×

วางแผนเกษียณ: เริ่มตอนไหน เก็บอย่างไร และเท่าไรถึงจะพอใช้หลังเกษียณ

15.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02.34 เคสวางแผนเกษียณแบบผิดคิว

10.40 คนไทย 97% มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

12.39 ต้องมีเงินเท่าไรถึงพอใช้ในวัยเกษียณ

16.04 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ vs กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

22.56 หักเพิ่ม เปลี่ยนกอง เพื่อเงินเก็บที่มากขึ้น

28.06 เคสเกษียณแบบง่ายๆ ก็มีความสุขได้

เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วน หลายคนเลยไม่สนใจ แต่เวลาผ่านไป รู้ตัวอีกทีก็ไม่มีเงินเก็บ วางแผนจัดการไม่ทัน ทำให้ต้องเกษียณไปแบบมีเงินไม่พอใช้

 

มันนี่โค้ชจะมาบอกเล่าว่า คนเราควรมีเงินเก็บหลังเกษียณสักเท่าไร แล้วเก็บอย่างไรถึงจะได้ตามเป้าหมายนั้น พร้อมเคสการวางแผนเกษียณที่ผิดคิว และเคสเกษียณแบบเรียบง่ายจนน่าประทับใจ

 


 

เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงกันพอสมควร สำหรับสังคมผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ เป็นเรื่องที่เชื่อว่าจะเป็นวาระแห่งชาติเร็วๆ นี้ เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อายุขัยเฉลี่ยคนไทยประมาณ 70 ปีเศษ และทำนายกันว่าจะถึง 80 ปี ลองนึกภาพว่าไปถึงตรงนั้น คือ 20 ปีหลังเกษียณ งานของเราหายไป หรืออาจจะมีงานทำแต่รายได้เราคงไม่เหมือนเดิม ถ้าเราไม่มีเงินเก็บเลย ลองแค่คิดเล่นๆ ว่า 20 ปีหลังเกษียณ เราจะอยู่อย่างไร

 

เคสวางแผนเกษียณที่ผิดคิวที่สุด

มีคนติดต่อไปบรรยายเขาบอกว่าอยากให้มาบรรยายเรื่องการวางแผนเกษียณ พอโค้ชได้ยินอย่างนั้นสมองทำงานออโต้ว่า น่าจะเป็นการพูดเรื่องเก็บเงินอย่างไร ปลายทางควรมีเท่าไร ควรเอาเงินไว้ที่ไหนอย่างไร แต่พอไปถึงวันงานคนฟังเป็นร้อย มองด้วยสายตารู้สึกว่าคนมาฟังวันนี้ทำไมดูมีอายุจัง วินาทีนั้นไม่ได้คิดอะไรก็ใส่ไปเต็มเหนี่ยว

 

ถ้าเราอยากมีเงินกินใช้ไปอีก 20 ปี ควรคิดเรื่องการเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ พูดไปทั้งห้องก็เงียบ เลยตั้งสมมติฐานเรื่องการเกษียณ 3 ข้อ คือ 1. ตอนที่เกษียณ หนี้บ้าน หนี้รถ ผ่อนหมดแล้ว 2. ลูกๆ เรียนจบหมดแล้วดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องขอเงิน 3. ค่าครองชีพในปัจจุบัน ภายใต้สมมติฐาน 3 ข้อนี้คิดว่าต้องใช้เงินเท่าไรต่อวัน โค้ชพยายามคุยให้เป็นเรื่องง่าย เพื่อให้คนฟังตอนนั้นเห็นภาพได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าบอกว่า 20 ปีต้องใช้เงินเท่าไร ปรากฏว่าคนฟังทั้งห้องเงียบ เลยถามว่า 200 บาทต่อวันไหวไหม ปรากฏว่าเริ่มได้ผล เริ่มมีเสียงคุยกันจุ๊กจิ๊ก บางคนบอกว่าในกรุงเทพฯ ไม่ไหวหรอก อย่างน้อยต้อง 300 บาท สักครู่มีผู้ชายคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า แก่แล้ว แทนที่จะใช้ชีวิตให้มีความสุขเป็นวันละ 500 บาทได้ไหม ตัวเลขเริ่มสนุกสนานกันเข้าไปใหญ่

 

ถ้าวันละ 500 บาท คำถามที่ 2 คิดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณกี่ปี มีคนตอบว่า 10 ปี ผู้ชายคนเดิมตะโกนขึ้นมาว่าน่าจะอยู่นานกว่านั้น เป็น 20 ปี มีคนเริ่มเห็นด้วย โค้ชเลยเริ่มสรุปตัวเลขให้ฟังว่าถ้าอยากใช้เงินวันละ 500 บาทหลังเกษียณ 1 เดือน 15,000 บาท 1 ปี 180,000 บาท 10 ปี 1,800,000 บาท ถ้า 20 ปี 3,600,000 บาท ทั้งห้องเริ่มส่งเสียง ต้องบอกว่าพอไปบรรยายที่ไหนแล้วพูดถึงตัวเลขนี้ แล้วนึกถึงเงินที่เราเก็บได้ในปัจจุบัน เราจะเริ่มกังวลกันทุกคน เลยบอกว่าหลายคนควรเก็บเงินได้แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าตอนเกษียณเราจะมีเงินกินใช้พอไปถึงวันสุดท้ายของชีวิต ปรากฏว่าทั้งห้องเงียบอย่างหดหู่ ทุกคนในห้องเลยบอกว่า ไม่ต้องเก็บแล้ว บ่ายนี้ก็เกษียณแล้ว โค้ชรู้สึกว่าไปผิดคิวมาก เพราะมันคือวันมอบโล่วันเกษียณ ทุกคนดีใจที่จะได้พักผ่อนแล้ว ที่เจ็บปวดก็คือลองสอบถามว่าพี่ๆ เขามีเงินเก็บกันคนละเท่าไร ถ้าวันนี้ต้องเกษียณแล้ว ส่วนใหญ่บอกว่า ไม่มี

 

บริษัทแห่งนี้ไม่มีสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน เงินที่เขาจะได้ก้อนเดียวคือ เงินชดเชยจากนายจ้างในกรณีที่ถูกบังคับให้ลาออก แต่ละคนจะได้ไม่เท่ากันตามอายุงาน อาจมีเพิ่มเติมบ้างจากประกันสังคมแต่ไม่ได้เยอะมาก เพราะเขาส่งมาหลังจาก พ.ศ. 2542 ประมาณ 16-17 ปี อาจจะไปรวมกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาทที่รัฐให้ แต่พอนั่งดูแล้วมันไม่พอ จำได้ว่าสถานการณ์คือมึนและไปไม่ถูก เลยต้องแก้เกมด้วยการเปลี่ยนคอร์สให้มาระดมความคิดกันดีกว่า ว่าหลังเกษียณจะทำมาหากินอะไรให้เราอยู่รอดต่อไป

 

นี่คือเรื่องอันตรายมากที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงมัน เอาตัวเลขง่ายๆ 3,600,000 บาท  ถ้าถามตัวเรา วันนี้เราทำงานกันกี่ปี ถ้าเราอายุ 30 ปี ทำงานมาได้ 10 ปี เก็บเงินได้ 200,000 บาท อีก 30 ปี เราจะเก็บอีก 3 ล้านกว่าบาทได้ไหม เรื่องนี้สำคัญมาก แต่ไม่เร่งด่วน คนเลยจะมองข้ามมันไปและรู้สึกว่าเอาไว้ก่อนได้ ที่แย่ก็คือ คนบางคนชีวิตประจำวันยังฝืดเคืองอยู่เลย ทุกๆ 30 วัน ยังปวดหัวเรื่องเงิน มันทำให้เราไม่มีเวลาไปคิดเรื่องไกลๆ โค้ชเดินสายสอนวางแผนการเงินที่ต่างๆ ถ้ามีโอกาสสอนตามมหาวิทยาลัย หรือสอนคนทำงานจบใหม่ เงินที่เราได้มาหลักหมื่น จะรู้ได้เลยว่ามันไม่ง่าย และยิ่งต้องมีเงินเก็บเพื่อการเกษียณยิ่งไปกันใหญ่ เลยบอกว่าให้รีบวางแผนเกษียณตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก

 

ต้องมีเงินเท่าไรถึงพอใช้ในวัยเกษียณ?

ตัวเลขที่คิดว่าน่าจะพอใช้ได้ในยุคปัจจุบันคือประมาณ 4 ล้านบาท แต่ถ้าอยากมีชีวิตที่สบายมากขึ้น พอไปเที่ยวต่างประเทศได้บ้างจะประมาณ 10 ล้านบาท หรือถ้าอยากเกษียณแบบพรีเมียมคือ 17 ล้านบาท เราอาจใช้ตัวเลขนี้เป็นเป้าหมายการเก็บเงินหลังเกษียณได้ แต่ไม่มีใครรู้วันข้างหน้าจริงๆ มันอาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้แผนเกษียณเปลี่ยนหรือเพี้ยนไปได้ โค้ชเลยแนะนำว่าให้ตั้งตัวเลขสักเซตหนึ่งขึ้นมา จากนั้นเราไปโฟกัสที่การเก็บออมเงินของเรา ทำให้เราเก็บออมเงินไปถึงเป้าหมายก่อน เริ่มตรงนี้เร็วก็ได้เปรียบ แล้วช่องทางก็จะปรับไปมันพอมีเวลา แต่คนที่น่ากลัวที่สุดคือคนที่ไม่เริ่มอะไรเลย บางคนไปเริ่มตอนอายุ 58-59 ปี ซึ่งไม่ทันแล้ว

 

เราลองเซตตัวเลขกลมๆ สัก 5 ล้านบาทเพื่อการเกษียณ ช่องทางการเก็บเงิน มีทางไหนได้บ้าง โค้ชอยากแนะนำสำหรับคนที่เป็นพนักงานประจำ หรือเป็นข้าราชการซึ่งเรามีเงินแอบเก็บ (ถูกบังคับเก็บ) บางคนอาจจะโกรธที่เงินเดือนโดนหักไป แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะมาขอบคุณเขาในบั้นปลาย

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ VS กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

2 ตัวนี้มีความคล้ายกันมาก คือจะหักเงินของเราไปเก็บสะสม แล้วนายจ้างของเราหรือรัฐ ก็จะมาช่วยสมทบให้เราด้วย จากนั้นเอาเงิน 2 ก้อนนี้ไปลงทุนภายใต้นโยบายการลงทุนอะไรก็ตามที่เราเลือก ตรงนี้ทำให้เราเก็บเงินตอนเกษียณได้ แต่เงินจะถูกบังคับตัด และเอามาใช้ก่อนไม่ได้ เอาออกมาได้ตอนเกษียณ ตรงตามวัตถุประสงค์ คือเพื่อวันสุดท้ายของการทำงาน

 

กูรูบางคนบอกว่า 5 ล้านบาทสำหรับชีวิตหลังเกษียณไม่เพียงพอ บอกว่า 20-30 ล้านบาท โค้ชว่ามันเยอะไป ถ้ามีสักก้อนหนึ่งแล้วบริหารให้เป็น เพราะไม่ได้หมายความว่าหลังเกษียณเราจะบริหารเงินให้งอกเงยไม่ได้ มันทำได้ต่อถ้าเรามีความรู้ทางด้านการเงิน และคนเก็บเงินได้ขนาดนั้นมีความรู้ทางด้านการเงินอยู่แล้ว คนเรามีไลฟ์สไตล์ไม่เหมือนกัน บางคนอยากอยู่ในเมืองค่าครองชีพสูง บางคนอยู่ต่างจังหวัดค่าครองชีพก็ต่างกันไป

 

โดนหักสำรองเลี้ยงชีพอย่างเดียว ก็มีเงินเก็บได้ถึง 2 ล้าน!

โค้ชมีโอกาสทำโมเดลให้บริษัทแห่งหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

คนหนึ่งเข้ามาทำงานตอนอายุ 22 ปี ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ประมาณการว่าเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 3% เงินเดือนตอนเกษียณ 39,000 บาท บริษัทหักเงินเก็บเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% นายจ้างสมทบทุนอีก 5% แล้วเอาไปลงทุนในผลตอบแทน 4-4.5% อาจจะเป็นตราสารหนี้เยอะหน่อย มีหุ้นเล็กน้อย ทำงานมา 33 ปี เกษียณตอน 55 ปี สุดท้ายจะได้เงิน 2,175,000 บาท นี่คือตัวเลขที่หลายคนไม่ได้คิดมาก่อน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีลักษณะแบบนี้ คือช่วงแรกที่เขาหักเงินเราไปสะสมเงินจะยังน้อยอยู่ คือ 750 บาท นายจ้างสมทบทุนอีก 750 บาท เป็น 1,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ไปลงทุนก็ยังได้ไม่เยอะ โค้ชอยากบอกว่าคนที่ลงทุนตรงนี้ต้องใจเย็นๆ การเก็บแบบนี้ 10 ปีแรกจะขึ้นน้อย แต่พอผ่านปีที่ 15 ไป มวลเงินเราขึ้นหลักแสน พอได้ 7% 10% ก็โตไวขึ้น บวกกับปีหลังๆ เงินเดือนมันสูงขึ้น มันก็ตัดออมเข้าไปมากขึ้น ก็จะเริ่มเห็นกราฟที่สวยงาม และจบที่หลักล้านบาทแบบนี้ได้

 

โค้ชเชื่อว่า ตัวเลข 5% ไม่ได้สูงเลย ถ้าติดตามโค้ชมาตลอดจะเชียร์ให้หักออม 10% อยู่แล้วด้วย ที่เหลือเราอาจมีประกันสะสมทรัพย์ ประกันออมทรัพย์เข้ามาด้วย แต่ที่อยากจะบอกคือ เราสามารถปรับการออมในสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. ได้มากกว่า 2 ล้าน ของข้าราชการกับของบริษัทเอกชนจะมีความต่างกันคือ ข้าราชการจะกำหนดส่วนที่รัฐบาลสมทบให้ที่ 3% ดังนั้นเราใส่มากหรือน้อยเขาก็จะสมทบเท่านี้ ส่วนของเอกชนบางบริษัทจะมีปรับเพิ่มให้เป็น 7% และสะสมสูงสุดได้ที่ 15% ยกตัวอย่างที่โค้ชไปวางแผนและพูดคุยมา ถ้าเมื่อกี้สะสมเดือนละ 5% นายจ้างสมทบทุน 5% โตประมาณ 3-4% จะได้ประมาณ 2,000,000 บาท แต่สิ่งที่เราทำได้คือการไปบอกกับ HR ว่า เราขอใส่ของเราเพิ่ม นายจ้างไม่ใส่เพิ่มไม่เป็นไร ถ้าเราปรับจากสะสม 5% เพิ่มเป็น 10% ผลลัพธ์จะได้เงินเพิ่มไปเกือบ 3,500,000 บาท ข้อดีของพวกนี้คือตัดอัตโนมัติ มาถึงก็ตัดเลย การสะสมเงินเพิ่มก็มีข้อดีคือ ทุกบาททุกสตางค์ที่เราสะสมเพิ่มจากที่นายจ้างหัก สามารถหักภาษีได้หมดเลย ไปหักเป็นเงินได้ก่อนคิดภาษีได้หมดเลย มุมหนึ่งก็คล้ายกับการหักลดหย่อน เพราะฉะนั้นมันดี แทนที่เราจะซื้อ LTF เพิ่มของเรา ก็ใช้วิธีหักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพิ่มแบบนี้จะเจ๋งมาก

 

เพิ่มได้แล้วยังเปลี่ยนกองได้ด้วย!

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีกองให้เลือกเยอะ การลงทุนยาวแบบนี้ลงทุนในที่ที่รับความเสี่ยงได้ อย่าไปลงกองที่มีตลาดเงินหรือตราสารหนี้อย่างเดียว ลองดูว่าเรารับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเรายังมีเวลาลงทุนอีกนาน คือ 15 ปีขึ้นไป เราอาจจะปรับกองทุนที่เราลงทุนไปในหุ้นมากขึ้น ปกติเขาเลือกให้เรา เขาไม่อยากให้เราเสี่ยงมาก ก็จะอยู่ในกองตราสารหนี้ เราไปปรับเองให้กองหุ้นเยอะขึ้น สัก 60-65% ถ้าเรารู้ว่าเรายังมีเวลาในการลงทุนได้อีกยาว การใส่ไปในหุ้นก็มีความผันผวนบ้าง ช่วงที่หุ้นขึ้น หุ้นลง มูลค่าก็จะมีการปรับผันผวน แต่ก็อย่าไปกังวลอะไร เพราะเราตัดเงินเข้าไปทีละน้อยทุกๆ เดือน และเรามีระยะเวลาในการลงทุนยาวนาน ความเสี่ยงจะลดลงไปได้บ้าง ซึ่งจากการทำตัวเลขของโค้ชเอง ดูจากคนที่ลงทุนมายาวนาน จะเห็นว่าระยะเวลายาวๆ ได้ผลจริงๆ ผลตอบแทนเฉลี่ยอาจจะได้ 8-10%

 

ถ้าเราเพิ่มเงินตัวเองเป็น 10% และเลือกกองที่เป็นกองหุ้น ผลตอบแทนเพิ่มเป็น 7-8% เงินมีโอกาสไปถึง 7 ล้านบาทได้ โค้ชเจอข้าราชการบางคน รัฐบาลให้สะสมเพิ่มหรือสมทบมาแค่ 3% เขาอัดเพิ่มของตัวเองเป็น 15% ทำให้ไปหักลดหย่อนได้ รวมเป็น 18% แล้วไปลงทุนกองที่ปรับตามอายุได้ ของ กบข. มีกองหนึ่ง คือกองสมดุลตามอายุ ตัวนี้จะมีการปรับหุ้น อายุน้อยใส่หุ้นมากหน่อย อายุมากก็ปรับหุ้นลดลงมา เหมาะสำหรับคนเป็นข้าราชการมาก ส่วนถ้าเป็นบริษัทเอกชนก็ต้องไปเลือกกันเอง ลองคุยกับ HR ว่ามีทางเลือกอะไรได้บ้าง ถ้ายังเหลือเวลาลงทุนอีก 15 ปี การใช้กองที่มีหุ้นเยอะหน่อย ก็จะพาเราถึงเป้าหมายได้ อย่างที่โค้ชบอกว่าถ้าใส่ 10% ลงทุนด้วยเงินตัวเอง นายจ้างสมทบอีก 5% ไปได้ถึงระดับ 7 ล้านบาทเลยก็มี ตัวเลขนี้ไม่ใช่ทางคณิตศาสตร์อย่างเดียว แต่ยืนยันว่าทำได้จริง สุดท้ายปลายทางสำคัญที่สุดคือการมองอนาคตไว้ล่วงหน้า และหัดวางแผนว่าทำอย่างไรจะไปถึงปลายทางนั้น

 

เคสเกษียณแบบง่ายๆ ก็มีความสุขได้

เป็นเคสที่โค้ชประทับใจมากจากการไปบรรยายบริษัทแห่งหนึ่ง โค้ชตั้งคำถามว่าตอนเกษียณพี่ๆ จะต้องใช้เงินเดือนละเท่าไร คำถามคล้ายกับตอนเริ่ม ทุกคนตอบกันมาว่า 15,000 20,000 บางคนไปถึง 30,000 40,000 บาท แต่โค้ชสะดุดใจกับคุณพี่คนหนึ่ง เขาบอกว่า 3,000 บาทน่าจะพอ โค้ชตกใจมาก เลยถามว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น

 

เขาเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า เขาทำงานที่บริษัทนี้มาร่วม 40 ปี แล้วก็เป็นคนเก็บเงินได้ประมาณ 20% ทุกเดือนอยู่แล้ว เงินที่เก็บได้ก็เริ่มทยอยเอาไปซื้อที่ดินตั้งแต่อายุ 40 ปี แล้วค่อยๆ ต่อที่ให้เป็นผืนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นพอได้เงินเก็บเพิ่มก็ไปปลูกบ้าน แล้วก็เริ่มไปขุดบ่อปลา ปีถัดมาก็เริ่มปลูก หว่านอะไรทิ้งไว้ ทุกวันนี้ถ้าเขากลับไปก็น่าจะมีข้าวของอยู่กินได้สบาย เขาก็ได้เงิน 3,000 บาทจากประกันสังคม ได้ 400,000 บาทจากนายจ้างตอนออก มีเงินเก็บในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 2 ล้านบาท เขาคิดว่าน่าจะอยู่ได้จริงๆ ที่เหลือมีใช้เพิ่มเติมบ้างก็บริหารจัดการได้ทั้งหมด นี่เป็นแนวคิดอีกวิธีหนึ่งที่เล่าเบื้องต้นคือ การเก็บเงินก้อนเพื่อบริหารจัดการช่วงบั้นปลาย แต่วิธีนี้คือแอบสะสมทำให้บั้นปลายชีวิตไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย และมีความสุข ซึ่งแบบนี้เปรียบเทียบกันไม่ได้ วิถีใครวิถีมัน สำคัญที่สุดคือเราออกแบบของเราเอง เพราะถ้าออกแบบไม่ได้ก็จะไม่ใช่ชีวิตของเราอย่างแท้จริง

 

วันหนึ่งเราต้องเกษียณแน่ๆ วันหนึ่งเราต้องพักผ่อนและไม่มีรายได้ที่เข้ามาในรูปของเงินเดือน วันนั้นเราจะมีเงินเข้ามาในรูปของอะไรดี เป็นเงินก้อนที่เราสะสม ดอกเบี้ยจากเงินฝาก เงินปันผลจากหุ้นที่เราสะสมไว้ตั้งแต่ยังหนุ่มสาว เป็นเงินจากสลากออมสิน สลาก ธอส.​ หรือเราอาจมีบ้านเช่าเล็กๆ ของเราที่มีค่าเช่าเก็บต่อเนื่อง ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับว่าเราวางแผนกับชีวิตไว้อย่างไร และเราเริ่มต้นจริงจังกับแผนการณ์ในชีวิตของเราไว้แค่ไหน

 

“การวางแผนเกษียณจะง่าย ถ้าเราเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน แต่จะยากและเป็นไปไม่ได้ และจะทำให้บั้นปลายของเราไม่มีความสุข ถ้าเรารอจนวินาทีสุดท้ายในวันเกษียณ”

 

 

 


 

Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X