้องขายของ มันน่าจะส่งผลดีกับแบรนด์ และมีสัมพันธภาพที่ดีกับสมาชิกด้วย”
54.15
เป้าหมายในอนาคต
“อยากเป็นพื้นที่ที่มีคำตอบน่าเชื่อถือให้ทุกคำถามของคนไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่สำเร็จใน 3-4 ปีนี้แน่นอน เพราะคนไทยมีคำถามตลอดเวลา ส่วนเทคโนโลยีมันอาจจะเปลี่ยนไป อาจจะมีเครื่องที่อ่านข้อมูลในสมองของคนและแปลออกมา หรือในอนาคต Pantip มันอาจจะไม่เป็นเว็บไซต์แล้ว อาจเป็นเครื่องครอบหัวที่สามารถดึงคำถามของคุณออกมา กระจายหาคำตอบไปยังคนอีกสิบล้านคน แล้วคนรู้คำตอบจะตอบคำถามกลับมาให้คุณเอง”
55.55
Secret Sauce ของ Pantip
- การสร้างคอมมูนิตี้ รักษาคนในคอมมูนิตี้ให้แข็งแรง
- ให้รางวัลกับคนทำคอนเทนต์ดีๆ ของรางวัลอาจไม่มีราคาแพง แต่มีคุณค่าทางใจ
- ชูจุดเด่นให้เด่นมากขึ้น หยิบกระทู้ดีๆ เนื้อหาสร้างสรรค์มาโปรโมต
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
The Guest อภิศิลป์ ตรุงกานนท์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Episode Producers ปวริศา ตั้งตุลานนท์ อธิษฐาน กาญจนพงศ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Photographer อธิษฐาน กาญจนพงศ์
Music Westonemusic.com