×

จัดหุ้นเข้าพอร์ตสไตล์ DIY Feat. ลงทุนศาสตร์

16.08.2020
  • LOADING...

 

เริ่มลงทุนในหุ้นแบบ Step by Step กับทุกเรื่องที่มือใหม่ควรรู้สู่ก้าวแรกของการเป็นนักลงทุน 

 

โค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ และโอมศิริ วีระกุล ชวน ภก.กิตติศักดิ์ คงคา นักลงทุนเจ้าของเพจและพอดแคสต์ ‘ลงทุนศาสตร์’ กับเรื่องราวของแพสชันในการลงทุน วิธีการศึกษาและวิเคราะห์หุ้น บทเรียนชีวิต รวมถึงแนะนำหนังสือที่นักลงทุนมือใหม่ควรอ่าน

 

ติดตามได้ใน The Money Growth by The Money Coach เอพิโสดนี้ 

 

สามารถแนะนำ ติชมรายการ ส่งคำถาม หรือเสนอประเด็นที่อยากฟังมาได้ที่ [email protected] 

 


Step by Step เริ่มลงทุนหุ้นตัวแรก 

การลงทุนประกอบด้วย 2 อย่าง อย่างแรกคือพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุน ลงทุนคืออะไร ต้องลงทุนอย่างไรบ้าง อีกส่วนคือพื้นฐานกิจการ ข้อมูลหุ้น เอาหลักการไปจับว่าหุ้นแต่ละตัวดีหรือไม่ดีอย่างไร

 

สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนคือพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุน หนังสือที่แนะนำคือ เพาะหุ้นเป็น เห็นผลยั่งยืน เล่มนี้เล่มเดียวจบ จะได้คอนเซปต์ทั้งหมด เล่มที่สองคือ ตีแตก กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เล่มที่สาม Buffettology ศาสตร์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

 

ต่อไปอ่านข้อมูลหุ้น ชุดแรกเป็น SET50 สามารถเข้าไปอ่านได้ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีข้อมูลสรุปสั้นๆ ว่าแต่ละบริษัททำอะไรบ้าง พอผ่านชุดแรกไปแล้ว ต่อไปก็เลือกจากอุตสาหกรรมที่ชอบ อุตสาหกรรมง่ายๆ ก็พวกค้าปลีก โรงพยาบาล ร้านอาหาร โรงแรม ไปอ่านทำความเข้าใจ เอาความรู้จากก้อนแรกมาจับในก้อนที่สอง คัดเลือกมาสัก 5-10 ตัว แล้วก็เริ่มทยอยลงทุน 

หุ้นชุดแรกต้องเริ่มลงทุนก่อน ถ้าไม่มีตัวแรกก็จะไม่มีตัวต่อไป มีไฟแล้วต้องรีบทำ และทำให้มันสำเร็จจนถึงขั้นตอนซื้อ ตั้งเป้าหมายไปเลยว่า 7 วันต้องมีหุ้นตัวแรก แล้วมันจะมีจริงๆ

3 หลักการดูหุ้น

1. Quality มีคุณภาพเชิงปริมาณ ก็คืองบการเงิน งบสถานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และคุณภาพเชิงคุณภาพ ก็คือปัจจัยพื้นฐานบริษัท ทำมาหากินอะไร จุดเสี่ยง จุดด้อย จุดเด่นคืออะไร 

 

เวลาดูว่าหุ้นดีหรือไม่ดี ถ้าดูแต่มุมมองเราอย่างเดียวมันคิดอะไรก็ได้ เราจะบอกว่าหุ้นเราดีที่สุดหรือแย่ที่สุดก็ได้ ให้ลองทำ SWOT Analysis ดู เสร็จแล้วก็ไปดูเชิงปริมาณเพื่อเป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนี้ดีจริงไหม

 

2. Growth มุมมองอนาคตเป็นหลักว่าในอีก 5-10 ปีหุ้นนี้จะเป็นอย่างไร มีโอกาสเติบโตไหม

 

3. Value ต้องไปประเมินมูลค่าก่อนว่าหุ้นแบบนี้ คุณภาพแบบนี้ เติบโตแบบนี้ ควรจะมูลค่าสักเท่าไร บางทีหุ้นดี แต่ราคาแพงไป ก็อาจเป็นการลงทุนที่แย่ได้ หรือหุ้นไม่ดี แต่ราคาถูกมากๆ ก็อาจเป็นการลงทุนที่ดีก็ได้

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นตัวไหนโตหรือไม่โต

ถ้าพูดถึงอนาคตนั้นยากหมด ต้องถามว่าสมมติฐานที่เราตั้งมีตัวเลขหรือมีอะไรมารองรับบ้าง เช่น บางบริษัทซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกบอกว่าจะโตปีละ 10-20% แต่ถ้าไม่ขยายสาขาเลย ยอดขายก็ไม่ขึ้น แล้วจะโตได้อย่างไร หรือบางบริษัทเป็นธุรกิจโรงแรมที่บอกว่าจะโต เราลองไปดูตัวเลขการท่องเที่ยว ดูว่านักท่องเที่ยวโตไหม จำนวนคนที่เข้ามาใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นมากไหม 

 

ทุกสมมติฐานสามารถยืนยันได้ แต่อาจจะต้องมีข้อมูลรองอีกชุดมาสนับสนุน อย่างธนาคารจะโต GDP ก็ต้องโต มันสามารถทดสอบได้ แต่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะสัก 60-70% แต่มันจะดีกว่าลอยๆ ถ้าเรามีตัวเลขมา อย่างน้อยมันก็มีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่อาจจะผิดก็ได้ ทุกอย่างเป็นการทดสอบสมมติฐาน 

 

ลงทุนระหว่าง 70-80% บนความน่าเชื่อถือ ที่เหลือใช้การกระจายความเสี่ยงช่วย ถ้าบอกว่า 70-80% ไว้ใจได้อย่างไรก็ให้ถือสัก 10 ตัว เผื่อตัวหนึ่งพลาดก็ยังเหลืออีก 8-9 ตัว อันนี้คือหลักการเลย พอทุกคนเข้าไปลงทุนในตลาด ถึงจุดหนึ่งจะรู้ว่าตัวเองขาดอะไรบ้าง เดี๋ยวตลาดจะสอนเรา 

 

จัดการกับตัวเองอย่างไรเวลาที่เรามั่นใจในสมมติฐาน แต่คนในตลาดไม่เห็นด้วยกับเรา

มีสองแบบ แบบแรกถ้ามั่นใจว่าเราถูก แต่ตลาดผิด ก็อยู่เฉยๆ ไม่ต้องสนใจมันมาก เดี๋ยวเวลาจะพิสูจน์เองว่าเราถูกหรือผิด ซึ่งมีหลายครั้งที่เราถูกจริงๆ แต่ถ้าเราผิด แต่ตลาดถูก แบบนี้ต้องแก้ไข ไปเช็กดูว่าเราทำอะไรผิด 

สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้ว่าเราผิดเพราะอะไร แล้วก็ไม่ผิดแบบเดิมซ้ำอีก ความผิดควรจะแปลกใหม่ขึ้น และโอกาสในการผิดควรจะน้อยลงเรื่อยๆ

มีวิธีกลั่นกรองอย่างไรกับวิสัยทัศน์ในการลงทุนของผู้บริหารในธุรกิจนั้นๆ

วิธีที่ดีที่สุดคือให้กลับไปฟังย้อนหลัง ไปฟังว่าไตรมาสที่เขาพูดแล้วทำไม่ได้เขาพูดว่าอะไร เช่น สมมติว่าไตรมาส 1 ปี 2018 กำไรตกมาก ให้ย้อนไปฟังไตรมาส 4 ปี 2017 ไปดูไตรมาสที่มันไม่ดี แล้วดูว่าเขาตอบสนองอย่างไร เขาให้สัญญากับนักลงทุนไว้ว่าอย่างไร แล้วเขาทำได้ไหม ไตรมาสต่อไปสามารถแก้ได้หรือเปล่า 

 

ภาพใหญ่เศรษฐกิจถูกกระทบ จะมีวิธีวิเคราะห์อย่างไรว่าบริษัทที่เราลงทุนจะรับมือไหวหรือไม่

หลักการคือมองภาพยาวก่อน ถ้าภาพยาวโอเคก็ให้ถอยมาดูภาพสั้น ตั้งคำถามว่าเขาจะรอดไหม ตั้งสถานการณ์ให้เขาเลยว่าถ้าขาดทุนปีละเท่านี้ เงินสดหายไปเท่านี้ แล้วเขาจะยังอยู่รอดไหม 

 

ธุรกิจใดก็ตามที่ภาพระยะยาวยังดีอยู่ก็ยังมีความน่าสนใจ แต่ถ้าระยะยาวไม่ดีก็ต้องหลีกเลี่ยงไปก่อน บางอันภาพยาวดี แต่ภาพสั้นไม่ดี ก็ต้องกลับมาดูที่พื้นฐาน วิเคราะห์ได้จากงบดุล งบกระแสเงินสด งบกำไรขาดทุน กลับไปดูงบปีที่แย่ๆ ว่าเขารับมืออย่างไร 

ผมมองว่านักลงทุนเป็นอาชีพหนึ่งเลย คุณจะหาเงินจากการเป็นหมอ วิศวกร คุณให้เวลากับมันเท่าไร คุณจะหาเงินจากตลาดหุ้น คุณให้เวลามันสัปดาห์ละชั่วโมง มันก็สู้ไม่ได้ จะสู้คนที่เขาอยู่มา 4-5 ปี แล้วเขาให้เวลาสัปดาห์ละ 7-8 ชั่วโมงได้อย่างไร

การตัดสินใจในมุมจิตวิทยาการลงทุน

สิ่งสำคัญที่สุดคือกลยุทธ์ที่คุณเลือกเหมาะกับคุณหรือเปล่า บางคนใจร้อนมาลงทุนแบบ DCA ก็ไม่รอด หรือบางคนชอบถือนานๆ ให้ไปลงทุนแบบ Day Trade ก็ไม่รอดเช่นกัน เราต้องหาความถี่ของตัวเราว่าถนัดแบบไหน ลงทุนแบบไหนแฮปปี้ที่สุด ถ้าวิธีการถูกแล้วก็มาดูว่าความรู้พอหรือเปล่า หลายคนอยากซื้อขาย แต่ไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี แบบนี้ต้องเติมความรู้เยอะๆ ถ้าเรามีความคิดที่ถูกต้อง มีความรู้ เราจะไม่ค่อยกังวล 

 

ถ้าความรู้ดีแล้ว กลยุทธ์ถูกแล้ว สุดท้ายถ้ายังไม่ไหวจริงๆ ต้องเอาทัศนคติเข้ามาช่วย ให้ถอดใจจากตลาดหุ้นออกมา อย่าไปโฟกัสกับมันเยอะ ชีวิตมีหลายด้าน หางานอดิเรกทำ ให้การลงทุนมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งในชีวิต แต่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

 

ตลาดหุ้นให้แง่คิดอะไรกับชีวิต

ตลาดหุ้นให้ความมั่นใจกับชีวิตได้ มันพิสูจน์จริงๆ ว่าไม่มีใครเหนือกว่าใครได้ขนาดนั้น ถ้าคุณพยายาม มันทำได้จริงๆ มันมีพื้นที่สำหรับคนที่พยายามมากพออยู่ มันให้อะไรมากกว่าเงิน เพราะมันพิสูจน์คุณค่าในชีวิตด้วย ถ้าเราตั้งใจจริงก็ทำได้เหมือนกัน

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Money Growth by The Money Coach
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Hosts จักรพงษ์ เมษพันธุ์, โอมศิริ วีระกุล

Project Manager ณปภัช ฤทธิอัครกุล

Channel Manager & Show Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director พรวลี จ้วงพุฒซา
Show note เอกราช มอเซอร์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์, 

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising