ขึ้นปีใหม่สิ่งที่แวบเข้ามาในใจหลายๆ คนคงเป็นเรื่องการเก็บเงิน แต่ปีแล้วปีเล่าก็เก็บไม่ได้สักที มันนี่โค้ชขอกระตุ้นคุณอีกครั้งให้ปีนี้เก็บเงินให้ได้! ด้วยการบอกกลเม็ดเคล็ดลับจากทั้งของตัวเองและจากแฟนเพจ Money Coach ซึ่งเป็นวิธีออมที่มีกิมมิก สนุก ไม่น่าเบื่อ ให้คุณเลือกไปปรับใช้กับตัวเองได้
หลายคนตั้งเป้าหมายที่จะทำกันในปีใหม่ ที่โค้ชเจอเยอะมากคือจะตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการออม บางคนทำงานมา 10 ปีแล้วเงินออมยังไม่มีเลย แล้วก็ตั้งใจทุกปีว่าจะทำให้ได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ
โค้ชเองเริ่มต้นออมเงินตอนที่ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า The Richest Man in Babylon เศรษฐีชี้ทางรวย เขียนโดย จอร์จ คลาสัน เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องเป็นนิทาน เล่มไม่หนามาก เหมาะกับคนไทย นิทานว่าด้วยเรื่องของชาวบาบิโลนคนหนึ่งที่อยากจะมีความมั่งคั่ง ก็เห็นเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกันเริ่มต้นทำงานพร้อมๆ กับเขา แต่พอเวลาผ่านไปเพื่อนกลายเป็นคนมั่งคั่ง แต่ถุงเงินเขาก็ยังว่างเปล่า เขาเลยไปขอคำปรึกษา ในหนังสือเล่มนั้นโค้ชชอบเรื่องของกฎ 5 ข้อแห่งทองคำ เขาบอกว่า
1. ทองคำย่อมหลั่งไหลมามากขึ้นเรื่อยๆ สู่คนที่เก็บออม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของรายได้ทั้งหมดเพื่อสร้างรากฐานของอนาคตตนเองและครอบครัว โค้ชเชื่อว่าหลักการนี้หลายกูรูเอาไปสอนกัน ถ้าท่านหาทองคำได้ 10 แท่ง ควรเก็บไว้แบ่งตนเองและครอบครัว 1 แท่ง ที่เหลือจะกิน 9 แท่งก็ได้
2. ทองคำย่อมเต็มใจทำงานอย่างขยันขันแข็งให้กับเจ้าของผู้ชาญฉลาด ที่รู้จักนำไปใช้ให้เกิดดอกออกผล มันจะทวีคูณขึ้นอย่างปศุสัตว์ในท้องทุ่ง คือพอใครที่สะสมทองคำได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบในยุคปัจจุบันก็น่าจะเป็นเงินในยุคเรา คนที่เก็บมันได้มากขึ้น ตัวมันก็จะเริ่มทำงานและออกลูกออกหลานสร้างความมั่งคั่งให้กับเราเพิ่ม
3. ทองคำย่อมภักดีเหนียวแน่นต่อเจ้าของผู้รอบคอบ ที่นำมันไปลงทุนภายใต้คำแนะนำของคนที่ฉลาดในการจัดการ อันนี้ก็น่าจะหมายถึงความรู้ ถ้าเราเอาไปลงทุนในสิ่งที่เรามีความรู้อย่างแท้จริง ก็มีโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นได้
4. ทองคำย่อมหลุดลอยจากมือของคนที่นำมันไปลงทุนในธุรกิจหรือจุดประสงค์ที่เขาไม่คุ้นเคย ใครที่มีเงินออม เงินสะสมเก็บมาแทบตายสุดท้ายเอาไปลงในสิ่งที่เราไม่รู้จัก ไม่เข้าใจมัน ก็มีโอกาสที่มันจะหายหรือหลุดลอยไปได้
5. ทองคำย่อมหลบหนีจากคนที่บังคับให้มันหารายได้แบบที่เป็นไปไม่ได้ หรือจากคนที่ทำตามคำแนะนำล่อใจของคนเจ้าเล่ห์เจ้าอุบาย หรือคนที่นำมันไปลงทุนด้วยความอ่อนประสบการณ์ และด้วยความปรารถนาอันเพ้อฝันของตน
ที่ฟังมาทั้งหมดยังเป็นเรื่องที่คลาสสิกอยู่ โค้ชเองพอได้อ่านก็เริ่มเก็บเงินและเอามาวางระบบให้กับตัวเอง เพราะว่าถ้าให้เหลือเก็บแทบไม่มีทาง
วิธีการออมของโค้ชจะทำ 3 วิธีไปพร้อมกัน
1. ตัดออมอัตโนมัติ เราจะเลือกตัดใส่บัญชี ตัดใส่กองทุนอะไรก็ได้ที่เราถนัด แต่หัวใจสำคัญอยู่ตรงที่คนที่เริ่มตัดใหม่ๆ จะเริ่มฮึกเหิม ตื่นเต้นมากเกินไป บางทีก็ตัดเยอะเกินไป บางคน 20% เลย ทำแบบนั้นประมาณ 1-2 เดือนก็จะไม่ไหว เพราะมันเป็นการฝืนตัวเองเร็วเกินไป ในมุมมองของโค้ชคือเอาแบบที่ไหว แบบที่พอรู้สึกดีว่าเราได้ตัดให้ตัวเองบ้างแล้วนะ เพราะฉะนั้น 10% เป็นสัดส่วนที่เหมาะสม เริ่มแบบนี้ก่อน แต่ถ้า 10% ไม่ไหว สัก 5% ก็ยังดี
2. บริหารเศษเหรียญให้เป็น ถ้าเราเก็บสะสมต่อเนื่องดีๆ บางคนได้หลักหมื่น ถ้าบริหารเป็น โค้ชแยกเหรียญเป็น 2 กอง เหรียญ 5 กับ เหรียญ 10 จะเอาไว้สะสมลงทุน แต่ถ้าเป็นเหรียญบาทสองบาทหรือสลึงจะสะสมไว้ทำบุญ ซึ่งไม่น้อยเลย แล้วปลายปีหรือมีจังหวะเราก็ถือไปตามห้าง เจอกล่อง ตู้ ก็หยอดบริจาคเต็มที่ของเราได้เลย
3. เก็บภาษีตัวเอง เป็นมุกส่วนตัว เพราะโค้ชเป็นคนออมเงินที่รักความสะดวกสบายในชีวิต ยังอยากกินอาหารมื้ออร่อย ยังอยากมีดินเนอร์ดีๆ ยังอยากเที่ยวสนุกสนานบ้าง เพราะฉะนั้นโค้ชไม่บีบตัวเองด้วยการเก็บเงินเยอะขนาดนั้น แต่จะใช้วิธีหักภาษีฟุ่มเฟือย เช่น เรากินข้าวข้างทางก็อิ่มได้ แต่หากบางวันเราอยากกินมื้อที่ดี ซึ่งอาจจะแพงหน่อย โค้ชจะหักภาษีฟุ่มเฟือยสัก 10% เหมือนชาร์จตัวเองเพิ่ม มันเหมือนเป็นการตอกย้ำตัวเองว่า การที่เรากินแพงนั้นเรามีความสามารถกินมันจริงไหม และพอเราชาร์จตัวเองเราก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงนิดหนึ่งแต่นั่นคือเงินออมของเรา และวันถัดมาเราก็จะมีความละเอียดในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น เริ่มประหยัดและบริหารจัดการเงินได้ดีขึ้น ชีวิตเรา 30 วัน เรียบง่ายบ้าง หรูหราบ้าง ก็สลับกันไป เดือนหนึ่งได้เงินจากวิธีนี้พอสมควร
นี่คือ 3 วิธีการที่โค้ชใช้อยู่ ซึ่งสามารถเอาไปเลียนแบบได้ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด ส่วนจากแฟนเพจ Money Coach มีวิธีการเก็บเงินที่หลากหลายมาก วันนี้จะเลือกท็อปคอมเมนต์ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าสนใจและน่าลองเอาไปใช้ดูว่าเหมาะกับตัวเราไหม ต้องบอกว่ามันไม่มีวิธีการหนึ่งอย่างแล้วใช้ได้กับทุกคน หัวใจคือเรารู้ว่าการออมสำคัญแล้วกัน วิธีการใครวิธีการมัน
1. เก็บแบงก์ 50 หยอดกระปุก โค้ชพบว่าแบงก์ 50 คนชอบเก็บมาก บางคนก็บอกว่าเป็นแบงก์แห่งความโชคดี วันๆ มีธนบัตรผ่านเข้ามือเราเยอะมาก พอเจอแบงก์ 50 ก็ถือว่าโชคดี เราก็เก็บใส่กระเป๋า ส่วนลูกๆ เขาจะให้โปรโมชัน คือถ้าออมได้ 8 บาท เอามาแลก 10 บาท เป็นการบิลด์ให้เด็กๆ ออมเงินด้วย เราลองให้โปรโมชันกับตัวเองบ้างก็ได้ นอกจากนั้นยังพาเด็กๆ ไปเปิดบัญชี ครบหลักพันก็เอามาต่อบัญชีกองทุนให้เขา ส่วนแม่ก็ตัดเงินเดือนกับสหกรณ์บริษัท ตัดเข้า LTF RMF แบบออโต้
2. ช้อปด้วยตาแล้วเอาเงินมาลงทุน พออยากได้อะไรก็จะไปเปิดดูในอินเทอร์เน็ต ดูจนอิ่มแล้วตัดเงินซื้อกองทุนแทน เหมือนโรคจิตนิดๆ คือดูให้หายอยาก จากนั้นตัดมูลค่าเข้ากองทุนแทน ถ้าไม่ทำคือเงินจะละลายไปกับการช้อป สะกดจิตตัวเองให้มองเสื้อผ้าเก่าเป็นเสื้อผ้าใหม่ก็เป็นวิธีที่น่ารักดี สิ้นปีมีเงินเก็บเป็นแสน
3. ออมตามวันที่และเลขท้าย สำหรับคนเงินเดือนน้อยเลยออมแบบทีละน้อยด้วยการออมตามวันในปฏิทินแล้วคูณ 2 เช่นวันที่ 1 ออม 2 บาท วันที่ 2 ออม 4 บาท ไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรืออีกวิธีคือทุกวันที่ 1 และ 16 จะออมตามเลขท้าย 3 ตัว หรือออมตัวที่น้อยที่สุดบวกรางวัล 2 ตัวล่าง คือเลขท้ายจะมี 4-5 ตัว เราก็เอาตัวน้อยที่สุดไปบวกกับอีก 2 ตัว สรุปแล้วเดือนหนึ่งมีเงินฝากในบัญชีออมหลักพันอยู่
4. ใช้วิธีแต่งงาน เคล็ดลับคือต้องตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนด้วย ไม่ใช่อารมณ์ล้วนๆ จากคนสบายๆ กลายเป็นคนมุ่งมั่นแน่นอน เปลี่ยนวินัยได้ทุกมิติก่อนแต่งงานทำไม่ได้เลย เอาจริงๆ คือคงขาดเป้าหมาย การทำเพื่อตัวเองอาจไม่พอ แต่ทำเพื่อครอบครัวค่อนข้างทรงพลัง ใช้วิธีการเปิดบัญชีร่วม เงินเดือนออก โอนเข้าง่ายๆ แต่ถอนยาก เพราะต้องพาภรรยาไปด้วย ในมุมของโค้ชมันเป็นผลพลอยได้ของการมีครอบครัว คนเราก็จะมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น ความมุ่งมั่นที่จะเก็บเงินให้ได้ก็จะสูงขึ้น (แต่วิธีนี้โค้ชไม่ค่อยแนะนำ ถ้าเก็บเงินได้เองคนเดียวก่อนก็จะดี)
5. ใช้แบงก์อย่างเดียวแล้วเก็บเหรียญ ถ้าไม่นับเงินที่ตัดไปตอนต้นเดือนก็จะใช้แบงก์อย่างเดียว ไม่เอาเหรียญออกมาใช้เลย บางวันได้เหรียญมาเกือบ 100 ยิ่งใช้เงินบ่อยยิ่งได้เหรียญเพิ่ม หรือถ้าเจอแบงก์เลขตองก็เก็บไว้ไม่ใช้ โค้ชรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้น่ารัก เพราะทำการออมให้มีกิมมิกและเป็นเรื่องสนุก และเป็นความสุขส่วนตัวที่ง่ายและเป็นเรื่องที่ดีด้วย
6. ตัดเงิน 30% เข้าฝากประจำ หักเงิน 10% ทุกครั้งที่กด ATM เก็บเหรียญหยอดกระปุกทุกวัน เอาแบงก์ 20 ใส่กระเป๋าไว้ 2 ใบพอ ที่เหลือหยอดกระปุก วิธีนี้ใครทำตามได้ก็โอเค ใครทำตามไม่ไหวก็ปรับให้มันเหมาะกับตัวเราเอง
7. เป็นร้านขายของ ถ้าเจอแบงก์ 50 บาทจากลูกค้าก็จะเก็บไว้ หลังจากเก็บร้านจะรีบทำบัญชี แล้วหักกำไรเก็บไว้บางส่วน
8. ออมด้วยสลากออมสิน หรือสลาก ธ.ก.ส. เงินที่เคยเล่นหวยก็เอามาซื้อสลากพวกนี้แทน ถึงวันนี้สบายใจมากถ้าไม่ถูกงวดก็เอาไปใช้งวดหน้าหรือต่อไปได้ด้วย
“สิ่งสำคัญที่สุดของการหยิบกลเม็ดการออมเหล่านี้มาใช้คือเราต้องรู้จักและเข้าใจตัวเองเป็นอย่างดี”
บางคนไม่ต้องใช้วิธีการเหล่านี้เพราะเขามีวินัยสูงมาก ถ้าได้เงินเดือนมาก็บริหารของเขาเอง แต่ในขณะที่บางคนก็ต้องหาวิธีการบังคับตัวเอง ซึ่งหลายคนเลือกวิธีคล้ายกันคือ การตัดอัตโนมัติ และสุดท้ายการหากิมมิกให้กับตัวเอง ให้รู้สึกว่าการออมเป็นเรื่องสนุก ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นทำให้การออมไม่น่าเบื่อ ต้องยอมรับว่าเมื่อไรที่เป็นการบังคับตัวเอง มันไม่สนุกพอสมควร ไม่ต่างอะไรกับการออกกำลังกาย เวลาขึ้นไปถึงลู่วิ่งหรือออกวิ่งเราจะเริ่มรู้สึกดีกับตัวเอง แต่ความยากคือการออกจากบ้านไปฟิตเนสหรือเปลี่ยนชุดใส่รองเท้า แค่คิดปุ๊บก็เหนื่อยแล้ว เพราะฉะนั้นการหาทางให้การบังคับเป็นเรื่องสนุกขึ้นก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน
ไม่รู้ว่าแต่ละคนเก็บเงินกันได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เราต้องรู้ก็คือวันหนึ่งเราต้องหยุดทำงาน ช่วงเวลาหาเงินเรามีเวลาอยู่ช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงเดียว แต่ช่วงเวลาใช้เงินเราต้องใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นคนที่ไม่มีเงินเก็บออมอาจมีปัญหาในช่วงเวลาบั้นปลายได้ หรือไม่ต้องรอแก่บางทีระหว่างทางที่เรากำลังทำงานหาเงินอยู่ เราไม่มีอะไรสะสมไว้บ้างเลย เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น เจ็บป่วยไม่สบายก็ต้องใช้เงินทั้งสิ้น และทุกสิ่งทุกอย่างของการวางแผนทางการเงินก็เริ่มที่การออมนี้เอง
Credits
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic