×

“อย่าทำวงดนตรีให้เป็นพี่น้อง” กับการสร้างงานเพลงในแบบ Lomosonic

07.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01.05 พูดถึงอัลบั้มล่าสุด Anti-Gravity

10.07 Track by Track: Anti-Gravity

39.54 การแบ่งหน้าที่ของสมาชิกวงอย่างเป็นระบบ

49.41 เคล็ดลับที่ทำให้วงอยู่มาจนถึงตอนนี้

Lomosonic น่าจะเป็นวงที่มีระบบงานน่าสนใจมากที่สุดวงหนึ่งเลยก็ว่าได้ หลังจากเปลี่ยนบ้านมาอยู่ค่ายสนามหลวงในอัลบั้มที่ 3 Anti-Gravity นี้ ระบบโปรดักชันของวงก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เราจะมาพูดคุยในเรื่องอัลบั้ม การวางระบบงานของสมาชิกในวง และแนวทางการทำงานที่พวกเขาบอกว่า “อย่าทำวงดนตรีให้เป็นพี่น้องกัน”

 


 

 

พูดถึงอัลบั้มล่าสุด Anti-Gravity

เป็นอัลบั้มที่ 3 ของวงแล้ว ชื่ออัลบั้มทั้งหมดที่ทำมาจะเป็นคอนเซปต์คร่าวๆ ถึงบรรยากาศของวงในช่วงเวลานั้นๆ อย่างเช่นอัลบั้ม Fireworks พลังก็จะพลุ่งพล่าน ระเบิด วัยรุ่น ต่อมาเป็นอัลบั้ม Echo & Silence ก็เหมือนต่อจากดอกไม้ไฟมันระเบิด เสียงก็ตูมตามแล้วก็เงียบลง เป็นช่วงเวลาที่สงบลงมาของวง ถัดมาก็เป็น Anti-Gravity หน้าปกอัลบั้มเป็นเหมือนรูปเด็กในครรภ์ เปรียบเหมือนวงก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่ ซีนอินดี้ได้ผ่านไปแล้ว ตอนนี้เข้าสู่ฝั่งแมสแล้ว

 

เหมือนความกดดันเหล่านี้มันเป็นแรงดึงแรงผลัก เป็น gravity ชนิดหนึ่ง ทางวงก็รู้สึกถึงแรงเหล่านี้ เราก็แอนตี้มัน ต่อต้านมัน เลือกทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ แล้วสื่อสารกับแฟนเพลง

 

ส่วนเนื้อเพลง หลักสำคัญของบอยคือเขียนเรื่องจริง ตอนแรกอาจจะรับไม่ได้กับการเอาเรื่องส่วนตัวมาเล่า แต่ประเด็นคือการจะร้องเพลงนั้นเราต้องเชื่อก่อน คนฟังเขารู้ว่าเราเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่เราร้อง

 

Lomosonic เหมือนคนคนหนึ่งที่มีการเติบโตไปตามวัย อย่างเพลง น้อง…น้อง ก็เกิดจากวัยวุฒินี้ นึกถึงวง BLACKHEAD ช่วงอัลบั้ม Full Flavor ซึ่งบอยไปฟังก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเขาดูเป็นผู้ชายมีเสน่ห์ จากนั้นก็มีการเติบโตระหว่างชุด พูดเรื่องผู้หญิงแล้วบรรยายยังไง

 

อย่าง Lomosonic เอง เพลงซิงเกิล ส่งมือ เนี่ย ฟังตอนแรกก็หยึยมาก มันโลลิป๊อปมาก ถ้าอยู่ในอัลบั้มแรกคงไม่ได้ออก เพราะไม่เข้ากับคาแรกเตอร์ตอนนั้น แต่พอมาตอนนี้ เราก็รู้สึกว่าเพลงนี้คงเป็นเพลงหลักของโชว์ได้เลย

 

การเติบโตทางดนตรีของวง

ป้อมเป็นคนเตรียมวัตถุดิบ สมาชิกคนอื่นก็ไปปรุงเพิ่ม อย่างชุดแรกกลองจะตีให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่ความสามารถจะมีได้ ชุด 1 คือความถึก ทน และเร็ว จะไม่มีความละเมียด เทคนิค เป็นวัยรุ่นที่ใช้กำลัง ตอนอัดชุดแรกไม่ใช้เมโทรนอม คนอื่นต้องอัดตามที่ออตโต้ตีไว้ ซึ่งเป็นเพลงเร็วแทบทั้งหมด

 

พอชุด 2 ก็เริ่มมีเพลงช้า เพลงมีเดียม ตั้งใจทำให้คนฟังได้ง่ายขึ้น มีกิมมิกนิดหน่อย ถ้าจะเทียบการเติบโตก็เหมือนอัลบั้มแรกบอกว่า Lomosonic คืออะไร อัลบั้ม 2 คือ Lomosonic มันเป็นอะไรได้อีก ส่วนอัลบั้มถัดมาก็คือนอกจากที่เคยทำไปแล้วเนี่ย สุดขอบของวงไปได้แค่ไหน แต่สุดท้ายขอบของ Lomosonic ก็คือเพลงร็อก

 

ส่วนเรื่องโปรดักชันของอัลบั้มนี้ก็แตกต่างจากที่เคยทำมามาก เพราะช่วงที่ทำ 2 อัลบั้มแรกเป็นการใช้งานคน in house ของค่ายเพลงทั้งหมด แต่พอมีการย้ายค่าย การทำอัลบั้มนี้เลยมีการสื่อสารกับโปรดิวเซอร์จริงๆ อย่างเพลง คำตัดสิน กับ เพราะความรักไม่เลือกเวลาเกิด ได้พี่ต้น Silly Fools มาโปรดิวซ์ให้ เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่านี่เป็นมิวสิกโปรดักชันจริงๆ ทำให้วงรู้เบื้องหลังของงานซาวด์เอ็นจิเนียร์มากขึ้น ส่วนเพลงหลังจากนั้นก็ได้ร่วมงานกับพี่ต้า Cyndi Seui ก็ได้ความรู้เรื่องซาวด์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นมากๆ และการทำซาวด์มันมีมากกว่าแค่การอัดแล้วมาโพสต์โปรดักชันทีหลัง ซึ่งทางวงน่าจะได้เอาความรู้นี้มาใช้ต่อไปแน่ๆ

 

 

 

Track by Track: Anti-Gravity

เพชฌฆาตพายุนางฟ้า (Anti-Gravity) – เพลงนี้ขึ้นด้วยกีตาร์ริฟฟ์ของป้อม บอยก็ไปคิดอยู่นานว่าจะทำเป็นเพลงยังไง ก็ปรากฏว่าเปิดหัวด้วยเสียงร้อง เป็น Axl Rose มาเลย เป็นหนึ่งสัญลักษณ์ที่เราต้องการบอกว่า Anti-Gravity จริงๆ เราจะทำอะไรเราก็ทำ เราโชคดีที่เราได้โอกาสจากผู้ใหญ่ เขาตามใจเรา

 

เพลงนี้เป็น 2 เพลงสุดท้ายในอัลบั้มที่แต่งขึ้นมา ปกติเวลาทำเพลงเสร็จกลับบ้าน บอยมักเปิดหาเสียงอะไรในกูเกิลมาใส่ ก็ดันไปเจอคลิปเครื่องบิน ก็คิดอยู่ว่าจะตัดเสียง announcer ตอนท้ายออกดีไหม แต่สุดท้ายก็ใส่ไว้

 

น้อง…น้อง (Spicy Beef Nacho) – เพลงนี้ก็ได้ริฟฟ์มาก่อน ออตโต้เอาไปใส่กลองที่บ้าน ก็มีการใส่บองโก้เข้ามาให้ดูเม็กซิกัน บอยก็บอกว่าอยากแร็ป ก็ไปทำมาใส่ หลังจากไปฟัง Mr. Brownstone ของ Guns N’ Roses

 

อาจจะต่อยอดจากตอนทำเพลง หากโลกนี้ไม่มีความรัก ที่เขียนเนื้อแร็ปให้พี่ป๊อดก็ได้ แถมให้พี่ป๊อดว้ากด้วยนะ

 

ทางที่ลมผ่าน (Veranda) – ตรงแบ็กกราวด์เพลงนี้จะได้ยินเสียงสไลด์ คือเสียงไฟแช็ก เป็นการทำเพลงนอกสถานที่ ทำกันระหว่างทัวร์ ปิติก็พกเอาอินเทอร์เฟซตัวเล็กไป เก็บไอเดีย เก็บริฟฟ์ที่คิดกันระหว่างเดินทางขึ้นมา ตั้งใจให้เป็นเพลงที่เปลี่ยนตรงระหว่างเพลง แอดลิปตอนท้ายก็เอาจากเดโม หลายอย่างมันอัดใหม่ไม่ได้ มันสดสุดแล้ว เป็นเพลงที่มีส่วนผสมนานาชาติ มีเมโลดี้แบบจีนๆ ยำมั่วมาก

 

ความอ่อนแอ (Feeling) – เป็นเพลงที่ตั้งใจให้เป็นซิงเกิล มันง่าย คิดให้เป็นเพลงฮิต แต่ตอนนี้มันฮิตไหมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน

 

ส่งมือ (Trust) – เป็นเพลงโดด ตั้งใจว่าอยากได้ริฟฟ์แบบวง Muse ยุคแรกๆ มันไม่ต้องหวือหวาแต่รวมคนได้ เหมือนคนรู้ว่ากลองอย่างนี้ต้องกระโดดยังไง

 

หลอก (Naive) – อยากดึงบีตฮิปฮอปมาผสมกับวงร็อก พร้อมๆ กับซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ที่มินิมัลแต่ซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง คือทำเป็น Triplet พี่ต้าช่วยเรื่องนี้เยอะมาก ส่วนเดโมต้องให้เครดิตออตโต้กับการวาง samp สร้างบรรยากาศเพลงได้ดี

 

ปล่อย (Noise) – เป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้มนี้ เป็นการทดลองร่วมงานกับพี่ต้า Cyndi Seui ซึ่งพี่ต้าก็ได้สำแดงเดชร่ายมนตร์อิเล็กทรอนิกส์ ตอนแรกเพลงนี้ป้อมทำเองที่บ้าน ก็ได้งานที่ค่อนข้างพอใจแล้วล่ะ แต่จัดการกับซาวด์ไม่ได้ เลเยอร์มันเยอะเป็นร้อย ยอมรับเลยว่าประสบการณ์ไม่ถึง แต่พี่ต้าจัดการได้อย่างกับเวทมนตร์เลย

 

กอด (Airport) – Airport เป็นชื่อเล่นของเพลงตั้งแต่ช่วงขึ้นเพลงแรกๆ วงดนตรีเป็นอาชีพที่อยู่สนามบินบ่อย หลายครั้งก็เจอคนที่สนามบิน ร้องไห้บ้าง ดีใจบ้าง แล้วความรู้สึกนี้มันสะสมอยู่ในตัวเรา ป้อมก็แต่งกีตาร์มาให้บอยเอาไปใส่เนื้อเพลง

 

มีแค่เราสองคน (Trip) – บอยขึ้นเพลงจากคีย์บอร์ดในเครื่อง Mac พี่ฟองเบียร์ก็บอกว่าเพลงนี้มีหน่วยก้านดี แล้วจากนั้นก็ขับรถไปเที่ยวกาญจนบุรีแล้วหลงทาง ก็เลยได้ข้อสรุปว่า หลงมันก็เป็นการเที่ยวอยู่ดี บางคนหลงทางแล้วทะเลาะจะเป็นจะตาย แต่ถ้าเพิ่งคบกันหลงยังไงก็ไม่โกรธกัน ฟีลนั้นมันน่ารักนะ ฟังเพลงนี้แล้วก็อยากให้รู้สึกอย่างนั้น อยากให้เก็บฟีลนั้นไว้

 

เพลงกลับบ้าน (Lullaby) – อยากทำเพลงที่ช้าที่สุดที่ Lomosonic เคยทำมา กลองก็ตียาก คุมบีตยาก ซึ่งป้อมมักจะให้โจทย์ยากกับสมาชิกวงอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว อัลบั้มนี้ลองแหกเพดานของวงดูว่าช้าสุดได้แค่ไหน เร็วสุดแค่ไหน หนักสุดได้แค่ไหน เบาสุดแค่ไหน

 

 

หากโลกนี้ไม่มีความรัก (Everyday Occurrence) – เพลงนี้ได้พี่ป๊อดมาร้อง ซึ่งมาจากคำติดปากเวลาเล่นสดของบอยที่ว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีความรักก็คงไม่มีความคิดถึง โชคดีมากที่ได้พี่ป๊อดมาร้อง เพราะวุฒิภาวะของพี่ป๊อดมันเข้ากับเพลงนี้มาก แล้วเพลงที่แกร้องก็จะออกมาเป็นฟีลเหมือนเบเกอรี่ยุคแรกๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เราชอบ

 

Bloodpump! – ป้อมตั้งโจทย์ว่าอยากได้ฟีล spanish ออตโต้ก็ไปขึ้นมา แล้วก็เป็นเพลงที่กลองเหนื่อยมาก ตอนเขียนกลองก็ไม่รู้สึกเหนื่อยนะ แต่พอไปเล่นจริง ออตโต้ก็คิดเลยว่าจะเป็นเพลงที่เล่นครั้งเดียวในชีวิตที่คอนเสิร์ตใหญ่ หลังจากนั้นไม่นาน ที่เชียงใหม่ บอยบอกว่าเล่นเลย

 

แสงไฟไม่จำเป็นในความมืดมิด (No Wish) – ถ้าชอบเพลง Lomosonic ยุคแรก ก็หวังว่าจะชอบเพลงนี้

 

เพลงนี้อยากบอกว่าที่เราชอบบอกว่า อยากตามความฝัน หลายๆ ครั้งมันเป็นความฝันของคนอื่นนะ มันไม่มี manual ที่จะบอกว่าทำแบบนี้แล้วจะสำเร็จ บางทีชีวิตมันก็เหมือนป่านะ ถ้าเดินทางไม่ดีก็หลงป่าได้ บอยเคยพูดในโชว์ว่า ถ้าชีวิตวันนี้มันแย่ ทำไมเราถึงเชื่อว่าพรุ่งนี้มันจะดี มันอาจจะแย่ลงก็ได้ แต่ที่เรายังอยู่ได้เพราะเราแข็งแกร่งไง แล้วทำไมต้องไปทำตามฝันของคนอื่น ทำไมต้องมาบอกเราว่าผมจะเป็นอย่างพี่ ซึ่งมันก็ต้องทำงานหนักไง

 

แต่ทำงานแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จนะ ทำงานหนักมากแล้วงานไม่ดีก็ไม่ดีนะ หรือบางทีทำงานเบามากแต่ดันได้งานดี ผีจับยัด สำเร็จขึ้นมา ก็มี

 

ความฝันมันเหมือนเปิดประตูนรก เข้าป่าดงดิบ สู่ความมืดดำ แล้วคุณเชื่อได้แค่คนเดียวคือตัวคุณเอง นี่คือแสงสว่างไม่จำเป็นในความมืด

 

แค้นรักอสรพิษ (Rainbow Boa) – ก็ได้จากคำพูดประมาณว่า ตีงูต้องตีให้ตาย คือถ้าจะทำกูต้องทำให้ตายนะ ไม่งั้นกูเอาคืนนะ ช่วงนั้น เลมมี วง Motorhead เสียชีวิตพอดี ป้อมก็ฟังเพลงเขา เลยมีอิทธิพลกับเพลงนี้พอสมควรเลย เป็น speed matal ที่เร็วที่สุดในอัลบั้มนี้ ก็ลองท้าทายตัวเองดู เพราะถ้าท้าทายแล้วไม่สำเร็จ ก็ยังมีเพลงสูตรให้กลับไปทำได้เสมอ

 

Sorry (Zero Gravity) – เนื้อทำนองมาก่อนเลย ก็มีความหยึยตรงเมโลดี้เหมือนกัน พี่อ๋า สตาฟฟ์ของค่ายก็บอกว่ามันเหมือนเพลง RS ตอนทำงานเพลงนี้มันดีในแง่ที่ว่าพี่ต้าช่วยเข้ามาทำให้ซาวด์มันอยู่เวิ้งว้างในอวกาศ ด้วยความที่อยากได้เพลงแบบวง 10cc เพลง I’m Not in Love ที่อยู่ในซาวด์แทร็ก Guardians of the Galaxy ซินธ์นี่ฟูมาก เป็นเพลงที่ป้อมกับออตโต้ไม่ได้เล่นเลย มีแค่ปิติกับบอย ซึ่งทุกอัลบั้มจะมีเพลงหนึ่งให้ 2 คนนี้จัดการกันเองเลย

 

 

การแบ่งหน้าที่ของสมาชิกในวงอย่างเป็นระบบ

วง Lomosonic จะแบ่งหน้าที่กันในวงอย่างชัดเจนมากๆ อย่างบอยก็จะเป็นโชว์ไดเรกเตอร์ มีหน้าที่จัดเพลย์ลิสต์ ทำโชว์ สมาชิกวงคนอื่นจะไม่มีปากเสียงเรื่องนี้เลย เพราะฟรอนต์แมนจะรู้ดีที่สุด เป็นคนควบคุมเวที มีช่วงหนึ่งที่บอยดูเล่นสดมากกว่าฟังอัลบั้มอีก เลยซึมซับมา ถ้าจะขอเพลงก็ต้องมาขอที่บอยนะครับ

 

ป้อมเป็นโปรดักชันเมเนเจอร์ ทำส่วนของเพลงและตัวภาพของวง แต่เพลงจะมีปิติมาช่วยในส่วนโปรดักชัน ส่วนภาพก็เริ่มวางทีมเล็กๆ ของตัวเองมาช่วยเหลือกัน เพราะคนเดียวดู 2 เรื่องไม่ไหว เอ็มวีเพลง ส่งมือ ป้อมก็เป็นคนกำกับเอง

 

ออตโต้เป็นฝ่ายบุคคล เป็นทีมหลังบ้านแท้ๆ เลย ต้องคุยกับคนทั้งหลาย ทั้ง technician เป็นเรื่องอ่อนโยน เรื่องเชิงจิตใจ ถ้าป้อมเป็นภาพและเสียง บอยเป็นงานคนหน้าบ้าน ออตโต้จะเป็นงานคนหลังบ้านทั้งหลาย ส่วนมากพวกศิลปินจัดๆ ที่ประนีประนอมไม่เก่งจะหนีจากเรื่องนี้ แต่ออตโต้ทำได้ดี

 

ปิติเป็นฝ่ายหลังบ้าน เป็นคนมีความรับผิดชอบ เชื่อถือได้มากในเรื่องเงิน เรื่องระบบ เรื่องตัวเลข และระเบียบวินัย พูดยังไงได้อย่างนั้น เป็นคนรับผิดชอบเงินทั้งหมดของวง คนที่มี trust สูงสุดในวงคือปิติ

 

เวลาระดมความคิดกันก็มีแต่คนที่ดูแลด้านนั้นโดยตรงจะมีเสียงมากกว่าคนอื่น อย่างถ้าคุยกันเรื่องโชว์ บอยก็จะมี 2 เสียง คนอื่นมี 1 เสียง หัวหน้ามีเสียงใหญ่หน่อย เพราะรู้เรื่องนั้นดีที่สุด

 

อะไรที่ทำให้วงอยู่มาได้ถึงตอนนี้

หัวใจของมันเลยคือสู้ไม่ถอยและอึด สมาชิกวงบางคนเคยมีทางเลือกอื่นนอกจากการเป็นนักดนตรี ในช่วงแรก เพราะการทำเพลงช่วงแรกนอกจากไม่ทำเงินแล้วยังดูดเงินอีกด้วย ส่วนบอยไม่มีทางเลือกอื่นเลย แต่ก็ยอมไปเล่นดนตรีกลางคืนเหมือนกัน แต่ก็ยังสนุก รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่อยากเป็น

 

ช่วงแรกๆ บอยก็มีปัญหาเรื่องอารมณ์เหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้ว สรุปได้อย่างเดียวว่ามองมันเป็นเรื่องงาน ทุกคนก็อยากให้งานมันดี วงตอนนี้ไม่มีเรื่องส่วนตัว บางวงมันมีปัญหาว่าความมุ่งหวังของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายทำให้วงแตก แต่ถ้าเราอยากสร้างงานที่ดี เราเคยไปเจอนักดนตรีระดับตำนาน เจอ Silly Fools ทุกวันนี้เขาก็ยังทำงานหนักอยู่

 

ในการปล่อยเพลงมันไม่ใช่แค่นักดนตรี มันคือทุกอย่างทั้งหมด ทั้งค่าย ทั้งทีมงานเบื้องหลัง มันโชคดีที่ปิติมาดูตรงนี้ เพราะพอคนดูระบบมันเป็นนักดนตรี ก็ทำให้การทำงานมันลื่นไหล ทำให้เราได้อัดเพลงเร็วขึ้น วงดนตรีวงหนึ่งมันไม่ได้มีแค่งานดนตรี มันยังมีงานบัญชี งานธุรการ ถ้าเราเจอความสามารถแบบนี้ในตัวสมาชิกวงก็คือดีเลยครับ

 

หลักสำคัญอีกข้อคืออย่าทำวงดนตรีให้เป็นครอบครัวมากเกินไป อย่าทำให้เราต้องใช้ใจในการคุยทุกเรื่อง คิดว่าเรามาทำงานกัน เพราะพอเริ่มมีเรื่องส่วนตัวมันจะมีเรื่องอารมณ์ มันจะไม่ใช่แล้ว วง Lomosonic จะดูแลกันแบบญาติมิตร ไม่เสือกเรื่องส่วนตัว อย่าไปสนิทกันจนพูดอะไรกันไม่ได้ อย่างเวลาคุยกับ technician เราก็จะไม่สนิทกับเขามาก เพราะไม่งั้นเราจะคอมเมนต์งานเขายังไง เราจะเกรงใจ

 

แต่การอ่อนน้อมถ่อมตนก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ เราอยู่ในสังคมไทย เรารู้สึกว่าแรกๆ เราก็คงน่ารังเกียจเหมือนกัน แต่พออยู่ไปนานๆ ก็รู้สึกว่าคนมันอยากมีความสุขมากที่สุด การเล่นแล้วลงมาได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ได้แลกเปลี่ยนคุยกัน มันก็สนุก เพราะชีวิตมันไม่ได้มีแค่บนเวที

 

มันก็ย้อนกลับมาไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติต่อคนดู คนดูปฏิบัติต่อเรา คนดูปฏิบัติต่อกัน หรือกับทีมงานต่างๆ คือ respect ความเคารพซึ่งกันและกัน เราเชื่อว่าความเคารพจะทำให้เราเดินงานกันได้เร็วยิ่งกว่าความสนิทอีกนะ เพราะมันไม่ใช่ความเคารพแบบที่ต้องก้มหัวบูชา แต่เป็นความเคารพว่าความเห็นเขามีค่าเท่ากับความเห็นเรา

 

 


 

Credits

The Host แพท บุญสินสุข

The Guest อริย์ธัช พลตาล

ฉัตรชัย งามสิริมงคลชัย

ปิติ เอสตราลาโด สหพงศ์ เดน โดมินิค

ชาญเดช จันทร์จำเริญ

Show Creator แพท บุญสินสุข

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริน ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising