คุณวางแผนเกษียณจากงานประจำเมื่อไร?
เชื่อว่าพนักงานประจำหลายๆ คนไม่ได้ต้องการทำงานไปทั้งชีวิต คนวัยทำงานมากมายฝันอยากเกษียณให้ได้ก่อนอายุ 60 ปี ค่านิยมที่ว่านี้ได้ก่อตัวเป็นแนวคิดในการออมเงินรูปแบบใหม่ในกลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่เรียกว่า Financial Independent, Retire Early หรือการออมเงินแบบ F.I.R.E ที่มุ่งทำงาน เก็บเงิน และลงทุนอย่างบ้าคลั่ง เพื่อไปถึงอิสรภาพทางการเงินให้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือราว 30-40 ปีเท่านั้น
ที่มาของ F.I.R.E
แม้ว่า F.I.R.E จะเป็นเทรนด์ที่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่นิยามของ F.I.R.E ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 1992 ในหนังสือ Best Seller ที่ชื่อว่า Your Money or Your Life ที่เขียนโดย วิคกี้ โรบิน (Vicki Robin) และ โจ โดมินเกซ (Joe Dominguez) 2 กูรูทางด้านการเงินการลงทุน ว่าด้วย 2 หลักการที่สุดแสนจะเรียบง่ายแต่อาจทำตามได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด คือ
- ทำให้รายจ่ายอยู่ในระดับต่ำที่สุด
- หาช่องทางในการหารายได้เพิ่ม
สาเหตุที่ทำให้คน Gen Z และ Millennials ชื่นชอบแนวคิด F.I.R.E
ข้อมูลจาก Vox เว็บไซต์ข่าวสัญชาติอเมริกัน ได้มีการเปิดเผยว่า ในปี 2022 นี้ แนวคิด F.I.R.E ได้รับความนิยมในคนกลุ่ม Gen Z และ Millennials เป็นอย่างมาก จากที่กระทู้หัวข้อ Financial Independence ในเว็บไซต์ Reddit มียอดผู้ติดตามสูงถึง 1.2 ล้านคน พอดแคสต์ Choose FI: Financial Independence มียอดดาวน์โหลดสูงถึง 1.6 ล้านดาวน์โหลด และในปี 2018 Harris Poll พบว่ามีการค้นหาคำว่า Financial Independence, Retire Early บน Google มากขึ้นถึง 96% ภายในเวลาเพียงแค่ 5 ปี
ข้อมูลจากสำนักงานแรงงานสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า การลาออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและรวดเร็วในเดือนกันยายน 2021 พบว่า เพียงเดือนเดียวมีผู้คนมากกว่า 4.4 ล้านคน ได้ลาออกจากตลาดแรงงาน และส่วนใหญ่คือคนในกลุ่ม Gen Z และ Millennials อีกทั้งจากการทำแบบสอบถามของ Goldman Sach พบว่า 25% ของ Millennials นั้นวางแผนว่าต้องการจะเกษียณตัวเองก่อนอายุ 55 ปี
Gallup ได้ทำการเก็บแบบสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องการที่จะเกษียณตัวเองในระยะเวลาอันสั้น และพบว่ามากกว่า 50% ของ Millennials รู้สึกว่าตัวเขา ‘ไม่ผูกพัน’ กับงานประจำที่ทำอยู่ จนทำให้เกิดภาวะ Burn Out จึงรู้สึกอยากที่จะปลดเกษียณตัวเอง เพื่อที่จะได้มีอิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่จำเป็นที่จะต้องตกเป็นทาสของงานประจำหากไม่ต้องการ
แนวคิด F.I.R.E ใช้เงินอย่างไร
เว็บไซต์ Investopedia ได้เปิดเผยว่า คนที่เก็บเงินโดยใช้ F.I.R.E ในประเทศสหรัฐฯ จะแบ่งสัดส่วนเงินเก็บของตัวเองไว้สูงถึง 70% ของรายได้ต่อปี จนกว่าจะมีสัดส่วนเงินออมที่มากกว่ารายจ่ายต่อปี 30 เท่า ก่อนจะตัดสินใจเกษียณตัวเองออกจากงานประจำ และหลังจากนั้นจะใช้จ่ายเงินด้วยกฎที่เรียกว่า ‘กฎ 4%’ หรือการใช้จ่ายเพียงปีละ 4% ของเงินเก็บคงเหลือในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับขนาดของเงินออมและไลฟ์สไตล์ที่แต่ละคนต้องการ
ยกตัวอย่างเช่น
– หากปีหนึ่งมีรายได้ 2 แสนบาทต่อปี จะต้องเก็บเงินออมให้ได้ 140,000 บาท
– เมื่อมีเงินเก็บ 5 ล้านบาท จะใช้ได้เพียงปีละประมาณ 2 แสนบาท และในปีถัดไป หากมีเงินเก็บเหลือ 4.8 ล้าน ก็จะใช้ได้เพียง 192,000 บาทเท่านั้น
ความเสี่ยงของแนวคิด F.I.R.E
มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินหลายคนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวคิด F.I.R.E ว่าเป็นแนวคิดที่ไม่สามารถทำได้จริง และมีความเสี่ยงว่าการใช้เงินออม 4% ต่อปีตั้งแต่อายุ 30 ปี จะทำให้เงินออมของพวกเขาร่อยหรอและหมดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้คนยึดถือแนวคิด F.I.R.E พยายามที่จะลดความเสี่ยง ณ จุดนี้ โดยการหารายได้ในรูปแบบของ Passive Income อย่างการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า หรือการหารายได้จากงานอดิเรก เช่น การเขียนบทความหรือการทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง
เดวิด แบลนเช็ท (David Blanchett) หัวหน้าฝ่ายเกษียณอายุของ Morningstar บริษัทที่ให้บริการด้านการจัดเรตติ้งความน่าเชื่อถือของกองทุนต่างๆ ได้ให้ความเห็นว่า “การเกษียณในวัย 30 ปี นั้นเป็นแนวคิดที่ไม่สามารถทำได้จริงสำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ แต่หลักการสร้างอิสรภาพทางการเงินยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมุ่งมั่นไปให้ถึง”
ความกังวลของเขาเกี่ยวกับ F.I.R.E คือความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล แต่แนวคิดในการออมเงินให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่สังคมอเมริกันจำเป็นที่จะต้องทำ สิ่งที่สำคัญคือต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘อะไรคือสิ่งที่สำคัญกับตัวคุณเอง’ และค่อยสร้างเป้าหมายทางการเงินจากคำตอบที่คุณค้นพบ