หวยมักไปลงกับคนที่ไม่มีแผนในการใช้เงิน แล้วสุดท้ายก็กลับมาจนเหมือนเดิมจริงหรือ ฟังเรื่องหนุ่มโรงงานถูกหวย 40 ล้าน แทนที่จะรีบลาออกจากงาน แต่เขากลับใช้จ่ายจำเป็นไม่ถึงล้าน และยังทำงานเหมือนเดิม
อีกเคสคลาสสิกในตำนานกับ รปภ. ที่เงินเดือนรวมสวัสดิการเพียง 15,000 บาท แถมยังต้องแก้หนี้ให้ทางบ้าน เขาเก็บเท่าไร นานแค่ไหน ลงทุนยังไงจนมีพอร์ตหุ้นถึงล้านกว่าบาท
01:52
“คนส่วนใหญ่ได้ยินคำนี้เยอะ พอเพียง พอเพียง พอเพียง แต่ผมเชื่อว่าคนที่จะเข้าใจแล้วก็ปฏิบัติได้จริงๆ มีอยู่ไม่มาก”
ฮีโร่พอเพียงเคสแรก เจอตอนสมัย Money Coach ยังเป็นวิศวกร ก็เจอกับหนุ่มโรงงานทำยางรถยนต์ที่เคยถูกลอตเตอรี่ 40 ล้าน ตอนนั้นปรามาสไปเรียบร้อยว่าเขาคงใช้หมดแน่นอน ลอตเตอรี่มักจะถูกกับคนที่ไม่มีแผนการว่าจะใช้เงินยังไง สุดท้ายก็กลับมาจนเหมือนเดิม
05:34
“40 ล้าน เงินตั้งเยอะทำไมใช้หมด?”
“ใครบอกอาจารย์เหรอครับ…ว่าผมใช้หมด”
เรื่องก็คือเขาถูกลอตเตอรี่ แต่แทบไม่ได้ใช้เลย ก่อนหน้านี้ภรรยาของเขาหนีไปกับผู้ชายคนอื่น ทิ้งเขาให้อยู่กับลูกสองคน เพราะเบื่อความจน เพื่อนเลยสะกิด โดนหนักขนาดนี้ ซื้อลอตเตอรี่ไว้สักหน่อยไหม ปรากฏว่าถูกรางวัลที่ 1
วันที่ไปรับเงิน เขาไปคุยกับผู้จัดการสาขาธนาคารแล้วเอาเงินทุกบาทเข้าบัญชี คนก็มาขอยืมเยอะแยะ แต่เขาตอบว่าเงินไม่ได้อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ธนาคาร พอมันมีขั้นตอนยุ่งยาก คนก็เลยไม่ยืม
08:45
“เงิน 40 ล้าน เขาเอาไปทำอะไรบ้าง?”
ไถ่ที่นาให้พ่อแม่ ปลูกบ้านหลังใหม่ให้ที่บ้าน เบ็ดเสร็จใช้เงินไม่ถึงล้าน จากนั้นก็ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ตัวเองเพื่อขี่ไปส่งลูก เขามีแผนในใจว่าจะกลับไปอยู่บ้าน เลยเอาเงินไปซื้อที่แถวบ้านไว้หนึ่งผืน แล้วที่เหลือไม่ได้ใช้เลย
ที่สนุกกว่านั้นก็คือ พอเพื่อนยุให้ซื้อลอตเตอรี่ตามเลขป้ายทะเบียนมอเตอร์ไซค์ เขาก็ดันถูกรางวัลเป็นหลักแสนอีกรอบ!
10:06
ผ่านมา 6-7 ปี… เงินยังอยู่ดีอยู่ไหม
เขาก็หลังไมค์มาบอกว่าไม่ได้ทำงานโรงงานแล้ว กลับมาอยู่บ้าน Money Coach ก็เลยถามย้ำว่าเงิน 40 ล้านตอนนี้เหลืออยู่เท่าไร เขาก็บอกว่ายังอยู่เหมือนเดิม แทบไม่ได้ใช้อะไรเลย
“เขาไม่ได้ใช้เงิน 40 ล้าน เพราะว่าเงินเดือนของเขา 13,000 บาท บวกโอเวอร์ไทม์มันก็พออยู่ทุกเดือนอยู่แล้ว”
11:38
อีกเคสเป็นลูกศิษย์ทางยูทูบและหนังสือที่ไลน์มาขอบคุณและบอกว่าเก็บเงินล้านได้แล้ว ตอนนั้นก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เพราะลูกศิษย์เก็บเงินล้านได้ก็ไม่น้อย ที่น่าตื่นเต้นคือชื่อเขามีคำนำหน้าว่า รปภ.
13:58
“ในโลกของความเป็นจริง คนเราเรียนรู้เรื่องเทคนิคกันได้ทุกคน เวลาสอนใครแก้หนี้ก็บอกวิธีการไป ทุกคนเรียนรู้วิธีการได้หมดเลย แต่เวลาลงมือทำจริงๆ การแก้หนี้ไม่ได้จบแค่วันเดียว มันต้องแก้กันเป็นปี สองปี สามปี เพราะฉะนั้นคนที่จะแก้หนี้ผ่านได้ นอกจากมีความรู้ทางด้านการเงิน รู้วิธีการ รู้เทคนิคแล้ว ต้องรักษากำลังใจเก่ง แล้วก็มีวินัยด้วย”
15:06
รปภ. เงินล้าน
รปภ. คนนี้เกิดที่อีสาน ทำงานที่ระยอง เงินเดือนบวกสวัสดิการประมาณ 15,000 บาท แต่เขาบริหารเงินจนเหลือเก็บ 5,000 บาททุกเดือน ไว้ส่งให้ที่บ้านเพื่อจ่ายดอกเบี้ยค่าที่เพียงอย่างเดียว ทำอย่างนี้อยู่ร่วมปีก็เลยถามตัวเองว่า แล้วจะเหลืออะไร
“มนุษย์ที่จะมีชีวิตที่ดี มันต้องเอะใจกับชีวิตตัวเองว่า มีชีวิตต่อไปแบบนี้แล้วมันจะยังไง พวกนี้เขาจะตั้งคำถามกับตัวเอง”
“ถ้าเราอุตส่าห์เหลือ 5,000 แล้วก็ต้องเอาไปให้เขาฟรีๆ โดยที่ไม่ได้ตัดต้นอะไรเลย ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเราจะเหลืออะไร”
เขาก็เลยเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ จนมาเจอยูทูบของ Money Coach เรื่องการแก้หนี้ ซึ่งเจอปัญหาคล้ายๆ กัน และต้องแก้ด้วยการขายที่ พอบอกกับที่บ้านก็โดนด่าเละ
“สมบัติชิ้นสุดท้าย… ผมพบว่าคนที่แก้หนี้แล้วออกจากหนี้ไม่ได้เกิดจากเรื่องพวกนี้ด้วยนะ ไอ้คำว่าสุดท้ายหลายๆ อย่าง สมบัติชิ้นสุดท้าย บ้านหลังสุดท้าย แล้วก็กำหนี้ก้อนนั้นไว้จนเหนื่อย”
แต่ที่สุดแล้วเขาก็ขบถด้วยการไม่ส่งเงินจนที่บ้านยอมเห็นด้วย แล้วก็ขายที่เพื่อเอาส่วนต่างไปจ่ายหนี้ เหลือเงินนิดหน่อยแล้วเอาไปซื้อที่ใหม่ที่เล็กลง พอไม่ติดภาระก็เอา 5,000 นั้นมาเก็บ
“แล้วก็เริ่มถามคำถามกับตัวเองใหม่ ถ้าเราทำอะไรได้มากขึ้น เราจะเก็บได้มากขึ้นรึเปล่า”
เขาก็เริ่มรับจ้างทำงานในแบบที่เขาทำได้ ซ่อมบ้าน ซ่อมห้องน้ำ ฯลฯ ทำให้เก็บเพิ่มได้เป็นเดือนละ 10,000 บาท เขาเก็บ 8 ปีเต็ม ก็ได้เงินมา 8 แสนกว่าบาท แล้วก็เอาไปลงทุนด้วย ตอนนี้มีรวมๆ อยู่ 1,400,000 มีอยู่ 2 พอร์ต พอร์ตแรกอยู่ในกองทุนรวม DCA พอถามแล้วรีเช็กดูเลยรู้ว่าเป็นกองหุ้น ไม่ใช่ LTF เพราะเขายังไม่ต้องเสียภาษี อีกพอร์ตเขาฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ แล้วอีกส่วนเอาไปซื้อเป็นหุ้นด้วย ก็จะได้เงินปันผลอีกประมาณ 7-8% พอร์ตนี้ก็มีอยู่ประมาณ 600,000 กว่าบาท เบ็ดเสร็จแล้วก็ล้านสี่ ถ้าเป็นคนอื่นก็คงลาออกไปแล้ว แต่เขาอยากเก็บให้ได้ถึง 5 ล้าน ระหว่างนี้ก็มองหาที่ทางเพื่อกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน
25:29
เคสนี้สอนให้รู้ว่า
“สิ่งที่เขาเก่งที่สุดคือเขารู้จักตัวเองว่าเท่านี้คือความสุข แล้วความสุขของเขาควรจะตอบด้วยเงินประมาณเท่าไรถึงจะพอเหมาะพอเพียง”
“เคสที่สองคือสุดยอดของวินัย เมื่อรู้แล้วว่าเป้าหมายชีวิตคือตรงไหน เขาก็ย้อนกลับมาแล้วก็วางแผน แล้วก็เป็นคนที่มีความพยายามมาก คนอื่นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างคล่องแคล่วยังไม่อยากจะทำแบบนี้เลย ไม่คิดเอะใจ แต่เขารู้จักเอะใจแล้วค้นหาทางออกให้กับตัวเอง”
“แก้ปัญหาด้วยตัวเอง เชื่อมือตัวเอง นี่คือจุดเริ่มต้นของคนที่จะประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน”
“บางคนอาจจะบอกว่านี่เป็นเคสของคนที่เขาใช้จ่ายประหยัด มัธยัสถ์สุดๆ เป็นเรื่องของการรู้จักตัวเองมากกว่า ถ้าไลฟ์สไตล์แตกต่างจากสองเคสนี้ แต่หลักคิดในการใช้ชีวิตสามารถเอาไปปรับได้เหมือนกัน ถ้าไลฟ์สไตล์เราสูง ก็ปรับว่าเราควรจะหารายได้ยังไง ควรจะเก็บออมใช้จ่ายยังไง…”
“ครูดีๆ มีอยู่รอบตัวเสมอ ครูการเงินไม่จำเป็นต้องเป็นกูรูทางด้านการเงินเสมอ อาจจะเป็นใครสักคนที่อยู่ใกล้ตัวคุณ เป็นคุณพ่อคุณแม่ พี่ที่รู้จัก คุณครูที่คุณรู้จัก หรือแม้กระทั่งคนที่คุณเคยได้พบเจอ”
29:35
“เรื่องเงินมันไม่ใช่เรื่องยาก แต่เงินมันจะยากขึ้น เมื่อเราเอาการเงินตั้งแล้วเอาชีวิตตาม…”
ชีวิตแบบนั้นก็จะมีแต่ความสับสน แต่ถ้าเราเอาชีวิตเราตั้ง ออกแบบก่อนว่าชีวิตแบบไหนคือที่เราอยากจะได้และมีความสุข หลังจากนั้นค่อยมาดีไซน์เรื่องการเงิน บริหารเงินภายใต้ความรับผิดชอบ เราเท่านั้นที่จะคุมอนาคตของตัวเราเองได้ ภายใต้ความรู้และวินัยที่ถูกต้อง คุณก็จะเป็นฮีโร่คนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีชีวิตทางการเงินที่มีความสุข
Credits
The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director กริณ ลีราภิรมย์
Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
Music Westonemusic.com
- กองทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่รู้เรื่องการลงทุนเยอะมากพอ ภาษา Money Coach คือการลงทุนแบบโง่ๆ ง่ายๆ วิธีการคือกันเงินไว้เลยว่าเดือนหนึ่งอยากลงทุนเท่าไร แล้วก็ผูกบัญชีธนาคารกับกองทุนไว้ให้ตัดเงินทุกเดือนตามจำนวนที่เราต้องการ วิธีการนี้จะทำให้เราได้ลงทุนจริงๆ ไม่ต้องมัวแต่เล็ง
- LTF (Long Term Equity Fund) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว การลงทุนที่ต้องถือไว้อย่างน้อย 7 ปี และมีสิทธิประโยชน์เรื่องภาษี