×

5 เคสเก็บเงินที่ทำให้เห็นแนวทางและเข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือการลงทุน

24.09.2018
  • LOADING...

มันนี่โค้ชรวบรวมเคสมาอธิบายเพื่อคลี่คลายข้อสงสัยเช่นเคย คราวนี้ล้วนเป็นเรื่องการออมและการลงทุนที่แต่ละเคสมาปรึกษาด้วยเครื่องมือการลงทุนที่แตกต่างกัน ไล่ตั้งแต่กองทุนรวมตราสารหนี้ ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ ไปจนถึงหุ้น คุณจะได้เรียนรู้จากเคสจริง เข้าใจหลักการได้ง่ายขึ้น และนำไปปรับใช้กับตัวเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

 

Case 1: สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูเคยอบรมกับอาจารย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไม่รู้อาจารย์จะจำได้หรือเปล่า

 

ก่อนอื่นต้องขอบคุณอาจารย์มากนะคะที่มาสอนเรื่องเงินที่ไม่เคยรู้มาก่อนหลายเรื่องเลย ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำงาน หนูตั้งใจไว้ว่าถ้าทำงานได้สัก 2-3 เดือนจะออกรถเอาไว้ใช้ แต่พอฟังอาจารย์วันนั้นหนูเลยเปลี่ยนใจไม่ออกรถ แล้วเก็บเงินไว้ลงทุนดีกว่า เพื่อนๆ หนูก็คิดแบบหนูหลายคนนะคะ เปลี่ยนใจไม่ซื้อรถกันเพียบเลย แต่ก็มีบางคนบอกว่ามันจำเป็น ของมันต้องมีค่ะ

 

ตอนนี้ได้เงินเดือนเดือนแรกแล้ว และกำลังจะเก็บเงินตามที่อาจารย์สอน แต่หนูมีเรื่องสงสัยอยากจะขอคำปรึกษาอาจารย์ค่ะ

 

ตอนนี้หนูวางแผนที่จะกันเงินเดือนทุกเดือนไว้ส่วนหนึ่งเพื่อเก็บออมเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินตามที่อาจารย์สอน ตั้งใจว่าจะลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐทุกเดือน

 

คำถามคือ

  1. หนูสามารถซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้กับทาง ธกส. ได้ไหม
  2. พอดีหนูมีเงินเก็บตั้งแต่เด็กประมาณ 15,000 บาท แต่ฝากธนาคารแล้วมันได้ดอกเบี้ยน้อย อาจารย์มีหนทางอะไรที่จะทำให้มันงอกเงยกว่านี้ไหมคะ
  3. ถ้าสมมติว่าหนูหักเงินเข้ากองทุนรวมตราสารหนี้แล้วมีเงินสะสมในนั้นเกิน 6 เท่าของเงินเดือนแล้ว หนูสามารถหยุดเก็บเงินก้อนนี้ได้เลยแล้วไปสะสมกองทุนหุ้นเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ตอนเกษียณได้เลยใช่ไหมคะ

 

ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ หนูเพิ่งรู้ว่าเรื่องเงินเป็นอะไรที่สนุกมาก แม้หนูจะยังงงๆ อยู่บ้างก็ตาม

 

A: 1. ธกส. ไม่น่าจะมีกองทุน เป็นเรื่องของเงินฝากและสลากของธนาคารสำหรับชิงโชคมากกว่า คาดว่าน้องรับเงินเดือนจากธนาคารของภาครัฐอยู่แล้ว ธนาคารที่เรารับเงินเดือนก็น่าจะมี เข้าไปคุยกับเขาได้เลย แจ้งว่ามาเปิดบัญชีกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐ ขอตัดเงินเป็นประจำทุกเดือนก็ได้ ช่วยลดภาระของเรา เพราะถ้าเงินเข้ากระเป๋าเราก่อน เราอาจจะไปเผลอกินใช้จนหมด

 

  1. คำว่าลงทุนแล้วงอกเงยเป็นสิ่งที่ใครก็อยากจะได้ แต่ต้องดูวัตถุประสงค์ของเราก่อน ดูจากข้อ 1. แสดงว่ายังเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่เต็ม เป้าหมายของการเก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินต้อง 6 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าเดาก็คือเงินเก็บ 15,000 บาทอาจจะได้แค่เงินเดือนเดือนเดียวของน้องที่ยังเป็นเด็กจบใหม่ เอาตรงนี้ไปเก็บไว้ในกองตราสารหนี้ก็ได้ เอาให้มีเงินสะสมสำรองเผื่อฉุกเฉินก่อนจะไปคิดลงทุน

 

  1. เมื่อเราเก็บเงินสำรองได้ครบ 6 เท่าของรายได้ปัจจุบัน อันนี้เหมือนเป็นกันชน เมื่อชีวิตเกิดความเสี่ยงขึ้นมา มีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ใช้เงินเราเอง ไม่ต้องไปยืมใคร ไม่ต้องไปกู้เงินให้มีดอกเบี้ย พออันนี้เต็มแล้ว เดือนต่อมาเรามีเงินเหลืออีก 10-20% ที่เก็บได้ ก็เอาไปเก็บในกองทุนหุ้นแบบยาวๆ เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่อยากฝากไว้ว่า 6 เท่าตรงนี้ ถ้าไม่ฉุกเฉินอย่าไปกินไปใช้ และ 6 เท่าต้องปรับเพิ่มปรับลดอยู่ตลอดเวลาถ้ารูปแบบรายจ่ายของเราเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ไม่มีรถ และมีรายจ่ายต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท ต้องเก็บ 6 เท่าก็คือประมาณ 60,000 บาท แต่วันดีคืนดีเมื่อออกรถและรายได้สูงขึ้น สมมติออกรถและต้องส่งอีก 10,000 บาท กลายเป็นรายจ่าย 20,000 บาท แสดงว่า 60,000 บาทที่มีอยู่เดิมจะรับความเสี่ยงได้ประมาณ 3 เดือน จึงต้องปรับเพิ่มและปรับลด ในขณะที่คนเคยผ่อนรถอยู่ วันหนึ่งรถผ่อนหมดไปแล้วเราก็ปรับตรงนี้ลดลงได้เหมือนกัน การเงินในชีวิตคนเรามันไดนามิก ไม่ใช่ว่าคิดครั้งเดียวหรือทำครั้งเดียวแล้วจบ เราต้องคอยมอนิเตอร์และติดตามตลอด ในเดือนหนึ่งมีเงินไหลเข้า-ออกอย่างไร ในปีหนึ่งดูภาพรวมว่าหนี้ลดลงบ้างไหม ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

 


 

Case 2: ทำสะสมทรัพย์ในรูปแบบประกันชีวิตกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้ค่ะ แบบจ่าย 15 ปี คุ้มครอง 20 ปี ปีละประมาณ 25,000 บาทค่ะ ทุก 3 ปีจะได้ปันผล 12,000 บาท

 

ตอนนี้ส่งมาจะได้ 10 ปีแล้วค่ะ ตอนที่ทำพนักงานธนาคารเขาก็เชียร์ดีค่ะ แต่เราก็ทำแต่งานประจำ ยังไม่รู้วิธีการลงทุนค่ะ คิดแค่ว่าเป็นการเก็บเงินในอีกรูปแบบหนึ่งค่ะ

 

แต่ตอนนี้คิดอยากจะหยุดส่งแล้วนำเงินมาลงทุนอย่างอื่นค่ะ คำถามคือว่าจะไปขอหยุดได้ไหมคะ แล้วจะได้จำนวนเงินที่ส่งไปกลับมาครบไหมคะ เพราะว่ายังไม่ครบสัญญาค่ะ

 

มีวิธีการต่อรองแบบไหนได้บ้างคะ หรือว่าต้องพยายามส่งต่อไปจนกว่าจะครบสัญญา เพราะว่าเราอาจจะเสียเปรียบ ตอนที่ทำเห็นพนักงานธนาคารบอกว่าถ้าส่งครบ 12 ปีก็ให้ถอนได้ เพราะว่าถึงจุดคุ้มทุนแล้วค่ะ

 

โค้ชมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างคะ อยากจะขอคำแนะนำค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

A: เรื่องหยุดส่งสามารถทำได้ เงินของเรา เรามีสิทธิ์อยู่แล้ว แต่จะไม่ได้เงินที่ส่งไปกลับมาครบแน่ๆ เราส่งไป 25,000 บาทต่อปี อาจจะมีทุนประกันอยู่ที่ประมาณ 350,000 บาท เวลาเราจ่ายเบี้ยประกัน เขาไม่ได้เอาไปสะสมเป็นเงินออมทั้งหมด เขาเอาค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งของเบี้ยไปเป็นค่าจัดการกับความเสี่ยงในกรณีที่เราจากไปก่อนเวลาอันควรด้วย ถ้าเราหยุดจ่ายก่อนจะได้คืนไม่ครบแน่นอน

 

ถ้าซื้อประกันชีวิต แนะนำให้ลองเปิดกรมธรรม์ดู เชื่อว่าร้อยละ 80-90 ของคนไทยไม่เปิดกรมธรรม์อ่าน ซึ่งในนั้นจะบอกเราว่าถ้าหยุดส่งประกันในปีที่เท่าไรจะได้เงินคืนเท่าไร เมื่อเทียบกับทุนประกัน 1,000 บาท ใครที่ส่งมานานแล้วก็อาจจะมีทุนสะสมอยู่ในนั้นพอสมควร แต่ถ้าเพิ่งส่งระยะสั้นๆ ทุนสะสมก็ค่อนข้างน้อย การทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงสูง แต่เราจ่ายเงินปีแรกต่ำ จ่ายไป 2-3 ปี ยังห่างไกลจากทุนประกันอยู่เลย

 

สำหรับวิธีการต่อรองคือไม่มี แต่ถ้าอยากจะหยุดก็สามารถหยุดได้ พอหยุดแล้วค่อยมาดูกันว่าคุณส่งมา 10 ปีจะได้เงินคืนเท่าไร ซึ่งตรงนี้เขามีตัวเลขชัดเจน ถ้าเหลือเวลาอีกนิดเดียวแล้วเราส่งไหวก็ส่งไปให้ครบสัญญาอาจจะโอเคก็ได้ แต่ถ้าบอกว่าตอนที่ซื้อไม่มีความรู้ ไม่ได้ตั้งใจจะเก็บตรงนี้ และมีช่องทางที่ดีกว่าก็ลองพิจารณาเวนคืนดูก็ได้เหมือนกัน

 


 

Case 3: สวัสดีค่ะอาจารย์ ดิฉันเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง ได้ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปครั้งหนึ่ง และได้กลับเข้ามากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกครั้ง คือลงทุน 5% และองค์กรลงให้ 10%

 

จากการที่ดิฉันได้ติดตามฟังคำแนะนำการออมของอาจารย์มาประมาณ 2 เดือน ดิฉันได้ซื้อกองทุนแบบ DCA (ถัวเฉลี่ยต้นทุน) เดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อฟังไปเรื่อยๆ มีความคิดว่าเราน่าจะเพิ่มการออมกับองค์กรเป็น 10% ขอคำชี้แนะจากอาจารย์ค่ะว่าแบบไหนดีกว่ากัน

 

หวังว่าอาจารย์จะให้คำชี้แนะนะคะ รอฟังคำตอบจากอาจารย์ค่ะ

 

A: ต้องบอกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทนี้สุดยอดมาก หักเราไป 5% นายจ้างให้ 10% นั่นหมายความว่าเดือนหนึ่งเราได้เงินเดือนมา เขาหักเราไป 1 ส่วนและเติมให้อีก 2 ส่วน คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 200% แต่ไม่แน่ใจว่าอัตราสมทบจะปรับเพิ่มไหมหรือมันคงที่ที่ 10% ถ้าเกิดว่าเราขยับของเราเพิ่มและบริษัทขยับด้วย อันนี้แนะนำให้ลุยเลย แต่ถ้าไม่เพิ่ม ต้องพิจารณาตามนี้

 

  1. ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรามีแผนการลงทุนดีๆ ให้เลือกไหม ยกตัวอย่าง ถ้าอายุยังไม่ถึง 45 ปี ยังมีเวลาลงทุนได้อีก 10 ปีกว่าๆ เราอยากลงทุนในหุ้นเยอะๆ บางบริษัทมีเหมือนกัน ลองดูว่ามีแผนการลงทุนที่ตรงใจเราไหม ถ้ามี เราก็ไปใช้ขององค์กรได้

 

  1. ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ถ้าวันนี้เราสะสมเข้าไปในนี้ 5% ตัวนี้ก็จะเอาไปหัก ไม่เอามาคิดคำนวณภาษี ถ้าเขยิบเป็น 7% ส่วนที่เกินมาก็เอาไปหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน

 

ถ้าบริษัทไม่มีอะไรให้เลือกเลย ลง 5% สมทบ 10% ลง 7% ก็สมทบ 10% กองทุนที่อยากจะเลือกก็มีไม่มาก เราอาจลงทุนแค่ 5% เพื่อเอาสิทธิประโยชน์ในส่วน 10% ของนายจ้าง และลงทุนตามกองที่พอจะมีให้เลือก แล้วจัดสรรเงินในส่วน 2,000 บาทมาลงทุนสะสมเพิ่มเติมในที่ที่แผนการลงทุนตรงใจเรา ตรงนี้ต้องมองและพิจารณาประกอบกันหลายๆ ส่วน

 

แนะนำเพิ่มเติมในส่วนของ DCA ที่ตัดซื้อประจำทุกเดือน ตรงนี้อยากให้ประเมินด้วยว่าปัจจุบันเราเสียภาษีอยู่ในอัตราใด ถ้าเสียภาษีสูงพอสมควร กองทุนที่เราเลือกซื้อควรจะเลือกกองที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปด้วย เช่น LTF/RMF เป็นต้น ในเมื่อเราตั้งใจจะเก็บเงินเพื่อการเกษียณแล้วก็ใช้สองตัวนี้ไปด้วย เงินที่เอาไปลงทุนก็เอามาหักลดหย่อนได้ด้วยในกรณีที่เราเลือกจะทำสองทางขนานกันไป แต่ถ้าบอกว่าจะกลับไปที่กองทุนของบริษัทเลยก็ได้ เพราะว่าหักลดหย่อนภาษีได้อยู่แล้ว  

 

การลงทุนถามว่าอะไรดีที่สุดหรือดีกว่ากัน ตอบได้ยาก เพราะไม่มีอะไรดีกว่า มีแต่เหมาะกว่า ทุกครั้งของการลงทุนต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนว่าจะเอาเงินตรงนี้ไปทำอะไร และเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน

 


 

Case 4: สวัสดีครับโค้ช อยากทราบว่าการออมเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์นี่ดีหรือเปล่าครับ เพราะเห็นดอกเบี้ยดีกว่าธนาคาร แต่ยังงงว่าทำไมมีเก็บสองแบบคือเป็นเงินฝากกับทุนเรือนหุ้น อันนี้ต่างกันอย่างไรครับ แล้วทุนเรือนหุ้นที่ว่านี้มันใช่หุ้นหรือเปล่า ฟังชื่อแล้วน่ากลัวครับ

 

ที่นี่เงินฝากให้ดอกเบี้ย 2.75% ครับ ส่วนถ้าเป็นทุนเรือนหุ้นให้ดอกเบี้ยประมาณ 5.5% ขึ้นกับผลการดำเนินงานสหกรณ์ อันนี้คืออะไร ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ

 

ที่สหกรณ์นี้สมัครฝากเงินครั้งแรกต้องเสียค่าหุ้น 1,000 บาท ค่าธรรมเนียม 200 บาท รวมจ่ายครั้งแรกที่เปิดบัญชี 1,200 บาท เห็นเขาบอกว่าสะสมหุ้นไปได้เรื่อยๆ แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

 

ส่วนเงินฝากก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ทุกเดือนทางสหกรณ์จะมีสลิปแจ้งค่าหุ้นและเงินฝากสะสมให้ครับ ผมถามเขาไปว่าดอกเบี้ยที่จะได้เป็นดอกเบี้ยทบต้นหรือเปล่า ทางเขาก็อธิบายไม่ค่อยเข้าใจครับ แล้วการฝากเงินไว้กับสหกรณ์นี่มันเสี่ยงไหมครับ เคยได้ยินข่าวว่ามีสหกรณ์โกงเงินคนฝากเลยเป็นกังวล รบกวนโค้ชช่วยชี้แนะด้วยนะครับ

 

A: สหกรณ์ออมทรัพย์คือสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นในแต่ละองค์กร เช่น สหกรณ์โรงพยาบาล สหกรณ์ตำรวจ สหกรณ์มหาวิทยาลัย สหกรณ์บริษัท ฯลฯ วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อให้สมาชิกได้สะสมเงินไว้ ในกรณีที่ต้องใช้เงินก็สามารถเอาทุนตัวเองเป็นหลักทรัพย์ในการกู้ยืมเงินที่ดอกเบี้ยไม่แพง สามารถเอาไปตอบโจทย์ตามวัตถุประสงค์ และการที่เราจะเอาเงินไปออมกับสหกรณ์มี 2 รูปแบบ แบบแรกคือการฝากเงิน ในมุมหนึ่งคือเราเป็นเจ้าหนี้ของสหกรณ์ เพราะเราเอาเงินไปฝากกับเขา เขาก็เอาเงินเราไปปล่อยสินเชื่อให้สมาชิกได้กู้ยืม เขาก็ต้องให้กู้เกิน 2.5% ถ้าเขาให้ดอกเบี้ยเรา 2.5% พอเขาได้กำไรก็มาจ่ายคืนเราในฐานะเจ้าหนี้

 

ถ้าเราซื้อทุนเรือนหุ้น (ในนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่าหุ้น) เท่ากับว่าเราเป็นหุ้นส่วนกับสหกรณ์ และเราจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผล สมมติสหกรณ์เจ๊งขึ้นมา คนฝากเงินจะได้เงินคืนก่อน เพราะเขาเป็นเจ้าหนี้ คนที่ถือหุ้นจะได้ทีหลัง

 

สำหรับดอกเบี้ยทบต้นก็คือถ้าคุณฝากเงินไว้กับเขาและไม่ได้ถอนออกมา ดอกเบี้ยก็จะกลายเป็นเงินต้นในปีถัดไป ถามว่าเสี่ยงไหม ต้องบอกว่าไม่มีอะไรในโลกไม่เสี่ยง โจทย์ของผมคือถ้าเราเอาเงินไปฝากไว้กับใครสักคน หรือไปเป็นหุ้นส่วนทำกิจการกับใครสักคนหนึ่ง ถามว่าจะคอยดูและติดตามไหมว่าเขาเอาเงินเราไปทำอะไร ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เงินสหกรณ์ไม่ใช่น้อยๆ ลองนึกภาพสมาชิกบริษัทเป็นสมาชิกสหกรณ์กันหมด บางที่เป็นองค์กรขนาดเล็กก็มีหลักพันล้านบาท มีบางเคสที่เคยเจอ เช่น เอาไปลงทุนสร้างตึกแถว ซึ่งคนไม่มีความรู้แล้วไปลงทุนแบบนี้ค่อนข้างเสี่ยง ถ้ากรรมการบริหารไม่เป็น ตรงนี้ค่อนข้างอันตรายมาก

 

กลับไปที่คำถามว่าเสี่ยงไหม ต้องถามกลับว่าแล้วเราติดตามเป็นไหม เวลาเขามีประชุมอะไรกัน เราไปไหม หรือวางใจว่าเขาจะทำอะไรกับเงินเราก็ได้ อันนี้ไม่โอเค อันไหนที่ไม่รู้เราต้องถาม

 

มีหลายคนถามว่าใช้สหกรณ์เก็บเงินเพื่อเกษียณได้ไหม ถ้าต้องอยู่ในองค์กรนี้จนเกษียณอยู่ดี ขอตอบว่าทำได้และมีความแน่นอนของผลตอบแทนสูงกว่าด้วย ถ้าสหกรณ์นั้นบริหารและมีธรรมาภิบาลที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินก้อนหนึ่งทุกเดือน สมมติว่าเราออมได้เดือนละ 2,000 บาท และเราเอาไปลงทุนกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสม เป็นหุ้นบวกตราสารหนี้ เราลงทุนและคาดหวังผลตอบแทน 7% แต่จะไม่ได้ 7% ตลอด เพราะมีความผันผวน แต่สหกรณ์ถ้ามี 2,000 ทุกเดือน เราตัดซื้อทุนเรือนหุ้นเพื่อจะเป็นหุ้นส่วน ยกตัวอย่าง เคสนี้ได้ 5.5% ตรงนี้โอเคเลย แต่เงื่อนไขมีนิดเดียวคือเราต้องไม่เอาเงินปันผลไปกินไปใช้ ครบปีพอได้ปันผลมาให้เอาเงินปันผลไปเติมในหุ้น เอามาซื้อหุ้นเพิ่ม ถ้าเอาไปกินไปใช้จะไม่เกิดการสะสมและทบต้น ทำให้เงินไม่โต ซึ่งคนเราเงินจะวิ่งและโตเร็วก็ต่อเมื่อเอาเงินมาทบต้น

 


 

Case 5: พี่ครับ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากพี่ แล้วผมก็ไปศึกษาเกี่ยวกับหุ้น พอได้รู้ว่าการออมในหุ้นมันสามารถที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินในอนาคตดีได้ แล้วทีนี้ผมมีหุ้นที่ไปหาข้อมูลมาแล้วผมสนใจเป็นพิเศษ อันนี้คือหุ้นที่ผมมีกำลังที่จะซื้อตัวหุ้นในขั้นแรกๆ ได้ครับ แล้วทีนี้ผมจะเอาเงินเดือนส่วนหนึ่งที่พี่แนะนำในคลิปว่าต้องออมเงินเดือน 20% ผมเลยจะเอามาออมในหุ้น อย่างนี้ผมคิดถูกแล้วไหมครับ และผมก็ขอคำแนะนำจากพี่ด้วยครับ ขออนุญาตรบกวน #รักและเคารพครับ

 

A: ขั้นต่ำคนเราควรจะออมสัก 10% ถ้าตอนนี้เป็นหนี้ เงินไม่พอใช้ เอาสัก 3-5% ได้เหมือนกัน แต่ที่เป็นมาตรฐานคือ 10% แต่ถ้าเก็บได้เดือนละ 20% จะมีโอกาสมั่งคั่งได้เร็ว เริ่มต้นให้เร็วเพื่อให้ภูมิใจกับตัวเอง เงินแต่ละเดือนมีเหลือเก็บไว้ให้ตัวเองบ้าง ไม่ใช่ได้เงินมาก็ให้คนอื่นไปหมด นี่คือหลักคิดก่อน

 

ถ้าทำได้ 20% ตามที่บอกมาและไม่เดือดร้อนก็โอเค แต่ถ้าไม่ใช่ ลองไปเลือกและปรับดูให้เหมาะสม สำหรับตัวหุ้น ถ้าโจทย์คือการเก็บเงินเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ นั่นหมายความว่าจะต้องเก็บเงินอีกนานและต้องสนใจการเติบโตของหุ้นตัวนั้น อยากเห็นหุ้นตัวนั้นมีมูลค่าสูงขึ้นในอนาคต อาจจะไม่ต้องโฟกัสเรื่องเงินปันผลมาก เพราะฉะนั้นกลุ่มหุ้นที่ควรเลือกคือหุ้นกลุ่มเติบโต หรือที่เขาเรียกว่า Growth Stock วิธีการคัดเลือกก็อาจจะต้องมองและดูเทรนด์ของประเทศเราและของโลกว่าธุรกิจกลุ่มไหนจะเติบโตในช่วงเวลา 10-20 ปีต่อจากนี้ กลุ่มที่อาจจะไปลองพิจารณาดู เช่น กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มนี้ผ่านไปกี่ปีก็แพงขึ้นเรื่อยๆ หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องค้าปลีก กลุ่มสื่อสาร กลุ่มที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จาก AEC กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มโลจิสติกส์ รวมไปถึงกลุ่มที่เป็นเทรนด์สังคมเมือง เป็นต้น แนะนำว่าถ้าจะสะสมหุ้นแบบนี้ให้ใช้วิธีตัดอัตโนมัติได้ ขออย่างเดียวคือให้คิดและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง แต่ถ้าคิดและเลือกไม่เป็น แนะนำว่า กองทุนหุ้นก็โอเคเหมือนกัน

 

เมื่อลงทุนอะไรไปแล้วอย่าเผลอหลงรักมัน เชื่อว่านักลงทุนบางคนมีความมั่นใจในตัวเองระดับหนึ่ง ถ้าหุ้นไม่ดีเหมือนเดิมก็ต้องรู้จักที่จะยอมสูญเสียบางส่วน ตัดออกไปและเริ่มหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่า ในอดีตผมก็เคยลงทุนไม่เป็น ลงทุนและรักมาก หุ้นตัวนี้เคยทำเงินให้เรา ตัดทิ้งไม่ได้ จนสุดท้ายเราต้องขายทิ้ง อยากแนะนำนักลงทุนใหม่ๆ อย่ายึดติดและอย่ารักเครื่องมือลงทุนของเรา ถ้าเห็นหุ้นเราทีท่าไม่ดีแล้วและประเมินแล้วว่าธุรกิจเขาไม่ดีเหมือนเดิมก็ต้องปล่อยไป

 

สุดท้ายสิ่งที่อยากจะฝากคือเงินลงทุนทุกอย่างมาจากการออม ประหยัด และผ่านการใช้จ่ายอย่างมีสติมาเป็นอย่างดี ดังนั้นอย่าวางเงินของเราไปไว้ในสิ่งที่เราไม่รู้จักและไม่เข้าใจ ถ้าอยากจะมั่งคั่ง เงินที่เราเก็บออมต้องเอาไปวางในที่ที่เรารู้จักและเข้าใจเท่านั้น ยิ่งคุณรู้จักและเข้าใจในสิ่งที่คุณลงทุนมากเท่าไร คุณก็ยิ่งสร้างผลตอบแทนจากสิ่งที่คุณลงทุนได้มากเท่านั้น

 


 

ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) 

 


Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Shownote อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X