×

‘สุริยาหีบศพ’ กิจการที่ไม่ได้หากินกับคนตาย แต่เน้นขายการบริการ

06.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00:09 Introduction

01:54 One Stop Service ก่อนกาล

05:03 ทางเลือกของนักดนตรี

07:49 งานสัปเหร่อโลก

10:35 ภาพรวมธุรกิจ

22:28 อย่าหากินกับคนตาย

26:50 ตายยังไงให้มีความสุข / End of Life

31.27 คู่แข่งของเราคือวัด

34:09 ดูแลศพจากทุกที่และทุกชาติ

43:08 สถานที่สวดศพของเอกชน

47:06 เวลากับโอกาส

51:38 เทวดาของลูกค้า

52:48 อะไรคือ The Secret Sauce ของสุริยาหีบศพ

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของร้านขายหีบศพอันดับหนึ่งของเมืองไทย ที่เริ่มจากการถูกครอบครัวต่อต้าน ทำการตลาดก็ยาก ไม่ได้ขายดีอย่างที่คาดในทุกฤดู แถมยังมีคู่แข่งเป็นวัด เขางัดไม้ไหนมาสู้

ฟังอดีตนักดนตรีที่มารับช่วงต่อจากคุณพ่อ แถมยังต่อยอดไปดูแลทั้งศพไทยในต่างชาติ และศพต่างชาติในไทย

เคน-นครินทร์ คุยกับ วิโรจน์ สุริยเสนีย์, ทายาทรุ่นที่สองของสุริยาหีบศพ

 


 

00:20
จากคนที่เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผ่าศพที่โรงพยาบาล พอช่วยผ่าเสร็จก็มักมีคนถามหาโลง และขอให้ช่วยพาไปซื้อที่ร้านเป็นประจำ จนทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ อาจจะเป็นการซื้อมาขายไป หรือที่สุดแล้วคือผลิตสินค้าของตัวเองเสียเลย จนในที่สุดก็ตัดสินใจเปิดร้านเล็กๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ถูกครอบครัวต่อต้านอย่างหนัก เพราะเห็นว่าเป็นงานอัปมงคล หากินกับคนตาย

 

นี่คือจุดเริ่มต้นของกิจการสุริยาหีบศพ ร้านหีบศพอันดับหนึ่งของประเทศไทย

 

สุริยาหีบศพ ก่อตั้งโดย คุณสมชาย สุริยเสนีย์ ปัจจุบันรับช่วงต่อโดย คุณวิโรจน์ ซึ่งเป็นลูกชาย จากจุดเริ่มต้นที่ถูกคนในครอบครัวอย่างอาม่าอากงต่อต้าน แต่ด้วยความที่ต้องทำงานหาเลี้ยงคนในบ้าน รวมถึงลูกๆ อีกถึง 8 คน คุณพ่อก็พยายามตั้งใจสร้างธุรกิจ พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และไม่น่าเชื่อว่า ตั้งแต่สมัย 50 ปีก่อน คุณพ่อของคุณวิโรจน์ก็คิดวางระบบให้เป็นแบบ One Stop Service ขึ้นมาได้แล้ว

 

01.54
One Stop Service ก่อนกาล

“…จริงๆ เพิ่งมาพูดในยุคนี้ว่า One Stop Service ตอนนั้นคุณพ่อผมคิดแค่ว่า จะไม่ปฏิเสธลูกค้าเลย ลูกค้าอยากได้อะไรจะไปหามาให้ อยากได้หีบ อยากได้ดอกไม้ อยากได้โกฏิใส่กระดูก อยากได้รถขนศพ เป็นที่มาของการบริการ สมัยก่อนร้านโลงคือขายอย่างเดียว เหมือนร้านโชห่วยทั่วๆ ไป คุณเข้าไปซื้อแล้วหารถมาขนเอง เลือกหีบใบนี้ไม่มีรถขนให้ ต้องไปจ้างรถตามวัดหรือมูลนิธิขนกันไปเอง หรือมีรถรับจ้าง แต่คุณพ่อผมไม่ บอกว่าเข้ามาต้องครบถ้วน”

 

ที่มาของชื่อสุริยา…
“คุณพ่อผมเล่าฟังว่า ตอนนั้นทำงานช่วงกลางคืน กลับบ้านมาพระอาทิตย์ก็ขึ้นแล้ว ทุกคนจะเข้าใจว่ามาจากนามสกุล สุริยเสนีย์ จริงๆ ไม่เกี่ยวกันเลย มาจากกลับบ้านปุ๊บต้องเห็นพระอาทิตย์ขึ้น นึกอะไรไม่ออก ก็เอาสุริยานี่แหละ เลยเป็นสุริยาหีบศพ”

 

“เริ่มต้นที่สาขาพรานนก สร้างตึกขึ้นมาเอง พ่อผมมีคนอุปการะและผู้อุปถัมภ์เยอะในการเริ่มต้นธุรกิจ ค่อนข้างยากลำบากเพราะครอบครัวต่อต้าน ปัจจัยเรื่องเงินแทบเป็นศูนย์ แต่ด้วยความตั้งใจ จะทำยังไงถึงจะเลี้ยงลูกให้สบาย ตัวเองยอมลำบาก เริ่มธุรกิจไปด้วยตัวเอง จนเป็นที่รู้จักในชื่อของสุริยาหีบศพ และมีโอกาสได้เข้าไปรับใช้สำนักพระราชวังด้วย”

 

05.03
ทางเลือกนักดนตรี
“ตัวผมเองผมเรียนทางด้านดนตรีมา เล่นดนตรีตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย มีโอกาสไปทำเพลงบ้าง ผมนอนดึก ตื่นเที่ยง ดูแล้วไม่ค่อยมีอนาคต จนเตี่ยถามผมว่าทุกวันนี้เล่นได้เงินเท่าไหร่ (เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว) ผมได้เดือนละ 12,000 บาท เตี่ยบอกว่าเตี่ยขายหีบใบเดียว แค่ไม่ถึงชั่วโมงได้แล้ว 12,000 บาท ผมก็ยังต่อต้าน คิดว่าเตี่ยพูดแบบนี้ไม่ศรัทธาในตัวเราเลย จนมีอยู่คำพูดนึงที่กระแทกหูผม เตี่ยพาไปนั่งร้านอาหาร แกชี้ให้ผมดูว่าอยากไปอยู่ตรงโน้น หรือนั่งดูอยู่ตรงนี้ ยืนเล่นตรงนั้นได้เงินแค่ไม่กี่ร้อย เราเป็นเถ้าแก่นั่งดูอยู่ตรงนี้ เอาเงินไปจ้างเขาเล่นดีกว่า เขาเรียกว่าการปรับความคิด ผมก็เริ่มคิดได้ พอผมเริ่มมีครอบครัว ก็คิดอีกว่าถ้าเราอยู่อย่างนี้ ด้วยเงินวันละ 400 บาท เราไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้แน่ๆ”

แต่ผมเริ่มธุรกิจหีบศพจริงๆ ตั้งแต่อายุ 12 ปี ฉีดยาศพครั้งแรก เหงื่อแตกพลั่กเลย แต่ด้วยความที่เตี่ยเราเป็นฮีโร่ เฮ้ย ทำไมเตี่ยไม่กลัว แล้วก็เห็นความยากลำบาก เตี่ยผมดุมาก เวลาพูดอะไรก็แทรกข้อคิดให้เราตลอดเวลา จนเรามาเริ่มธุรกิจ สิ่งที่แกพูดมาว่าซื่อสัตย์ ขยัน อดทน 3 คำที่แกบอกตลอด มันก็ฝังอยู่ในตัวเรา จนเรากลายเป็นสุริยาไปตอนไหนก็ไม่รู้”

 

07.49
สิ่งที่ต่อยอดหรือปรับเปลี่ยนมากที่สุดคืออะไร
“ผมตั้งบริษัท Siam Funeral ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังภาคภูมิใจว่าเราสามารถต่อยอดและทำเป็นรูปธรรม เป็นบริษัทดูแลผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติ จนขนาดไปเป็นสมาชิก NFDA ของอเมริกา และไปงาน Asia Funeral Expo ภาษาไทยเรียกว่า งานสัปเหร่อโลก

“ไปครั้งแรกงงมาก มันมีอย่างนี้ด้วยเหรอ ซึ่งเทคโนโลยีบ้านเรามันล้าสมัยมาก เขารวมสัปเหร่อทั่วโลก เรื่องของโปรดักต์ หีบศพ การบุภายใน เสื้อผ้า มันเปลี่ยนไปมาก เขาจะจัดที่ฮ่องกงกับมาเก๊าสลับกัน บางทีก็ไปจัดที่ไอร์แลนด์ พยายามจะวนๆ กัน ซึ่งเราเป็นสมาชิกในนั้นเราก็เข้าไปแชร์ว่าพิธีศพของบ้านเราเป็นยังไง พิธีพุทธเป็นยังไง ซึ่งธุรกิจมันสามารถต่อยอดไปอีกเรื่อยๆ มันค่อยๆ ขยับขึ้นไป

 

09.24
“…ต่างชาติเขาเรียกว่า Funeral home มีบริษัทรับจัดงานศพ แตกต่างจากบ้านเรา บ้านเรา Funeral home จริงๆ ไม่ใช่สุริยา เพราะสุริยาคือผู้ค้าและโด่งดังทางด้านหีบศพและบริการ แต่ Funeral home บ้านเราจริงๆ คือวัด แล้วเดี๋ยวนี้รูปแบบของวัดเริ่มมีบริการแบบครบวงจรแล้ว ซึ่งเป็นอุปสรรคกับทางร้านนิดนึง ถ้าเกิดเราไม่สามารถปรับเปลี่ยน เพราะโลกมันวิ่งไปเร็ว ทางวัดเริ่มมีบริการหีบศพเอง มีบริการครบทุกอย่างเลย แล้วเราเป็นร้านขายหีบ เราจะทำยังไง โชคดีมากที่บ้านเราเดี๋ยวนี้มีธุรกิจออนไลน์ และชื่อของสุริยายังแข็งแรงอยู่ และยังมีความเชื่อมั่นในความเป็นสุริยาอยู่ ซึ่งตรงนี้ยังอยู่ได้ แต่ผมคิดว่าในอนาคตก็คงจะอยู่ได้ไม่นานมากเท่าไหร่ ถ้าเรายังย่ำเท้าอยู่กับที่”

 

10.35
โปรดักต์และบิสิเนสโมเดล
“โปรดักต์ของสุริยา ค่อนข้างเป็นผู้นำ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว คุณพ่อผมเป็นคนคิดหีบสีขาวขึ้นมาคนแรก เพราะสมัยก่อนจะเป็นหีบไม้แล้วทาสีเหลืองๆ น่ากลัวมากเลย เริ่มเปลี่ยนมาเป็นสีไข่ไก่ ให้เหลืองซอฟต์ลงมานิดนึง ก็ยังไม่ตรงตามความต้องการของลูกค้า เลยทาสีขาว แล้วก็หาของมาประดับ เริ่มพัฒนาโปรดักต์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ส่วนเรื่องหีบปรับอากาศหรือหีบเย็น พ่อผมก็เป็นคนคิด แกเป็นคนช่างคิด นั่งคุยกันแล้วคิดไปเรื่อยๆ คือบางศพมีปัญหาฉีดยาไม่ได้ แกบอกว่าจะไปยากอะไร ก็หมูอยู่ในตู้เย็นมันไม่เน่า คนตายอยู่ในตู้เย็นก็ต้องไม่เน่าเหมือนกัน ก็เลยสร้างตู้เย็นที่แช่ศพขึ้นมา”

 

“คุณพ่อผมทำแล้วไม่ได้คิดถึงธุรกิจเท่าไหร่ ต้องการพัฒนาเป็นนวัตกรรมด้านหีบศพมากกว่า ดังนั้นเลยไม่ได้จดลิขสิทธิ์ เลยแพร่หลาย  ถ้าจดลิขสิทธิ์จะไม่แพร่หลาย นี่คือความคิดของท่าน ตามต่างจังหวัดคนฉีดยาหายากมาก ทุกวันนี้ก็ยังใช้หีบเย็นเป็นหลัก อย่างภาคใต้ใช้หีบปรับอากาศ 100% เลย จะเป็นฐานเครื่องปรับอากาศ และเป็นโลงไม้ตั้ง และเอาโลงไม้เผา ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของคุณพ่อว่าอยากให้พัฒนา ยิ่งมีคนทำเยอะยิ่งดี”

 

โปรดักต์อื่นๆ นอกจากโลง
“ทุกวันนี้ที่ทำเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็คือ Funeral plans และ Funeral service เป็นบริษัทรับจัดงานศพ ทีแรกก็คิดกันว่ามันจะขัดแย้งกับวัดมั้ย พยายามจะหาช่องทางให้รู้สึกว่าไม่ขัดแย้งกับวัด เลยไปหาข้อมูลดูว่างานนึงวัดได้รายได้เท่าไหร่ สมมติงานนึงวัดมีรายได้ 50,000 บาท ผมก็บอกไปเลยว่าวัดได้ 50,000 บาทเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือมีผมเข้าไปอยู่ด้วย”

 

ผมหาจุดบกพร่อง แล้วแทรกเข้าไปตรงนั้น หน้าที่ของผมคือเป็นที่ปรึกษาในด้านการจัดงานศพ รูปแบบก็เลยเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ลูกค้าเริ่มเปลี่ยนเป็นออนไลน์ ถ้าเข้าไปดูผมก็จะมีบทความเกี่ยวกับพิธีการต่างๆ เขียนไว้”

 

เดี๋ยวนี้ง่ายจนไปถึงแพ็คเกจแล้ว เลือกตามงบประมาณได้เลย ได้บุญเหมือนกัน เรามีแพ็คเกจเหมือนโทรศัพท์เลยครับ มี Silver, Gold, Platinum ในทุกแพ็กเกจก็มีรายละเอียดให้เลือกอีก ส่วนอาหารก็มีให้เลือก เราไม่อยากกินอันนี้ อยากกินอันนี้ก็ย้าย อยากได้ดอกไม้แบบนี้ แต่ไม่อยากได้หีบแบบนี้ เราบอกว่าได้ add on สลับได้”

 

“เหมือนงานแต่งเลย…”
“ในอนาคตผมหวังว่าจะมีโอกาสทำเป็นที่สวดศพของเอกชน อันนี้คือความฝันเลย แต่ก็เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นมา เพราะกลุ่มที่เป็น Asia Funeral Expo เขาก็ทำกัน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เริ่มแล้ว ซึ่งเขาประสบความสำเร็จ อย่างฮ่องกงนี่ 100% เขาเรียก Funeral parlor

 

16.57
หัวใจของสุริยา
“ด้วยหัวใจที่คุณพ่อปลูกฝังมา สุดท้ายคือ ‘เราจะให้อะไรกับลูกค้า’ ลูกค้าจะมีหลายปัจจัยที่เป็นงบประมาณในการจัดงานศพ ผมว่าเป้าหมายในอนาคตคือให้เป็นทางเลือกมากกว่า อาจจะยังไม่อยากใช้บริการของทางวัด ซึ่งจริงๆ แล้วต่างจังหวัดเขาก็ไม่ได้สวดที่วัด เขาสวดและทำพิธีกันที่บ้าน ล่าสุดผมไปจัดงานให้ลูกค้าที่สุขุมวิท 61 เขาบอกไม่อยากไปจัดที่วัดเลย ผู้เสียชีวิตได้บอกไว้ว่าเขาอยากอยู่บ้าน เขารักบ้านหลังนี้มาก เราก็สร้างวิมานเลย ทำให้บ้านเป็นที่รองรับของลูกค้าที่มาร่วมงาน แล้วก็จัดงานศพสวยงามมาก ลูกค้าคิด เราทำ แต่เวลาไปเผาก็ต้องไปเผาที่วัด ลักษณะคล้ายๆ เวดดิ้งเลยครับ”

 

19.33
*The Secret Sauce*

“บางคนคิดว่ากลยุทธทางการตลาดของสุริยานี่คือเรื่องของโปรดักต์ ผมตอบได้อย่าง 100% เลยว่าไม่ใช่ คนส่วนใหญ่คิดว่าโลงต้องสุริยา ผมว่าโลงศพบางที่ผลิตได้สวยกว่าสุริยาก็มี แต่สิ่งที่เป็นกลยุทธของสุริยา ผมตอบได้อย่างชัดเจนเลยว่าเป็นกลยุทธทางด้านบริการ ระหว่างที่ลูกค้าเสียใจอยู่ เราสามารถตอบโจทย์ให้เขาได้ทุกเรื่อง”

“ในการบริการของแต่ละงาน ลูกค้ามักจะบอกว่า ขอบคุณทีมงานที่ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเขามาก ซึ่งในชีวิตนึงที่เขาสูญเสียคนที่รักไป มันยากมากที่จะก้าวข้ามผ่านไป แล้วเราก็รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ พนักงานเราก็รู้สึก เขาขอบคุณที่ดูแลช่วยเหลือ ขอบคุณที่จัดงานออกมาได้อย่างสวยงาม ตรงนี้แหละเป็นแรงผลักดันทำให้เราต้องทำต่อ”

 

“นิสัยผมจะคล้ายพ่อ คือคิดไม่มีที่สิ้นสุด เราอยากบริการให้ดีกว่านี้ เนื่องจากว่าเราไปดูต่างประเทศแล้วเราอิจฉาคนที่อยู่เมืองนอกมาก เพราะเขาได้รับการบริการที่ดี น่าประทับใจ ทั้งที่ค่าใช้จ่ายพอๆ กัน  ก็เลยจะสร้างตรงนี้ขึ้นมา จะปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการใหม่”

 

21.39
“เทรนพนักงานยังไง?”
“เบื้องหลังความสำเร็จคือทรัพยากรมนุษย์ เจ้าหน้าที่ของสุริยา ต้องยอมรับว่าคนที่จะมาทำอาชีพนี้หายากมาก…

 

22.28
*The Secret Sauce*

“เราพยายามจะเทรนเขาว่า อย่าหากินกับคนตาย อย่าหากินบนความเสียใจของคนอื่น บอกว่าบริการต้องทำอย่างไร หัวใจของการบริการคืออะไร มีการเทรน มีประชุม หัวหน้าแต่ละฝ่ายมีการควบคุม เชื่อมต่องานส่วนบริการข้างนอกอย่างไร เพราะคนรับเรื่องคือ Head Office นำส่งสารให้มันตรงมากที่สุด ต้องมีคนควบคุมคุณภาพตรงนี้ และมีการ CRM (Customer Relationship Management) โทรเช็กกับลูกค้า ฟีดแบ็กเป็นยังไง ถูกต้องรึเปล่า”


ผมลืมพูดไปอีกเรื่องหนึ่ง เราเทรนเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจพิธีกรรมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถ พนักงานยกหีบ พนักงานเกี่ยวกับพิธีกรรม จะต้องทำได้หมด ผมจะไม่มีแยกว่าคนนี้ยกก็ยกอย่างเดียว คนนี้ทำพิธีกรรมก็ทำพิธีกรรมอย่างเดียว สมมติคนนี้ไม่ว่าง พนักงานยกก็สามารถทำงานด้านพิธีกรรมได้”

“การเทรนเป็นเหมือนรุ่นพี่ รุ่นน้อง ช่วยกันดูแล ของผมจะมีเป็นทีม A ทีม B โดยทีม A ดูแลลูกค้าที่เป็นคนไทย ทีม B ดูแลลูกค้าชาวต่างชาติ เพราะว่าขั้นตอนของงานไม่เหมือนกัน”

 

“พนักงานต้องมีคุณสมบัติแบบไหน?”
“ไม่ต้องครับ เอาหัวใจอย่างเดียว ต้องเริ่มจากไม่กลัวก่อน และดูว่าเค้ามีหัวใจบริการหรือเปล่า เพราะว่าถ้าคนมีความคิดจะเอาเปรียบลูกค้า ทั้งที่เขาเสียใจอยู่ มันแย่มากนะครับ ผมระวังมากเรื่องหากินกับคนตาย…

 

26:39
*The Secret Sauce*

“เวลาผมประชุมกับลูกน้องหรือเจ้าหน้าที่ผมจะใช้คำว่า เราให้อะไรเขา ไม่ต้องรอเขาตอบแทน”

26.50
“ทำการตลาดยาก ประชาสัมพันธ์ยาก แล้วต้องทำยังไง?”

“ผมพยายามจะปรับทัศนคติคนว่าการจัดงานศพไม่ใช่เรื่องอัปมงคล เดี๋ยวนี้เริ่มเปลี่ยนไปเยอะ เด็กรุ่นใหม่เริ่มมาคุยว่าตายยังไงให้มีความสุข ผมมีโอกาสไปเป็นวิทยากรในที่ต่างๆ ดูแลในส่วนงาน Post Mortem Care คือดูแลญาติที่เสียใจ ในเมื่อเขาเสียใจแล้ว เราจะประคองเขายังไงให้ยืนอยู่ได้ และจัดงานไปอย่างสวยงาม อันนี้คือหน้าที่ของสุริยา ผมก็ประชาสัมพันธ์ร่วมงานกับทีม Palliative Care ตามโรงพยาบาลต่างๆ”

“เด็กบางคนเป็นมะเร็งเขียน End of Life ว่าฉันจะตายยังไง ว่า งานศพหนูอยากให้เป็นสีส้ม ทุกคนใส่สีส้มมา ลูกโป่งสีส้ม เราก็ทำให้ ต่อเนื่องมาถึง ฟิวเนอรัล แพลน ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และความตายก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว”

 

29.30
*The Secret Sauce*

“การตลาดจริงๆ คือเจาะกลุ่มเป้าหมาย ผมก็ต้องใช้คำว่า ‘ให้’ เป็นหลัก เราจะไปให้อะไรกับโรงพยาบาลได้บ้าง งานเกี่ยวกับการบริการหลังความตายเป็นหลัก บุคลการด้านนี้ในโรงพยาบาลมีน้อย คุณพ่อคิดขึ้นมาก็คือว่าเราไปให้บริการหลังความตายที่โรงพยาบาลเลย…”

 

“เป็นการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายคือโรงพยาบาลไม่ต้องมาจ้างเจ้าหน้าที่ที่มาดูแลเกี่ยวกับศพ ส่วนผมไปตรงนั้นก็จะมีเพิ่มรายได้ คือหลังจากที่เราขายตรงนั้นแล้ว เรามีส่วนที่ให้โรงพยาบาลกลับไป ตามแผนกต่างๆ เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลรัฐต่างๆ ที่ทีมสุริยาเข้าไปดูแล ก็เป็นการตลาดนึงที่ตรงเป้าหมาย และประสบความสำเร็จมาก”

 

31.27
“อุปสรรคคืออะไร?”
“คู่แข่งทางด้านการค้า ถ้ามีสุริยา แล้วมีจันทรา ก็สู้ได้ไม่ยาก แต่คู่แข่งของเราคือวัดต่างๆ ตอนแรกผมมองว่าวัดเป็นคู่แข่งนะ วัดขายหีบนี่คู่แข่งเรา เราเสียภาษี วัดไม่ได้เสียภาษี”

 

32.22
*The Secret Sauce*

“เราปรับวิธีคิดใหม่ ในเมื่อเราต้องยอมรับว่ายังไงคนก็ต้องใช้วัด เริ่มจากคู่แข่งผมก็ดึงมาเป็นพันธมิตรเลย”

 

“แต่ถ้าเกิดจะบอกว่ามาซื้อสุริยามันก็ได้แค่หีบ แต่บริการอื่นๆ ไปที่วัดง่ายกว่า ก็ต้องบอกว่าเขาแข็งแรงกว่าเรานะ มีหีบ มีดอกไม้ มีบริการ”

 

34.09
“ขยายไปดูแลศพจากต่างชาติได้ยังไง?”
“…มีลูกค้าโทรมาบอกว่ามีคนไทยตายอยู่ที่ออสเตรเลีย จะทำยังไง เราก็ติดต่อสถานทูตไทยที่นั่น พอหลังจากนั้นมา โทรศัพท์เข้ามาอีกเยอะมาก ผมก็รู้ว่ามันมีตลาดอยู่ มีช่องทางที่เราสามารถขายธุรกิจไปได้ ผมใช้เวลาศึกษา 2 ปี จนกลายเป็นว่าสยามฟิวเนอรัลใหญ่จนสุริยาเล็กไปเลย

“แรกๆ สถานทูตในไทยไม่รู้จักสยามฟิวเนอรัล เลยไปแนะนำตัว ทำ proposal ไป ตอนนั้นมีอีกเจ้าที่ทำมาก่อน และไม่มีผิดพลาดอะไร ผมกับเพื่อนที่ก่อตั้งด้วยกันก็วางแผนว่าจะทำยังไงในเมื่อทางไทยสถานทูตยังไม่รู้จัก ไปให้เมืองนอกรู้จักมาก่อน ปรากฏว่าสยามฟิวเนอรัลดังทั่วโลกก่อนเลยครับ”

 

“ทำยังไงให้ต่างชาติรู้จัก…”
“ร่อนจดหมายว่าที่เมืองไทย ไม่ได้มี Funeral home ที่เดียว มีเจ้านึง เขาลองมาใช้บริการ ข้อดีข้อนึงถ้าเป็นทาง Assistant หรือ Insurance เขาสามารถบอกทางสถานทูตได้ว่าเขาจะใช้บริษัทไหน เขาจะลองใช้สยามฟิวเนอรัล สถานทูตก็โอเค ถ้าพูดไม่ฟังไม่เป็นไร ลองดูก็ได้ เพราะบริษัทนี้มันใหม่ ปรากฏว่าที่เราทำมาประสบความสำเร็จครับ มีเครือข่ายของเราอยู่ที่ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว สามารถดูแลลูกค้าได้ทั่วประเทศเลย คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเราก็ดูแลด้วย”

 

จุดเด่น
“เรื่องบริการครับ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถานกงสุลต่างๆ เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ทุกวันนี้ผมตอบได้เลยว่าประสบความสำเร็จ อย่างงานรวมประกันทั่วโลก ทางสยามฟิวเนอรัลก็ไปร่วมงานด้วย ไปแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จัก ทางประกันเขาจะมีงานของ Air Ambulance หรือเป็น Travel Insurance ที่มีคนเสียชีวิต ก็ได้ตลาดตรงนั้นมาด้วย”

 

เป้าหมาย
“ขยายเครือข่ายไปที่ลาว พม่า กัมพูชา เรามีพันธมิตรที่ทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำภายใต้แบรนด์สยามฟิวเนอรัล เราไปสอนให้เขาทำ แต่พอเราเปิด AEC แล้ว ในอนาคตรูปแบบคือจะไปเปิดบริษัทของเราเลย ผมมองช่องทางตรงนั้นมากกว่าว่าเราขยายออกไปได้”

 

43.08
ความฝันที่อยากไปให้ถึง
“ถ้าทางสุริยาคงเป็นตัว Columbarium หรือที่สวดศพของเอกชน ซึ่งพวกทุนต่างๆ รอสุริยามากเลย ว่าจะเข้าตลาด แล้วจะสร้างมั้ย เมื่อไหร่ จะมีคำถามมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทุนชาวต่างชาติก็รออยู่”

“ตอนแรกคิดว่ายังไงก็ต้องใช้วัด แต่ผมมานั่งนึกดู คนที่ไม่อยากใช้วัดมันมีอยู่ อยากเผาที่วัด แต่อยากทำพิธีอะไรที่สวยงาม ผมได้เรียนรู้จากการที่ไปให้บริการชาวต่างชาติ เขาบอกว่าการจากกันครั้งสุดท้ายต้องสวยงามที่สุด เป็นภาพทรงจำที่ดีที่สุด เลยเอาตรงนี้มาสร้างเป็นความฝันของเรา แล้วพยายามจะสร้างในอนาคต มีที่สวดศพที่เป็นของสุริยาเอง ส่วนของสยามฟิวเนอรัลก็อยากได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น แต่ทุกวันนี้ก็ได้รับการยอมรับของสถานทูตต่างๆ แล้ว และทั่วโลกรู้จักสยามฟิวเนอรัลแล้ว ถือว่าประสบความสำเร็จ”

 

หีบศพไม่ได้ขายดีทุกฤดู?
“จริงๆ แล้วธุรกิจหีบศพมีฤดูของมัน ช่วงเข้าพรรษา คือช่วงคนไม่กินเหล้า อุบัติเหตุน้อยลง คนเสียชีวิตน้อยลง ส่วนช่วงที่ขายดีจริงๆ คือช่วงหน้าหนาว ตุลาคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่คนเดินทางท่องเที่ยว ดื่มเหล้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พอเจออากาศเปลี่ยน อากาศหนาว เสียชีวิตกันเป็นว่าเล่นเลย”

 

“สิ่งที่ยากที่สุดของสุริยาอีกอย่างคือตอนจุดธูปขอพรไหว้พระ บอกว่าขอให้ผมขายดีๆ หรือเวลาผมไปทำบุญหลวงพ่อก็จะบอกว่า โยม ขอให้ขายดีๆ นะ ถ้าผมขายดีนี่แสดงว่าคนตายเยอะนะ หลวงพ่อก็บอก เอ้ย ก็เอาคนที่ถึงเวลาสิ”

 

47.06
แนะนำคนทำธุรกิจ
“ถ้าอยากทำธุรกิจ ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราชอบหรือเปล่า ถ้าชอบ เดินหน้าเต็มตัวเลยครับ อุปสรรคมีแน่นอน ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ”

“สำหรับคนเริ่มธุรกิจใหม่ ผมอยากให้กำลังใจนะครับ ยิ่งยุคนี้ที่เศรษฐกิจค่อนข้างโดดขึ้นโดดลงมาก อยากให้เดินหน้าฝ่าฟัน ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ แล้ว ช่องทาง โอกาสมันมีครับ ทำไปเรื่อยๆ จนวันนึงที่โอกาสกับเวลามันมาด้วยกัน แล้วเราจะประสบความสำเร็จ”

 

49.37
มุมมองต่อความตาย
“10 ปีที่ผ่านมา ผมมีมุมมองว่า เรื่องเสียชีวิตเป็นเรื่องความสวยงาม เมื่อ 10 ปีก่อน ระหว่างที่ผมอยู่ในธุรกิจนี้ คนจะมองผมเป็นคนขายโลงธรรมดา แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ผมเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องพิธีศพมาก มุมมองตรงนี้เปลี่ยนไป”

 

ความสุขความภูมิใจที่ได้ทำงานนี้
“ความสุขของผมจริงๆ คือลูกค้านั่งจับมือผม แล้วบอกว่าขอบคุณมากนะ นั่นแหละคือความสุขของผม ประสบความสำเร็จครับ เราไม่ใช่เทวดา แต่ในมุมของลูกค้าที่สูญเสีย เราคือเทวดาของเขา”

 


 

Credits

The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest วิโรจน์ สุริยเสนีย์

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Episode Producers ปวริศา ตั้งตุลานนท์

อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Photographer อธิษฐาน กาญจนพงศ์

Music Westonemusic.com

FYI

 

  • เว็บไซต์ของสุริยาหีบศพ www.suriyafuneral.com
  • เว็บไซต์ของสยามฟิวเนอรัล www.siamfuneral.com
  • NFDA หรือ National Funeral Directors Association สมาคมคณะกรรมการงานศพแห่งชาติ
  • Air Ambulance บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ
  • Travel Insurance ประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ
  • Post-mortem Care การดูแลจัดการร่างผู้เสียชีวิต
  • Palliative Care การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising