×

อิสรภาพทางการเงิน คือชีวิตที่ได้ออกแบบเอง

05.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
00.58 อิสรภาพทางการเงินคืออะไร
08.36 เคสอิสรภาพของช่างภาพ
16.11 อยากมีอิสรภาพทางการเงินต้องทำอย่างไร

อิสรภาพทางการเงินไม่ใช่แค่การมีเงินเยอะๆ เพียงอย่างเดียว แต่คือการสร้างรายได้จากทรัพย์สิน มีเวลา มีสิทธิในการเลือก และมีชีวิตที่ได้ออกแบบเอง ทั้งหมดนี้มันนี่โค้ชจะค่อยๆ แนะนำแนวทางเพื่อให้คุณได้ออกแบบอิสรภาพทางการเงินได้อย่างต้องการและมีความสุข

 


 

10 ปีมานี้เราจะได้ยินคำคำหนึ่งอยู่เป็นประจำ คือคำว่า อิสรภาพทางการเงิน ซึ่งน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2000-2001 จากหนังสือฮาวทู Rich Dad Poor Dad (พ่อรวยสอนลูก) ของโรเบิร์ต คิโยซากิ โค้ชเริ่มติดตามแนวคิดของนักเขียนคนนี้ และใช้หลักคิดมาสร้างเนื้อสร้างตัวจนมี อิสรภาพทางการเงิน อย่างที่เขาตั้งโจทย์ไว้ได้ โจทย์นั้นก็คือ คนเรามีรายได้จากหลายรูปแบบซึ่งส่วนใหญ่มาจากการทำงาน แต่หากเรามีรายได้จากการทำงานเพียงอย่างเดียว พอถึงจุดที่เราต้องหยุดทำงานเพราะเกษียณ รายได้จากการทำงานต้องหายไป ดังนั้นคนเราจึงควรมีรายได้จากทรัพย์สินอยู่ด้วย

 

คนเราจะมี อิสรภาพทางการเงิน อาจไม่ต้องรอถึงเกษียณก็ได้ ซึ่งหลักคิดของโรเบิร์ตก็คือให้ดูว่าในระหว่างการทำงานมีการสร้างสะสมทรัพย์สินที่สร้างรายได้จนมากกว่ารายจ่ายรวมต่อเดือนของเราหรือเปล่า หากมากกว่า ถือว่ามี อิสรภาพทางการเงิน เช่น ดอกเบี้ยจากเงินฝาก ดอกเบี้ยจากพันธบัตร เงินปันผลจากธุรกิจ เงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่าจากทรัพย์สิน เช่น บ้านเช่า คอนโดมิเนียม รถให้เช่า จะสังเกตได้ว่าเงินปันผล ค่าเช่าและค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ เกิดจากการทำงานครั้งใหญ่ๆ ครั้งเดียวแล้วเก็บกินผลมันไปตลอด ซึ่งตรงนี้เป็นเหมือนรายได้ที่เราไม่ต้องทำงานแต่มีเงินไหลเข้ามา

 

จากที่โค้ชติดตามแนวคิดนี้จนมีรายได้จากทรัพย์สินดูแลชีวิตได้ พอมาถึงจุดนี้จริงๆ ต้องบอกว่า คนเราถ้ายึดติดกับศาสตร์ฝรั่งมากๆ เราอาจจะลืมแนวคิดเรียบง่ายแบบไทยๆ พอไปถึงจุดนั้นที่เป็นเหมือนเส้นชัยก็ประกาศตัวว่า เราจะไม่ทำอะไรอีกแล้ว พอมีรายได้จากทรัพย์สินหรือที่เรียกว่า Passive Income เยอะ ก็เริ่มไม่อยากทำงาน เริ่มใช้ชีวิตไร้สาระ ตื่นเช้าทุกวันเพื่อไปเฝ้าห้างเปิด แล้วก็ช้อปของที่อยากจะได้ สุดท้ายก็รู้สึกว่า ต่อให้มีเงินมากแค่ไหน เราก็อยากได้ของแค่บางอย่าง เราไม่ได้อยากได้ทุกอย่าง

 

แนวคิดที่บอกว่า จะมีอิสรภาพทางการเงิน ต้องมีรายได้จากทรัพย์สินมากกว่ารายจ่ายรวมนั้นอาจจะไม่จริง โค้ชคิดว่าอย่าเอาสองคำนี้มาผูกเป็นเรื่องเดียวกัน รายได้จากทรัพย์สิน ถ้าวันนี้เรามีเงินฝาก เรามีหุ้น เราก็มีดอกเบี้ย มีเงินปันผล อันนี้เรียกว่า Passive Income มากน้อยนั้นอีกเรื่องหนึ่ง

 

อิสรภาพทางการเงินอาจจะไม่ต้องมี Passive Income ก็ได้ อิสรภาพจริงๆ ต้องมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือ สิทธิในการเลือก หากไม่มีสิทธิในการเลือกแล้วต้องอย่างนั้นอย่างนี้อาจจะไม่ใช่อิสรภาพที่แท้จริง

 

การมี Passive Income นั้นดี เพราะช่วยผ่อนแรง และช่วยลดความเสี่ยงให้เรา คนหนึ่งมีรายได้จากงานประจำอาจจะเหนื่อย คนเป็นฟรีแลนซ์มีงานก็ได้เงินก้อนใหญ่มา ไม่มีงานก็ไม่มีเงินเข้ามาเลย จะดีกว่าไหมหากเรามีบ้านเช่าสักหลังและมีรายได้เข้ามาช่วยเสริมช่วงที่ไม่มีรายได้ เพราะฉะนั้น Passive Income มันน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของการมีอิสรภาพทางการเงินแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

 

เคสอิสรภาพของช่างภาพ

มีช่างภาพคนหนึ่งที่รับงานถ่ายภาพทั่วไป ถ้าใครมองในมุมอิสรภาพทางการเงิน ก็จะมองว่างานเหล่านี้มีรายได้จากการทำงาน ยุคสมัยหนึ่งเคยพูดว่างานอย่างนี้สู้การมีทรัพย์สินที่ทำให้เรามีรายได้ไปตลอดไม่ได้ แต่ช่างภาพคนนี้รับงาน 11 เดือนและเก็บเงินเยอะมาก ปลายปีไม่ได้คิดทำอะไรเพิ่มเติม หลักๆ คือกันเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนในกองทุนต่างๆ ส่วนเดือนสุดท้ายของปีก็เที่ยวแล้วมีความสุขมากๆ ช่วงหลังมีการปรับเปลี่ยนแทนที่จะถ่ายงานแต่งงาน รับปริญญา เขาปรับมาเป็นถ่ายภาพวิวและขายภาพพวกนี้ ก็มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มาด้วย

 

ในมุมมองโค้ชรู้สึกว่าคนพวกนี้เขาเลือกและจัดสรรเวลาที่มีได้ กำหนดเวลาการทำงานของตัวเอง กำหนดเวลาท่องเที่ยวของตัวเองได้ นี่ก็เป็นอิสรภาพทางด้านการเงินในสไตล์หนึ่งเหมือนกัน การทำงานและเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ก็พอไหว เพราะกุญแจสำคัญคือเขามีสิทธิในการเลือก หากใครคนหนึ่งจะมุ่งมั่นที่จะหาเงินหนักๆ ไปเที่ยวไม่ได้ นี่อาจไม่ใช่อิสรภาพก็ได้

 

เพราะฉะนั้นอิสรภาพทางการเงินอาจจะไม่ใช่มี Passive Income อย่างเดียว อาจมี Active Income ด้วย คือรายได้ที่ต้องทำงานถึงจะได้เงิน ถึงจุดนี้โค้ชมีความรู้สึกว่า Passive Income ดีที่เป็นเครื่องผ่อนแรง ส่วน Active Income คือส่วนที่ทำให้เรามีความภูมิใจของตัวเอง อย่างโค้ชเองวันนี้อาจอยู่บ้านเฉยๆ ด้วยรายได้จากทรัพย์สินสามารถทำอย่างนั้นได้ แต่แปลก พอใช้ชีวิตเดินห้างอย่างที่บอกกลับทำให้ถามตัวเองว่าคุณค่าในชีวิตเราคืออะไร แต่พอได้เริ่มกลับไปบรรยาย งานบางงานบรรยายภาครัฐได้เงินน้อยมาก แต่มีความรู้สึกว่า 1 วันที่เราใช้เวลาไปเหนื่อย ไปบรรยาย ได้บอกเล่าให้ทุกคนรู้เรื่องเงินมากขึ้นเรากลับรู้สึกมีคุณค่า

 

อิสรภาพทางการเงินเริ่มต้นที่ความคิด ที่เราใช้ชีวิตทุกวันนี้ เราได้ออกแบบชีวิตของเราแล้วหรือยัง เราเลือกเองหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้เลือกมันเอง หรือเลือกแล้วแต่พอทำจริงๆ ก็ไม่มีความสุข ลองกลับมาทบทวนตัวเองว่า ความทุกข์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องชั่วคราวหรือเปล่า เราอยากอยู่เส้นทางนี้ต่อไปหรือไม่

 

อยากมีอิสรภาพทางการเงินต้องทำอย่างไร

1. ออกแบบชีวิตให้เป็น

ก่อนหน้านี้โค้ชมีความคาดหวังว่า เรียนจบแล้วต้องมีเงินร้อยล้านพันล้าน จนพอมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้แนะนำความรู้ให้กับคน เราเห็นวิธีคิดของคนมากขึ้นเรื่อยๆ เอาตัวเองออกจากนอกเมืองไปสัมผัสกับชีวิตผู้คนมากขึ้น ก็พบว่าจริงๆ ร้อยล้านพันล้านไม่น่าจะใช่คำตอบ โค้ชขอเอาความสุขเป็นตัวตั้ง ถ้าแต่งงานมีครอบครัวอยากจะมีเวลาอยู่กับครอบครัว อยู่กับลูก พอมานั่งคิดก็กลับมามองว่าแค่ไหนถึงเรียกว่าพอ ประเมินที่มีอยู่ก็พอไหว เรามี Passive Income ประมาณหนึ่ง ทุกวันนี้ไม่ต้องออกไปรับงานก็พอจะอยู่ได้ แต่พอไปรับงานมันมีความสุข ได้ไปพูดคุย งานบางงานไม่ได้ทำรายได้ให้สูง แต่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ฉะนั้นเราออกแบบว่าเราจะเป็นคนที่มีความสุข มีชีวิตที่มีคุณค่า ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น มีรายได้ใช้จ่ายได้พอเหมาะ และมีเวลาให้กับสิ่งที่เราเลือกอย่างเต็มที่ พอออกแบบได้แบบนี้ก็ง่าย ปัจจุบันเริ่มคิดว่าจะไปซื้อบ้านอยู่ต่างจังหวัด นี่คือการออกแบบชีวิตแล้วความสุขจะเกิดขึ้น ณ วินาทีนั้นว่านี่ต่างหากคือชีวิตของเรา ไม่ใช่ชีวิตที่มีหน้ากากที่ไปหยิบความฝัน ไปหยิบชีวิตคนนี้เข้ามา ฉะนั้นถ้าคิดเองไม่ได้ เลือกเองไม่ได้นั่นคือไม่ใช่

 

2. หมดกังวลเรื่องเงิน

จะตอบโจทย์ในข้อที่หนึ่งได้ เช่น โค้ชเองอยากมีบ้านสวน อยากมีที่ดิน ต้องใช้เงินเท่าไร พอโจทย์ชัด เราต้องมาดูว่าต้องใช้เงินเท่าไร ก็ลงมือหามัน โดยทำผสมผสานกันไป ซึ่งในภาษาของโค้ชเองเรียกว่า เป็นการมีรายได้จากหลากหลายช่องทาง ถ้าตำราฝรั่งจะเรียกว่า Multi-income Stream ลองนึกภาพคนหนึ่งค่อยๆ ทำงาน มีรายได้จากการทำงานประจำอย่างมีความสุข เสาร์-อาทิตย์เอาเวลามาสร้างกิจการจากงานอดิเรกหรือสิ่งที่รักที่ชอบ แล้วพัฒนาให้เป็นรายได้ อาจมีบ้านเช่า 1-2 หลัง ถ้าเราทำงานเงินเดือน 20,000-30,000 บาท ก็มีบ้านเช่า 1-2 หลังเป็นเรื่องไม่เกินความสามารถเกินไป เราก็จะมีรายได้จากค่าเช่า รวมทั้งเงินออมก็เอาใส่กองทุน หรือเอาไปไว้ในหุ้นบ้างเพื่อให้มีเงินปันผล แล้วลองถามตัวเองว่ามันดีไหม ถ้าในแต่ละเดือนจะมีรายได้ทั้งจากการทำงาน ที่ทำให้เรามีความสุขและความภาคภูมิใจ และเงินสะสมก็สร้างดอกเบี้ยให้ใช้ หุ้น กองทุนรวมก็ทำให้เรามีเงินปันผล ทรัพย์สินให้เช่าก็ทำให้เรามีค่าเช่า ธุรกิจอาจเริ่มต้นจากเรา และมีลูกน้อง ถ้าทุกเดือนมาจากหลายช่องทางอย่างละนิดอย่างละหน่อย กินใช้ไม่หมดก็เหลือสะสม ยิ่งสะสมก็ยิ่งมั่งคั่ง แล้วมาถึงจุดหนึ่งมันก็จะตอบโจทย์อิสรภาพทางการเงิน หรือแผนของการใช้ชีวิตที่เราเลือกเองได้

 

คนเราจะมีอิสรภาพในบั้นปลายได้ สิ่งสำคัญก็คือตลอดระยะเวลาการทำงานต้องแปลงรายได้ที่เราหามาได้ไปเป็นทรัพย์สินให้ได้นี่คือหัวใจสำคัญ พอออกแบบได้แบบนี้มันจะเรียบและง่าย

 

อยากฝากให้ทุกคนไม่หลงทาง เพราะมนุษย์เราเวลาตั้งมั่นอะไรสักอย่าง อาจเริ่มต้นจากการเรียนรู้จากสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วยึดเป็นแนวทาง แต่อย่าหยุดที่จะเรียนรู้ แล้วก็หาคำนิยามที่แท้จริงของสิ่งที่เราไขว่คว้านั้น เริ่มต้นอาจมาจากทางหนึ่ง แต่พอใช้ชีวิตมากขึ้น ได้เห็นอะไรต่างๆ ก็เริ่มปรับ สุดท้ายก็พบว่าสิ่งหนึ่งที่แปลกประหลาดคือ มันกลับเป็นที่หัวใจของเรานี่แหละที่จะบอกเราเอง ว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าอิสรภาพ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าความสุข อะไรคือสิ่งที่เรียกว่าชีวิต

 



 

Credits

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising