×

คำถามเรื่องเงิน ที่จะให้คำตอบกับทุกช่วงของชีวิต

14.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:56 อยากประสบความสำเร็จทางการเงินต้องเริ่มต้นจากอะไร

06:00 อยากให้แฟนสนใจเรื่องเงินทองด้วยควรทำอย่างไร  

13:23 อายุเข้าเลข 5 แต่ยังไม่มีเงินเก็บเกษียณเลย จะทำอย่างไรดี

21:55 จะเริ่มสอนเรื่องเงินให้กับลูกๆ ได้อย่างไร

28:09 จะรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตเจอสิ่งที่ใช่แล้ว

ส่งท้ายซีซันแรกของ The Money Case ด้วยการให้มันนี่โค้ชตอบคำถามที่น่าสนใจจากทางบ้าน ครอบคลุมตั้งแต่คำถามจากคนที่อยากเริ่มต้นเรื่องเงิน คนที่อยากให้แฟนหันมาสนใจเรื่องเงินเหมือนตัวเอง หรือเป็นโจทย์ยากของคนวัยเลข 5 ที่อยากมีเงินเก็บทันเกษียณ ไปจนถึงคำถามจากคนที่อยากสอนลูกเรื่องเงิน และมาดูกันว่า มันนี่โค้ชจะตอบอย่างไร เมื่อเจอคำถามใหญ่ของชีวิตอย่าง จะรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตเราเจอสิ่งที่ใช่แล้ว


Q: อยากประสบความสำเร็จทางการเงินต้องเริ่มต้นจากอะไร

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตเลย เพราะคนมักจะบอกว่าเสียดายที่มารู้จักมันนี่โค้ชช้าไป ต้องบอกว่า เรื่องของการเงิน เรารู้ตัวเมื่อไรก็เริ่มได้เมื่อนั้น เพียงแต่ว่าถ้าอยากเริ่มต้นจริงๆ ต้องเริ่มต้นให้ถูกหลักและถูกต้อง

 

เวลาคนถามว่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จทางการเงินต้องเริ่มต้นจากอะไร เป็นคำถามที่ตอบยาก แต่ถ้าจะตอบให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ คือ ต้องบริหารเงินให้เหลือ นี่คือหัวใจสำคัญของการที่เราจะต่อยอด สร้างความมั่งคง หรือประสบความสำเร็จทางการเงินได้

 

ไม่ว่าจะอยู่ช่วงเวลาใดของชีวิต จะเรียนอยู่แล้วได้เงินค่าขนมมาก็ควรบริหารให้เหลือ เริ่มต้นทำงานก็ต้องรู้จักเก็บออม มีครอบครัวก็ต้องบริหารเงิน ทำให้มีเงินเหลือสะสมเพื่อวันข้างหน้า ใกล้จะเกษียณก็ต้องเร่งสะสมเงินให้เพียงพอดูแลตัวเอง เกษียณแล้วก็ต้องกินอยู่บริหารเงินให้ประหยัดและอยู่รอดได้

 

เงินออม คือจุดตั้งต้น จากนั้นเมื่อเรามีเงินเหลือ สมองเราก็จะทำงานอีกแบบหนึ่ง คนที่ไม่มีเงินเหลือ เวลาไปชวนเขาทำอะไรเขาก็ไม่อยากทำ จะชวนไปเรียนรู้เรื่องการลงทุน เขาก็จะบอกว่าให้เขามีเงินก่อน ชวนเขาทำกิจการเขาก็ไม่อยากทำ เพราะเขาไม่มีเงิน

 

ถ้าจะจัดการเรื่องเงินให้รอด ไม่ว่าจะเอาเงินนั้นไปลงทุน หรือเอาไปสร้างธุรกิจ ควรจัดการความเสี่ยงให้ตัวเองด้วย อย่างการซื้อประกันหรือสะสมเป็นเงินสำรอง สิ่งสำคัญตามมาคือ เรื่องของความรู้ คนแต่ละคนเข้ามาสนใจเรื่องเงินไม่ตรงกัน บางคนเป็นหนี้ ช่องทางของการเข้ามาศึกษาเรื่องเงินก็มาจากการเป็นหนี้ แล้วหาทางว่าจะแก้หนี้อย่างไร เริ่มจากตรงนี้แล้วก็ไปต่อ บางคนทำงานไม่มีเงินเหลือเก็บ ก็จะเริ่มศึกษาจากเรื่องการออม บางคนทำงานได้เงินเดือนเยอะ โดนเรียกเก็บภาษีแพง คนกลุ่มนี้ก็จะเข้ามาศึกษาเรื่องการเงินด้วยเหตุของภาษี บางคนทำงานไปสักระยะเริ่มตระหนักได้ว่าต้องเตรียมการสำหรับบั้นปลาย ก็เริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องการเงินจากการวางแผนเกษียณ จะเห็นว่าจุดเริ่มต้นของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย

เราสนใจเรื่องอะไร เริ่มจากเรื่องนั้น ประตูทางเข้าอาจต่างกัน แต่ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันเอง ถึงเราแก้หนี้ เราก็ต้องเก็บออมหรือลงทุนขนานกันไปด้วย จะเก็บเงินเกษียณก็ต้องดูแลปัจจุบันให้ดีด้วย มันจะเป็นประตูเชื่อมหากันเอง คนที่เริ่มเก็บเงินหรือสร้างฐานะการเงิน สำคัญคือ ต้องบริหารเงินให้เหลือ และหาความรู้เพื่อบริหารเงินต่อให้ครบทุกมิติ

Q: อยากให้แฟนสนใจเรื่องเงินทองด้วยควรทำอย่างไร

มีคู่สามีภรรยาซึ่งฝั่งผู้หญิงสนใจเรื่องเงินๆ ทองๆ มาก แต่ก่อนเธอทำงานประจำ พอมีลูกก็ออกมาดูแลลูกเต็มตัว เธอมีความรู้สึกว่าเธอไม่ใช่คนหาเงินแล้ว ดังนั้นเงินที่สามีให้มาก็จะบริหารจัดการดูแลให้ดี เธอเลยเริ่มศึกษาเรื่องการเงินและขยันเก็บเงิน เงินที่ได้มาจากสามีก็เก็บหอมรอมริบลงทุน จนเก็บเงินได้เป็นหลักล้าน

 

ผู้หญิงคนนี้พยายามชวนแฟนให้มาเรียนเรื่องการเงิน แต่ตอนแรกฝ่ายชายไม่ได้เปิดใจมาเรียน วันดีคืนดีสามีที่ทำงานประจำมีรายได้สูงก็อยากสร้างฐานะให้มั่นคงเร็วๆ เลยเอาเงินไปลงทุนในหุ้น ประเด็นคือเขาได้ยินเรื่องการลงทุนมาผิดๆ และคิดว่าง่าย คนที่แนะนำการลงทุนคือเจ้าหน้าที่ธนาคาร เขาบอกว่ามีวิธีการลงทุนที่ไม่ต้องใช้เงินตัวเอง (Other People’s Money) สำหรับเคสนี้แม้ว่าเขาจะมีการศึกษาสูงและรายได้สูง แต่พอไม่รู้เรื่องลงทุน เขากู้สินเชื่อที่อัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 24-28 และเอาไปลงทุนในหุ้น

 

ใครที่ศึกษาการลงทุนมาก่อนจะรู้ว่าวิธีคิดนี้ไม่ถูก เงินที่เอาไปลงทุนในหุ้นควรเป็นเงินเย็น อย่างเงินเก็บหรือเงินสะสม และต้องไม่มีภาระที่ต้องใช้เงินก้อนนี้ในระยะเวลาอันสั้น เขาเอาเงินกู้ไปลงทุนเลยเกิด 2 เด้ง คือลงทุนแล้วขาดทุน แถมยังมีดอกเบี้ยที่ต้องส่ง พอพลาดจึงเกิดการกู้รอบที่สองที่สาม หลังได้มาพูดคุยกับผู้ชายคนนี้และปรับทัศนคติกัน แสดงให้เขาเห็นว่าความรู้เรื่องการเงินสำคัญ เมื่อไรที่อยู่ร่วมกันเป็นคู่การตัดสินใจทำอะไรมีผลต่อกันเสมอ ทุกครอบครัวจึงควรพูดคุยกันเรื่องการเงิน

 

การที่อีกฝ่ายไม่สนใจเรื่องเงิน เป็นไปได้ว่า เราไม่ได้คุยเป้าหมายการเงินอย่างจริงจัง ไม่ได้คุยกันว่าเขาเองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เป้าหมายการเงินประสบความสำเร็จ ลองแบ่งเวลามาคุยเรื่องจริงจังมากขึ้น อย่างเรื่องเป้าหมายในอนาคต เช่น เราจะเปลี่ยนบ้านไหม หรือถ้ายังไม่แต่งงานจะซื้อบ้านใหม่ไหม เราจะเก็บเงินเป้าหมายปลายทางอย่างไร บั้นปลายเราอยากทำอะไรบ้าง การที่เราคุยเรื่องแบบนี้ จะทำให้เราเห็นเป้าหมายตรงกัน และทุกเป้าหมายในชีวิตล้วนมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น การคุยด้วยหลักเหตุผลเป๊ะๆ อาจจะไม่มีแรงบันดาลใจ หรือไม่มีจุดเชื่อมเท่ากับการเอาความฝันของเราสองคนมาคุยด้วยกัน น่าจะทำให้เขาปรับความคิด และอยากเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น

 

บางครอบครัวคุยกันแล้วออกดราม่า มีลูกศิษย์คนหนึ่งชวนแฟนสาวมาเรียนเรื่องเงิน แฟนไม่ค่อยสนใจเท่าไร วันดีคืนดีฝ่ายผู้ชายป่วยเข้าโรงพยาบาล เลยใช้จังหวะนี้พูดว่า เราทำงานเก็บเงินกันมา ทุกวันนี้ให้เขาดูแลคนเดียวเลย ถ้าเกิดเขาเป็นอะไรไป เธอจะรู้ไหมว่าอะไรอยู่ที่ไหน จะบริหารจัดการอย่างไร เขาคุยเปิดใจกันจนทำให้แฟนหันมาศึกษาเรื่องเงิน หันมาสนใจว่าการเงินของครอบครัวเป็นอย่างไร รายรับรายจ่าย ทรัพย์สินอยู่ตรงไหน ประกันที่จัดการความเสี่ยงไว้มีอะไรบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

การคุยกันให้เคลียร์ น่าจะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตคู่มากกว่า ช่วงเวลาเป็นแฟนนั้นสั้น แต่ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันนั้นยาว กว่าจะจากกันไปข้างหนึ่ง ฉะนั้นถ้าเราไม่คุยกันเรื่องเงิน มัวใช้เวลาคุยกันเรื่องความสุขสนุกสนาน บางทีมันอาจจะไม่ทำให้เรารู้จักกันมากพอก็ได้

(แนะนำให้ฟัง The Money Case เงิน กับ งานแต่งงาน และ ชีวิตหลังแต่งงาน สองเอพิโสดที่ได้ คุณเคน-นครินทร์ มาเป็นเกสต์เพื่อให้เห็นไอเดียเรื่องการคุยกับคู่ชีวิตเรื่องเป้าหมายทางการเงิน)

 

Q: อายุเลข 5 เข้าไปแล้ว แต่ยังไม่มีเงินเก็บเกษียณเลย จะทำอย่างไรดี

การเก็บเงินในวัยเลข 5 โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายเกษียณต้องใช้ความพยายามและความสามารถสูงพอสมควร เพราะว่าถ้าเราใช้เงินที่เหลือจากรายได้ที่เรามีอยู่ช่องทางเดียว ไม่ว่าจะรับราชการหรือทำงานประจำ ถ้าคุณเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงก็อาจเก็บได้มาก แต่ถ้าเราอายุเลข 5 แล้วเงินเดือนก็ไม่สูง นี่อาจเป็นเรื่องเหนื่อยพอสมควร ที่จะพยายามแนะนำคือ ให้เอาตัวเลขประมาณการของเราที่เราพอจะเก็บหรือจัดสรรได้แต่ละเดือนจริงๆ แล้วเก็บสะสมไปตามนั้นก่อน สมมติว่า เก็บได้เดือนละ 3,000 บาท 1 ปีได้ 36,000 บาท 10 ปี 360,000 บาท จะเอาไปวางไว้ในอะไรที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ก็แล้วแต่ความรู้ความเข้าใจและความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ ตรงนี้บอกเป็นวิธีทำเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ที่ให้คำนวณดูก่อนเพื่อให้เราเห็นความจริง ไม่เหมือนคนตาบอดที่เก็บเงินไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ปลายทางอยู่ที่เท่าไร

 

วิธีการแก้คือ หลังเกษียณยังอาจต้องมีรายได้อยู่ 10 ปีที่เก็บเงินอาจไม่พอ แต่ 10 ปีหลังที่เราเริ่มสร้างอาชีพหรือธุรกิจบางอย่างขึ้นมา เช่น บอกว่าต้องการเงินเกษียณ 10 ล้านเอาไว้กินจนถึงวันตาย ถ้ามองจาก 10 ล้านแล้วใจสั่น ลองลงมาเป็นรายเดือนว่าใช้เดือนละเท่าไร ถ้าบอกว่าใช้เดือนละ 20,000-30,000 บาท ถ้าตรงนี้ไม่ได้อยู่ในรูปเงินก้อนแต่อยู่ในรูปของกิจการหรือธุรกิจ หรืองานที่ยังให้เงินเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ภาพความน่ากลัวจะน้อยลงไปเยอะ

 

เช่น ถ้าเราอยากได้เงิน 6-7 ล้าน เห็นตัวเลขแล้วตกใจ ลองเปลี่ยนเป็นว่าเราจะทำอะไร ที่พอเกษียณเรายังมีเงินเดือนละ 15,000-25,000 บาท แล้วแต่เป้าหมายของแต่ละคน ลองเปลี่ยนวิธีคิดเป็นแบบนี้ ทุกอย่างอยู่ที่วิธีคิด ใครที่คิดว่าแค่นี้ก็พอ เราเก็บแล้วไปตายเอาดาบหน้าแบบนั้นเป็นวิธีการวางแผนที่แย่ ทางที่ดีคือถ้าเราเกษียณเราก็มีธุรกิจเตรียมไว้

 

มีเคสรุ่นพี่คนหนึ่ง เจอกันสมัยเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราคุยกันเรื่องเกษียณ เขาทำงานบริษัทญี่ปุ่นแต่เก็บเงินไม่ได้เท่าไร แล้วบริษัทญี่ปุ่นเกษียณเร็ว ตอน 55 ปี เขาเก็บเงินไม่ทัน เลยแนะนำให้เปลี่ยนวิธีคิดจากการเก็บเงินก้อนมาสร้างกิจการสักอย่าง หลังเกษียณก็ยังทำกิจการนี้ต่อไปได้ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องทำงานหนักหรือออกแรงเยอะอะไรมาก เขาเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ตอนนั้น เขาเลือกทำอาหารสัตว์เลี้ยง หมา แมว เริ่มจากการขายเล็กๆ ที่จตุจักร ต่อมาเริ่มมีคอนเน็กชันจากร้านสัตวแพทย์ต่างๆ แทนที่เราจะเก็บเงินจากการทำงานอย่างเดียว เขาเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่ทันทีที่รู้ว่าเกษียณจะอันตราย ขณะที่ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย ทำให้สุดท้ายเก็บเงินได้มากกว่าการพึ่งพาเงินเดือนอย่างเดียว แทนที่จะเก็บได้ 2-3 พันต่อเดือนก็เป็นหลักหมื่น สำคัญที่สุดคือ พอเกษียณแล้วก็ยังมีธุรกิจพอเลี้ยงตัวได้ หลายคนที่เกษียณแล้วเลี้ยงตัวไม่ได้ หลายคนต้องวิ่งหารายได้เพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด ทั้งนี้ทั้งนั้นโค้ชไม่ได้หมายความว่าให้เลิกเก็บเงินแล้วทำธุรกิจ แต่ต้องเก็บเงินไปด้วย คนเรามีช่องทางรายได้หลายช่องทางย่อมดีกว่าอยู่แล้ว

 

Q: จะเริ่มสอนลูกเรื่องเงินอย่างไรดี

โค้ชเองมีลูกชาย 2 คน และเริ่มสอนเรื่องเงินให้ลูก แต่พบข้อเท็จจริงข้อหนึ่งว่า เด็กมีความสามารถในการจดจำหรือเรียนรู้ได้เก่งมาก แต่เราต้องไม่ยัดเยียดอะไรที่มันเร็วเกินไป พอเล่าว่าลูกชายคนโตลงทุนในหุ้นแล้ว หลายคนก็สงสัย ต้องบอกว่าเป็นความสนใจเฉพาะตัวของเด็ก เพราะลูกชายคนเล็กเขาก็เฉยๆ โค้ชก็จะไม่ผลักดันอะไรเกินไป มันควรเป็นเรื่องของช่วงเวลา ช่วงที่เขายังเป็นเด็กอยู่ เราตักเตือนหรือสอนได้บางเรื่อง กุญแจสำคัญคือการใช้จ่ายและการเก็บออม เริ่มจากง่ายๆ ตรงนี้

 

เขาอาจยังไม่ต้องจับเงินอะไรมากมาย อาจยังไม่รู้ว่าเงินซื้ออะไรได้บ้าง คำว่าการใช้จ่ายโค้ชตีความถึงการใช้ของให้คุ้มค่า อย่างการดูแลของเล่นตัวเอง เวลาเขาอยากได้อะไร เราก็ขยันอธิบายหน่อยว่าซื้ออันนี้น่าจะดีกว่าไหม เราแนะนำเขาได้ สุดท้ายผมก็จะให้เขาเป็นคนตัดสินใจเอง พอเขาเริ่มบริหารเงินเอง เริ่มได้เงินค่าขนม ก็สอนเขาให้เขาเก็บเงิน เริ่มซื้อกระปุกออมสินให้เขา บอกเหตุผลว่าทำไมคนเราต้องเก็บเงิน บางทีเราสามารถสอนได้ด้วยเรื่องราว อย่างโค้ชเองที่บ้านก็จะสอนเพราะสมัยเด็กๆ ที่บ้านไม่ได้เป็นคนมีฐานะ เราเล่าให้เขาฟังว่าปู่สอนมาอย่างไร เราเก็บเงินอย่างไร เราเก็บเงินได้แล้วไปทำอะไร เด็กๆ ก็เรียนเรื่องราวจากคนในครอบครัวนี่แหละ เขาใช้ของอะไรทิ้งขว้างก็ต้องมีดุหรือทำโทษกันบ้าง ถ้าทำพังก็ใช้อันนี้ต่อไป ให้เขาได้เรียนรู้

 

ตอนนี้ลูกชายคนโตเป็นคนจดค่าน้ำค่าไฟ เราก็จะมานั่งคุยกันถ้าเดือนไหนใช้มากไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะเริ่มเดินไปปิดไฟ หรืออะไรที่สิ้นเปลืองเขาก็จะรู้จักตรงนี้มากขึ้น บอกเขาว่าตรงนี้คือเงินที่เราหามา หรือบางทีพาเขาไปดูพ่อแม่ทำงานบ้างก็ได้ นี่คือจุดเริ่มต้น อย่าเพิ่งไปสอนเขารุนแรงมาก ส่วนการลงทุนแล้วแต่ อย่างตอนเขาเริ่มโตก็จะพาเขาไปเปิดบัญชีธนาคาร ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะมีชื่อพ่อว่าเพื่อเขา แต่ฝึกให้เขาเซ็นเอง พอเก็บเงินได้ก็จะสอนเขาเรื่องดอกเบี้ย

 

การสอนเด็กทำครั้งเดียวไม่ได้ต้องเล่าซ้ำๆ ทำบ่อยๆ อย่างลูกชายคนโตเริ่มมาศึกษาเรื่องหุ้นเพราะว่าพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารทำงานอย่างไร เขาเห็นดอกเบี้ยและคำนวณให้เขาดู เอาสมุดบัญชีไปอัปบุ๊กให้เขาดู คนที่เป็นพ่อแม่อยากสอนอะไรเรามีหน้าที่เป็นคนบิลด์ แหย่ ชวน และดูความสนใจ เด็กแต่ละคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักการเงิน เอาว่าเซนส์ที่เขาควรจะมีในการใช้ชีวิตและอยู่กับเงินให้ได้ คือรู้จักใช้จ่าย เข้าใจเรื่องความคุ้มค่า และรู้จักเก็บออมเพื่ออนาคต 3 สิ่งนี้คือพื้นฐานสำคัญ ถ้ามีทั้ง 3 สิ่งก็ต่อยอดได้ไม่ยากเย็น

 

Q: รู้ได้อย่างไรว่าชีวิตเจอสิ่งที่ใช่แล้ว

ในมุมโค้ชเองเป็นคนไม่ชอบเล็ง เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่าสิ่งนี้น่าสนุก เราชอบ และท้าทายก็จะลองจัดเวลาไปทำมันดู เมื่อก่อนที่เป็นวิศวกรก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ชอบ เพียงแต่ว่าเส้นทางชีวิตไม่ได้ทำให้เราเป็นวิศวกรไปตลอด เพราะการทำงานประจำตอนนั้นมันไม่ได้แก้ปัญหาหนี้ได้ เลยเปิดโอกาสให้ตัวเองลองทำหลายทาง ตอนนั้นอยากแปลหนังสือก็ส่งอีเมลไปหาซีเอ็ดเลยว่าอยากแปล ทั้งที่ความรู้ภาษาอังกฤษเข้าข่ายแย่ แต่เราอยากจะลอง เราอ่านเข้าใจ เราเชื่อว่าเราสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ก็ลองเลย เราอาจจะใช้เวลานานกว่าชาวบ้านหน่อยก็ไม่เป็นไร

 

เมื่อไรที่ตั้งใจทำอะไรโค้ชจะทำมันไปสัก 3 ปี เราจะรู้เลยว่านี่คือใช่หรือไม่ใช่ ช่วงนั้นเลยลองทุกอย่าง ลงทุนอสังหาฯ ที่เป็นหนึ่งทรัพย์สินตอนนี้ก็เกิดจากการลอง พาตัวเองไปอยู่ในชุมชนคนลงทุน ไปฟังเขาบรรยายต่างๆ จัดสรรเวลาให้กับมัน อยากแปลหนังสือก็ติดต่อซีเอ็ดเลย ไม่ต้องคิดอะไร เพราะอย่างมากเขาก็แค่ปฏิเสธ ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นที่ปรึกษาโรงงาน ก็ลองทำดู อยู่กับมันให้นานพอ ถ้าระหว่างนั้นเราเจอปัญหาอุปสรรค เจอความยาก แล้วเราไม่รู้สึกอยากจะเลิก เรามีความรู้สึกอยากจะเอาชนะ อยากจะก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ แล้วเราก็ทำมันจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทุกอันที่โค้ชทำก็ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เช่น แปลหนังสือก็ได้ทำจนได้แปลหนังสือ พ่อรวยสอนลูก ทำที่ปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรม ก็ทำจนได้เป็นที่ปรึกษาบริษัทใหญ่อย่าง ปตท. ปูนซีเมนต์ไทย การไฟฟ้า เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วเรามีสิทธิ์มองตัวเองอีกครั้งว่ามันใช่เราหรือเปล่า

ถ้าเราลองทำอะไรไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ดูให้ดีว่าเป็นเพราะมันไม่ใช่เรา หรือเราเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อกันแน่

ถึงจุดหนึ่งโค้ชเลิกเป็นที่ปรึกษาโรงงาน เพราะรู้สึกว่างานสายการเงินมันสนุกกว่า เพราะฉะนั้นไปลอง ไปลุย ไปทำให้สำเร็จระดับหนึ่ง แล้วค่อยตัดสินใจกับตัวเองอีกทีว่ามันใช่หรือไม่ใช่ตัวเรา เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็อยากมีชีวิตที่มีความสุขกับงานที่เราเลือกและชอบ อยากให้ใช้ชีวิตให้ซุกซนขึ้นสักนิด เอาเวลาไปทำอะไรเพิ่มเติมไปศึกษาในสิ่งที่เราสนใจและชอบ

 

สุดท้ายมีคนกลุ่มหนึ่งเขาบอกว่าตัดสินใจไม่ได้ เขาเสียดายสิ่งที่เรียนมาถ้าต้องเลิกทำมัน เรื่องบางเรื่องเราต้องเลือกอย่างหนึ่งแล้วอีกทิ้งอย่างหนึ่งหรือเปล่า โค้ชไม่แน่ใจ ถ้ามันดีทั้งคู่ เราอาจจะเลือกมันทั้งคู่ได้ไหม แต่ถ้าทั้งสองอย่างมันไปด้วยกันไม่ได้จริงๆ ก็ลองคิดใหม่ดูว่า ถ้าเราเสียดาย 4 ปีที่เรียนมา แล้วทำไมเราไม่เสียดายอีก 10 20 หรือ 30 ปีที่เราอาจจะต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่รัก ไม่ชอบ และไม่มีความสุข    

 


ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 



 

Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising