×

รวยทั้งทรัพย์ รวยทั้งสุข ด้วยการตั้งเป้ารวยแบบ 6 มิติ

27.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02.07 มั่งคั่ง กับ ร่ำรวย ต่างกันอย่างไร

03.20 รวย 6 มิติเป็นอย่างไร

07.48 มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ

11.18 มิติที่ 2 ด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว

15.28 มิติที่ 3 ด้านการงาน

17.05 มิติที่ 4 ด้านการเงิน

17.45 มิติที่ 5 ด้านการพัฒนาตัวเอง

19.12 มิติที่ 6 การแบ่งปันและการให้

22.08 เคสตั้งเป้าใหญ่

 

มันนี่โค้ชชวนทุกคนมาใช้เวลาก่อนเข้าปีใหม่ ตั้งเป้าหมายทางการเงินโดยเน้นไปที่ความมั่งคั่งและสามารถจัดสรรชีวิตให้มีความสุขครบถ้วนทุกมิติ ด้วยการตั้งเป้าหมายรวย 6 มิติ

 


 

มั่งคั่ง vs ร่ำรวย

เวลาพูดถึงความมั่งคั่งกับความรวยหลายคนอาจจะงงว่าต่างกันอย่างไร โค้ชเองก็เคยสงสัย จนไปเจอบทความหนึ่งจากต่างประเทศบอกว่า ความร่ำรวยเราอาจวัดกันได้ที่เงินที่เรามี แต่ความมั่งคั่งวัดจากเวลาที่เราจัดสรรในการใช้ชีวิต ถ้าเกิดเรามีเงินมากมายแต่ไม่สามารถจัดการเวลาในชีวิตได้ มีเงินเยอะ หาเงินเก่ง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างรัดตัวไปหมด เรื่องดีๆ ที่ตั้งใจอยากจะทำ หลายเรื่องเราไม่ได้ทำในมิติอื่นๆ ในมุมนิยามตรงนี้อาจถือได้ว่าเราไม่ใช่คนมั่งคั่งก็ได้ แต่ในขณะที่คนมีกินมีใช้ประมาณหนึ่ง แต่สามารถจัดสรรชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีความสุขในหลายมิติครบถ้วน อย่างนี้ถือว่าเป็นคนที่มีความมั่งคั่งก็ได้

 

โค้ชจะรู้สึกอยู่เสมอว่าความมั่งคั่งจะเป็นความรู้สึกมากกว่า และเติมเต็มทำให้คนเรารู้สึกสมบูรณ์มากกว่า

 

โค้ชจึงอยากชวนผู้ฟังฟังเป้าหมายที่เรียกว่ารวย 6 มิติ

 

รวย 6 มิติเป็นอย่างไร

โค้ชเป็นคนตั้งเป้าหมายปีใหม่เป็นประจำ ถ้าใครทราบประวัติของโค้ชเมื่อตอนเรียนจบ พ.ศ. 2540 เป็นหนี้ประมาณ 20 ล้านบาท และพยายามแก้ไขหนี้ของตัวเอง จนพ้นหนี้และมีอิสรภาพทางการเงิน เพราะฉะนั้นทุกปี เป้าหมายสำคัญที่สุดของโค้ชคือการหาเงิน พอถึงเวลาจริงโค้ชจะโฟกัสไปที่เรื่องเงินอย่างเดียว และละเลยเรื่องอื่นๆ

 

พ.ศ. 2551-2552 เป็นช่วงปีที่โค้ชหาเงินได้เยอะมาก ตอนนั้นเปิดบริษัทที่ปรึกษา และทุกวันที่ออกไปให้คำปรึกษาก็ได้เงินประมาณ 20,000-25,000 บาท เดินทางออกไปแนะนำตามโรงงาน ตามเหมืองต่างๆ ก็คิดแต่เงิน เงิน เงิน ได้เงินเป็นหลักแสน และมีความสุข

 

เนื่องจากทำงานมากเกินไป มิติต่างๆ ก็เริ่มมีปัญหา เริ่มทะเลาะกับแฟนบ่อยขึ้น มิติเรื่องความสัมพันธ์ก็เสียหาย มิติด้านสุขภาพโค้ชเป็นภูมิแพ้มาแต่ไหนแต่ไร พอทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ระบบหายใจมีปัญหา หายใจไม่ทันเพราะภูมิแพ้ขึ้นหนักมาก

 

การเจ็บป่วยหนักครั้งนั้นคือครั้งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะปกติเป็นคนสุขภาพแข็งแรงมาก เป็นหวัดไปหาหมอแทบไม่ค่อยเป็น แต่ครั้งนั้นต้องหามเลย เลยมีความรู้สึกว่า สุดท้ายเราหาเงินไปก็คงไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่ได้เอามาจัดสรร เราไม่มีเวลาได้ใช้ ไม่มีเวลาอยู่กับคนที่เรารัก ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ เงินต้องมาจ่ายกับการรักษาพยายาลก็คงไม่ใช่ จึงเริ่มคิดใหม่กับตัวเอง พอถึงช่วงปลายปีนั้นจำได้ว่าเป็นปีแรกที่ตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ให้กับชีวิต

 

โค้ชได้หนังสือเล่มหนึ่งมา ชื่อ The Way to Wealth เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง หนังสือเล่มนี้สอนเรื่องการตั้งเป้าหมายเรื่องการเงินที่แปลกและแตกต่างออกไป ต้นทางคือควาหมายของความมั่งคั่ง ซึ่งบอกไว้ว่าคนเราถ้ารวยแต่เงินคุณจะมีแต่เงิน แต่ถ้าคุณรวยได้ครบทั้ง 6 มิติ คุณจะรวยทั้งทรัพย์และสุข

 

รวยมิติที่ 1 ด้านสุขภาพ

พอพูดถึงคำว่าเป้าหมายหลายคนก็คิดถึงอะไรที่ใหญ่โตมโหฬาร เราจะเป็นนักวิ่ง หรือจะไปเหรียญทองโอลิมปิก ปรากฏว่าไม่ใช่เลย หนังสือเล่มนี้บอกว่า ไม่ต้องไปตั้งเป้าหมายอะไรที่ใหญ่โต ขอให้เป็นเป้าหมายที่ทำแล้วรู้สึกดีตั้งแต่ลงมือทำ เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าหมายด้านสุขภาพอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาคนอื่น แต่อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรา ปีนั้นโค้ชไปตรวจเลือดและหมอเตือนว่าน้ำตาลเยอะ เลยเล่าเรื่องการกินอยู่ให้หมอฟัง หมอบอกว่าอย่ากินกาแฟเย็นเพราะหวานมาก ให้กินกาแฟดำแทน โค้ชเลยหยิบตรงนั้นมาตั้งเป้าหมายว่าจะลดค่าน้ำตาลลง เอาเรื่องง่ายๆ ก่อน แล้วก็ตั้งโจทย์กับตัวเองว่าจะลดของหวาน น้ำอัดลม กาแฟเย็นลดเหลือวันละ 1 แก้ว แล้วก็เริ่มวางแผนเรื่องการออกกำลังกาย ก่อนหน้านี้เป็นคนไม่ออกกำลังกายเลย การออมกับการออกกำลังกายคล้ายกันมาก ทุกคนรู้ว่าเป็นเรื่องดีแต่ละเลยมัน เพราะฉะนั้นจึงบอกกับตัวเองว่าจะออกกำลังกายปีนี้ 120 วัน และด้วยความเป็นวิศวกรจ๋าจึงมีการลงบันทึกว่าวันนี้ลงไปกี่กิโลฯ ออกไปกี่นาที

 

การตั้งเป้าหมายเล็กๆ พวกนี้ ถ้าใครมาเห็นหลายคนอาจจะรู้สึกว่าไม่ใหญ่โต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกครั้งที่เราได้ออกวิ่ง ได้ตัดอาหารบางอย่างที่ไม่อยากกิน มันเกิดผลดีกับตัวเองทันที คือเรารู้สึกภูมิใจกับตัวเอง ลองถามคนที่ได้ออกกำลังกายดู เขาไม่ได้รู้สึกแข็งแรงขึ้นทันที แต่จะมีความรู้สึกดีตั้งแต่เราใส่รองเท้าออกไปวิ่ง เหงื่อออก นั่นคือสิ่งที่ตั้งเป้าหมายด้านสุขภาพ จนถึงวันนี้ยิ่งรู้เลยว่าพออายุผ่านพ้น 40 ปีมา ร่างกายมีแต่จะสึกหรอลง

 

“เงินที่อุตส่าห์หามาจนสร้างเนื้อสร้างตัวได้ มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าสุดท้ายเราไม่แข็งแรง ไปเที่ยวไหนไม่ได้ นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเป้าหมายด้านสุขภาพควรเป็นเป้าหมายแรก”

 

รวยมิติที่ 2 ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวและคนในครอบครัว

เราอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจสูง เร่งรีบทำมาหากินจนในหลายครั้งลืมให้เวลากับคนที่อยู่ในครอบครัว บางคนหาเงินได้เยอะแต่แค่เวลาจะทานข้าวกับคนในครอบครัว จะจัดทริปไปเที่ยวหรือเดินทางกับครอบครัวก็ไม่มี

 

โค้ชมีหลักในการบริหารจัดการครอบครัว 3 ข้อ

  1. เวลา ถ้าคนในครอบครัวมีเวลาด้วยกันน่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดี
  2. กิจกรรม จะทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้น บางบ้านชอบนัดไปคาราโอเกะกัน ส่วนโค้ชที่บ้านก็จะเล่นบอร์ดเกมกัน
  3. การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้เราจะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ไม่มีความจำเป็นที่ไลฟ์สไตล์จะต้องเหมือนกัน เมื่อเรารู้จักสนิทสนมกันในฐานะครอบครัว เราก็ต้องรู้กันว่าคนนี้เขาเป็นอย่างนี้ ชอบแบบนี้ เวลาโค้ชมีเวลาอยู่ด้วยกันหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว ทุกคนก็จะมีมุมของตัวเองเหมือนกัน คนนี้จะอ่านหนังสือ เล่มเกม อย่าคิดว่าพ่อแม่ หรือแฟนกันจะรู้จักกันดี

 

คำถามคือเราตั้งเป้าหมายทางด้านครอบครัวหรือความสัมพันธ์ไว้บ้างหรือเปล่า เช่น ถ้าพ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด เราอยู่กรุงเทพฯ เราอาจตั้งเป้าหมายว่าจะกลับบ้านเดือนละ 1 ครั้ง หรือ 2 อาทิตย์ครั้ง กันงบหรือเงินไว้เล็กๆ น้อยๆ สำหรับตรงนี้ เห็นไหมว่ามีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง มันไม่ได้ทำให้เรายากจนลง แต่ทุกครั้งที่เราได้กลับบ้าน เชื่อว่าพ่อแม่เรามีความสุขและยินดี หรือถ้าอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ แต่อยู่กันคนละบ้าน ก็อาจจะจัดมีตติ้งกันก็ได้ พากันไปหาอะไรอร่อยทาน ถ้าครอบครัวไหนไม่ชอบออกจากบ้านเพราะกลัวลูกเปลือง เราก็ใช้วิธีการสั่งอาหารจากเฟซบุ๊กมากินร่วมกัน

 

ลองกำหนดเป็นเป้าหมายดูว่า เราอยากมีกิจกรรมแบบนี้ในครอบครัวทุกๆ เท่าไร ครอบครัวโค้ชเน้นเรื่องการท่องเที่ยว ปีหนึ่งจะมีทริปยาวหนึ่งทริป ทริปสั้นหนึ่งทริป อย่างปีนี้ต้นปีไปต่างประเทศมา วิธีการคือจะจัดตารางโดยที่เอาปฏิทินมาแล้วล็อกเวลาเที่ยวก่อน จากนั้นโค้ชก็เลือกสถานที่ ซื้อตั๋ว และจัดตารางว่าจะไปเที่ยวที่ไหนบ้าง

 

“ถ้าอยากท่องเที่ยวและมีเวลาอยู่ด้วยกัน ให้จัดตารางเที่ยวก่อนจัดตารางงาน อย่าเอางานยัดไปจนหมด แล้วหาช่องว่างเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวต้องใช้เวลาพอสมควรถึงจะสนุก”

 

รวยมิติที่ 3 การงาน

คนเรามีชีวิตที่มีความสุขไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้สึกภูมิใจกับตัวเองตลอดเวลา และหน้าที่การงานของเราคือตัวชี้วัดและคอยยกระดับความรู้สึก ความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับเราได้ ลองตั้งดูว่ามีความคาดหวังอะไรกับงานของเราบ้าง เช่น งานที่ทำอาจจะชอบอยู่แล้ว แต่อยากทำงานอดิเรกขึ้นมาซึ่งอาจเป็นรายได้ในอนาคต หรืองานที่เราทำอาจจะดีแต่เราอยากเปลี่ยนก็ทำได้ คำว่าเปลี่ยนงานก็ไม่ต้องเปลี่ยนสถานที่ทำงานเสมอไป

 

สมัยทำงานโค้ชเป็นคนที่กล้าพอสมควร เดินไปบอกเจ้านายว่าใช้ผมไม่คุ้ม บอกตรงๆ ไปเลยว่าทำแบบนี้ได้ แต่ถ้าให้ทำแบบนี้ก็ทำ แต่ถ้าให้ดีให้ไปทำตรงนี้สิ ผมทำได้ โค้ชมีความรู้สึกว่าถ้าอยู่แล้วไม่สบายใจจะอยู่ทำไม แต่ก่อนที่จะเลือกหนี เราต้องสู้ก่อน ลองตั้งเป้าหมายเรื่องความก้าวหน้าที่การงานดู ว่าเราจะขยับไปไหนได้อย่างไรบ้าง

 

รวยมิติที่ 4 การเงิน

เราอาจจะตั้งเป้าหมายเป็นการปลดหนี้ หรือลดหนี้ลงมา กฎของการตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องคือต้องวัดได้ ควรเขียนเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เช่น ลดหนี้ลงครึ่งหนึ่ง ตัดหนี้ออกไป 4 เจ้าจาก 6 เจ้า หรือบางคนจะเก็บออมเงินให้ได้ 100,000 บาท

 

รวยมิติที่ 5 การพัฒนาตัวเอง

เราใช้ชีวิตแต่ละวัน เราอยากจะเติมเต็มตัวเองในเรื่องอะไรบ้าง อยากเก่งมากขึ้นในเรื่องอะไรบ้าง เช่น เจอฝรั่งแล้วสั่น ถ้าเกิดว่าฟัง อ่าน พูด ภาษาอังกฤษได้เก่งขึ้น ไม่ว่าจะหน้าที่การงานหรือการใช้เวลากับงานอดิเรกของเราน่าจะดีขึ้น ได้อ่านหนังสือ ได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ก็เอาเวลาเหล่านี้ไปลงทุนกับการศึกษาภาษาอังกฤษ จะเข้าคอร์สอะไรก็ได้

 

คิดมานานแล้วว่าอยากจะทำอาหารเป็นก็เอาเลย ตั้งโจทย์เลยว่าปีนี้จะทำอาหารไทยให้ได้ ปีนี้จะทำขนมไทย จะไปสมัครเรียนคอร์ส จากนั้นก็เสิร์ชและลงมือทำเลย

 

เรื่องการพัฒนาตัวเองถ้าใครได้คิดฝันและทำมันจริงๆ มักจะมีความสุขทุกคน มันเป็นมิติที่ไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยขึ้นในทันที แต่อาจเป็นผลดีในวันข้างหน้า แต่ที่ได้แน่ๆ คือความรู้สึกดีกับตัวเอง ทุกคนเป็นหมด

 

“เก่งอะไรขึ้นแม้แต่นิดเดียวเราก็มีความสุข แค่เรียนขับรถได้ยังดีใจเลย”

 

รวยมิติที่ 6 การแบ่งปันและการให้

คนเรารวยไม่ได้ถ้าเราให้คนอื่นไม่เป็น อาจผูกโยงเรื่องการเงินด้วยก็ได้ เช่น ตั้งใจว่าจะจัดกิจกรรมกับเพื่อนไปเดินสายทำบุญกัน หรือไปเลี้ยงอาหารให้กับน้องตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ หรือให้กับพ่อแม่ที่ถูกลูกทิ้งตามสถานสงเคราะห์ อาจตั้งโจทย์ทำกิจกรรมแบบนี้ ปีหนึ่งก็ครั้งก็ว่ากันไป หากไม่มีเวลาอาจบริจาคเป็นเงินก็ได้ สามารถสมัครแล้วตัดเงินเป็นรายเดือน บริจาคทุกเดือนไป โดยอาจจะเลือกที่ที่บริจาคแล้วสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ด้วยก็เป็นอีกต่อหนึ่ง

 

“การตั้งเป้าหมายจะต้องไม่บีบบังคับหรือทำให้เรารู้สึกกดดันมากจนเกินไป เพราะไม่อย่างนั้นแล้วอาจทำให้เราไม่มีความสุขก็ได้”

 

เคสตั้งเป้าไว้ใหญ่ แต่มาพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ

เรื่องของน้องคนหนึ่งที่เจอกันในปี 2548 เป็นปีที่โค้ชเริ่มเข้ามาทำเรื่องการเงิน ปีนั้นชีวิตทางด้านการเงินเริ่มดีแล้ว และเริ่มเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ทางด้านการเงิน น้องคนนี้เจอกับโค้ชและถามว่า พี่ๆ ใช้เวลากันมากน้อยแค่ไหนกว่าจะประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน โค้ชตอบว่าเป็น 10 ปี แต่ก็ยังไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จหรอก แค่ค่อยๆ ดีขึ้นเท่านั้นเอง น้องเขาบอกว่าอยากจะประสบความสำเร็จ อยากมีชีวิตที่มีอิสรภาพทางด้านการเงินภายใน 10 ปี พูดง่ายๆ คือเรียนจบ 20 ปี และอยากร่ำรวยตอน 30 ปี เลยถามเขากลับไปว่าความร่ำรวยและอยากมีอิสรภาพทางด้านการเงินความหมายคืออะไร เขาตอบว่าตั้งใจอยากจะมีรายได้เดือนละ 1,000,000 บาท เลยถามกลับไปว่า จะมีรายได้ 1,000,000 บาทไปเพื่ออะไร เขาตอบว่าอยากมีชีวิตที่สุขสบาย อยากให้พ่อแม่สุขสบาย อยากมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ ซื้อทุกอย่างที่อยากซื้อได้

 

ในมุมหนึ่งการเป็นโค้ชทำให้ได้เจอผู้คนมากมาย และหลายครั้งการคุยกันทำให้สัมผัสได้ถึงตัวตนลึกๆ ข้างใน พอคุยกันไปเรื่อยๆ คนคนนี้มีบาดแผลในใจเล็กๆ เรื่องความขาดแคลนในวัยเด็ก ทำให้เขามีความมุ่งหวัง ซึ่งก็เป็นความมุ่งมั่นที่ดี เพียงแต่บีบตัวเองมากว่าจะต้องจบภายใน 10 ปี และตัวเลขทางการเงินที่สูงพอสมควร คนอายุ 30 ปี ถ้าหาเงินได้เดือนละ 1,000,000 บาท น่าจะมีอยู่ไม่กี่คนที่ทำแบบนั้นได้ จึงพยายามคุยกับเขาว่าเหตุผลคืออะไร เขาตอบว่าอยากจะซื้อทุกอย่างที่อยากได้

 

สุดท้ายการคุยกันจบที่การนิยามคำว่าความสุข ที่บอกว่าซื้ออะไรก็ซื้อได้ สุดท้ายแล้วอะไรบ้างที่ซื้อแล้วมีความสุข หรืออะไรที่อยากจะซื้อจริงๆ ที่ถามเพราะโค้ชเคยเป็นแบบเขา ตอนที่เจ็บหนักก็คิดว่าวันหนึ่งถ้าเราผ่าน เราอยากจะรวยให้มากที่สุด เราอยากจะมีทุกสิ่งทุกอย่าง สุดท้ายพบว่าพอวันที่เราผ่านจริงๆ สิ่งที่อยากได้มันมักจะเป็นการแก้ปมในวัยเด็กที่เคยเจ็บปวดมาทั้งสิ้น

 

ถึงเวลาจริงๆ แล้วโค้ชไม่ได้ซื้อบ้านหลังใหญ่โต ไม่ได้ซื้อรถคันใหญ่ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ซื้อแล้วมีความสุขมากกลับเป็นเครื่องเพลย์สเตชัน ซึ่งในวัยเด็กเห็นเครื่องของเพื่อน เรามีความรู้สึกว่าอยากเล่นแล้วไม่ได้เล่น เขาเล่นแล้วเก็บเข้าบ้านเขาเราก็ต้องเลิก เวลาไปร้านหนังสืออยากซื้อแล้วไม่มีเงิน เพราะว่ามาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เลยบอกตัวเองว่าถ้ามีเงินจะซื้อหนังสืออย่างเต็มที่ แล้วมันก็จริง พอมาถึงวันที่ชีวิตสุขสบายระดับหนึ่ง บ้าน รถ กลับไม่ใช่สิ่งที่มันตอบโจทย์ชีวิต กลับกลายเป็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เท่านั้นเอง เครื่องเล่นเกม หนังสือ เสื้อผ้า

 

เมื่อปมในใจเริ่มคลายออก แค่นั้นเราก็รู้สึกว่าเรามีความสุขแล้ว เรามั่งคั่งแล้ว วันนี้หากชอบเสื้อสักตัวที่สวยถูกใจ เราได้ซื้อ เราก็มีความสุขแล้ว มันก็แก้ปมต่างๆ ในใจ เพราะฉะนั้นจึงกลับมาคุยกับน้องคนนั้น แต่เขาก็ไม่เชื่อโค้ช และบอกว่าจำหน้าผมไว้นะ อีกไม่เกิน 7 ปีผมจะรวย สุดท้ายการตั้งเป้าหมายแบบนี้กดดันชีวิตเขามาก พอได้เจอกันอีกทีตอนเขาอายุ 30 เศษ ผมจึงถามไปอย่างไม่ตั้งใจจะปรามาสว่าเป็นอย่างไรบ้าง เขาตอบมาว่า “พี่ วันนั้นผมมันก็แค่บ้าไปเอง สุดท้ายผมรู้แล้วว่าผมต้องการอะไร ไม่ได้คิดถึงเป้าหมายต้องมีเงินเดือนละ 1,000,000 บาทแล้ว ตอนนั้นทำเท่าไรก็ทำไม่ได้ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสได้ซื้อบ้านให้แม่ ชีวิตผมอยู่ในครอบครัวที่ต้องเช่าบ้านเขามาตลอดชีวิต เห็นแม่ถูกติดตามทวงเงินตลอดเวลา วันหนึ่งที่ผมพร้อมสามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ ผมก็สามารถทำให้แม่มีความสุขที่เรามีบ้านเป็นของตัวเอง แม้ยังต้องผ่อนเขาอยู่ก็ตาม แต่ก็ทำให้เรามีความสุข แม่ผมมีความสุขมาก ซื้อของมาตกแต่งบ้านอยู่เสมอ ผมเข้าใจแล้วว่าโค้ชตั้งใจจะบอกอะไรกับผม”

 

เป้าหมายทางการเงินของคนเราอาจจะไม่ต้องใหญ่โต อาจจะไม่ต้องเป็นฮีโร่ของคนทั้งประเทศก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดขอให้เราเป็นฮีโร่ของคนในครอบครัว เป็นฮีโร่ที่คนในครอบครัวรู้สึกดี รู้สึกขอบคุณที่มีเราอยู่ในครอบครัว เป็นเพราะมีเราทำให้พวกเขามีชีวิตทางการเงินที่มีความสุข เราเป็นตัวอย่างในเรื่องการดูแลสุขภาพ ให้เวลากับคนในครอบครัว เป็นตัวอย่างของคนที่รับผิดชอบทำงานที่ได้รับมอบหมายของตัวเองได้เป็นอย่างดี เป็นตัวอย่างของคนที่จัดสรรเงินต่างๆ อย่าเหมาะสม เป็นตัวอย่างของคนที่ดูแลครอบครัวไม่ให้ขาดตกบกพร่อง เป็นตัวอย่างของคนที่พัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวอย่างของคนที่รู้จักให้และตอบแทนกลับคืนสู่สังคม

 


 

Credits

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising